‘เอ็ด ชีแรน’ ชนะคดีที่ถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ เพลงดังยุค 70s ‘Let’s Get It On’ ได้อย่างไร?

‘เอ็ด ชีแรน’ ชนะคดีที่ถูกฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ เพลงดังยุค 70s ‘Let’s Get It On’ ได้อย่างไร?

ชัยชนะในลิขสิทธิ์เพลง ‘Thinking Out Loud’ ของ ‘เอ็ด ชีแรน’ อาจขัดแย้งกับความรู้สึกของใครหลายคน ที่ยังคงรู้สึกถึงกลิ่นอายหรือคิดไปถึงขั้นว่า อาจจะเป็นการลอกเลียนแบบเพลง ‘Let’s Get It On’ ของ ‘มาร์วิน เกย์’ แล้วทำไมศาลจึงตัดสินแบบนี้?

  • ‘แคทรีน ทาวน์เซนด์ กริฟฟิน’ ทายาทของ ‘เอ็ด ทาวน์เซนด์’ ผู้ร่วมประพันธ์บทเพลง ‘Let’s Get It On’ ผู้เป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลในประเด็นว่า บทเพลงนี้ได้ถูกลอกเลียนแบบทั้งท่วงทำนอง เสียงประสาน และจังหวะ
  • นักดนตรีวิทยาอย่าง ‘ลอว์เรนซ์ แฟร์แรรา’ พยานฝ่ายจำเลยกล่าวต่อคณะลูกขุนว่า มีเพลงอีกกว่า 80 เพลงที่มีทางเดินคอร์ดลักษณะนี้ และมี 33 เพลงที่เกิดขึ้นก่อนบทเพลง Let’s Get It On จะปรากฏขึ้นในโลกนี้ 

‘เอ็ด ชีแรน’ (Ed Sheeran) ตกเป็นจำเลยในคดีลิขสิทธิ์เพลง ‘Thinking Out Loud’ เพลงดังระดับรางวัลแกรมมี่ปี 2016 ที่ถูกกล่าวหาว่าลอกเลียนแบบ ‘Let’s Get It On’ เพลงดังตั้งแต่ปี 1973 ของ ‘มาร์วิน เกย์’ (Marvin Gaye) ที่ได้รับรางวัลจากสถาบันทางดนตรีเดียวกันในปี 2004 ในฐานะ ‘Grammy Hall of Fame’ โดยมีทายาทของ ‘เอ็ด ทาวน์เซนด์’ (Ed Townsend) ในฐานะนักแต่งเพลงผู้ถือลิขสิทธิ์ เป็นโจทก์ฟ้องร้อง

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม 2023 คณะลูกขุนมีคำพิพากษาให้บทเพลง ‘Thinking Out Loud’ ไม่ถือว่าเป็นการลอกเลียนแบบเพลงของมาร์วิน เกย์ นักร้องเพลง Soul ในตำนาน 

ทันทีที่ชนะคดี เขาได้ออกแถลงการณ์ที่มีส่วนหนึ่งของถ้อยแถลงว่า “บทเพลงนี้เป็นการใช้ ‘หน่วยโครงสร้างร่วมกัน’ (common building blocks)” 

แล้วอะไรคือความหมายของสิ่งที่เขาเรียกว่ามี ‘หน่วยโครงสร้างร่วมกัน’ ?

ชัยชนะที่ปรากฏอาจจะขัดแย้งกับความรู้สึกของใครหลายคน ที่ยังคงรู้สึกถึงกลิ่นอายหรือคิดไปถึงขั้นว่า อาจจะเป็นการลอกเลียนแบบตามที่โจทก์ฟ้องร้อง แล้วทำไมศาลจึงตัดสินแบบนี้?

