Daft Punk: ขอให้โชคดี! ปิดตำนาน 28 ปี สองหุ่นยนต์เจ้าของเพลง ‘Get Lucky’ 

Daft Punk: ขอให้โชคดี! ปิดตำนาน 28 ปี สองหุ่นยนต์เจ้าของเพลง ‘Get Lucky’ 
ท่ามกลางการเปลี่ยนเวทีให้เต็มไปด้วยแสงสี และความสร้างสรรค์ทางดนตรีที่ไม่รู้จบของ กีย์-มานูเอล เดอ โฮเมม คริสโต (Guy-Manuel de Homem-Christo) และ โธมัส แบงกอลเตอร์ (Thomas Bangalter) ดูโอหุ่นยนต์เจ้าของชื่อ ‘Daft Punk’ ที่สร้างความตื่นเต้นและความสุขให้กับผู้คนได้ในทุกครั้งที่พวกเขาปรากฏตัว – ภายใต้หมวกกันน็อกสีทองและสีเงิน พวกเขาคือศิลปินผู้ยึดแนวเพลงอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก และเป็นที่รู้จักกันดีผ่านเพลงอย่าง ‘One More Time’, ‘Instant Crush’, ‘Harder, Better, Faster, Stronger’ และ ‘Get Lucky’ แม้ไม่เหนือความคาดหมายมากนักสำหรับอายุวง 28 ปี หากการประกาศแยกวงของสองดูโอในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2021 ผ่านวิดีโอ Daft Punk – Epilogue (ที่ตัดทอนมาจากภาพยนตร์ของพวกเขาเรื่อง Electroma: 2006) ก็สร้างความเศร้าใจให้กับแฟน ๆ ทั่วโลกไม่น้อย การระเบิดพลีชีพของหุ่นยนต์หน้ากากเงินทำให้ผู้คนเข้าใจได้ในทันทีว่า ต่อจากนี้จะไม่มี Daft Punk และเสียงดนตรีใหม่ ๆ จากพวกเขาอีกแล้ว หลายคนโศกเศร้า หลายคนกล่าวขอบคุณ และอีกหลายคนรวมทั้งเรา กำลังหวนนึกถึงคืนวันเก่า ๆ ก่อนที่พวกเขาจะกลายเป็นหุ่นยนต์นักผลิตเพลง   daft punky thrash แม้ปัจจุบันพวกเขาจะเป็นหุ่นยนต์ (ที่ระเบิดตัวเองเพื่อปลดประจำการ) แต่ในวันวานเมื่อหลายสิบปีก่อน พวกเขาเคยเป็นมนุษย์สองคนที่หลงรักดนตรีมาตั้งแต่เพิ่งเข้าสู่วัยมัธยมฯ เดอ โฮเมม คริสโตและแบงกอลเตอร์คือเด็กชายชาวฝรั่งเศสสองคนที่โคจรมาพบกันเมื่อพวกเขาอายุ 12 ปี ทั้งคู่เข้ากันได้ดีและกลายเป็นเพื่อนสนิทกันอย่างรวดเร็วเพราะความสนใจที่คล้ายกัน พวกเขาชื่นชอบวง The Beach Boys รักไมเคิล แจ็กสัน (Michael Jackson) และเป็นแฟนหนังแอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) ทั้งคู่อายุ 17 ปีตอนที่มีวงดนตรีวงแรก Darlin’ ถือกำเนิดขึ้นภายใต้แนวทาง lo-fi indie punk พวกเขาปล่อยเพลง ‘Cindy So Loud.’ ออกมาและได้รับคำวิจารณ์แง่ลบจาก Melody Maker นิตยสารดนตรีรายสัปดาห์ที่สับแหลกเพลงของทั้งคู่ (และมือกีตาร์อีกหนึ่งคน ที่ภายหลังเป็นมือกีตาร์วง Phoenix) ด้วยถ้อยคำว่า ‘The two darlin’ track is a daft punky thrash’ แม้คำวิจารณ์ดังกล่าวจะเป็นการดูถูกที่รุนแรงไม่ใช่เล่น แต่หลังจากการซบเซาของพังก์ร็อกในอุตสาหกรรมดนตรีฝรั่งเศส พวกเขาก็พบลู่ทางใหม่ พร้อมด้วยอุปกรณ์มิกซ์เสียง ตู้แอมป์ และสายไฟที่ระโยงระยาง เดอ โฮเมม คริสโตและแบงกอลเตอร์ก่อตั้ง ‘Daft Punk’ วงดูโอสายอิเล็กทรอนิกส์แดนซ์ขึ้นภายในห้องนอนขนาดเล็กของหนึ่งในสองเพื่อนซี้นั่นเอง   ใต้หน้ากาก “ตอนที่เราพบกันครั้งแรก พวกเขาท่าทางขี้อาย แต่ว่าเพลงที่ทำกลับเต็มไปด้วยบีตหนัก ๆ และมีพลัง “เราเจอกันที่งาน EuroDisney มีคนเดินเข้ามาหาแล้วบอกผมว่าพวกเขาตรงนั้น ‘Daft Punk’ อยากคุยกับคุณ” หลังจากการซุ่มทำเพลงอยู่ระยะหนึ่ง ปี 1993 Daft Punk ก็ได้ฤกษ์ส่ง ‘New Wave’ ผลงานเดโมของเขาให้กับค่ายเพลงเทคโนอย่าง Soma ฟัง พวกเขาเปิดประตูค่ายต้อนรับสองคู่หู พวกเขาจึงกลายเป็นศิลปินอิเล็กทรอนิกส์เต็มตัวนับจากนั้น พวกเขาเริ่มสร้างสรรค์และทดลองสิ่งใหม่ ๆ ไม่ว่าจะในพื้นที่ห้องนอนของแบงกอลเตอร์ที่ถูกเปลี่ยนเป็นห้องอัด ที่ทั้งคู่ไม่เพียงมิกซ์เสียงผ่านคอมพิวเตอร์ แต่ใช้เครื่องดนตรีจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นกีตาร์หรือเบสในการสร้างสรรค์ผลงานด้วย หรือในวันที่พวกเขาต้องขึ้นแสดงสดก็มักจะมีลูกเล่นใหม่ ๆ มาเซอร์ไพรส์คนดูได้เสมอ “ครั้งหนึ่งที่ขึ้นแสดงบนเวที ระหว่างที่มิกซ์แผ่น พวกเขาคนหนึ่งก็ดึงสายแจ็กออกและเสียบเข้าไปใหม่ คุณนึกออกใช่ไหม มันจะมีเสียงซ่าเวลาเสียบสายแจ็กเข้าไป เขาดึงมันเข้าและออกอยู่แบบนั้น ใช้เสียงซ่าของมันในการสร้างดนตรี ผมเห็นแล้วก็ร้องว้าว! เลย” เดอ โฮเมม คริสโตและแบงกอลเตอร์ยังคงคาแรกเตอร์ชายหนุ่มขี้อาย แม้หลังจากที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักเพราะ ‘Homework’ (1997) อัลบั้มแรกของพวกเขา บ่อยครั้งที่ต้องให้สัมภาษณ์กับนักข่าว พวกเขามักจะสรรหาหน้ากากแปลก ๆ มาปิดบังใบหน้าของตนเองเอาไว้ และในท้ายที่สุดพวกเขาก็เริ่มสวมหมวกกันน็อก    กำเนิดหุ่นยนต์ ท่ามกลางความงุนงงปนตื่นเต้นของผู้ฟัง หลังจากความสำเร็จของอัลบั้มแรก ปี 2000 Daft Punk ตัดสินใจแปลงร่างตัวเองเป็นหุ่นยนต์ แบงกอลเตอร์ที่ซ่อนใบหน้าตัวเองไว้ใต้หมวกกันน็อกสีเงินเปิดเผยกับ Vice โดยมีเดอ โฮเมม คริสโตในหมวกกันน็อกสีทองนั่งอยู่ข้าง ๆ ว่า “เรากำลังทำเพลงอยู่ แล้วอุปกรณ์ของเราก็มีประกายไฟ เครื่องมือของเราระเบิด เราได้รับการผ่าตัดและกลายเป็นหุ่นยนต์” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หมวกกันน็อกก็กลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญของพวกเขา ในฐานะหุ่นยนต์เดอ โฮเมม คริสโตและแบงกอลเตอร์ปล่อย ‘Discovery’ อัลบั้มเต็มชุดที่สองออกมาเมื่อปี 2001 ตามด้วย ‘Human After All’ เมื่อปี 2005 แม้ว่า ‘Human After All’ จะไม่ประสบความสำเร็จในแง่ยอดขายเท่ากับอัลบั้มอื่น ๆ และเป็นผลงานชุดที่ Daft Punk ไม่เดินสายโปรโมต หากนั่นก็ไม่ได้ส่งผลในแง่ลบกับชื่อเสียงที่นับวันยิ่งโด่งดังขึ้นทุกทีของพวกเขา