ข้าวไม่มีขาย - ศรเพชร ศรสุพรรณ : ลูกคอศรเพชรกับวิกฤตการณ์ข้าวในยุค 14 ตุลาฯ

ข้าวไม่มีขาย - ศรเพชร ศรสุพรรณ :  ลูกคอศรเพชรกับวิกฤตการณ์ข้าวในยุค 14 ตุลาฯ

จอมพลถนอมอยากขายข้าว แต่ ศรเพชร ศรสุพรรณ ร้อง ‘ข้าวไม่มีขาย’ ลูกคอศรเพชรกับบทเพลงสะท้อนวิกฤตการณ์ข้าวในยุค 14 ตุลาฯ

KEY

POINTS

 

 

เมื่อเอ่ยถึงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลายคนคงพลันนึกถึงพลังของนิสิต/นักศึกษา และประชาชน ที่ออกมาเดินขบวนประท้วงต่อต้านและโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการทหาร ‘จอมพลถนอม กิตติขจร’ จนพังครืน และนำมาสู่ยุคสมัยทางการเมืองไทยที่เรียกว่า ยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน

แม้มูลเหตุการณ์โค้นล้มรัฐบาลเผด็จการทหารจอมพลถนอม จะมาจากหลายปัจจัย หลายสาเหตุ แต่หนึ่งในสาเหตุที่ไม่ค่อยได้รับการกล่าวถึงมากนักก็คือ ‘ปัญหาวิกฤตการณ์ข้าว’ ซึ่งเป็นมูลเหตุสำคัญหนึ่งที่ส่งผลต่อความรู้สึกและความเชื่อมั่นรัฐบาลจอมพลถนอมในสายตาประชาชน โดยเฉพาะการปรากฏภาพพี่น้องประชาชนคนไทยต้องไปต่อแถวเข้าคิวเพื่อรอซื้อข้าวสารจากหน่วยงานของรัฐ เนื่องจากข้าวสารตามท้องตลาดมีราคาแพงและขาดตลาด

วิกฤตการณ์ข้าว นับเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลจอมพลถนอมต้องเผชิญในช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อารมณ์และความรู้สึกต่อวิกฤตการณ์ดังกล่าว ได้ถูกบันทึกลงในแผ่นเสียงและเปล่งออกมาจากลูกคอของนักร้องลูกทุ่งเจ้าของฉายา ‘หนุ่มนาเสียงเด็ด’ อย่าง ‘ศรเพชร ศรสุพรรณ’ ในผลงานเพลงสร้างชื่อ ‘ข้าวไม่มีขาย’ ที่โด่งดังเป็นอย่างมากในช่วง พ.ศ. 2517 – 2518 ซึ่งส่งผลทำให้ ศรเพชร ศรสุพรรณ ได้รับรางวัล นักร้องดีเด่นเสาอากาศทองคำ จากสถานีวิทยุเสียงสามยอด ในปี พ.ศ. 2518 และในกาลต่อมา เพลงข้าวไม่มีขายยังได้เป็นหนึ่งในตำนานเพลงลูกทุ่งไทยที่ได้รับรางวัลพระราชทาน จากงานกึ่งศตวรรษลูกทุ่งไทย ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ.2534 อีกด้วย

ประวัติเพลง ‘ข้าวไม่มีขาย’

ศรเพชร ศรสุพรรณ หรือที่พี่น้องในวงการเพลงลูกทุ่งนิยมเรียกกันว่า ‘พี่ทัน’ หรือ ‘บุญทัน คล้ายละมั่ง’ เป็นชาวจังหวัดสุพรรณบุรี เริ่มเข้าสู่วงการเพลงลูกทุ่งในช่วงต้นทศวรรษ 2510 จากการเป็นนักร้องเชียร์รำวงในคณะดำ แดนสุพรรณ มีผลงานเพลงบันทึกแผ่นเสียงครั้งแรกจากผลงานเพลง ‘หยิกแกมหยอก’ ก่อนจะมาโด่งดังเป็นที่รู้จักของมิตรรักแฟนเพลงด้วยผลงานเพลง ‘ข้าวไม่มีขาย’ ที่ประพันธ์โดย ‘โผผิน พรสุพรรณ’ 

 

