D.P.: เมื่อ ‘หน้าที่ต่อชาติ’ ของความเป็นทหารถูกตั้งคำถามจาก ‘หน้าที่ต่อความเป็นมนุษย์’

D.P.: เมื่อ ‘หน้าที่ต่อชาติ’ ของความเป็นทหารถูกตั้งคำถามจาก ‘หน้าที่ต่อความเป็นมนุษย์’
ย้อนไปเมื่อปี 2016 ซีรีส์ Descendants of the Sun (ชีวิตเพื่อชาติ รักนี้เพื่อเธอ) เล่าเรื่องรักโรแมนติกของแพทย์หญิงคนหนึ่งกับนายทหารหนุ่มจากกองภารกิจพิเศษที่ 707 ของกองบัญชาการสงครามพิเศษ​กองทัพบกสาธารณรัฐเกาหลี ผู้ ‘รักชาติยิ่งชีพ’ จนเกือบทำความรักของทั้งคู่เกือบที่จะไม่สมหวัง เพราะทุกครั้งความรักที่กำลังผลิบานหวานชื่นจะต้องมี ‘ภารกิจสำคัญ’ เข้ามาขัดจังหวะความรักเสมอ ซีรีส์ถ่ายทอดภาพของทหารที่ทำงานเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างรวมถึงความรักเพื่อประเทศชาติ ความโด่งดังของ Descendants of the Sun ทำให้แม้แต่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงกับกล่าวชื่นชนว่าเป็นซีรีส์สอดแทรกความรักชาติ หน้าที่ความรับผิดชอบ ความเสียสละ เพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม และเปรยว่าอยากให้สร้างละครไทยที่มีเนื้อหากระตุ้น ‘ความรักชาติ’ ในรูปแบบนี้บ้าง ทั้งที่ความเป็นจริงก็มีละครไทยที่แสดงภาพความโรแมนติกของทหารผู้รักชาติและพร้อมเสียสละแม้ความรักอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ‘การเป็นทหาร’ กับ ‘ความเสียสละเพื่อชาติ’ หรือ ‘ความรักชาติ’ ดูจะเป็นเรื่องสำคัญของสังคมเกาหลีใต้ที่มีนโยบายทำให้การเป็นทหารของชายชาวเกาหลีใต้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เพราะหากย้อนไปในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่การหยุดยิงของสองเกาหลีตั้งแต่ปี 1953 นั้นปัญหาการหนีทหารเป็นปัญหาใหญ่ของเกาหลีใต้ และจนถึงในปัจจุบัน ปัญหานี้ก็ยังไม่ได้มีแนวโน้มที่จะลดลง การหนีทหารของชายชาวเกาหลีใต้นั้นเป็นผลมาจากทั้งการเลือกปฏิบัติ และการใช้ความรุนแรงในค่ายทหาร ซึ่งนอกจากจะจบลงด้วยการที่ทหารสักคนจะหนีทหารแล้ว บางครั้งเรื่องก็จบลงด้วยการกราดยิงแก้แค้น หรือฆ่าตัวตาย และซีรีส์ที่ฉายภาพที่ขัดแย้งของ ‘หน้าที่ต่อชาติ’ กับ ‘หน้าที่ต่อความเป็นมนุษย์’ ได้อย่างถึงพริกถึงขิง โดยเล่าเรื่องของ ‘ภารกิจจับกุมพลทหารหนีทัพ ทำให้นายทหารหนุ่มคนหนึ่งต้องเผชิญกับความจริงอันเจ็บปวดที่เหล่าทหารเกณฑ์ทั้งหลายต้องประสบระหว่างปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติ’ นี่คือคำโปรยจากซีรีส์ D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ   สงครามเกาหลี คาบสมุทรเกาหลีตั้งอยู่ทิศตะวันออกของจีน และมีสถานะเป็นเมืองขึ้นในพื้นที่ห่างไกลของจีน แต่หากมองจากญี่ปุ่นทางตะวันออก คาบสมุทรเกาหลีที่ติดกับช่องแคบซึชิมะ (Tsushima strait) คือประตูในการรุกขึ้นแผ่นดินใหญ่ เกาหลียังเคยตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นภายใต้สนธิสัญญาญี่ปุ่น-เกาหลี ค.