หากพิจารณาถึงความหมายการลอกเลียนแบบในโลกของกฎหมายลิขสิทธิ์ที่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา หนึ่งลิขสิทธิ์สำคัญในงานดนตรีที่เรียกว่า ‘ดนตรีกรรม’ คือการคุ้มครองผู้ประพันธ์เพลงในฐานะเจ้าของลิขสิทธิ์จากการลอกเลียนแบบ ที่มักปรากฏได้ชัดเจนจากท่วงทำนองที่สามารถร้องตามได้ 

เรียกว่าเป็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลังเนื้อเพลงที่ทำให้เราสามารถรู้จำ เข้าใจ ร้องตามลำดับสูงต่ำและจังหวะการเกิดขึ้นของมันได้อย่างถูกต้องทุกครั้งที่ต้องร้องมันซ้ำ รวมถึงโครงสร้างทางดนตรีที่ถูกเรียบเรียงขึ้นมาเป็นหนึ่งบทเพลง

‘แคทรีน ทาวน์เซนด์ กริฟฟิน’ (Kathryn Townsend Griffin) ทายาทของเอ็ด ทาวน์เซนด์ ผู้ร่วมประพันธ์บทเพลง Let’s Get It On ผู้เป็นโจทก์ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลในประเด็นว่า บทเพลงนี้ได้ถูกลอกเลียนแบบทั้งท่วงทำนอง เสียงประสาน และจังหวะ ทั้งการลงคอร์ดและกลองที่ตีนั้น มีความเหมือนกับบทเพลงดังกล่าว 

อีกทั้งยังนำนักดนตรีวิทยาอย่าง ‘อเล็กซานเดอร์ สจ๊วต’ (Alexander Stewart) มาช่วยยืนยันว่า ช่วง 24 วินาทีแรกในเพลงของชีแรนนั้น มีความคล้ายกับจุดเริ่มในเพลงโจทก์อีกด้วย 

หลักฐานสำคัญที่นำมาช่วยยืนยันข้อกล่าวหาคือ การใช้คลิปที่ครั้งหนึ่งชีแรนเคยนำทั้งสองเพลงมาเล่นต่อกัน เปรียบเสมือนร่องรอยคำรับสารภาพว่า เขาได้นำข้อมูลเพลงโจทก์มาใช้เป็นเพลงเขาจริง ๆ 

หากดูจากหลักฐานที่โจทก์ยื่นฟ้องแล้ว ทำไมบทเพลงนี้ยังรอดและไม่เข้าข่ายว่าเป็นการลอกเลียนแบบ ทั้งที่บางคนอาจจะยังรู้สึกได้ว่า ทั้งสองบทเพลงมีความละม้ายคล้ายคลึงกัน แต่ทำไมศาลกลับไม่นับว่าเป็นการลอกเลียนแบบ อยากจะชวนมาทำความเข้าใจปรากฏการณ์นี้ไปด้วยกัน

“ผมไม่ใช่คนที่เล่นกีตาร์เก่ง”

ณ ห้องพิจารณาคดีความ ‘หลุยส์ แอล. สแตนตัน’ (Louis L. Stanton) เขาให้การต่อศาลพร้อมกับกีตาร์โปร่งโลว์เดน (Lowden) ตัวโปรด ที่เขาร่วมพัฒนารุ่นนี้ขึ้นมากับทีมช่างที่ผลิตออกมาขายสู่ตลาดโลก เพื่อนำมาใช้ประกอบคำให้การ ถึงแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์บทเพลงนี้ ซึ่งเกิดขึ้นมาจาก ‘เอมี แวดจ์’ (Amy Wadge) ผู้ร่วมประพันธ์เพลงนี้เป็นผู้ริเริ่มทางเดินคอร์ดให้ 

 

ทั้งยังบอกเล่าถึงเรื่องราวของบทเพลง ที่กล่าวถึงการตกหลุมรัก และต้องการใช้เวลาทั้งชีวิตกับใครสักคน โดยหลังจากที่เขากล่าวว่า “ผมไม่ใช่คนเล่นกีตาร์เก่ง” เขาได้เริ่มบรรเลงเพลง Let’s Get It On ที่เอ็ด ทาวน์เซนด์ และมาร์วิน เกย์ เป็นผู้ร่วมประพันธ์ ต่อด้วยเพลง Thinking Out Loud เพื่อเปรียบเทียบต่อหน้าศาลให้เห็นถึงความเหมือนและความต่างของทั้งสองบทเพลง 

