ดาร์ธ เวเดอร์: ตำแหน่งอยู่ไม่นาน แต่ตำนานดาวร้ายแห่งจักรวาลอยู่ตลอดไป

ดาร์ธ เวเดอร์: ตำแหน่งอยู่ไม่นาน แต่ตำนานดาวร้ายแห่งจักรวาลอยู่ตลอดไป
หากคุณเป็นสาวกของภาพยนตร์มหากาพย์แห่งจักรวาล Star Wars หนึ่งในตัวละครที่มีบทบาทสำคัญกับเรื่อง เป็นผู้ขับเคลื่อนความยิ่งใหญ่ให้กลายเป็นตำนานแม้ตัวละครตัวนี้จะอยู่ในฝั่งผู้ร้าย แต่เมื่อไหร่ที่มีการเอื้อนเอ่ยถึงหนังเรื่องนี้ ชื่อของดาร์ธ เวเดอร์ (Darth Vader) มักจะเป็นตัวละครที่เราจะนึกถึงเป็นชื่อแรก ๆ เสมอมา  ภายใต้หน้ากากดำทมิฬ ความโหดเหี้ยมที่เผยทั้งด้านกราดเกรี้ยว อ่อนแอ และดุร้าย กลายเป็น Icon แห่ง Pop Culture อันทรงพลัง เรามาทำความรู้จักกับมหาบุรุษผู้โหดเหี้ยม ผู้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์หนังไซ-ไฟและโลกของผู้ร้ายไปตลอดกาล ดาร์ธ เวเดอร์ ปรากฏตัวครั้งแรกบนโลกภาพยนตร์ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับตัวละครฝ่ายดี ด้วยเอกลักษณ์อันลึกลับดำมืดของตัวละครตัวนี้ ทำให้ ดาร์ธ เวเดอร์ กลายเป็นหนึ่งในตัวละครสำคัญที่เป็นแกนหลักของภาคต่อ ๆ มา เรามาทำความรู้จักเงามืดแห่งจักรวาล ผู้สร้างตำนานบทใหม่แห่งหนังไซ-ไฟแฟนตาซี เด็กน้อยผู้ไร้เดียงสา สู่โชคชะตาที่เปลี่ยนไปสู่ด้านมืด แม้การปรากฏตัวเป็นครั้งแรกของดาร์ธ เวเดอร์ บนจอภาพยนตร์ในปี 1977 จะถูกนับเป็นภาคที่ 4 แต่เรื่องราวของเขาก็ถูกย้อนขยายความในอีกหลายสิบปีต่อมาเมื่อ จอร์จ ลูคัส มีโครงการสานต่อมหากาพย์ของ Star Wars ด้วยการย้อนกลับไปเล่าเรื่องราวของเด็กน้อยอนาคิน สกายวอล์คเกอร์ เด็กกำพร้าพ่อแห่งดาวทาทูอิน ใช้ชีวิตกับผู้เป็นแม่ในฐานะทาสน้อยผู้น่าสงสาร แต่เพราะมีผู้ทำนายทายทักว่าเด็กน้อยคนนี้คือ “ผู้ที่จะนำสมดุลมาสู่พลังจะเกิดขึ้นมาในครรภ์บริสุทธิ์”  เขาจึงได้รับการนำตัวเพื่อไปฝึกฝนกับไควกอน จินน์ ปรมาจารย์เจได และ โอบีวัน เคนโนบี ศิษย์เอก จนฝีมือแก่กล้า และได้ลักลอบพบรักกับ แพดเม อมิดาลา เจ้าหญิงแห่งดาวนาบู จนฝ่าฝืนกฎแห่งเจไดและมีลูกด้วยกัน ด้วยอำนาจ ความลุ่มหลง และความมัวเมา ค่อย ๆ แปรเปลี่ยนเด็กหนุ่มผู้อ่อนโยนให้กลายเป็นมหาวายร้าย หลังจากถูกอาจารย์ผู้พร่ำสอนฟันแขนขาจนขาดและทิ้งให้ตายในลาวาอันร้อนระอุ แต่เพราะความช่วยเหลือของดาร์ธ ซีเดียส ที่รักษาเขาจนหาย จากอนาคิน ก็กลายเป็นอัศวินผู้ชั่วร้าย ผู้สุมไฟแห่งความแค้นภายใต้หน้ากากช่วยหายใจ และแขนขาเหล็กพร้อมชุดเกราะสีดำ เปิดศึกก่อสงครามกับลุค