‘เซอร์ รัน รัน ชอว์’ แห่ง ‘ชอว์ บราเดอร์ส’ ราชาโลกบันเทิงผู้พลิกโฉม ‘ฮ่องกง’

‘เซอร์ รัน รัน ชอว์’ แห่ง ‘ชอว์ บราเดอร์ส’ ราชาโลกบันเทิงผู้พลิกโฉม ‘ฮ่องกง’

เรื่องราวของอาณาจักรบันเทิง ‘ชอว์ บราเดอร์ส’ ของจักรพรรดิภาพยนตร์ ‘เซอร์ รัน รัน ชอว์’ ที่พลิกโฉม ‘ฮ่องกง’ ไปอย่างสิ้นเชิง

  • ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของภาพยนตร์กำลังภายในของชอว์ บราเดอร์ส นั้น เกิดจากความนิยมในนวนิยายกำลังภายในของ เนี่ยอู๋เซ็ง กิมย้ง และโกวเล้ง ที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลก เรียกได้ว่าที่ใดมีคนจีน ที่นั่นย่อมมีนวนิยายกำลังภายในเลยก็ว่าได้ 
  • ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของชอว์ บราเดอร์ส ทำให้สตูดิโอที่สร้างมาเพื่อให้บริษัทอื่นถ่ายภาพยนตร์ เรียกได้ว่าแค่ถ่ายหนังของตนเองยังแทบจะไม่เพียงพอ 

ว่ากันว่าประวัติศาสตร์ของ ‘ฮ่องกง’ แปรเปลี่ยนไป เพราะการมาถึงของผู้ชายสองคน คนแรกคือ ‘กัปตัน ชาร์ลส์ อีเลียต’ (Charles Elliot) ส่วนคนที่สองคือ ‘เส้าอี้ฝุ’ หรือที่รู้จักกันในนามของ ‘เซอร์ รัน รัน ชอว์’

ประวัติศาสตร์ฮ่องกง

เดิมฮ่องกงเป็นเพียงหมู่บ้านประมงเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ในเขตอำเภอซินอัน เมืองเซินเจิ้น ประชากรส่วนใหญ่พูดภาษากวางตุ้ง โดยคำว่า ฮ่องกง มาจากคำว่า ‘เซียงกั่ง’ ซึ่งหมายความว่า ‘ท่าเรือหอม’ สืบเนื่องมาแต่ครั้งที่กวางตุ้งเป็นแหล่งปลูกไม้หอมชนิดหนึ่ง ส่งขายเป็นสินค้าออก โดยที่ต้องมาขนถ่ายสินค้ากันที่ท่าเรือน้ำลึกตอนใต้สุดของแผ่นดินจีน ด้วยภูมิประเทศของฮ่องกงเองที่เป็นเมืองท่าน้ำลึก เหมาะแก่การจอดเรือสินค้าขนาดใหญ่ จึงทำให้ฮ่องกงกลายเป็นเมืองท่าที่สำคัญของโลก

จนกระทั่งกลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้มีเรือของกองทัพเรือสหราชอาณาจักร นำโดยกัปตัน ชาร์ลส์ อีเลียต (Charles Elliot) แล่นผ่านน่านน้ำระหว่างแหลมเกาลูนและเกาะแห่งหนึ่งที่ร่ำลือกันว่าเป็นที่หลบลมพายุของพวกโจรสลัด กัปตันอีเลียตเกิดได้กลิ่นหอมชนิดหนึ่งจึงจอดเรือและขึ้นฝั่ง ส่งล่ามลงไปสอบถามได้ความว่าเป็นท่าเรือหอม ใช้ขนถ่ายไม้หอม กัปตันรับทราบด้วยความประทับใจ 

เมื่อกัปตันอีเลียตเดินทางกลับสู่สหราชอาณาจักรและได้รับการแต่งตั้งให้ไปประจำการฝ่ายการพาณิชย์ของสหราชอาณาจักรในภาคพื้นเอเชีย ซึ่งขณะนั้นเอง ประเทศสหราชอาณาจักรซึ่งปกครองโดยพระนางวิกตอเรีย กำลังต้องการอาณานิคมในแถบทะเลจีนใต้ เพื่อใช้เป็นที่จัดส่งสินค้าหรือฝิ่นนั่นเอง และประจวบเหมาะพอดีกับที่ฝ่ายสหราชอาณาจักรและจีน กำลังมีปัญหาเรื่องการค้าฝิ่นในแถบกวางตุ้งของจีน จนทำให้เกิดสงครามฝิ่นครั้งที่ 1 ขึ้น

