ก่อนที่คุณค่าจะ ‘ฆ่า’ ความเป็นคน ปลดปล่อยอดีตที่เจ็บปวดผ่านการโอบรับทุกความแตกต่าง

ก่อนที่คุณค่าจะ ‘ฆ่า’ ความเป็นคน ปลดปล่อยอดีตที่เจ็บปวดผ่านการโอบรับทุกความแตกต่าง

เมื่อคุณค่าที่สังคมวางเอาไว้อาจลดทอนความเป็นคน ไม่ว่าการกระทำเหล่านั้นจะส่งผ่าน 'คำพูด' หรือ 'การกระทำ' ก็ตาม ไม่แน่ว่าคำเสียดแทงที่ส่งผ่านออกมา อาจพรากชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปอย่างไม่มีวันหวนกลับ

กี่ครั้งแล้วที่ ‘คำพูด’ หรือการกระทำเป็นตัวการเข้ามาทำลายจิตใจผู้ฟังจนแหลกสลาย เพียงเพราะ ‘คุณค่า’ บางอย่างที่คนในสังคมยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นรูปร่างหน้าตา ฐานะทางการเงิน ความสมบูรณ์พร้อมของครอบครัว ไปจนถึงระดับการศึกษา ทั้งหมดนี้ ผู้กระทำจะไม่มีวันรู้ได้เลยว่าคำพูดเพียงไม่กี่คำได้ฝังลึกลงไปในใจของคนฟังมากเพียงใด และเมื่อถึงคราวที่ใครคนนั้นรับมือไม่ไหว เขาอาจเลือกตัดวงโคจรที่โหดร้ายเหล่านั้นผ่านการทำร้ายตัวเอง โดยที่คนต้นเรื่องอาจไม่เคยรับรู้ถึงความเจ็บปวดของเหยื่อเลยสักครั้ง

แน่นอนว่าการเห็นคุณค่าในตัวเอง หรือ Self-esteem เป็นสิ่งสำคัญ แต่หากเราต้องตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยพิษร้าย เชื่อว่าจิตใจที่เคยแข็งแกร่งคงถึงคราวพังทลายลงได้ เพราะอารมณ์ความรู้สึกของมนุษย์ซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะใช้ไม้บรรทัดเข้ามาวัดได้ว่าใครคนนั้นรู้สึกอย่างไรกันแน่ เพื่อไม่ให้สุขภาพกายและใจแหลกเหลวไปมากกว่านี้ บางครั้งเราก็ต้องยืนหยัด และหันมาใส่ใจคุณค่าของตัวเองที่ระดับพอเหมาะพอดี เพื่อให้คนที่เข้ามาทำร้ายไม่อาจทำลาย ‘ตัวตน’ ของเราลงไปได้

ซึ่งการจะก้าวข้ามความเจ็บปวด และใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข ก่อนอื่นคงต้องยอมรับความแตกต่าง และพร้อมเปิดเผยมุมที่อ่อนแอให้คนสนิทฟังบ้าง ไม่แน่ว่าเรื่องราวที่ปิดบังไว้ในอดีต อาจช่วยคลายปมที่ฝังลึกอยู่ในใจ จนทำให้ตัวตนของเรากลับมาเปล่งประกายอีกครั้ง

ห้วงเวลาที่เปราะบางกับเบื้องหลังใบหน้าของมนุษย์ผู้หวังดี(?)

