เบื้องหลังชีวิต ‘ไดสุเกะ อิโนะอุเอะ’ ผู้คิดค้นคาราโอเกะแต่ไม่ได้จดสิทธิบัตร

เบื้องหลังชีวิต ‘ไดสุเกะ อิโนะอุเอะ’ ผู้คิดค้นคาราโอเกะแต่ไม่ได้จดสิทธิบัตร
ตัวการ์ตูนทั้งสี่ก้าวขึ้นเวทีมาประสานเสียง “ฮูวี ฮูวี ฮูวี ฮูวี ฮุป ฮ้า...”  คือภาพจำแรกของเราที่มีต่อคาราโอเกะ ก่อนทุกอย่างจะก้าวกระโดดมาอยู่บนยูทูบแทน แต่ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาไหน คาราโอเกะก็แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะร้องเล่นสนุก ๆ ในบ้าน ร้องกับกลุ่มเพื่อนหลังเป็นอิสระจากการสอบ ร้องในงานเลี้ยงสังสรรค์ กระทั่งวันที่อยากตะโกนออกมาดัง ๆ แต่ทำไม่ได้ คาราโอเกะกลายเป็นพื้นที่ผ่อนคลายและลดความเคอะเขินให้กับเราเมื่อต้องการเปล่งเสียงออกมาเป็นท่วงทำนอง แต่สิ่งเหล่านี้คงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มีชายชาวญี่ปุ่นที่ชื่อว่า ‘ไดสุเกะ อิโนะอุเอะ’ (Daisuke Inoue) ผู้อยู่เบื้องหลัง ‘Juke 8’ คาราโอเกะเครื่องแรกของโลก    ชีวิตที่โลกไม่ค่อยเป็นใจ ท่ามกลางฤดูร้อนปี 1940 โลกได้สดับเสียงแรกของเด็กชายอิโนะอุเอะ ณ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เขาเติบโตมากับชีวิตที่ไม่ได้ราบรื่นสักเท่าไร อย่างตอนอายุ 3 ขวบ อิโนะอุเอะประสบอุบัติเหตุพลัดตกจากชั้น 2 ของอาคารและหมดสติไปถึง 2 สัปดาห์  ระหว่างพักรักษาตัว มีนักบวชชาวพุทธคนหนึ่งเดินทางมาอวยพรเด็ก ๆ ที่อาการโคม่า ซึ่งเขาแนะนำให้พ่อแม่เปลี่ยนชื่อเด็กน้อยจาก ‘ยูสุเกะ อิโนะอุเอะ’ มาเป็น ‘ไดสุเกะ อิโนะอุเอะ’ ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อเขาจนถึงปัจจุบัน หลังจากนั้น เด็กชายได้ฟื้นคืนมาในสภาพร่างกายที่เป็นปกติ ราวกับได้ชีวิตใหม่ และเมื่อเวลาผ่านไปจนถึงช่วงวัยรุ่น เขาเริ่มสนใจดนตรีและสมัครเป็นมือกลองของวงดนตรีสมัยมัธยมฯ ก่อนจะมีคนชักชวนไปทำงานพิเศษ  แต่ในตอนนั้นโรงเรียนของเขาไม่อนุญาตให้นักเรียนทำงานพาร์ตไทม์ อิโนะอุเอะจึงต้องเก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับและเผลอหลับเวลาเรียนไปหลายคาบ แต่ก็ยังไม่เคยขาดเรียนจนกระทั่งจบการศึกษา อิโนะอุเอะก้าวสู่วัยทำงานด้วยการเป็นมนุษย์เงินเดือนในบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง เมื่อผ่านไปเพียง 8 เดือน เขาลาออกจากบริษัทนี้ แล้วบอกพ่อแม่ว่าจะขอจากบ้านไปเดินตามเส้นทางใหม่กับวงดนตรีของเขา เบื้องหลังชีวิต ‘ไดสุเกะ อิโนะอุเอะ’ ผู้คิดค้นคาราโอเกะแต่ไม่ได้จดสิทธิบัตร อิโนะอุเอะประหลาดใจเล็กน้อยที่พ่อแม่ไม่คัดค้านกับเส้นทางที่เลือก นั่นทำให้ช่วง 9 ปีหลังจากนั้นเต็มไปด้วยความสนุกและช่วงเวลาที่ดี แต่การปาร์ตี้ เที่ยวเล่นแทบทุกคืนเริ่มทำให้เงินในกระเป๋าของเขาร่อยหรอ เขาจึงหันหลังให้กับความฝัน แล้วกลับมาอยู่บ้านกับพ่อแม่ในวัย 28 ปี โดยเลี้ยงชีพด้วยการเล่นคีย์บอร์ดในคลับแห่งหนึ่ง ซึ่งใครจะรู้ว่าสถานที่แห่งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘คาราโอเกะเครื่องแรก’   จุดเริ่มต้นของ Juke 8  วันหนึ่งขณะที่เขาทำงานอยู่ในคลับ มีประธานบริษัทเล็ก ๆ แวะมาหาพร้อมบอกว่า เขาต้องไปพบลูกค้าในเมืองอื่นและรู้ว่าหลังจบบทสนทนาทางธุรกิจ พวกเขาจะลงเอยด้วยการชนแก้ว แล้วถูกเรียกให้ไปร้องเพลง ประธานบริษัทคนนั้นจึงขอให้อิโนะอุเอะช่วยเล่นคีย์บอร์ดแล้วบันทึกเสียงเอาไว้ให้เขานำไปร้องคลอได้ “ดังนั้นตามคำขอของเขา ผมได้บันทึกเพลงโปรดของเขาจำนวนหนึ่งลงในเครื่องบันทึกเทป โดยเปิดในคีย์ที่เหมาะกับเสียงของเขาที่สุด สองสามวันต่อมาเขากลับมาด้วยรอยยิ้มและถามว่าฉันจะบันทึกเพลงอีกได้ไหม ในขณะนั้นเอง ความคิดสำหรับ Juke 8 ก็เกิดขึ้นกับผม คุณสามารถใส่เงินเข้าไปในเครื่องที่มีไมโครโฟน ลำโพง และเครื่องขยายเสียง แล้วมันจะเล่นเพลงที่ผู้คนต้องการร้อง “สมาชิกคนหนึ่งในวงดนตรีของผม แนะนำให้รู้จักกับเพื่อนของเขาที่มีร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ผมนำความคิดนี้ไปเสนอ แล้วเขาก็เข้าใจสิ่งที่ผมจินตนาการไว้อย่างถ่องแท้ เขาสร้าง Juke 8 สำเร็จในปี 1969 ก่อนจะออกสู่ตลาดจริงในปี 1971” หลังจากนั้นเครื่อง Juke 8 ถูกวางไว้ตามคลับ บาร์ต่าง ๆ กว่าสิบแห่ง แต่กลับไม่มีใครให้ความสนใจเจ้าเครื่องนี้เลย… อิโนะอุเอะจึงส่งพนักงานหญิงสาวพราวเสน่ห์ไปร้องเพลง 2-3 เพลงโดยใช้เครื่อง Juke 8 ซึ่งวิธีนี้ได้ผลทันทีเพราะผู้คนเข้าใจแล้วว่าเครื่อง Juke 8 ทำงานอย่างไร และทำอะไรได้บ้าง จนวันต่อ ๆ มาพวกเขาแทบจะวางไมค์ไม่ลงเลยทีเดียว เบื้องหลังชีวิต ‘ไดสุเกะ อิโนะอุเอะ’ ผู้คิดค้นคาราโอเกะแต่ไม่ได้จดสิทธิบัตร   สิ่งประดิษฐ์ที่ไม่ได้จดสิทธิบัตร และแล้วอิโนะอุเอะก็กลายเป็นนักธุรกิจ สินค้าของเขาเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น ก่อนจะขยับขยายไปยังเมืองต่าง ๆ ของประเทศญี่ปุ่น เพราะเจ้าของคลับจากโกเบ 2 คนไปเปิดกิจการที่โอซาก้าแล้วนำเครื่อง