ในปี 1839 กัปตันอีเลียตจึงตัดสินใจยกพลขึ้นบกที่ท่าเรือกลิ่นหอม และประกาศให้ดินแดนแถบนั้นเป็นของสหราชอาณาจักร ในวันที่ 26 มกราคม 1841 หลังจากจีนพ่ายแพ้ในสงครามฝิ่น ปลายศตวรรษที่ 19 เกาะฮ่องกงและดินแดนตอนปลายคาบสมุทรเกาลูน จึงตกเป็นอาณานิคมในปี 1860 โดยสมบูรณ์ 

แต่พอกองทหารสหราชอาณาจักรเข้ายึดเกาะที่มีแต่หินโสโครก หาประโยชน์ไม่ได้เลย พระนางวิกตอเรียทรงรู้สึกเสียหน้ามาก กัปตันอีเลียตจึงถูกลงโทษด้วยการส่งไปเป็นกงสุลสหราชอาณาจักรประจำรัฐเท็กซัสแทน ตั้งแต่นั้นจีนและสหราชอาณาจักรก็กระทบกระทั่งกันเรื่องการค้าฝิ่นเรื่อยมา เกิดสงครามฝิ่นถึง 2 ครั้ง 

หลังสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 นี่เอง สหราชอาณาจักรได้บีบบังคับให้จีนทำสัญญาในปี 1898 เป็นสัญญา ‘เช่าซื้อ’ พื้นที่ทางตอนใต้ของลำน้ำเซินเจิ้น ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ‘เขตดินแดนใหม่’ (เขตนิวเทอร์ริทอรีส์) รวมทั้งเกาะรอบข้าง ซึ่งมีอาณาบริเวณกว้างใหญ่กว่าเมื่อครั้งสหราชอาณาจักรเข้ายึดครองในสมัยสงครามฝิ่นเกือบ 10 เท่า 

ผู้สำเร็จราชการคนแรกที่มาประจำยังเกาะฮ่องกงคือ ‘ลอร์ดพาล์เมอร์สตัน’ (Palmerston) เคยขนานนามเกาะแห่งนี้ไว้ว่า ‘หินไร้ค่า’ แต่สหราชอาณาจักรได้ช่วยวางรากฐานการศึกษา การปกครอง และผังเมืองให้ฮ่องกงเป็นอย่างดี เพียงชั่วพริบตาเดียว ฮ่องกงได้กลับกลายเป็นศูนย์กลางพาณิชย์และยังเป็นประตูเปิดสู่เอเชีย 

การกลับมาของ ‘เซอร์ รัน รัน ชอว์’ 

แต่ถ้านับความเจริญที่แท้จริงของฮ่องกงนั้น นอกเหนือจากการที่สหราชอาณาจักรใช้เป็นแค่เมืองท่าส่งสินค้า นั่นคือการอพยพมาของประชากร โดยประชากรส่วนใหญ่ที่พูดภาษากวางตุ้งของฮ่องกงมาจากมณฑลกวางตุ้งที่อยู่ติดกัน ประชากรจำนวนมากเหล่านี้หนีสงครามและการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ในจีนแผ่นดินใหญ่มาตั้งแต่ทศวรรษ 1930 มีทั้งบรรดาพ่อค้า บริษัทภาพยนตร์ บริษัทห้างเสียงปาเต๊ะเรคคอร์ดส (Pathé Records) จากเซี่ยงไฮ้ ซึ่งในยุคนั้นคือเมืองที่เจริญที่สุดของจีนและรับวัฒนธรรมตะวันตกมามากที่สุด 