เขาได้รับคำเชิญรอบแล้วรอบเล่าจากเทศกาลดนตรีที่มีชื่อเสียง ผู้อยู่เบื้องหลังในค่ายเพลงของ Daft Punk พูดถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นว่า “Coachella ติดต่อพวกเขามาให้ขึ้นเล่นเมื่อปี 2005 และ Daft Punk ปฏิเสธ ในปีถัดไปพวกเขาติดต่อมาอีก คราวนี้เสนอเงินให้มากกว่าเดิม แต่ยิ่งเสนอเงินให้พวกเขามากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งเรียกร้องให้สูงขึ้นไปอีก” “Daft Punk ตัดสินใจไปเล่นที่ Coachella 2006 ด้วยค่าตัวสามแสนดอลลาร์ (ประมาณเก้าล้านบาท)”   พีระมิดที่ Coachella  “ไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาเอาเงินพวกนั้นไปทำอะไร พวกเขาอุบเงียบคุยแต่กับทีมเซตอัพและเทคนิค แม้แต่ผมที่เป็นผู้จัดการของพวกเขาก็ยังไม่รู้” ท่ามกลางความตื่นเต้นและคำถามมากมายเกี่ยวกับโชว์ของ Daft Punk เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาพร้อมเต็มขั้น สองคู่หูหมวกกันน็อกก้าวขึ้นเวที Coachella โดยมีพีระมิดลอยอยู่เหนือหัว Daft Punk นำเงินค่าตัวของพวกเขาไปสร้างพีระมิดและจ้างทีมทำระบบแสงสีที่อลังการยิ่งกว่าเวทีไหน ๆ ในงานเฟสติวัลที่เคยมีมาก่อนหน้า “คนที่ได้ดูโชว์ของพวกเขาเริ่มส่งข้อความหาคนที่อยู่ข้างนอก ‘แกพลาดแล้วว่ะที่ไม่ได้มาดูวันนี้’ พวกเขาพูด ‘นี่คือโชว์ที่ยอดเยี่ยมที่สุดในชีวิตของฉัน’”   Get Lucky Daft Punk เริ่มบันทึกเสียง ‘Random Access Memories’ เมื่อปี 2009 ทั้งคู่และทีมงานใช้เวลาในห้องอัดร่วมสี่ปีกว่าจะปล่อยอัลบั้มดังกล่าวสู่สายตาสาธารณชนในปี 2013 พร้อมด้วย ‘Get Lucky’ เพลงที่ดังเป็นพลุแตก แถมนำถ้วยรางวัลแกรมมีมาให้พวกเขาถึง 2 ถ้วย ตลอดระยะเวลา 28 ปีในวงการดนตรี Daft Punk ได้รับถ้วยแกรมมีกลับบ้านถึง 6 รางวัลด้วยกัน นอกจากความสำเร็จในแง่รางวัลและยอดขาย Daft Punk ยังเป็นที่ยอมรับในหมู่ศิลปินด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์, ไนล์ ร็อดเจอรส์, คานเย เวสต์ (Kanye West) หรือ The Weeknd ก็ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า Daft Punk นี่แหละคือสัญลักษณ์แห่งความอิสระที่มาในรูปแบบเสียงดนตรี แม้แต่ในวันที่พวกเขาทั้งคู่จะตัดสินใจจบบทบาทใต้หมวกกันน็อกของตนลงก็ตาม ในฐานะแฟนเพลงของ Daft Punk เราคงไม่อาจกล่าวถ้อยคำใด ๆ กับพวกเขาได้มากไปกว่า “ขอบคุณสำหรับที่ผ่านมา และขอให้โชคดี”   / Get Lucky is now playing /   ที่มา:  Daft Punk – Epilogue Daft Punk’s Electroma Daft Punk Unchained https://www.mic.com/articles/120187/the-incredible-story-of-who-daft-punk-is-behind-the-helmets https://www.theguardian.com/music/2021/feb/22/daft-punk-french-electronic-music-duo-split-up-after-28-years