ศ. 1910 และตกอยู่ใต้อำนาจญี่ปุ่นนานถึง 35 ปี จนกระทั่งญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ค.ศ. 1945 หลังความพ่ายแพ้ ญี่ปุ่นถูกปลดอาวุธ สหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาได้เข้าปลดปล่อยเกาหลีจากญี่ปุ่น โดยสหรัฐอเมริกาได้เข้าดูแลทางตอนใต้ของคาบสมุทรและปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย ส่วนสหภาพโซเวียตดูแลด้านเหนือของคาบสมุทรและปกครองประเทศด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ โดยมีเส้นขนานที่ 38 เป็นเส้นแบ่งเขตการปกครอง สามปีต่อมาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) ได้ถูกสถาปนาขึ้นทางตอนเหนือ และสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ก็ได้ถูกสถาปนาขึ้นทางตอนใต้ ทั้งสองรัฐบาลต่างอ้างว่าเป็นรัฐบาลที่มีความชอบธรรมด้วยกฎหมายแต่เพียงฝ่ายเดียวของเกาหลีทั้งหมด 6 มิถุนายน 1950 กองทัพประชาชนเกาหลีที่ได้รับการสนับสนุนจากจีนและสหภาพโซเวียตยกกองทัพจากฝั่งเหนือผ่านเส้นขนานที่ 38 และเผชิญหน้ากับกองทัพเกาหลีใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพสหรัฐอเมริกาจนเกิดสงครามเป็นเวลานานเกือบ 4 ปี มีจำนวนผู้เสียชีวิตจากสงครามประมาณ 2 - 3 ล้านคน สงครามครั้งนี้รู้จักกันในชื่อ ‘สงครามเกาหลี’ ในหมู่ชาวเกาหลีใต้ และ ‘สงครามปลดปล่อยปิตุภูมิ’ ในหมู่ชาวเกาหลีเหนือ หรือในอีกชื่อหนึ่งคือ ‘สงคราม 6.25’ (สงครามที่เกิดขึ้นในวันที่ 25 เดือน 6) เป็นหนึ่งในสงครามตัวแทน (proxy war) ที่โด่งดังที่สุดที่เกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศสงครามเย็น 27 กรกฎาคม 1953 ‘ความตกลงการสงบศึกเกาหลี’ ได้ถูกลงนามและสร้างเขตปลอดทหารเกาหลี (Korean DMZ) เพื่อเป็นการแบ่งแยกเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ ณ เส้นขนานที่ 38 โดยเป็นความตกลงการหยุดยิง (ceasefire) แต่ไม่มีสถานะเป็นการลงนามสันติภาพ นั่นหมายความว่า แม้ปัจจุบันทั้งสองเกาหลีจะไม่มีการทำสงครามด้วยอาวุธต่อกัน แต่ทั้งสองเกาหลีก็ยังคงอยู่ในสภาวะสงครามมากว่า 70 ปีแล้วนั่นเอง   การเกณฑ์ทหารในเกาหลีใต้ ในเกาหลีใต้ หลังเกิดความตกลงการสงบศึกเกาหลี ความโหดร้ายจากสงครามทำให้ชาวเกาหลีใต้ที่เติบโตมาภายใต้แนวคิดเสรีนิยมโหยหาชีวิตที่สงบสุขปราศจากสงคราม ทำให้ช่วง 10 ปีแรก ชายหนุ่มเกาหลีใต้หนีทหารหลายหมื่นคน จวบจน ค.