Juke 8 ไปใช้ในคลับของพวกเขาด้วย  หลังจากผ่านไปไม่กี่ปี เขาสามารถทำยอดขายได้ปีละ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ แม้คนใกล้ตัวจะแนะนำให้จดสิทธิบัตร แต่เขากลับไม่เคยมีความคิดนั้นอยู่ในหัว โดยให้เหตุผลว่า “ในตอนนั้น ผมคิดว่าสิทธิบัตรมีไว้สำหรับสิ่งประดิษฐ์อันเหลือเชื่อ ซึ่งผลิตขึ้นมาใหม่จากที่ไม่มีอะไรเลย เครื่องคาราโอเกะเครื่องแรกเพียงนำชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่แล้วมารวมกัน ผมเลยไม่เคยคิดว่ามันเป็นสิ่งประดิษฐ์” ต่อมา ชายชาวฟิลิปปินส์นามว่า Roberto del Rosario ได้จดสิทธิบัตรคาราโอเกะไปในปี 1975 แต่ผู้คนก็ยังคงให้เครดิต ไดสุเกะ อิโนะอุเอะในฐานะผู้ริเริ่มประดิษฐ์เครื่องมือสำหรับร้องคาราโอเกะได้คนแรกของโลก เบื้องหลังชีวิต ‘ไดสุเกะ อิโนะอุเอะ’ ผู้คิดค้นคาราโอเกะแต่ไม่ได้จดสิทธิบัตร Karaoke...ออร์เคสตราอันว่างเปล่า แม้เขาจะเริ่มคิดค้นเครื่อง Juke 8 แต่คำว่า ‘คาราโอเกะ’ (Karaoke) ไม่ได้เป็นไอเดียของชายคนนี้ เพราะคำนี้เกิดขึ้นเมื่อวงออร์เคสตราของคณะละครเวทีชื่อดังในโอซาก้าหยุดงานประท้วง แต่การแสดงจำต้องดำเนินต่อไป บริษัทจึงมอบหมายให้บริษัทอิเล็กทรอนิกส์สร้างเครื่องจักรที่จะเล่นเพลงได้ตามที่นักแสดงต้องการ  ว่ากันว่า วิศวกรจากบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าวได้เข้าเยี่ยมชมสถานที่จัดงานและกล่าวทำนองว่าดนตรีกำลังบรรเลงเพลงโดยปราศจากวงออร์เคสตรา มันช่างเป็น ‘ออร์เคสตราอันว่างเปล่า’ (empty orchestra) เหลือเกิน ซึ่งในภาษาญี่ปุ่น empty orchestra ตรงกับคำว่า ‘kara okesutura’ ก่อนจะถูกเรียกให้สั้นลงว่า ‘karaoke’ ในเวลาต่อมา   ชีวิตที่ว่างเปล่าไม่แพ้คาราโอเกะ นอกจาก ‘คาราโอเกะ’ จะมีความว่างเปล่าแทรกซึมอยู่ในความหมายแล้ว ชีวิตของอิโนะอุเอะเองก็ว่างเปล่าไม่แพ้กัน  “ผมมีทุกอย่างที่อยากได้ - แต่ไม่มีอะไรจะทำ” อิโนะอุเอะกล่าวถึงความรู้สึกช่วงที่เผชิญภาวะซึมเศร้า หลังจากปิดตัวอยู่กับธุรกิจและเงินจนแทบไม่ได้เจอผู้คนสักเท่าไร แต่สุดท้าย เขาก็ก้าวผ่านคืนวันอันมืดมิดมาได้เพราะสุนัขที่ชื่อว่า ‘Donbei’ อิโนะอุเอะยกย่อง Donbei ในฐานะสุนัขที่พาเขาออกจากความกลัวซึ่งกัดกินหัวใจเขาเป็นเวลานานกว่า 2-3 ปี ดังนั้น เมื่อเขาพร้อมจะลุกมาทำอะไรสักอย่าง สิ่งแรกที่อิโนะอุเอะทำจึงเป็นการซื้อสนามกอล์ฟที่เลิกใช้แล้ว เพื่อสร้างบ้านพักสำหรับสุนัขชราและศูนย์ฝึกสุนัขขึ้น เขากล่าวในขณะนั้นว่า “นี่คือวิธีที่ฉันจะตอบแทน Donbei สำหรับการรักษาภาวะซึมเศร้าของฉัน” นอกจากนี้ อิโนะอุเอะหวังว่าการประดิษฐ์ของเขาจะช่วยสร้างความสุขให้กับคนอื่น ๆ ที่ต่อสู้กับภาวะซึมเศร้า และถือไมโครโฟนร้องเพลงอย่างเป็นสุข ไม่ว่าพวกเขาจะมีความสามารถในการร้องมากน้อยแค่ไหนก็ตาม ในปี 1999 นิตยสารไทม์ได้ยกให้เขาเป็นหนึ่งในชาวเอเชียที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษ 5 ปีต่อมา เขาได้รับเชิญไปที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเพื่อรับรางวัล Ig Nobel Prize รางวัลที่มอบแด่ความสำเร็จที่ทำให้คนหัวเราะแล้วฉุกคิดได้ (First makes people laugh and then makes them think.) โดยอิโนะอุเอะคว้ารางวัลสาขาสันติภาพด้วยเหตุผลที่ว่า ‘คาราโอเกะนับเป็นวิธีใหม่ทั้งหมดเพื่อให้ผู้คนได้เรียนรู้ที่จะอดทนต่อกัน’ (“an entirely new way for people to learn to tolerate each other.”) ปัจจุบันเขาอายุ 81 ปี และอาศัยอยู่ทางตะวันตกของเมืองโอซาก้า กับภรรยา ลูกสาว หลาน 3 คน และสุนัข 7 ตัว เขามีความสุขกับชีวิตครอบครัว หัวเราะไปกับหลานสาวทั้ง 3 คนและมักจะแข่งกันว่าใครร้องคาราโอเกะได้มากที่สุดก่อนที่จะเสียงแหบ นี่เป็นวิธีที่จะให้เกียรติคาราโอเกะ และส่งต่อสิ่งเหล่านี้สู่คนรุ่นหลังในแบบของเขาเอง “ผมเชื่อว่าความปรารถนาที่จะร้องเพลงเป็นเรื่องปกติสำหรับคนส่วนใหญ่ และคาราโอเกะทำให้พวกเขามีโอกาสรู้สึกเหมือนเป็นดารา” เขากล่าว “และเมื่อผมเห็นใครบางคนร้องเพลง นั่นคือสิ่งที่ผมคิด”   ที่มา https://www.openculture.com/?p=1091224  https://www.thestar.com.my/aseanplus/aseanplus-news/2020/08/06/he-invented-karaoke-saw-it-take-off-then-walked-away---daisuke-inoue-taught-the-world-to-sing-if-not-always-in-harmony https://northeastofnorth.com/neon-karaoke/ https://japanology.org/2018/02/history-of-karaoke-japan/ https://www.howtokaraoke.com/a-brief-history-of-karaoke-where-did-it-all-come-from/  https://www.theatlantic.com/technology/archive/2013/12/someone-had-to-invent-karaoke-this-guy-did/282491/  http://theappendix.net/issues/2013/10/voice-hero-the-inventor-of-karaoke-speaks    ที่มาภาพ: http://theappendix.net/issues/2013/10/voice-hero-the-inventor-of-karaoke-speaks