ทำไมคนรุ่นใหม่ยังดูซีรีส์ ‘Friends’ ทั้งที่มุกตลกตกยุคไปแล้ว

ทำไมคนรุ่นใหม่ยังดูซีรีส์ ‘Friends’ ทั้งที่มุกตลกตกยุคไปแล้ว

ซีรีส์ ‘Friends’ ยังคงได้รับความนิยมต่อเนื่อง แม้จะปิดฉากไปนานเกือบ 20 ปี แต่ทุกวันนี้ยังมีการเปิดตัวสินค้าและบริการที่ได้แรงบันดาลใจจากซีรีส์และตัวละครทั้ง 6

  • นอกจากตัวละครที่เติบโตไปพร้อมกับผู้ชม อีกหนึ่งเสน่ห์ของ Friends คือมุกตลกที่ล้อไปตามบริบทของยุค 90s ที่เรียกเสียงหัวเราะจนท้องคัดท้องแข็งในยุคนั้น
  • ร้านกาแฟ ‘Central Perk’ กำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการบนถนนนิวเบอรี เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ในช่วงปลายปีนี้ หลังปรากฏในซีรีส์ตลอด 10 ซีซั่น จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในฉากหลังที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์โทรทัศน์

ซีรีส์ ‘Friends’ ซีซั่น 1 ออนแอร์ครั้งแรกเมื่อเกือบ 30 ปีที่แล้ว หลังจากนั้นเป็นต้นมา ก๊วนเพื่อนซี้ 6 คน ซึ่งประกอบด้วย ‘เรเชล กรีน’ (รับบทโดย เจนนิเฟอร์ อนิสตัน), ‘มอนิกา เกลเลอร์’ (คอร์ตนีย์ คอกซ์), ‘ฟีบี บัฟเฟย์’ (ลิซา คุดโรว์), ‘โจอี้ ทริบเบียนี’ (แมตต์ เลอบลังก์), ‘แชนด์เลอร์ บิง’ (แมทธิว เพอร์รี) และ ‘รอสส์ เกลเลอร์’ (เดวิด ชวิมเมอร์) ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้ชม ที่พากันนั่งเฝ้าหน้าจอรอติดตามชีวิตของตัวละครทั้ง 6 ซึ่งค่อย ๆ เปลี่ยนผ่านจากคนหนุ่มสาวไร้จุดหมาย ไปสู่วัยผู้ใหญ่ที่มีอาชีพการงานดีขึ้น ชีวิตรักดราม่าน้อยลง และมุ่งสร้างชีวิตครอบครัวที่มีความสุข

นอกจากตัวละครที่เติบโตไปพร้อมกับผู้ชม ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย อีกหนึ่งเสน่ห์ของ Friends คือมุกตลกที่ล้อไปตามบริบทของยุค 90s ที่เรียกเสียงหัวเราะจนท้องคัดท้องแข็งในยุคนั้น ทว่าในเวลานี้ บางมุกใน Friends อาจทำให้คนดู ‘ขำแห้ง’ เพราะมันได้กลายเป็นมุกตลก ‘ล้าสมัย’ ขณะที่บางประเด็นในเรื่องก็มีมุมมองที่ขัดแย้งกับค่านิยมสมัยใหม่ 

แต่ถึงจะติดขัดเรื่องมุกตลกเชย ๆ ซีรีส์ Friends ก็ยังคงเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน ไม่เว้นแม้ในหมู่วัยรุ่นยุคใหม่อย่าง Gen Z ที่มาตามดูทีหลัง หลังจากซีรีส์เรื่องนี้ปิดฉากไปแล้วเกือบ 20 ปี 

ทำไมคนรุ่นใหม่ยังดูซีรีส์ ‘Friends’ ทั้งที่มุกตลกตกยุคไปแล้ว

หนึ่งในหลักฐานว่าซีรีส์ Friends ยังคงได้รับความนิยม ทั้งยังส่งผลใหญ่หลวงต่อวัฒนธรรมสมัยนิยม (popular culture) และสังคมโดยรวม คือ ‘แรงบันดาลใจ’ มากมายที่มาจากซีรีส์ ตั้งแต่ช่วงออนแอร์ไปจนถึงช่วงหลังจากซีรีส์จบ