ข้าวไม่มีขาย - ศรเพชร ศรสุพรรณ :  ลูกคอศรเพชรกับวิกฤตการณ์ข้าวในยุค 14 ตุลาฯ

 

ในแรกเริ่มเดิมที โผผิน พรสุพรรณ แต่งเพลงนี้ไว้โดยตั้งชื่อว่า ‘รักได้หรือเปล่า’ ทว่า  ‘มนต์ เมืองเหนือ’ โปรดิวเซอร์เพลงลูกทุ่งชื่อดังในยุคนั้น ได้ฟังเพลงแล้วจึงขอเปลี่ยนชื่อเป็นเพลง ‘ข้าวไม่มีขาย’ เพื่อให้เข้ากับบริบทของเพลงซึ่งกล่าวถึงไอ้หนุ่มบ้านนาที่ตั้งใจจะหอบสินสอดเงินทองไปขอหญิงสาวแต่งงาน แต่ปรากฏว่า นาแล้ง ข้าวไม่ได้ผลผลิตตามที่คาดหวังจึงทำให้ไม่มีเงินไปขอหญิงสาวที่รักแต่งงาน ดังที่ ศรเพชร ร้องด้วยเสียงสูงเต็มเสียงพร้อมด้วยลูกคอสะอึกสะอื้นอันเป็นเอกลักษณ์ ว่า

 

พี่เป็นคนจน จึงต้องจำทนทำงานเหนื่อยแรง
เหมือนดังกรรมบันดาล นงคราญ โอ๊ย ก็แกล้ง
เรียกสินสอดเสียแพง ให้พี่แต่ง โอ๊ย เงินไม่มี
ไร่นาที่ทำ เวรกรรม โอ๊ย ก็แกล้ง
บังเกิดความแห้งแล้ง แห้งแล้ง ไปเสียทั้งปี
แหงนมองดูฟ้า ก้มหน้า มองดินอีกที
พี่ยากจนเช่นนี้ จะรักพี่ได้ไหม
พี่จนปัญญา จะแต่งน้องมาเป็นแฟนอย่างไร
ข้าวในนาปีนี้ โถพี่ ไม่มีจะขาย
จะขายวัว ขายควาย พี่ก็อาย คนเขาจะนินทา
รักเจ้าก็รัก ยากนัก โอ๊ย คราวนี้
กลัวน้องจะหน่ายหนี ตอนนี้ พี่จนหนักหนา
คิดดูเถิดน้อง พี่ต้องทนทรมาน
พี่ยากจนเหลือคณา น้องจ๋า รักพี่ได้ไหมเอย

 ‘ข้าวไม่มีขาย’ จากลูกคอของ ศรเพชร ศรสุพรรณ ไม่เพียงแต่เป็นบทเพลงสะท้อนวิถีชีวิตพี่น้องชาวนาไทยที่ต้องทนทำงานเหนื่อยแรงและพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศในการประกอบอาชีพทำนา แต่วลีที่ว่า ‘ข้าวไม่มีขาย’ ยังอาจสะท้อนมาจากบริบทเรื่องวิกฤตการณ์ข้าวของไทยในช่วง ปี พ.ศ. 2515 – 2516 ที่ปรากฏว่า ชาวนาไทยไม่มีข้าวจะขาย เนื่องจากประเทศไทยเกิดสภาวะภัยแล้งจัดหรือที่เรียกว่าปรากฏการณ์เอลนีโญ ในระดับรุนแรง ช่วงปี พ.ศ. 2515 -2516 ดังที่ ศรเพชร ถึงกับร้องว่า 

 

บังเกิดความแห้งแล้ง แห้งแล้ง ไปเสียทั้งปี” 

 

ปัญญาภัยแล้งในช่วงปี พ.ศ. 2515 ส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าว ซึ่งเป็นสินค้าบริโภคสำคัญภายในประเทศและยังเป็นสินค้าส่งออกที่เชิดหน้าชูตาของไทย จากข้อมูลระบุว่า ภัยแล้งในปี พ.ศ. 2515 ทำให้พื้นที่ทำนาที่ได้ผลผลิตลดลงเหลือราว 33.5 ล้านไร่ หรือเหลือเพียงร้อยละ 65 ของพื้นที่ทำนาทั้งหมด และเหตุดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อปัญหาการขาดแคลนข้าวและข้าวมีราคาแพงในปี พ.ศ. 2516