สกายวอล์คเกอร์ ก่อนจะเผยความลับที่กัดกินจิตใจนั่นคือการบอกกับลุคว่า “ข้าคือพ่อของเจ้า” ที่กลายเป็นวลีที่สร้างความช็อกให้กับคนดูในยุคนั้นอย่างมาก   จุดเริ่มต้นของ ดาร์ธ เวเดอร์ ที่เกือบไม่ได้เป็นตำนาน แรกเริ่มเดิมที จอร์จ ลูคัส ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวของ ดาร์ธ เวเดอร์ เท่าไรนัก เขามองตัวร้ายตัวนี้ไม่ต่างกับตัวร้ายทั่วไปในหนังที่มาแล้วก็ไป โดยให้เป็นเพียงตัวร้ายลำดับต้น ๆ ของภาคแรกเท่านั้น และคาดหวังให้ถูกกำจัดตามขนบของหนังธรรมะย่อมชนะอธรรม แม้กระทั่งความสำเร็จระดับบิ๊กเซอร์ไพรส์ในตอนฉาย Star Wars: The New Hope ความคิดที่จะให้ความสำคัญกับตัวละครตัวนี้ก็ไม่ได้อยู่ในหัว  จนกระทั่งเขาได้พูดคุยกับนักเขียนนวนิยายไซ-ไฟ ลีห์ เบรคเคทท์ ที่มาร่วมเขียนบทภาคต่อของหนังเรื่องนี้ เธอได้ให้ไอเดียว่า พ่อของลุค สกายวอล์คเกอร์ คือวิญญาณที่มาให้คำแนะนำกับเขา แม้สุดท้ายไอเดียของเธอจะไม่ผ่าน และเธอก็เสียชีวิตในเวลาไม่นาน แต่ลูคัสกลับมีความรู้สึกวนเวียนเรื่องของพ่อและลูก จนกระทั่งเขาได้ร่างเรื่องราวภาคใหม่ด้วยตัวเอง และเปลี่ยนจากพ่อผู้เป็นวิญญาณร้าย และให้ ดาร์ธ เวเดอร์ นั้นคือพ่อของลุค สกายวอล์คเกอร์ เพื่อสร้างความเข้มข้นให้กับหนัง และไอเดียนั้นก็กลายมาเป็น The Empire Strike Back ภาคต่อที่ทรงพลังและยอดเยี่ยมอันดับต้น ๆ ของหนังชุด Star Wars และทำให้ ดาร์ธ เวเดอร์ เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องราวและมีความสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่าตัวละครตัวอื่น ๆ นับแต่นั้นเป็นต้นมา การดีไซน์ตัวละครที่รับอิทธิพลจากซามูไรและทัพนาซี อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ ดาร์ธ เวเดอร์ กลายเป็นตัวละครคลาสสิกที่โลกต้องคารวะ นั่นก็คือการดีไซน์ตัวละครให้โดดเด่น ไม่ว่าจะเป็นหมวกหรือหน้ากากที่สวมใส่ โดยสตอรีที่ลูคัสวางไว้ให้ดาร์ธมีใบหน้าที่เละและจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทีมออกแบบตัวละครคิดไปถึงความโหดร้ายของทัพนาซีไปจนถึงอาวุธชีวภาพที่เข่นฆ่าชาวยิว จึงนำไปสู่หมวกที่มีทรงคล้ายทหารนาซี บวกกับชุดเกราะที่เสมือนชุดซามูไรจากแรงบันดาลใจของหนัง The Hidden Fortress ของอากิระ คุโรซาวา ที่เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจสำคัญของหนัง Star Wars ตัวร้ายที่เป็นขวัญใจทางการแพทย์ นอกจากบุคลิกอันน่าเกรงขามของดาร์ธ เวเดอร์แล้ว