ศ. 1962 ปัก จุง-ฮี กระทำการรัฐประหารและกลายเป็นประธานาธิบดีคนที่ 3 ของเกาหลีใต้ในปีต่อมา เกาหลีใต้อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการของเขาเป็นเวลาถึง 18 ปี หนึ่งในนโยบายการปกครองของปัก จุง-ฮี คือการเพิ่มโทษให้กับผู้ที่หนีทหาร รวมถึงผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้หนีทหาร นโยบายดังกล่าวทำให้ยอดผู้หนีทหารลดลงเกือบ 20 เท่า ปัจจุบันกองทัพเกาหลีใต้มีทหารประจำการราว 6 แสนนาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ ทหารแบบประจำการปกติ (Active Duty Military Service) คือคนที่มีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ โดยจะพักอาศัยอยู่ในกรม มีการเลื่อนยศ ส่วนอีกแบบคือ ทหารบริการสาธารณะ (Non Active Military Service) ที่ทำงานเหมือนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไปเช้า-เย็นกลับ มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ แต่ไม่มีการเลื่อนยศ โดยกำลังพลเป็นทหารเกณฑ์ถึง 75% กฎหมายบังคับให้ผู้ชายเกาหลีใต้เมื่ออายุครบ 18 - 28 ปีทุกคนต้องเข้าประจำการในกองทัพเป็นระยะเวลาประมาณ 18 - 22 เดือน แม้จะกล่าวว่าผู้ชายเกาหลีใต้ทุกคนต้องเข้าประจำการก่อนอายุ 28 ปี ยกเว้นป่วยหรือไม่สบายขั้นรุนเเรง หรืออยู่ในระหว่างการศึกษา เป็นต้น ส่วนความยากจนนั้นถือเป็นข้องดเว้นในการเข้าประจำการได้เช่นกัน แต่สำหรับชายเกาหลีใต้ที่ยากจนนั้นก็มักจะเลือกเป็นทหารเพื่อรับเงินเดือน หรือสวัสดิการเงินออมที่กองทัพมอบให้ ค.ศ. 1973 มีการยกเว้นการเข้าประจำการสำหรับนักกีฬาโอลิมปิก นักดนตรีคลาสสิก และนักเต้นบัลเลต์ ที่สร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติเท่านั้นที่ไม่ต้องเป็นทหาร และเมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง ‘กฎหมาย BTS’ อนุญาตให้ศิลปินที่สร้างชื่อเสียงระดับโลกสามารถผ่อนผันการเกณฑ์ทหารได้จนถึงอายุ 30 ปี อย่างไรก็ตาม การได้รับงดเว้นการเกณฑ์ทหารถือเป็นอภิสิทธิ์พิเศษอย่างยิ่ง แม้บุคคลนั้นจะมีชื่อเสียงระดับใดก็ตาม แต่หากเมื่อได้รับการงดเว้นการเกณฑ์ทหาร เขาจะถูกตั้งคำถามจากสังคมเกาหลีใต้เสมอ ในสภาวะสงครามที่ยังไม่สิ้นสุดนี้ ‘หน้าที่ต่อชาติ’ ของชายชาติทหารชาวเกาหลีใต้เปรียบได้กับเกียรติยศในฐานะของการเกิดเป็นชาวเกาหลีใต้ สังคมเกาหลีใต้ให้ความสำคัญและยกย่องการเป็นทหารเป็นอย่างยิ่ง อย่างไรเสีย เมื่อหน้าที่ต่อชาติได้ถูก ‘หน้าที่ต่อความเป็นมนุษย์’ ตั้งคำถามจากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ว่า