ฮ่องกงเริ่มมีพื้นฐานธุรกิจบันเทิงมานับตั้งแต่ปลายยุค 30s เมื่อ รัน รัน ชอว์ ลูกชายคนสุดท้องของตระกูลชอว์ กลับมาเหยียบเกาะฮ่องกงอีกครั้งในปี 1957 ในช่วงเวลานั้นก็มีบริษัทเอ๋อเหมยฟิล์ม - Emei Film Company (Hong Kong) ที่เป็นบริษัทน้องใหม่ของวงการที่เพิ่งก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1958 กว้านไล่ซื้อบทประพันธ์ของ ‘กิมย้ง’ อย่าง ‘มังกรหยก’ มาสร้างภาพยนตร์ออกฉายในปีเดียวกัน ทั้งที่นวนิยายยังพิมพ์ไม่จบด้วยซ้ำ โดยใช้ชื่อภาพยนตร์เดียวกันกับนวนิยาย คือ 射鵰英雄傳 ส่วนภาษาอังกฤษ ‘Story of the Vulture Conqueror’ 

射鵰英雄傳 (Story of the Vulture Conqueror/1958) ออกฉายในฮ่องกงเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 1958 เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ดัดแปลงจากนวนิยายของกิมย้ง 

ทาง รันมี่ ชอว์ และ รัน รัน ชอว์ สองพี่น้องตระกูลชอว์ก็เปิด ‘ชอว์ บราเดอร์ส สตูดิโอ’ (Shaw Brothers Studio (HK) Ltd.) อย่างเป็นทางการในวันที่ 27 ธันวาคม 1958 แต่แม้จะเปิดบริษัทปลายปี แต่ทาง ชอว์ บราเดอร์ส ก็ได้เปิดตัวภาพยนตร์สีเรื่องแรก ตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม 1958 สร้างความฮือฮาเป็นอย่างมาก โดยภาพยนตร์เรื่องนั้นก็คือ ‘เตียวเสี้ยน’ (Diao Chan) ที่ดัดแปลงจากวรรณกรรมตอนหนึ่งของ ‘สามก๊ก’ นำแสดงโดย ‘หลินไต้’ กับ ‘เจ้าหลุย’ ส่วนผู้กำกับคือ ‘หลี่ ฮั่นเซียง’ (Li Han-hsiang) 

ในช่วงเวลานั้นความนิยมของคนฮ่องกงยังคงติดอยู่กับ ‘Chinese Opera’ หรือ อุปรากรจีน (งิ้ว) แต้จิ๋ว และเซี่ยงไฮ้ ทำให้ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ยังมีบทร้องแทนบทสนทนา ซึ่งในตอนแรก ชอว์ บราเดอร์สเองก็ยังคงผลิตภาพยนตร์ในทิศทางนี้ และมีภาพยนตร์ที่โดดเด่น อาทิ ‘จอมใจจักรพรรดิ’ (The Kingdom and the Beauty/1959) ที่กำกับโดย ‘หลี่ ฮั่นเซียง’

จอมใจจักรพรรดิ เล่าเรื่องราวฮ่องเต้แห่งราชวงศ์หมิง ที่มีฉายาว่า ‘ฮ่องเต้เจ้าสำราญ’ ทำการปลอมตัวมาท่องเที่ยวทางใต้ จนได้พบกับนางเอกหญิงงามร้านขายเหล้าข้างทาง แห่งหมู่บ้านเหมยหลง จนตกหลุมรักซึ่งกันและกัน ภาพยนตร์ประสบความสำเร็จและทำรายได้มหาศาล ส่งให้ชื่อของ ‘หลินไต้’ นางเอกของเรื่อง และ ‘จิ้งถิง’ เจ้าแม่เพลงหวงเหมย ที่เป็นคนร้องบทร้อง โด่งดังเป็นพลุแตก 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ครั้งที่ 32 ด้วยการผลักดันของสิงคโปร์ ทว่ามิได้ผ่านเข้าสู่การพิจารณาในรอบตัดสิน

