ดูชีวิต ‘เจ เค โรว์ลิ่ง’ ก่อนรวย จำใจรับค่าลิขสิทธิ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มแรกหลักแสนบาท

ดูชีวิต ‘เจ เค โรว์ลิ่ง’ ก่อนรวย จำใจรับค่าลิขสิทธิ์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มแรกหลักแสนบาท

‘เจ. เค. โรว์ลิ่ง’ ผู้เขียนวรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังอย่าง ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ประสบความสำเร็จแบบถล่มทลายทั่วโลก แต่ก่อนที่ชีวิตจะเข้าที่เข้าทาง เธอได้ค่าลิขสิทธิ์จาก ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ เล่มแรกที่ 130,000 บาทเท่านั้น

  • วรรณกรรมเยาวชนที่โด่งดังอย่าง ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ มาจากการสร้างสรรค์ของ ‘เจ. เค. โรว์ลิ่ง’ นักเขียนหญิงที่เคยตกอับ
  • ‘เจ. เค. โรว์ลิ่ง’ ใช้เวลาปั้นงานเขียนอยู่หลายปี ระหว่างนั้นเธออาศัยเงินช่วยเหลือจากสังคมสงเคราะห์ไปด้วย

ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา วงการวรรณกรรมเยาวชนไม่มีหนังสือเล่มไหนที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าหนังสือนิยายชุด ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’

ภาคแรก Harry Potter and the Philosopher’s Stone ถูกปล่อยออกมาในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ.2540) จนมาถึงเล่มเจ็ด Harry Potter and the Deathly Hallows อันเป็นภาคสุดท้ายที่ถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.2007 (พ.ศ.2550) แฮร์รี่ พอตเตอร์ สร้างสถิติใหม่ให้เกิดขึ้นบนโลกมากมาย อย่างเช่น หนังสือชุดนี้มียอดขายมากกว่า 500 ล้านเล่มทั่วโลก (ข้อมูลถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2018) และทำให้แฮร์รี่ พอตเตอร์ กลายเป็นหนังสือชุดที่ขายดีที่สุดในประวัติศาสตร์

หนังสือได้รับการแปลเป็นภาษาอื่น ๆ อีก 80 ภาษาทั่วโลก ก่อนที่จะต่อยอดขยายเป็นละครเวที Harry Potter and the Cursed Child ไปจนถึงภาพยนตร์ชุดภาคพิเศษที่แยกออกไปอย่าง Fantastic Beasts

ยกตัวอย่างความแรงของหนังสือเล่มนี้ในปีเปิดสหัสวรรษใหม่ ปี ค.ศ.2000 วันแรกที่หนังสือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่ม 4 (Harry Potter and the Goblet of Fire ถูกตีพิมพ์) วางจำหน่าย รถบรรทุกจำนวน 9,000 คัน และเครื่องบินอีก 100 เที่ยวของบริษัท FedEx ที่อเมริกา จะไม่ได้ขนส่งสิ่งของอื่นใดเลยนอกจากหนังสือ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ จำนวนมากถึง 250,000 เล่ม (ข้อมูลจาก press.aboutamazon.com)

‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่ทำรายได้ไปทั่วโลก โดยภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ภาคสุดท้าย “Harry Potter and the Deathly Hallows Part 2” เข้าฉายในปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) ทำรายได้ไปทั่วโลก 1,341.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นรายได้ภาพยนตร์สูงสุดตลอดกาลเป็นอันดับ 10 ของบ็อกซ์ออฟฟิศ (ข้อมูลเมื่อปี 2019)

แต่ก่อนที่ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ จะเสกความมั่งคั่งให้กับ เจ. เค. โรว์ลิ่ง ได้อย่างมากมายเช่นทุกวัน เธอต้องยืนระยะในการปั้นพ่อมดให้เป็นหนังสือให้ได้ในช่วงเวลาที่เธอยากลำบากที่สุดในชีวิต

เจ. เค. โรว์ลิ่ง เกิดและเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางที่ชนบท เธอรักการอ่านและการเขียนมาตั้งแต่เด็ก ตอนอายุ 6 ขวบ เจ.เค.โรว์ลิ่ง แต่งนิทานเรื่องแรกในชีวิต นั่นคือเรื่อง Rabbit เป็นเรื่องของกระต่ายป่วยที่ออกหัด แล้วมีเพื่อนมาเยี่ยมเยียน

เจ. เค. โรว์ลิ่ง ในวัยเด็กเป็นเด็กเรียนดี มีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ ซึ่งเธอยอมรับว่าในช่วงเวลานั้นเธอไม่ได้ขยันที่จะเขียนหนังสือเท่าที่ควร และกลายเป็นเพียงนักเรียนระดับปานกลางของมหาวิทยาลัย