ทหารประจำการหลายคนกลายเป็นเหยื่อของการถูกกลั่นแกล้ง ถูกเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ จนเหยื่อจำนวนมากเลือกที่จะฆ่าตัวตาย และหลายกรณี เหยื่อก็เลือกจะแก้แค้นด้วยความรุนแรงที่กองทัพควบคุมไม่ได้ ความย้อนแย้งระหว่าง ‘หน้าที่ต่อชาติ’ กับ ‘หน้าที่ต่อความเป็นมนุษย์’ นี้สะท้อนอยู่ทั้งหมดใน ‘D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ’ D.P.: เมื่อ ‘หน้าที่ต่อชาติ’ ของความเป็นทหารถูกตั้งคำถามจาก ‘หน้าที่ต่อความเป็นมนุษย์’ อำนาจ การขานรับ และตะปู ‘D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ’ เป็นซีรีส์ 6 ตอนที่ดัดแปลงมาจากมังฮวาเรื่อง D.P. Dog Day ของ คิม โบ-ทอง ซึ่งเผยแพร่ในเว็บตูนเมื่อ ค.ศ. 2015 - 2016 เรื่องราวของ D.P. Dog Day เล่าเรื่องราวของ สิบโท อาน จุน-โฮ สมาชิกหน่วย D.P. ที่คิม โบ-ทองได้รับแรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ในการถูกเกณฑ์เป็นทหาร โดยอ้างว่าเนื้อหาบางส่วนนั้นเขียนมาจากประสบการณ์จริงทั้งของตัวเขาและเพื่อนทหาร มังฮวาถูกดัดแปลงโดย ฮาน จุง-ฮี เป็นซีรีส์ออกฉายในปี 2021 ซีรีส์ D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ บอกเล่าเรื่องราวของ อาน จุน-โฮ ชายหนุ่มผู้มีประวัติครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น ความยากจนทำให้เขาไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัย ด้วยนิสัยตรงไปตรงมาและหน้าตาไม่รับแขกและนิ่งเฉยราวกับเก็บความลับบางอย่างอยู่ในใจตลอดเวลาทำให้อาน จุน-โฮถูกทั้งเด็กตัวเล็ก ๆ และหัวหน้างานโกงแบบหน้าด้าน ๆ อาน จุน-โฮถูกไล่ออกจากงานทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของเขา โลกภายนอกค่ายทหารดูเป็นสถานที่ที่ไม่เหมาะกับเขาเลย จากยศสิบโทในฉบับมังฮวา ในฉบับซีรีส์ อาน จุน-โฮมียศเป็นเพียงพลทหาร สิ่งนี้เป็นความตั้งใจของผู้กำกับฮาน จุง-ฮี ที่อยากให้ผู้ชมได้เห็นภาพสะท้อนจุดเริ่มต้นชีวิตในกองทัพของชายชาวเกาหลีใต้ และเหตุการณ์ในซีรีส์เกิดขึ้นใน ค.ศ. 2014 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่มีทหารเกณฑ์คนหนึ่งที่ถูกกลั่นแกล้งจนทนไม่ไหว เขาก่อเหตุใช้ปืนไรเฟิลยิงเพื่อนร่วมหน่วยเสียชีวิต 5 ราย บาดเจ็บ 7 ราย ก่อนจะหลบหนีและพยายามฆ่าตัวตาย ช่วง 5 สัปดาห์แรกของการฝึกนั้นแม้จะเต็มไปด้วยความยากลำบาก แต่ความยากลำบากดังกล่าวก็เป็นสิ่งที่อาน จุน-โฮเข้าใจได้ว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้สำหรับการฝึกทหาร ซึ่งนั่นรวมถึงการโดนซ่อมต่าง ๆ นานาจากครูฝึก ต่อมาอาน จุน-โฮได้รับการบรรจุเข้าสู่หน่วยสารวัตรทหารเพียงเพราะ ‘เขามีความสูงเกิน 175 เซนติเมตร’ และแล้วด้านมืดของ ‘ความรักชาติ’ ในกองทัพเกาหลีใต้ก็ถูกฉายภาพออกมาอย่างชัดเจน ด้วยตะปูเพียงดอกเดียว ทุกครั้งที่ทหารชั้นยศต่ำกว่าถูกเรียกโดยทหารชั้นยศสูงกว่า ทหารชั้นยศที่ต่ำกว่านั้นต้องขานรับด้วยยศและชื่อก่อนเท่านั้น และไม่ว่าจะถูกกระทำอย่างไร ทหารชั้นยศที่ต่ำกว่านั้นก็มีสิทธิ์เพียงต้องขานรับด้วยยศและชื่อก่อนเช่นเดิมไปจนกว่าทหารชั้นยศสูงกว่าจะพอใจ ในโรงนอนของหน่วยสารวัตรทหารของอาน จุน-โฮ มีตะปูดอกหนึ่งที่ถูกตอกติดไว้บนฝาผนังด้วยความสูงระดับเดียวกับศีรษะ มันคือเครื่องมือในการข่มเหงเหล่าทหารยศน้อยและทหารใหม่ของทหารเกณฑ์ยศสิบเอกผู้ซึ่งมียศสูงสุดในโรงนอน ทุกครั้งที่นายสิบเอกต้องการแสดงอำนาจ เพียงเขาเรียกทหารชั้นยศน้อยกว่าให้ ‘เข้าประจำที่’ ทหารชั้นยศน้อยกว่าต้องรีบกุลีกุจอไปยืนที่จุดที่กำหนด โดยด้านหลังของศีรษะคือกำแพงที่มีตะปูตอกไว้ การแสดงอำนาจจะจบลงเมื่อทหารชั้นยศน้อยถูกต่อยหรือถูกผลักจนด้านหลังของศีรษะกระแทกเข้ากับตะปูดอกนั้น การซ่อมไม่ใช่การข่มเหง ไม่ใช่ความรุนแรง ไม่ใช่แม้แต่การธำรงวินัย แต่มันคือการแสดงออกถึงการยอมสยบต่ออำนาจอุปโลกน์ของชั้นยศของเหล่าทหารเกณฑ์ที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันเกือบ 2 ปี แต่เมื่ออาน จุน-โฮไม่ยอมถูกตะปูกระแทกศีรษะ ทำให้เขากลายเป็นทหารที่ไม่รู้จักธรรมเนียมทหาร และถูกหมายหัวจากสิบเอกเจ้าถิ่นไปในทันที และชีวิตของอาน จุน-โฮ ตลอด 2 ปีในกองทัพคงกลายเป็นนรกของการ ‘ถูกซ่อม’ หากเขาไม่ได้รับคัดเลือกเข้าหน่วย D.P. D.P.: เมื่อ ‘หน้าที่ต่อชาติ’ ของความเป็นทหารถูกตั้งคำถามจาก ‘หน้าที่ต่อความเป็นมนุษย์’ Deserter Pursuit หน่วยล่าทหารหนีทัพ (Deserter Pursuit: D.P.) เป็นหน่วยที่มีอยู่จริง โดยสังกัดอยู่ในกองสารวัตรทหาร แต่หน่วย D.P. นี้ดูจะไม่เป็นที่รู้จักนัก เพราะซีรีส์เองก็มีบทสนทนาของหลายตัวละคร ซึ่งรวมถึงตัวละครหนึ่งที่สังกัดในหน่วย D.P. เองก็แสดงให้เห็นว่าไม่รู้ว่าหน่วย D.P. มีหน้าที่อะไรบ้าง นอกจากที่รู้ว่าทหารในหน่วยนี้ได้รับอนุญาตให้ไว้ผมยาว และสามารถออกไปทำงานนอกค่ายทหารได้ คิม โบ-ทองเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า หน่วย D.P. นั้นเหมือนหน่วยลับ ทหาร D.P. ก็เหมือนตำรวจสืบสวนและจับกุมบรรดาทหารหนีทัพ และกว่าที่เขาจะสามารถเขียนมังฮวาเกี่ยวกับหน่วย D.P. ได้ คิม โบ-ทองก็ต้องใช้เวลาไปไม่น้อยในการควานหาทหารปลดประจำการที่เคยสังกัดหน่วย D.P. มาให้ข้อมูล อาน จุน-โฮถูกคัดเลือกเข้าสู่หน่วย D.P. ที่กำลังขาดแคลนทรัพยากรบุคคล ด้วยความช่างสังเกตและความอดทนจนดูกลายเป็นความเย็นชาของเขาไปต้องตาหัวหน้าหน่วย