ในปีถัดมา ‘วิญญาณรักปีศาจสาว’ (The Enchanting Shadow/1960) หรือ ‘เนี่ย เสี่ยวเชี่ยน’ จากหนังสือ เรื่อง 聊斋志异  (เหลียวไจจื้ออี้ แปลเป็นไทยคือ ‘เรื่องประหลาดจากห้องหนังสือ’) ผลงานของ ‘ผู ซงหลิง’ ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยราชวงศ์ชิง (1644 - 1912) กำกับโดย หลี่ ฮั่นเซียง เป็นภาพยนตร์สีภาษาจีนกลางเรื่องแรกที่เข้าร่วมประกวดในระดับนานาชาติ ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ และได้รับเลือกเป็นตัวแทนภาพยนตร์ฮ่องกงเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศ เสนอโดยฮ่องกง ส่วน ‘เล่อตี้’ นางเอกของเรื่องก็ได้รับการยกย่องให้เป็น ‘นางเอกที่สวยที่สุดของเอเชียตะวันออก’ 

ในปี 1961 ชอว์ บราเดอร์ส ก็ได้เปิดโรงถ่ายขนาดใหญ่ที่ย่าน Clear Water Bay ชื่อว่า ‘Movietown’ (เมืองมายา) ซึ่งระบุไว้ว่ามีพนักงานทั้งหมดราว 1,200 คน มีฉากสำหรับถ่ายทำและบันทึกเสียง (Sound Stage) 6 ฉาก และฉากถ่ายทำแต่ลงเสียงทีหลัง (Dubbing Studio) อีก 3 ฉากใหญ่ เมืองมายาของชอว์ บราเดอร์สนั้นทำงานตลอด 24 ชั่วโมง พนักงานทำงาน 10 ชั่วโมงต่อกะ และมีบ้านพักอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับสตูดิโอ นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่ของชอว์ บราเดอร์ส ที่ไม่เพียงผลิตภาพยนตร์ แต่ยังเป็นพื้นที่ให้เช่าถ่ายทำสำหรับสตูดิโอทั่วไปอีกด้วย แต่นั่นเป็นความคิดแรกเท่านั้น 

‘เซอร์ รัน รัน ชอว์’ แห่ง ‘ชอว์ บราเดอร์ส’ ราชาโลกบันเทิงผู้พลิกโฉม ‘ฮ่องกง’

ส่วนบริษัทชอว์แอนด์ซัน (เดิมคือบริษัทยูนิคฟิล์ม โปรดักชั่น ของพี่น้องตระกูลชอว์ที่สร้างหนังเรื่อง ‘Platinum Dragon’ ซึ่งได้รับการบันทึกว่าเป็นภาพยนตร์ฮ่องกงที่มีเสียงพูดภาษากวางตุ้งเรื่องแรก) ทำหน้าที่ดูแลเรื่องการจัดจำหน่ายเพียงอย่างเดียว และนี่คือจุดเริ่มต้นยุครุ่งเรืองของ ชอว์ บราเดอร์ส อย่างแท้จริง

หลังจากวนเวียนกับการสร้างภาพยนตร์ที่มีโครงสร้างจากอุปรากรจีน หรือภาพยนตร์ที่เนื้อหาดราม่า ความเปลี่ยนแปลงของ ชอว์ บราเดอร์ส ก็เกิดขึ้น จากผลงานกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของ ‘หูจินเฉวียน’ หรือ ‘คิงฮู’ ทีมงานเบื้องหลังที่กระโดดมากำกับภาพยนตร์เรื่อง ‘หงส์ทองคะนองศึก’ (Come Drink with Me/1966) ที่นำเทคนิคภาพยนตร์มาใช้ จนสามารถสร้างความแตกต่างให้กับภาพยนตร์ของชอว์ บราเดอร์ส ทั้งยังผลักดันให้ดาราสาว ‘เจิ้งเพ่ยเพ่ย’ ในวัย 19 รับฉายา ‘ราชินีนักดาบ’ (queen of swords) และเป็นการเปิดตลาดต่างประเทศให้กับชอว์ บราเดอร์ส อีกด้วย

ความสำเร็จของ หงส์ทองคะนองศึก ทำให้ปีถัดมา ชอว์ บราเดอร์ส เพิ่มจำนวนการผลิตภาพยนตร์จาก 17 เรื่อง เป็น 43 เรื่อง ในปี 1967 และในปีนี้เอง ‘เดชไอ้ด้วน’ (The One-Armed Swordsman/1967) ก็ผงาดสร้างความสำเร็จที่เหนือกว่าภาพยนตร์เรื่องใดที่ชอว์ บราเดอร์สเคยสร้างมา โดยเป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ทำรายได้เกิน 1 ล้านเหรียญฮ่องกง ในการออกฉาย ส่งให้ชื่อ ‘จางเชอะ’ ขึ้นเป็น ‘ราชาแห่งภาพยนตร์กำลังภายใน’ เคียงคู่กับ ‘คิงฮู’ ทันที 