แต่ถึงอย่างนั้น เจ. เค โรว์ลิ่ง ก็ยังคงมีนิสัยรักการอ่าน ในปีที่เธอเรียนจบ (ค.ศ.1987) เธอต้องเสียค่าปรับหนังสือเป็นจำนวนมากมายเพราะว่าเธอยืมหนังสือเลยเวลาที่กำหนด และหนึ่งในหนังสือที่ เจ. เค. โรว์ลิ่ง มีโอกาสได้อ่านจากที่นี่ก็คือ วรรณกรรมเยาวชนชั้นเยี่ยมอย่าง The Lord of the Rings ของ เจ. อาร์. อาร์. โทลคีน อันเป็นที่มาของแรงบันดาลใจในการอยากเขียนวรรณกรรมเยาวชนที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาสักเล่ม

จนในที่สุด วาบความคิดของการเขียนเรื่อง ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ก็เกิดขึ้น ในตอนที่เธอนั่งรถไฟจากเมืองแมนเชสเตอร์ไปที่ลอนดอน ขณะที่เธอเดินทาง เธอเริ่มคิดเรื่องการเขียนหนังสืออย่างจริงจัง ซึ่งเธอคิดว่า หากเธอจะเขียนหนังสือสักเล่ม เธอจะเขียนหนังสือแนวแฟนตาซี และแล้วคาแรกเตอร์ของพ่อมดน้อยนัยน์ตาสีเขียว สวมแว่นตา และมีรอยแผลรูปสายฟ้าที่หน้าผาก ก็ค่อย ๆ ไหลเข้ามาในหัวของเธอ

นี่เป็นครั้งแรกที่เจ. เค. โรว์ลิ่ง จินตนาการถึง ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ เธอจึงลงมือวางโครงเรื่องทันที

แต่เชื่อไหมว่า? จากวันนั้น ถึงวันที่แฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มแรก ‘Harry Potter and the Philosopher’s Stone’ เขียนเสร็จ เธอใช้เวลาขัดเกลาเนื้อหาในหนังสือนานถึง 5 ปี ทั้งยังเป็น 5 ปีที่เธอตกอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก เพราะหลังจากที่เธอแต่งงานกับสามีคนแรก ทั้งคู่ใช้ชีวิตร่วมกันเพียงปีกว่าก็หย่าร้างกัน และเธอนำเจสสิก้า ลูกสาวของเธอมาเลี้ยงดูเอง

เจ. เค. โรว์ลิ่ง ไม่มีงานทำ เธอและลูกสาวอาศัยอยู่ในแฟลตโทรม ๆ ทั้งยังอาศัยเงินช่วยเหลือจากสังคมสงเคราะห์ ในตอนกลางวัน เธอพาลูกสาวหลบหนีจากบรรยากาศอึดอัดในแฟลต มานั่งที่ร้านกาแฟทุกวัน จนในที่สุด เธอก็เขียน ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ เล่มแรกจนจบเล่ม

แต่ใช่ว่าชีวิตจะราบรื่น เพราะเจ. เค. โรว์ลิ่ง นำงานไปเสนอกับหลาย ๆ สำนักพิมพ์ แต่ถูกปฏิเสธจนเธอเกือบท้อ ในที่สุด มีสำนักพิมพ์หนึ่งเสนอพิมพ์งานของเธอ โดยให้ค่าลิขสิทธิ์เพียง 4,000 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 130,000 บาท) แต่เธอจำต้องรับ เพื่อใช้เป็นค่าเลี้ยงดูลูกสาวของเธอ

ในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ.2540) วรรณกรรม Harry Potter and the Philosopher’s Stone ก็ถูกตีพิมพ์ แม้ว่าในครั้งแรกจะตีพิมพ์เพียง 1,000 เล่ม แต่ใช้เวลาเพียงปีเดียวในการสร้างกระแสให้พ่อมดหนุ่มน้อย ผู้มีสายฟ้าที่หน้าผาก รู้จักไปทั่วโลก และในปี ค.ศ.2016 Sunday Times Rich List ได้ประเมินว่าเธอมีทรัพย์สินอยู่ประมาณ 600 ล้านปอนด์ (24,760 ล้านบาท) ติดอันดับบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของสหราชอาณาจักรอันดับที่ 197

เมื่อมองย้อนกลับไปที่อดีตอันหนักหน่วงของ เจ. เค. โรว์ลิ่ง ใน 5 ปีที่แสนลำบาก หากเธอไม่สามารถยืนระยะเพื่อเขียนวรรณกรรมเยาวชนที่เธอจินตนาการถึง ในวันนี้ ผู้คนทั่วโลกคงจะไม่ได้สัมผัสถึงเวทย์มนต์ของพ่อมด ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ ที่ปลุกกระแสการอ่านหนังสือของผู้คนทั่วโลก ซึ่งผลักดันให้ เจ. เค. โรว์ลิ่ง กลายเป็นนักเขียนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์

 

อ้างอิง:

ถนอมศักดิ์ จิรายุสวัสดิ์. เจ.เค.โรว์ลิ่ง ผู้หญิงไม่ยอมแพ้โชคชะตา, ปราชญ์สำนักพิมพ์.