D.P. ผู้พยายามสร้างผลงานเพื่อเลื่อนยศ ทว่าเพียงงานแรกในการล่าทหารหนีทัพ อาน จุน-โฮและคู่หูที่ไร้ความรับผิดชอบได้ทำผิดพลาดอย่างร้ายแรง เรื่องนี้ดูจะกลายเป็นตราบาปในจิตใจของอาน จุน-โฮ แต่มันก็เปลี่ยนแปลงอาน จุน-โฮผู้เย็นชาที่พร้อมปฏิบัติหน้าที่ D.P. อย่างไม่มีข้อแม้ ให้กลายเป็นคนที่เข้าใจความเป็นมนุษย์ของเหล่าทหารหนีทัพ สำหรับอาน จุน-โฮ งานของ D.P. ไม่ใช่เพียง ‘การไล่ล่า’ แต่เป็น ‘การช่วยเหลือ’ ในสังคมเกาหลีใต้ ทหารหนีทัพนั้นคือคนที่ไม่รู้จักหน้าที่ ไร้เกียรติ ไร้จิตสำนึก แต่ทหารหนีทัพที่ปรากฏใน D.P. กลับสะท้อนภาพของชายหนุ่มเกาหลีที่บางคนต้องมาเป็นทหารเพราะไม่มีทางเลือก หรือบางคนก็มีทางเลือกที่ดีกว่าการเป็นทหาร แต่เขาก็ไม่สามารถเข้าถึงทางเลือกนั้นได้ เพราะไม่ได้เกิดในครอบครัวที่ร่ำรวย บางคนการเป็นทหารทำให้เขาต้องจำใจทิ้งความฝัน ทิ้งคนอันเป็นที่รักเพื่อเข้ามากลายเป็นที่รองรับความรุนแรงจากทหารรุ่นพี่ 2 ปีแห่งการแสดงออกถึงความรักชาติ กลายเป็น 2 ปีของนรกของการถูกซ่อมซ้ำไปซ้ำมา การซ่อมที่ไม่เพียงทำร้ายร่างกาย แต่ทำร้ายเข้าไปถึงจิตใจของเหยื่อ ซึ่งในบางครั้งเมื่อทหารรุ่นพี่ปลดประจำการ แม้แต่คำขอโทษต่อเหยื่อก็ไม่มีออกมาจากปาก และจากโดยธรรมชาติของกองทัพที่มีลักษณะเป็น ‘รัฐซ้อนรัฐ’ แม้จะไม่ได้ปฏิเสธอำนาจรัฐบาลพลเรือนโดยสิ้นเชิง แต่บรรดาผู้นำกองทัพก็เชื่อว่าทหารควรมีเสรีในการดำเนินการแก้ปัญหาด้วยตนเองอย่างเบ็ดเสร็จ เพียงแต่เรื่องที่น่าเศร้าที่ปรากฏใน D.P. ก็คือ การแก้ปัญหาของกองทัพนั้นมักจะออกมาในแบบของเหล่านายทหารสัญญาบัตรที่เพิกเฉยต่อความรุนแรงต่อกันของนายหารชั้นประทวน และไม่อยากให้ตรวจสอบความรุนแรง หรือไม่คิดจะตรวจสอบความรุนแรง เพราะกลัวจะเสียภาพลักษณ์ของทหาร และเสียเวลาตีกอล์ฟและตีเทนนิสที่เป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่เพียงการออกกำลังกาย แต่เป็นกิจกรรมหาเส้นสายเพื่อความก้าวหน้าในความรักชาติของตน หากทหารรักชาติก็ต้องทนความรุนแรงให้ได้ เพราะถ้าแค่นี้ยังทนไม่ได้ ก็คงรักชาติไม่มากพอที่จะพร้อมกับการรบ อีกทั้งเมื่อการแก้ปัญหาใดเกิดความผิดพลาด เหล่านายพลก็พร้อมจะโยนบาปให้ลูกน้องอย่างหน้าไม่อาย จากสายตาของบรรดาทหารระดับสูง ปัญหาความรุนแรงภายในกรมกองจึงไม่ใช่ปัญหาของความรักชาติที่ต้องแก้ไข แต่หากทหารชั้นผู้น้อยทนกับความรุนแรงไม่ได้จนหนีทัพไป นั่นต่างหากคือความไม่รักชาติ อาน จุน-โฮค่อย ๆ เรียนรู้ว่าความเจ็บปวดที่ไร้การเหลียวแลเหล่านี้คือเหตุผลที่ทำให้ทหารจำนวนมากที่เคยเป็นเหยื่อ ยกระดับกลายเป็นผู้กระทำ เพราะเมื่อเขาแก้แค้นรุ่นพี่ไม่ได้ การเอาความแค้นทั้งหมดมาลงที่รุ่นน้องมันก็เป็นสิ่งที่ง่ายกว่า แต่บางทีเหยื่อก็เลือกที่จะหนีทัพ ทั้งในรูปแบบที่จะหนีออกจากนรก และรูปแบบที่หนีเพื่อจะไปลากใครสักคนลงนรก “ถ้าเขาไม่ต้องไปเป็นทหาร เขาก็คงไม่ต้องหนีทหาร” นับตั้งแต่ ค.