แรงบันดาลใจจาก Friends ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน 

ความนิยมของ Friends ในช่วงทศวรรษ 1990 ไปจนถึงต้นทศวรรษ 2000 ได้ช่วยกำหนดเทรนด์แฟชั่น และมีอิทธิพลต่อวิธีที่ผู้คนใช้พูดคุยติดต่อและมีปฏิสัมพันธ์กัน 

ในช่วงที่ซีรีส์ออนแอร์ (ปี 1994 - 2004) ทรงผมสไลด์ไล่ระดับของเรเชล กลายเป็นแบบยอดฮิตตามร้านทำผม หรือคนที่ขี้เล่นหน่อยก็จะพากันสวมเสื้อที่มีข้อความสกรีนว่า “Joey Doesn’t Share Food” ซึ่งเป็นคำพูดของโจอี้ ผู้ไม่ชอบให้ใครหน้าไหนมากินอาหารของตัวเอง แม้กระทั่งสาว ๆ 

นอกจากนี้ Friends ยังทำให้เกิดคำพูดติดปากอย่าง “How you doin?” และ “We were on a break!” ด้วย 

Friends ยังเป็นต้นแบบของการเล่าประเด็นที่เกี่ยวกับ ‘มิตรภาพ’ ในรายการสมัยใหม่หลายรายการ เช่น ซีรีส์เรื่อง New Girl (2011 - 2018), How I Met Your Mother (2005 - 2014) และ The Big Bang Theory (2007 - 2019) รวมถึงวิดีโอเกม ละครเพลง และหนังสืออีกหลายเล่ม

ล่าสุด ร้านกาแฟ ‘Central Perk’ สถานที่รวมตัวของเหล่าเพื่อนซี้ในซีรีส์ Friends กำลังจะเปิดอย่างเป็นทางการบนถนนนิวเบอรี เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ หลังปรากฏในซีรีส์ตลอด 10 ซีซั่น จนได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในฉากหลังที่โดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์โทรทัศน์

ร้านกาแฟ Central Perk ที่กำลังจะเปิดในช่วงปลายปี 2023 จะถอดแบบจากฉากในซีรีส์ Friends มาผสานกับความทันสมัยในยุคปัจจุบัน เพื่อให้แฟน ๆ ของ Friends หายคิดถึง

ทำไมคนรุ่นใหม่ยังดูซีรีส์ ‘Friends’ ทั้งที่มุกตลกตกยุคไปแล้ว

แต่ก่อนที่ร้าน Central Perk จะเปิดให้บริการ ได้มีการขายกาแฟที่ได้แรงบันดาลใจจากซีรีส์ Friends ผ่านทางเว็บไซต์อยู่ก่อนแล้ว โดยเปิดขายกาแฟ 3 รสชาติ ได้แก่ กาแฟคั่วกลางรุ่น How You Doin, กาแฟคั่วกลางสูตรค่อนข้างเข้ม Pivot Blend และกาแฟคั่วเข้ม We Were on a Coffee Break

ความคิดถึงและโหยหา (nostalgia) ในซีรีส์เรื่อง Friends ยังเป็นบ่อเกิดของธุรกิจหลายอย่าง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ที่มีการเปิดให้แฟน ๆ ได้สัมผัสบรรยากาศในอะพาร์ตเมนต์ของก๊วนเพื่อนซี้ทั้ง 6 ไม่ว่าจะเป็นฉากห้องนั่งเล่นของมอนิกากับเรเชล หรือฉากห้องสองหนุ่มโสดอย่างโจอี้กับแชนด์เลอร์ รวมถึงฉากร้านกาแฟ Central Perk

แม้แต่ในบริการจองห้องพัก ยังปรากฏให้มีการเปิดจองห้องพักที่เป็นธีมซีรีส์ Friends พร้อมห้องครัวที่เหมือนกับของมอนิกากับเรเชลเป๊ะ ๆ ซึ่งน่าจะโดนใจแฟนซีรีส์สาว ๆ ที่อยากลองโคฟเป็นมอนิกากับเรเชลดู 

มาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยแล้วว่า อะไรที่ทำให้ทั้งคนยุคเก่าและยุคใหม่ ยังคงคิดถึง Friends

การสร้างตัวละครที่ไม่มีใครเด่นกว่าใคร

ซีรีส์ Friends ซึ่งเริ่มออนแอร์เมื่อปี 1994 เป็นเรื่องราวของคน Gen X วัยหนุ่มสาวในมหานครนิวยอร์ก พวกเขาเป็นคนธรรมดาที่ใช้ชีวิตปากกัดตีนถีบเหมือนคนทั่วไป แต่ดูเหมือนจะมีปัญหาเรื่องการสื่อสารกันในบางครั้ง จนทำให้เกิดความขัดแย้งและความเข้าใจผิดในแต่ละตอน 

หลายครั้งที่ซีรีส์มีการเล่นมุกเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศ โดยเฉพาะมุกที่เกี่ยวกับเกย์ ซึ่งอาจสร้างความอึดอัดให้กับคน Gen Z

แต่ถึงแม้จะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง คน Gen Z และคนรุ่นอื่น ๆ ยังคงตกหลุมรักซีรีส์เรื่อง Friends ด้วยเนื้อหาที่แสดงให้เห็นถึง ‘สายสัมพันธ์’ ของกลุ่มเพื่อนที่รักกันเหนียวแน่น เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างแชนด์เลอร์กับโจอี้ที่ชื่นชอบซีรีส์เรื่อง Baywatch เหมือนกัน และรอสส์กับฟีบีที่ชอบเถียงกันเรื่องวิวัฒนาการ ซึ่งทำให้คนดูอดอมยิ้มไม่ได้เวลากลับไปนึกถึงความสัมพันธ์ของตัวละครเหล่านี้  

มิตรภาพเหล่านี้อาจมีให้เห็นในซีรีส์ยอดนิยมเรื่องอื่น ๆ เช่น How I Met Your Mother และ That ’70s Show แต่ Friends จะมีลักษณะที่ต่างไปเล็กน้อย เพราะผู้เขียนบทหลีกเลี่ยงที่จะกำหนด ‘ตัวละครหลัก’ แม้ความสัมพันธ์ระหว่างเรเชลกับรอสส์จะเป็นเรื่องของ ‘ความรัก’ แต่ผู้เขียนบทก็จะถ่ายเทความสำคัญให้กับความสัมพันธ์ของคู่อื่น ๆ อย่างเท่าเทียม 

เหตุนี้เองที่ทำให้คนดูแยกแยะเรื่องราวของตัวละครแต่ละตัวได้ และรู้สึกถึง ‘พลังของตัวละคร’ 

ทำไมคนรุ่นใหม่ยังดูซีรีส์ ‘Friends’ ทั้งที่มุกตลกตกยุคไปแล้ว

ความขัดแย้งที่นำไปสู่การเติบโตของสังคม

แม้จะโดดเด่นด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับมิตรภาพและการวางบทบาทให้กับตัวละคร แต่ก็ยากจะปฏิเสธว่าหลายส่วนของ Friends ค่อนข้างตกยุค แม้แต่ความสัมพันธ์ระหว่างรอสส์กับเรเชล ยังถูกคนดูรุ่นใหม่วิจารณ์ว่า รอสส์ออกจะขี้หึงไปหน่อย และมีความรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่น 

ในมุมของ Gen Z ซีรีส์ดังเรื่องนี้ยังสร้างความเข้าใจผิดในหลายเรื่อง เช่น ความแตกต่างระหว่าง Drag Queen กับคนข้ามเพศ โดยเฉพาะบท ‘พ่อของแชนด์เลอร์’ ที่รับบทโดยนักแสดงหญิง ‘แคทลีน เทอร์เนอร์’ 