บุคลิกของวายร้ายคนนี้ยังเป็นที่ถกเถียงของเหล่าแพทย์หลากสาขา ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ เมื่อสองอายุรแพทย์ชาวเดนมาร์กประจำโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน โรแนน เบิร์ก และรอนนี พลอฟซิง ได้วิเคราะห์การพูดรัวเร็วของดาร์ธ เวเดอร์ ที่เป็นอาการเบื้องต้นของคนที่มีปัญหาทางระบบทางเดินหายใจ โดยวิเคราะห์จากศึกสุดท้ายในภาคของ Revenge of the Sith ที่สู้กับโอบีวัน เคโนบี ท่ามกลางลาวาที่ปะทุนั้นทำให้ปอดของเขาเหมือนถูกเผาไหม้ตลอดเวลา รวมไปถึงการออกแบบชุดที่มีลักษณะคล้ายห้องปรับบรรยากาศ ที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ ที่นายแพทย์ทั้ง 2 ท่านต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นชุดที่ไม่เหมาะกับการสวมใส่สำหรับคนที่มีปัญหาทางปอด” นอกจากทางด้านร่างกายแล้ว จิตใจข้างในก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เหล่าจิตแพทย์มักยึดโยงบุคลิกของตัวดาร์ธ เวเดอร์ เป็นกรณีศึกษาอยู่เสมอ ไรอัน ซี. ดับเบิลยู. ฮอลล์ จิตแพทย์แห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซ็นทรัลฟลอริดา ได้กล่าวถึงตัวละครตัวนี้ คือกรณีศึกษาที่มักปรากฏอยู่บนบทความวิชาการบ่อยที่สุด โดยมุ่งเน้นศึกษาถึงสภาพจิตใจของเขาที่พลิกผันจากขั้วดีไปสู่ด้านมืด  ในปี 2011 ทีมจิตแพทย์ชาวฝรั่งเศสนำโดย อีริค บุย ได้เขียนบทความลงในวารสาร Psychiatry Research โดยพูดถึงความป่วยไข้ของดาร์ธ เวเดอร์ ว่าเป็นผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง หรือ Borderline Personality Disorder ซึ่งเป็นอาการผิดปกติทางใจ โดยมักจะแสดงออกต่อผู้คนรอบข้างด้วยความหุนหันพลันแล่น และอารมณ์ขึ้นลงไม่คงที่ โดยสถาบันสุขภาพจิตแห่งอเมริกาได้ประเมินว่า “ชาวอเมริกันกว่า 3 ล้านคนมีลักษณะนิสัยแบบดาร์ธ เวเดอร์” ซึ่งบุคลิกของมหาวายร้ายคนนี้เป็นกรณีศึกษาที่มีประโยชน์อย่างมากทางการแพทย์ในอนาคต สร้างโอกาสให้นักเพาะกายให้ได้กลายเป็นตำนาน แม้ความโหดร้ายของตัวตนดาร์ธ เวเดอร์ จะสร้างความโหดเหี้ยมให้กับห้วงจักรวาล แต่เบื้องหลังการสร้างกลับสร้างโอกาสอันงดงามให้กับผู้อยู่เบื้องหลัง และชายผู้โชคดีผู้นั้นก็คือ เดฟ พราวส์ นั่นเอง เดฟ พราวส์ เป็นนักเพาะกายชาวอังกฤษ ที่มีไทม์ไลน์ชีวิตที่ทับซ้อนกับดาร์ธ เวเดอร์อย่างน่าประหลาด เขาคือเด็กกำพร้าพ่อมาตั้งแต่เกิด และอยู่กับแม่เพียงลำพัง (เสมือนตัวอนาคินที่ไม่เคยเห็นหน้าพ่อสักครั้งในชีวิต) จนกระทั่งเขาหลงใหลในกีฬาเพาะกาย