ทั้งหมดนี้เพื่อใช้เป็นข้อมูลยืนยันว่า เขาไม่ได้มีเจตนาที่จะลอกเลียนแบบเพลงตามที่โจทก์ได้ยื่นฟ้อง และแก้ต่างฝ่ายโจทก์ที่อ้างว่า เขาเคยบรรเลงทั้งสองเพลงต่อกันในระหว่างการแสดงสด โดยชีแรนให้การว่า อาจเป็นเพราะว่ามีโครงสร้างทางดนตรีบางอย่างร่วมกัน นั่นคือการใช้บันไดเสียงเดียวกัน 

อัยการ ‘ไอลีน ฟาร์กัส’ (IIene Farkas) พยายามชี้ให้เห็นว่า แม้ฝ่ายโจทก์จะแสดงหลักฐานที่ดูเหมือนว่าเป็นคำสารภาพโดยอ้อมของจำเลย แต่หากพิจารณาถึงเนื้อหาของเพลงที่ไม่ได้มีความหมายทั้งทางดนตรีและเนื้อเพลงใกล้เคียงกับเพลงที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยกล่าวถึงการวิเคราะห์ของสจ๊วตว่า เป็นการวิเคราะห์เนื้อหาทางดนตรีเพียงครึ่งเดียว เพราะบอกได้แค่ว่ามีเพียง 24 วินาทีแรกเท่านั้นที่บทเพลงมีความเหมือนกัน และไม่ได้บอกต่อว่าทั้งสองเพลงนี้มีทางเดินคอร์ดที่เหมือนกัน 

นักดนตรีวิทยาอย่าง ‘ลอว์เรนซ์ แฟร์แรรา’ (Lawrence Ferrara) พยานฝ่ายจำเลยกล่าวต่อคณะลูกขุนว่า แม้ว่าสจ๊วต พยานผู้เชี่ยวชาญดนตรีวิทยาฝั่งโจทก์ จะบอกว่าเพลงของชีแรนมีทางเดินคอร์ด จังหวะการมาก่อนหลังของท่วงทำนองที่เหมือนกัน แต่กลับพบว่ายังมีเพลงอีกกว่า 80 เพลงที่มีทางเดินคอร์ดลักษณะนี้ และมี 33 เพลงที่เกิดขึ้นก่อนบทเพลง Let’s Get It On ปรากฏขึ้นในโลกนี้ 

ในขณะที่อัยการฝ่ายโจทก์ ‘คีช่า ไรซ์’ (Keisha Rice) เปิดแต่ท่อนของทั้งสองเพลงปะติดปะต่อกัน และกล่าวว่า “หวังว่าคณะลูกขุนจะไม่ตาบอดไปกับความเป็นเซเลบของเขา” 

ทั้งยังตั้งคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไรที่ชีแรนจะแต่งเพลงได้วันละ 8 - 10 เพลงต่อวันโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบว่าเพลงเหมือนของใครหรือไม่ ซึ่งเท่ากับว่าสิ่งที่เขาพูดมาก็เป็นคำสารภาพไปครึ่งหนึ่งของเขาแล้วว่า เขาอาจจะตั้งใจหรือไม่ที่จะไปทำซ้ำเพลงอื่นโดยไม่รู้ตัว เธอยังอ้างคำให้การของสจ๊วตว่ากว่า 70% ของ Thinking Out Loud มีความคล้ายคลึงกับ Let’ Get it On 

‘เบน ครัมป์’ (Ben Crump) อัยการฝ่ายโจทก์ขยี้ประเด็นการแสดงสดที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่นำสองเพลงมาต่อกัน โดยบอกว่ามันคือร่องรอยที่เป็นประจักษ์พยานว่าลอกเลียนแบบ ที่ไม่เป็นการเปรียบแค่เพียงเขม่าดินปืน แต่ยังมีปลอกกระสุนตกและเก็บได้อีกด้วย และหวังว่าคณะลูกขุนจะไม่หลงเสน่ห์ของนักร้องหน้ามนคนนี้ 

หลังไต่สวนทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย ผลเป็นดังที่ปรากฏเป็นข่าวทั้งโลกว่า ชีแรนหลุดจากคดีนี้ เพราะความดังของเขา หรือกลยุทธ์ที่เขาไปยืนร้องเพลงในศาลหรือไม่? ที่ทำให้เขาและแวดจ์เป็นฝ่ายชนะคดีนี้ 

ศาลลำเอียงเพราะความดัง (กว่า) ของฝ่ายจำเลยหรือไม่?