ศ. 2018 รัฐบาลสองเกาหลีมีความพยายามติดต่อกันมากขึ้น มีการลดระดับของการซ้อมรบทางทหารลงในความพยายามเพื่อรักษาโอกาสทางการทูตไว้ นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยในเกาหลีใต้ ก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ความจำเป็นของการเกณฑ์ทหารมากขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงอัตราการเกิดที่ต่ำลงจนส่งผลต่อประชากรวัยทำงาน รัฐบาลเกาหลีใต้จึงมีนโยบายที่จะลดขนาดของกองทัพประจำการลง และเปลี่ยนไปเป็นการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีทางการรบแทน แต่กระนั้นจำนวนทหารประจำการก็มีตัวเลขลดลงเพียงน้อยนิด คำถามต่อความจำเป็นต่อการเกณฑ์ทหารในเกาหลีใต้ที่ไม่สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงของประเทศและโลกนั้นก็ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วยกรอบคิดของหน้าที่ของความรักชาติเช่นเดิม แต่สิ่งที่ D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ พยายามสื่อสารต่อสังคมเกาหลีใต้ว่า “ถ้าเขาไม่ต้องไปเป็นทหาร เขาก็คงไม่ต้องหนีทหาร” อาจไม่ได้เกี่ยวข้องกับความรักชาติเพียงอย่างเดียว อันที่จริงแล้ว D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพกำลังสื่อสารว่า ชายชาวเกาหลีใต้ทุกคนนั้นรักชาติ พวกเขารักชาติจนยอมทิ้งชีวิตเกือบ 2 ปีเพื่อแสดงออกว่ารักชาติ แต่สิ่งที่ทำให้พวกเขาอาจทนรักชาติต่อไปไม่ไหวนั้น มันคือการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ด้วยข้ออ้างของความรักชาติที่เกิดขึ้นในแดนสนธยาแห่งนั้นต่างหาก   อ้างอิง: Burzo, A. (2002). The Making of Modern Korea. London: Routledge. IMDb. (2016). Tae-yang-eui hoo-ye. Retrieved. https://www.imdb.com/title/tt4925000/ Robinson, M.E. (2007). Korea’s Twentieth-Century Odyssey. Honolulu: University of Hawaii Press. Tikhonov, V. (2009, 16 Mar). Militarism and Anti-militarism in South Korea: ‘Militarized Masculinity’ and the Conscientious Objector Movement. The Asia-Pacific Journal.  