แม้เพลง ‘ข้าวไม่มีขาย’ จะโด่งดังเป็นอย่างมากในช่วง พ.ศ. 2517 – 2518 หรือในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ แต่เป็นไปได้ว่า โผผิน พรสุพรรณ น่าจะแต่งเพลงนี้ขึ้นในช่วงราวปี พ.ศ. 2516 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลจอมพลถนอมต้องประสบกับปัญหาวิกฤตการณ์ข้าวเป็นอย่างมาก ดังปรากฏการรายงานข่าวเรื่องวิกฤตการณ์ข้าวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ทั้งปัญหาเรื่องข้าวขาดตลาด ข้าวราคาแพง พ่อค้ากักตุนข้าว และมีการลักลอบส่งออกข้าวขายต่างประเทศ ตลอดทั้งปี พ.ศ. 2516

 

จอมพลถนอมอยากขายข้าว แต่ ‘ข้าวไม่มีขาย’

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จะมาเยือน นอกจากปัญหาทางการเมือง จอมพลถนอมยังต้องเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ อาทิ วิกฤติน้ำมันขาดแคลน ปัญหาสินค้าราคาแพง ข้าวขาดตลาด ไปจนขนาดที่ว่าเกิดวิกฤตผ้าก๊อซปิดแผลขาดตลาดจนกลายเป็นปัญหาตามโรงพยาบาลหลายแห่ง ก็มี

ผลจากภัยแล้งที่ทำให้ข้าวไม่มีขาย ไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาของ ศรเพชร ศรสุพรรณ และพี่น้องชาวนาไทย แต่ยังกลายเป็นประเด็นปัญหาที่สั่นคลอนเสถียรภาพและความชอบธรรมทางการเมืองของรัฐบาลจอมพลถนอมตั้งแต่ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2516 แม้ว่ารัฐบาลจอมพลถนอมจะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการให้กระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคาข้าวและราคาสินในตลาด รวมถึงควบคุมการส่งออกข้าวไปยังต่างประเทศ แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น หนำซ้ำพ่อค้าโรงสีบางแห่งยังกักตุนข้าวเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งทำให้เกิดวิกฤตข้าวขาดแคลน เป็นผลทำให้เมื่อรัฐบาลให้หน่วยงานของรัฐออกร้านจำหน่ายข้าวสารในราคาถูกให้แก่ประชาชน ก็มักจะปรากฏภาพประชาชนจำนวนมากมายืนต่อแถวเข้าคิวรอซื้อข้าวกันอย่างเนืองแน่น 

 

ข้าวไม่มีขาย - ศรเพชร ศรสุพรรณ :  ลูกคอศรเพชรกับวิกฤตการณ์ข้าวในยุค 14 ตุลาฯ

ภาพข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 12 มิถุนายน 2516 นำเสนอข่าว พี่น้องประชาชนคนไทยต้องไปต่อแถวซื้อข้าวกันอย่างเนืองแน่น เนื่องจากข้าวขาดตลาดและมีราคาแพง โดยบรรยายภาพว่า 
ท่านผู้บริหารประเทศเอ๋ย...ดูเอาเถอะ เหตุการณ์อย่างนี้นับวันจะบีบรัดมัดตัวมากขึ้น ในแผ่นดินสยามที่เคยขึ้นชื่อว่าเป็นอู่ข้าวสมบูรณ์แห่งหนึ่งของโลก ชาวประชาจะหน้าใสได้อย่างไรเล่า เมื่อข้าวอันเป็นอาหารหลักต้องแบ่งส่วนยื้อแย้งเหมือนอะไรดี...หนทางใดจะแก้ก็รีบเถิด

 