“เรื่องแค่นี้เองคิดมากไปไหม”

“คนอื่นเขาก็ทำกันทั้งนั้นแหละ จะทำให้เป็นเรื่องใหญ่ทำไม”

“ที่บอกกับเธอแบบนี้ เพราะเป็นห่วงนะ”

สารพัดถ้อยคำที่พรั่งพรูออกมาจากปากของ ‘ผู้หวังดี’ มองเผิน ๆ อาจเป็นข้อความปกติ เขาก็เตือนด้วยความเป็นห่วงนี่นา แล้วมันจะมีปัญหาตรงไหน แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น หลายต่อหลายคนที่เป็นพิษมักจะแฝงตัวมาเป็นที่ปรึกษาแสนจริงใจ แสดงความห่วงใยด้วยถ้อยคำรื่นหู จนทำให้ผู้ฟังเชื่อว่าหรือจริง ๆ แล้วปัญหาทั้งหมดเกิดจากตัวเอง ไม่ใช่ใครอื่น นี่คือสัญญาณอันตรายที่เข้ามาหล่อหลอมความคิด บงการจิตใจผู้ฟังให้ตกอยู่ในภวังค์แห่งความรู้สึกผิด และทำให้เขาเชื่อว่าตนเองนั่นแหละคือคนที่ไม่ดีพอ

มีการบัญญัติพฤติกรรมนี้ว่าคือการ Gaslighting รูปแบบหนึ่งของการควบคุมจิตใจ ด้วยการสร้างความเคลือบแคลง สงสัย เพราะเชื่อว่าคนที่ไว้ใจไม่มีทางทำร้ายทั้งทางร่างกาย จิตใจ และพยายามทำให้รู้สึกด้อยค่า หรือเป็นอื่นในสังคมเป็นแน่ แต่โลกไม่ได้สวยงามดั่งตาเห็น มนุษย์เรามีด้านมืดในจิตใจทั้งนั้น หากใครไม่ได้เป็นคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านั้นคงไม่เข้าใจความรู้สึก

แต่ถ้าไม่สามารถเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษได้ คงต้องใช้ความพยายามเฮือกใหญ่ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ และหากโชคดีขึ้นอีกนิด ไม่แน่ว่าเราอาจเจอใครบางคนที่พร้อมอยู่เคียงข้าง คอยให้กำลังใจ (แบบปราศจากอคติ) ไม่ทิ้งเราในยามเจอสถานการณ์ที่ยากลำบาก

นอกจากเรื่องของจิตใจที่เข้าใจยากแล้ว ร่างกายของมนุษย์ก็เอาใจยากไม่ต่างกัน หากเราตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เคยเจอมาก่อน ระบบการรับมือกับความเครียดจะตื่นตัวขึ้นอย่างอัตโนมัติ เช่น หากถูกคุกคามทางเพศหรือทางวาจา โหมดป้องกันตัวจะเปิดขึ้น สมองจะส่งสัญญาณออกมาอย่างรวดเร็วว่า ร่างกายควรตอบสนองอย่างไร บางคนเลือกที่จะวิ่งหนี บางคนร่างกายแข็งทื่อจนขยับไม่ได้ ขณะที่บางคนอาจเลือกใช้คำพูดเข้าช่วย เพื่อป้องกันให้เกิดอันตรายน้อยที่สุด

นี่คือความอัศจรรย์ของทุกสิ่งที่ประกอบสร้างออกมาเป็นมนุษย์ แต่ถ้าหากส่วนที่คิดว่าเข้มแข็งที่สุดเกิดอ่อนแอขึ้นมา ช่วงเวลาเปราะบางเหล่านี้อาจทำให้ใจของเราไขว้เขวและถูกชักจูงได้ง่าย นานวันเข้าเราก็ไม่สามารถต้านทาน จนก่อให้เกิด Power Dynamics หรือการใช้อำนาจข่มอีกฝ่ายให้ยอมจำนน โดยหยิบยกบรรทัดฐานทางสังคมนั้นขึ้นมาใช้ล่อลวง จนพวกเขาต้องก้มหน้ารับการกระทำของอีกฝ่ายโดยไม่อาจขัดขืน

สำหรับวิธีหลีกหนีและระมัดระวังไม่ให้ถูกทำลายความมั่นใจในตนเองด้วยหลุมกับดักทางจิตใจ สิ่งที่ควรทำโดยเร็วที่สุด คือ การเว้นระยะห่าง และลองเปิดใจรับฟังมุมมองของคนภายนอกดูบ้าง บางทีเขาอาจจะเห็นว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญไม่ได้ช่วยให้ชีวิตดีขึ้นเหมือนอย่างที่คิด