ตลอดการแสดง ตัวละครนี้ยังถูกมองเป็น ‘ตัวตลก’ และถูกเรียกว่า ‘พ่อของแชนด์เลอร์’ แทนที่จะเรียกด้วยชื่อจริง ซึ่งต่อมาผู้เขียนบทได้ออกมาแสดงความเสียใจที่ใช้สรรพนามเรียกตัวละครนี้ว่า ‘เขา’ แทนที่จะเรียกว่า ‘เธอ’ 

ส่วนแคทลีนที่รับบทนี้ออกมาให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า หากเธอได้รับการเสนอให้เล่นบทนี้อีกครั้ง เธอจะปฏิเสธแน่นอน เพราะเชื่อว่ามีคนข้ามเพศที่สามารถเล่นบทนี้ได้ดีกว่า 

แต่ Friends ก็ไม่ถึงขั้นมีเนื้อหาที่เป็น ‘อันตราย’ ต่อผู้ชม หากมองอีกด้านหนึ่ง ซีรีส์เรื่องนี้ยังทำให้สังคมได้มองย้อนกลับไปว่า เมื่อเวลาผ่านไปแล้ว พวกเขามองเรื่องเดียวกันนี้แตกต่างไปจากเดิมอย่างไร? อีกทั้งยังทำให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นภาพ ‘ความแตกต่าง’ ทางแนวคิด ระหว่างยุคก่อนกับยุคของตัวเอง

ยุค 1990 คัมแบ็ค 

ทศวรรษ 1990 กำลังกลายเป็นห้วงเวลาที่คนโหยหา ไม่เฉพาะคนที่เติบโตในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ยังรวมถึงคนรุ่นใหม่ที่อ้าแขนเปิดรับวัฒนธรรมของยุคนี้ด้วย เห็นได้จากทรงผมหรือกางเกงยีนส์รุ่นแม่ที่กลับมาเป็นเทรนด์อีกครั้ง และมีบางคนที่เริ่มตกแต่งอะพาร์ตเมนต์ให้มีหน้าตาสวยงามเป็นระเบียบเหมือนอะพาร์ตเมนต์ของมอนิกาและเรเชล 

อาจกล่าวได้ว่า ในขณะที่ผู้ชมบางกลุ่มกลับไปดู Friends เพื่อรำลึกความหลัง แต่ผู้ชมอีกกลุ่มเลือกที่จะดู Friends เพราะมันเป็นสื่อที่นำเสนอสไตล์ยุค 90s ซึ่งวนกลับมาอินเทรนด์ในตอนนี้

เมื่อเวลาผ่านไป แฟชั่นยุค 1990 อาจจะเสื่อมความนิยมลงอีกครั้ง และจะมีการหมุนเวียนสิ่งอื่นเข้ามาแทนที่ แต่ก็เป็นไปได้ว่าหลังจากนี้อีก 30 ปี ซีรีส์ Friends จะยังคงถูกนำมาโยงกับประเด็นต่าง ๆ ในสังคมอีก เพราะซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้ยึดโยงกับกาลเวลาหรือชั่วอายุคน ทว่ายึดโยงกับประสบการณ์ของมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับ ‘เพื่อน’

บทเรียนสำคัญจาก Friends

Friends ถ่ายทอดบทเรียนชีวิตมากมายที่คนดูสามารถนำไปปรับใช้กับชีวิตได้ ตลอดทั้งซีรีส์ ตัวละครได้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของความ ‘ซื่อสัตย์’ และ ‘ให้อภัย’ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถก้าวจากคนหนุ่มสาวไปสู่วัยผู้ใหญ่ได้อย่างภาคภูมิ 

แต่สิ่งที่เป็นบทเรียนสำคัญที่สุดที่ Friends สอนพวกเราคือ ‘คุณค่าของมิตรภาพ’ ซีรีส์เรื่องนี้ย้ำเตือนกับเราว่า “ไม่ว่าชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร การมีกลุ่มเพื่อนที่คอยสนับสนุนกันจะช่วยให้คุณเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ได้”

 

ภาพ: Getty Images

อ้างอิง: 

thatspopculture

sportskeeda

hiddenremote

people

screenrant

elitedaily

dragsociety

youthkiawaaz