เข้าสู่เดือนมิถุนายน 2516 ข้าวสารยังคงขาดแคลนและมีราคาสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างเป็นประวัติการณ์ ในช่วงเวลาดังกล่าว นอกจากการเล่นข่าวกรณีการล่าสัตว์ในพื้นที่ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรของข้าราชการระดับบิ๊กและนักธุรกิจที่มีชื่อเสียงอย่างครึกโครม ข่าวและภาพที่ปรากฏนำเสนอเคียงคู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ก็คือ ภาพของพี่น้องประชาชนคนไทยทั้งวัยเด็ก หนุ่มสาว และคนแก่ ต้องไปต่อคิวเข้าแถวตามจุดสถานที่ต่าง ๆ ที่รัฐบาลกำหนด เพื่อแย่งกันซื้อข้าวสารกันอย่างอลหม่าน เนื่องจากหน่วยงานของรัฐเองก็มีข้าวนำมาจำหน่ายอย่างจำกัด เพราะไม่มีข้าวในปริมาณเพียงพอที่จะขายให้แก่ประชาชน ดังปรากฏว่า ในบางแห่งมีชาวบ้านนับร้อยไปเฝ้ารอซื้อข้าวสารจากหน่วยงานของรัฐตั้งแต่เช้า แต่ทว่า หน่วยงานของรัฐก็ไม่มีข้าวจะมาจำหน่าย 

ในสายตาของรัฐบาลนั้นเชื่อว่า เหตุที่ข้าวขาดแคลนหรือ ‘ข้าวไม่มีขาย’ มีสาเหตุมาจากการกักตุนข้าวของพ่อค้า รวมถึงพ่อค้าข้าวส่วนใหญ่เลือกที่ส่งออกข้าวไปขายยังต่างประเทศเนื่องจากได้ราคารับซื้อที่ดีกว่า จอมพลถนอม นายกรัฐมนตรี จึงแต่งตั้งให้ พันเอก ณรงค์ กิตติขจร บุตรชาย เป็นประธานอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำข้าวออกนอกประเทศ รวมทั้งคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติให้ประธานอนุกรรมการชุดนี้มีอำนาจควบคุมราคาข้าวทุกชนิด และมอบอำนาจในการสั่งยึดและบังคับซื้อข้าว ทว่า สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ในท้ายสุด จอมพลถนอมต้องใช้ ‘ยาแรง’ ด้วยการใช้อำนาจมาตรา 17 ให้อำนาจแก่คณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) ที่มี พันเอก ณรงค์ กิตติขจร ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการ ทำหน้าที่แก้ปัญหาข้าวขาดแคลนและมีราคาแพง ในวันที่ 3 สิงหาคม 2516 แต่ทว่า ทุกอย่างก็ดูจะสายเกินการณ์ 

 

ข้าวไม่มีขาย - ศรเพชร ศรสุพรรณ :  ลูกคอศรเพชรกับวิกฤตการณ์ข้าวในยุค 14 ตุลาฯ

ภาพการ์ตูนการเมืองล้อเลียนในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ฉบับวันที่ 2 สิงหาคม 2516 
แสดงให้เห็นถึงวิกฤตการณ์ข้าวของรัฐบาลจอมพลถนอม ที่อยู่ในสภาวะ ‘ข้าวไม่มีขาย

 

กล่าวได้ว่า เพลง ‘ข้าวไม่มีขาย’ จากลูกคอของ ศรเพชร ศรสุพรรณ ไม่เพียงแต่เป็นตำนานบทหนึ่งของวงการเพลงลูกทุ่งไทยที่ส่งผลทำให้ ศรเพชร กลายเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่บทเพลงดังกล่าวยังบันทึกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ทั้งในแง่สภาพดินฟ้าอากาศ วิถีชีวิต และความยากลำบากของชาวนาไทยในการประกอบอาชีพทำนา มากไปกว่านั้น ‘ข้าวไม่มีขาย’ จากลูกคอศรเพชร ยังอาจซ่อนนัยบันทึกวาระกาลแห่งวิกฤตการณ์ทางการเมืองท้ายๆ ของ จอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรีของไทย ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึงเกือบ 10 ปี ก่อนที่เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์อย่าง 14 ตุลาฯ จะมาเยือน

 

อ้างอิง

ทองเปลว กองจันทร์, ปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญาในประเทศไทย

สยามรัฐ 11 มิถุนายน 2516, 14 มิถุนายน 2516, 19 มิถุนายน 2516

สยามรัฐ 2 มีนาคม 2516, 4 มีนาคม 2516

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, เนื้อในระบอบถนอม : ความสืบเนื่องและเสื่อมถอยของเผด็จการทหารพ.ศ 2506 - 2516, (นนทบุรี : ฟ้าเดียวกัน, 2566)