ความสำเร็จที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องของชอว์ บราเดอร์ส ทำให้สตูดิโอที่สร้างมาเพื่อให้บริษัทอื่นเช่าถ่ายภาพยนตร์ เรียกได้ว่าแค่ถ่ายหนังของตนเองยังแทบจะไม่เพียงพอ 

มัจฉาชอว์วนเวียนว่ายในสมุทร พานพบกิมโกวแปลงกายเป็นมังกรท่องนภา

ส่วนหนึ่งของความสำเร็จของภาพยนตร์กำลังภายในของชอว์ บราเดอร์ส นั้นเกิดจากความนิยมในนวนิยายกำลังภายในของ เนี่ยอู๋เซ็ง กิมย้ง และโกวเล้ง ที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลก เรียกได้ว่าที่ใดมีคนจีน ที่นั่นย่อมมีนวนิยายกำลังภายในเลยก็ว่าได้ 

ชอว์ บราเดอร์ส นำนวนิยายของเหล่านักเขียนมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ ‘เพชฌฆาตหน้าหยก’ (The Jade Faced Assassin/1971) และ ‘ฤทธิ์ดาบพญายม’ (Swordsman at Large/1971) 

สำหรับการดัดแปลงนวนิยายของโกวเล้ง ทางชอว์ บราเดอร์ส มักจะมอบหมายให้ ‘ฉู่เอี๋ยน’ (ฉู่หยวน) เป็นผู้กำกับ อาทิ ‘ศึกชุมนุมเจ้ายุทธจักร’ (Killer Clans/1976) จากนวนิยายเรื่อง ‘ดาวตก ผีเสื้อ กระบี่’ ตลอดจน ‘จอมดาบเจ้ายุทธจักร’ (The Magic Blade/1976) จากนวนิยาย ‘จอมดาบหิมะแดง’ หรือจะเป็น ‘ศึกวังน้ำทิพย์’ (Clan of Intrigue/1977) สร้างจาก ‘ชอลิ้วเฮียง’ ตอน ‘กลิ่นหอมกลางธารเลือด’ รวมกับตอน ‘ศึกวังน้ำทิพย์’

ส่วนผลงานของกิมย้งนั้นส่วนใหญ่เป็นนวนิยายเรื่องยาว การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์จึงต้องมีการสร้างหลายภาค และมีการสร้างในปี 1977 โดยมอบหมายให้ ‘จางเชอะ’ กำกับ มังกรหยก ภาค 1 (The Brave Archer/1977) ให้ ‘ฟู่เซิง’ รับบท ‘ก๊วยเจ๋ง’ และ ‘เถียนหนิว’ รับบท ‘อึ้งย้ง’ โดยมีการสร้างอีก 2 ภาค ในภาค 2 และภาค 3 เปลี่ยนตัวจาก เถียนหนิว เป็น ‘หนิวหนิว’ รับบทอึ้งย้งแทน 

ในปี 1982 จางเชอะ ต่อยอดความสำเร็จของมังกรหยก ด้วยการสร้าง มังกรหยก ภาค 2 (The Brave Archer and His Mate/1982) โดยมีการเปลี่ยนให้ ‘กั๊วจุย’ รับบทก๊วยเจ๋ง คู่กับ ‘หวงชูอี้’ ที่รับบทอึ้งย้ง และเปลี่ยนให้ฟู่เซิงมารับบท ‘เอี้ยก้วย’ ในวัยเด็ก ตัวภาพยนตร์เตรียมสร้างภาคต่อเอาไว้ แต่ฟู่เซิงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิตเสียก่อน