Retrieved. https://apjjf.org/-Vladimir-Tikhonov/3087/article.html Kay. (2021, 6 Aug.). An Intro To The Webtoon “D.P Dog Day” That Will Be Adapted Into A Netflix Original Starring Jung HaeIn. Retrieved. https://www.kpopmap.com/an-intro-to-the-webtoon-dp-dog-day-that-will-be-adapted-into-a-netflix-original-starring-jung-haein/ Mukhopadhyay, A. (2021, 21 Aug.). Is Netflix’s Kdrama D.P. Based on a True Story?. Retrieved. https://thecinemaholic.com/is-netflixs-kdrama-d-p-based-on-a-true-story/ Neotizen. (2021, 30 Aug.). “D.P.”: 9 Fun Facts About Netflix’s New Original K-Drama Series. Retrieved. https://neotizen.news/2021/08/27/d-p-9-fun-facts-about-netflixs-new-original-k-drama-series/ 6 ข้อยกเว้นที่ทำให้ผู้ชายเกาหลี ‘ไม่ต้องไปเกณฑ์ทหาร’. Retrieved. https://www.dek-d.com/studyabroad/40804/ BBC Thai. (2018, 20 ส.ค.). เกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ จัดงานวันรวมญาติครั้งแรกในรอบ 3 ปี. Retrieved. https://www.bbc.com/thai/international-45243718 D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ. Retrieved. https://www.netflix.com/th/title/81280917 SleepNow. (2016, 9 เม.ย.). หนุ่มเกาหลีอยากเกณฑ์ทหารจริง ๆ หรือ ?. Retrieved.  https://www.winnews.tv/news/1800 ประชาชาติธุรกิจ. (2020, 3 ธ.ค.). เพื่อสมบัติของชาติ เกาหลีใต้จึงออกกฎหมายให้ BTS ยืดผ่อนผันเกณฑ์ทหารถึงอายุ 30 ปี. Retrieved. https://www.prachachat.net/d-life/news-567786. มฤคย์ ตันนิยม. เกณฑ์ทหาร: ข้อจำกัดที่เป็นสาเหตุเหนี่ยวรั้งการก้าวไปสู่ระดับโลกของนักฟุตบอลเกาหลีใต้. Retrieved. https://www.mainstand.co.th/514 เรื่องเล่าเช้านี้ นายกฯ แนะดูซีรีส์เกาหลีเป็นตัวอย่าง ‘Descendants of the Sun’ กระตุ้นเลือดรักชาติ. Retrieved. https://www.youtube.com/watch?v=bGDsZAmq1kc สุรชาติ  บำรุงสุข. (2008, 13 Feb.). พ.ร.บ. กลาโหมใหม่ : รัฐซ้อนรัฐในการเมืองไทย!. Retrieved. https://prachatai.com/journal/2008/02/15747 หทัยธาร ฉัตรเลิศมงคล. (2021, 1 ก.ย.). จาก ปีศาจร้อยเอกยู สู่ สารวัตรทหารอัน ใน D.P. หน่วยล่าทหารหนีทัพ กับระบบอำนาจนิยมในกองทัพที่บ่มเพาะความรุนแรง. Retrieved. https://thestandard.co/dp-netflix/ อดิเทพ พันธ์ทอง. (2019, 15 พ.ย.). เมื่อการบีบบังคับ (เกณฑ์ทหาร) ยิ่งทำให้กระแส “‘หนีทหาร’ ในเกาหลีใต้ขยายตัว. Retrieved. https://www.silpa-mag.com/culture/article_1228. อภินันท์ บุญเรืองพะเนา. (2016, 19 มี.ค.). ยอดละครเกาหลีที่ ‘บิ๊กตู่’ ดูแล้วฟิน : Descendants of the Sun #ทหารหล่อบอกด้วย #หมอสวยก็เช่นกัน. Retrieved. https://mgronline.com/entertainment/detail/9590000028673.