ราวกับว่า เอ็ด ชีแรนใช้ชื่อเสียงความโด่งดังและใช้ความสามารถของเขาในการเกลี้ยกล่อมศาลให้ตัดสินว่าเขาไม่ได้ลอกเลียนแบบงานที่โจทก์ฟ้องร้องค่าเสียหาย ทั้งที่ถ้าหลายคนอาจจะฟังเพลงทั้งสองแล้วก็ยากที่ปฏิเสธได้ว่าสองเพลงนี้มีความเหมือนกัน 

หากพิจารณาถึงขั้นตอนการให้การด้วยหลักฐานจากทั้งสองฝ่ายพบว่า เงื่อนไขสำคัญในการตัดสินคดีความนี้อยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นพยานจากทั้งสองฝ่าย จากนักดนตรีวิทยาที่สามารถหยิบยกองค์ประกอบทางดนตรีความเหมือนและแตกต่างมาสู้กันในชั้นศาล เพื่อให้ฝ่ายของตนมีความได้เปรียบ ถ้าพิจารณาดูจากสิ่งที่ชีแรนพยายามอธิบายนั้นคงไม่เพียงพอและสามารถแพ้คดีได้อย่างง่ายดาย 

ทว่าชัยชนะที่เกิดขึ้นของฝั่งจำเลยนั้นเกิดขึ้นได้จากประจักษ์พยานที่บอกเล่าได้ว่า สิ่งที่ฝ่ายโจทก์พยายามอ้างว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เสียงดนตรีนั้น เป็นส่วนของหน่วยโครงสร้างร่วมกัน (common building blocks) ทางดนตรี ที่มีอยู่มาแต่ก่อนบทเพลงโจทก์นำมาเรียกร้อง เกิดขึ้นเสียอีก 

ดังที่พยานฝ่ายจำเลยอย่างแฟร์แรราได้หยิบยกหนึ่งในหลายตัวอย่างว่า มีเพลงที่ใช้ทางเดินคอร์ดและจังหวะการลงคอร์ดเหมือนกับเพลง Let’s Get It On อย่าง Georgy Girl (1966) ของวง The Seekers และเพลง Hurdy Gurdy Man (1968) ของวง Donovan ที่เกิดขึ้นมาก่อนเพลงที่โจทก์บอกเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางเดินคอร์ดและวิธีการลงคอร์ดบนจังหวะแบบนี้ขึ้นมาเหนือเพลง Thinking Out Loud นั้น คือโครงสร้างพื้นฐานทางดนตรีที่สามารถเกิดขึ้นซ้ำกันได้ 

แต่สิ่งที่ซ้ำกันแล้วยากที่จะปฏิเสธได้คือท่วงทำนองที่ต่อเนื่องกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ที่เพลง ‘Shape Of You’ ก็เคยถูกฟ้องว่าลอกเลียนช่วงหนึ่งของทำนองเพลง Oh Why ของ ‘ซามี โชครี’ (Sami Chokri) หรือนามในวงการ ‘ซามี สวิตช์’ (Sami Switch) ในท่อนฮุก ก็รอดมาแล้ว 

โดยที่ชีแรนให้การว่าไม่เคยได้ยินเพลงของโชครีมาก่อน แต่ก็สามารถต่อสู้ในชั้นศาลได้จากการเริ่มประโยคที่แตกต่างกันระหว่างชีแรนที่เริ่มจังหวะตก ในขณะที่โชครีเริ่มจังหวะยก

 

ภาพ: Getty Images