รัน รัน ชอว์ ไม่ต้องการหยุดความยิ่งใหญ่ของตระกูลชอว์เพียงแค่วงการภาพยนตร์เท่านั้น เขามาสนใจวงการโทรทัศน์ในทันที ซึ่งตอนนั้นวงการโทรทัศน์ที่ผลิตโดยบริษัทของฮ่องกงมีเพียงบริษัทเดียวคือ ‘Rediffusion Television’ (RTV) หรือสถานีโทรทัศน์ลี่เตอ ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ภาคภาษาจีนแห่งแรกของโลกอีกด้วย โดย RTV ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 1957 (จากที่ก่อนหน้านี้เคยดำเนินกิจการสถานีวิทยุมาตั้งแต่ปี 1949)   

รัน รัน ชอว์ จึงก่อตั้ง ‘Television Broadcasts Limited’ (TVB) หรือ ‘อู๋เซี่ยน’ บริษัทได้จดทะเบียนก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 1965 ร่วมกับ ‘Douglas Clague’ และ ‘Harold Lee TVB’ เป็นสถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดินแห่งที่สองในฮ่องกง เริ่มออกอากาศครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 1967 โดยใช้บุคลากรและสตูดิโอถ่ายทำภาพยนตร์ของชอว์ บราเดอร์ส มาสนับสนุน และเป็นนวนิยายของกิมย้งอีกนั่นเองที่สร้างความมั่นคงให้กับมังกรชอว์ในวงการโทรทัศน์ 

หลังจากยุค 90s ผลงานการสร้างภาพยนตร์ของชอว์ บราเดอร์ส ก็ลดลง บริษัท ‘โกลเด้น ฮาร์เวสต์’ ของ ‘เรย์มอนด์ เชา’ ลูกน้องเก่าของ รัน รัน ชอว์ ขึ้นมาแทนที่ในช่วงยุค 80s แต่กระนั้นธุรกิจโรงภาพยนตร์ส่วนใหญ่ในฮ่องกงนั้นเป็นของ รัน รัน ชอว์ มังกรที่แม้จะผงาดวาดลวดลายในวงการโทรทัศน์ แต่ในวงการภาพยนตร์นั้น รัน รัน ชอว์ ก็ยังคงมีอำนาจควบคุมความเป็นไปของวงการภาพยนตร์อยู่ไม่เสื่อมคลาย 

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นภาพได้อย่างดีคือ ขนาดดาราทำเงินอันดับหนึ่งของ ‘วิน ฟิล์ม’ และ ‘โกลเด้น ฮาร์เวสต์’ อย่าง ‘โจวซิงฉือ’ เซอร์ รัน รัน ชอว์ ก็ยังดึงให้มาแสดงภาพยนตร์กับชอว์ บราเดอร์ส ได้ใน ‘คนเล็กสะท้านยุทธจักร’ (Justice, My Foot!/1992), ‘จี้กง ใหญ่อย่างข้าไม่มี’ (The Mad Monk/1993), ‘โลกบอกว่าข้าต้องใหญ่’ (Love on Delivery/1994) และ ‘กึ๋ยเฉพาะชั้นเก้า’ (Out of the Dark/1995) 

จนกระทั่ง เซอร์ รัน รัน ชอว์ เกษียณอายุการทำงานในวัย 104 ปี ด้วยการขายหุ้นชอว์ บราเดอร์ส และ TVB ทั้งหมดให้กองทุนต่างชาติ ซึ่งหลังจากเกษียณไปได้เพียง 2 ปี เซอร์ รัน รัน ชอว์ ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยโรคชรา ในเช้าวันที่ 7 มกราคม 2014 

‘เซอร์ รัน รัน ชอว์’ แห่ง ‘ชอว์ บราเดอร์ส’ ราชาโลกบันเทิงผู้พลิกโฉม ‘ฮ่องกง’

แทบจะเรียกได้ว่านับตั้งแต่ปี 1957 ที่ รัน รัน ชอว์ กลับมาเหยียบเกาะฮ่องกงอีกครั้ง เขาก็ได้เปลี่ยนแปลงฮ่องกงไปโดยสิ้นเชิง จากเกาะเล็ก ๆ ที่เป็นแค่เมืองท่า สู่เมืองที่ผลิตภาพยนตร์สำคัญของโลกเมืองหนึ่ง ซ้ำยังพัฒนาธุรกิจบันเทิงในด้านต่าง ๆ จนทำให้ฮ่องกงกลายเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียในช่วงยุค 60s จนถึงช่วงเวลาการคืนสู่จีนในปี 1997