บรรทัดฐานทางสังคมที่อาจทำลายผู้บริสุทธิ์อย่างเลือดเย็น

หากขยายเลนส์ให้กว้างขึ้น ไล่เรียงตั้งแต่การล่อลวง บงการความคิด ทารุณกรรม ทำร้ายร่างกายและจิตใจโดยส่งตรงไปที่ตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ มาเป็นภาพประวัติศาสตร์ไทยในอดีตที่ได้เลือกนำเอา ‘บรรทัดฐาน’ ทางสังคมเข้ามาตีกรอบ สังคมไทยเราเคยเกิดกรณีนองเลือดครั้งใหญ่ ที่คร่าชีวิตนักศึกษาผู้บริสุทธิ์อย่างน้อย 46 คน เพียงเพราะถูกตีตราว่ามีอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างจากความเชื่อของคนในสังคม ณ ขณะนั้น

จนนำไปสู่เหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ในเดือนตุลาคม 2519 แม้จะผ่านมาแล้วครึ่งศตวรรษ แต่ดูเหมือนว่าบทเรียนครั้งนั้น จะถูกนำมาฉายซ้ำในภาพยนตร์ ซีรีส์ อีกหลายต่อหลายเรื่อง หนึ่งในนั้น คือ ‘Shadow เงา / ล่า / ตาย’ ซีรีส์วัยรุ่นเหนือธรรมชาติส่งท้ายปีจาก Viu ผลงานชนะการประกวดโครงการ Viu Pitching Forum 2021 ร่วมกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย หลังจากเรื่องดำเนินมาได้เกินครึ่งทาง ในอีพี 10 ตอนที่ 37 นักเรียนคนหนึ่งได้ตั้งคำถามถึงเหตุการณ์ ‘ตุลาแดง’ ที่เคยเกิดขึ้นในโรงเรียน ซึ่งสอดคล้องกับหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทยได้อย่างพอดิบพอดี 

จากความสงสัยครั้งนั้น ทำให้เขาถูกจับตามองจากอาจารย์มากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังสร้างแรงสั่นสะเทือนทำให้นักเรียนหลายคนเริ่มตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของโรงเรียนแห่งนี้ แต่กลับถูกผู้หลักผู้ใหญ่ปิดบังเอาไว้ ไม่ยอมให้ความลับรั่วไหลแม้แต่เศษเสี้ยวเดียว ถึงการปกปิดครั้งนั้นจะหมายถึงชีวิตของนักเรียนคนหนึ่งก็ตาม

นอกจากการหายตัวไปอย่างปริศนาแล้ว ซีรีส์ยังทิ้งปมไว้รอบด้านโดยเฉพาะความผูกพันระหว่างกลุ่มเพื่อน ความอ่อนไหวระหว่างตัวละครต่างเพศ ไปจนถึงความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนและอาจารย์ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจโยงใยกลับไปยังความลับที่โรงเรียนพยายามเก็บงำเอาไว้

ก่อนที่ความลับจะถูกฝังกลบจนไม่เหลือร่องรอยของใครคนนั้นให้สัมผัส อย่าลืมเห็นคุณค่าของทุกสิ่งรอบตัว ไม่อย่างนั้นวินาทีที่เรานึกย้อนกลับมามองอีกครั้ง อาจจะสายเกินไปแล้วก็เป็นได้ เพราะไม่แน่ว่าความลับบางอย่างที่แอบซ่อนไว้ อาจกลายเป็นสิ่งที่ใครหลายคนเฝ้ารอมาทั้งชีวิต ออกตามหาความจริงได้ใน ‘Shadow เงา / ล่า / ตาย’ ทั้งหมด 14 ตอน สามารถรับชมแบบรวดเดียวจบพร้อมกันได้แล้วที่แอป Viu หรือ https://www.viu.com/