เขาได้ฝึกฝนอย่างหนักตั้งแต่วัยรุ่นจนได้เข้าประกวด Mr.Universe เวทีเดียวกันกับที่อาร์โนลด์ ชวาร์เซเนกเกอร์เคยประกวดจนคว้าแชมป์ นอกจากนั้นเขายังข้ามสายไปแข่งยกน้ำหนักจนได้เป็นแชมป์ที่อังกฤษถึง 3 ปีซ้อน จนเขาได้ตามอาร์โนลด์เพื่อนซี้เข้าสู่วงการบันเทิงติด ๆ กัน จากหนัง Casino Royale หนังล้อเลียนเจมส์ บอนด์ ของประเทศอังกฤษในบทบาทวายร้ายแฟรงเกนสไตน์ จนพบว่าเขาหลงใหลในการแสดง และรับบทต่อในหนังคัลต์อมตะ A Clockwork Orange และหนังสยองขวัญโกธิคของค่าย Hammer Films หลายต่อหลายเรื่องในบทบาทอมนุษย์ผู้มีรูปร่างใหญ่โต แม้จะแสดงหลายต่อหลายเรื่อง แต่ชื่อเสียงของเขาก็ไม่ได้โด่งดังสักเท่าไร แต่บทบาทที่ทำให้เขากลายเป็นที่จดจำที่สุดกลับเป็นซูเปอร์ฮีโร่ชุดรัดรูปที่เป็นพรีเซ็นเตอร์ความปลอดภัยบนท้องถนนในชื่อ Green Cross Man ก่อนที่ชื่อเสียงของเขาจะถูกลบเลือนกลืนหายตามกาลเวลา กระทั่งวันหนึ่งเอเยนต์โทรฯ หาเขาเพื่อไปรับบทบาทในหนังไซ-ไฟโนเนม โดยมีบทบาทให้เขาเลือก 2 บท คือตัวประหลาดพันธุ์ขน ชิวแบคคา และมหาวายร้ายชุดดำ ดาร์ธ เวเดอร์ เดฟไม่ลังเลที่จะเลือกบทวายร้าย เพราะเขามั่นใจว่า ‘คนจะจดจำตัวร้ายได้มากกว่า’ และบทบาทนั้นก็กลายเป็นสัญลักษณ์ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต ทั้ง ๆ ที่เขาไม่ได้เปล่งเสียง เพราะลูคัสเลือกนักแสดงอีกคน นั่นคือ เจมส์ เอิร์ล โจนส์ มาพากย์ทับ ไม่ได้แม้กระทั่งจะเผยใบหน้าของตน แต่เพราะคาแรคเตอร์ ดาร์ธ เวเดอร์นั้นยิ่งใหญ่และอมตะ ทำให้ทุก ๆ ปี เขาจะต้องไปปรากฏตัวเพื่อแจกลายเซ็นตามงาน Comic Con ที่จัดตั้งแต่แรกเริ่ม นับเป็นตำนานอีกหน้าของชีวิตของเขาที่ได้รับโอกาสอันยอดเยี่ยมทั้ง ๆ ที่เขาไม่เคยเผยใบหน้าหรือน้ำเสียงสักครั้งบนจอหนัง แต่น่าเสียดายที่เดฟกลับทะเลาะกับจอร์จ ลูคัสอย่างรุนแรง จนลูคัส สั่งห้ามเขาปรากฏตัวในแฟนมีทนับตั้งแต่ทศวรรษ 2010 ที่ผ่านมา รวมไปถึงการเรียกร้องขอส่วนแบ่งหลังจากที่หนัง 3 ภาคคลาสสิกที่ทำเงินมหาศาล แต่เขาได้เพียงค่าจ้างในการถ่ายทำเท่านั้น เดฟจากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2020 ในวัย 85 ปี ด้วยโรคร้ายรุมเร้ามากมาย ทั้งอาการข้ออักเสบจากการยกน้ำหนักจนทำให้แขนซ้ายของเขาเป็นอัมพาต รวมไปถึงมะเร็งต่อมลูกหมาก และโรคความจำเสื่อม แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่ไม่อาจจะคร่าจิตวิญญาณของเขาไปได้ คือบทบาทอันยิ่งใหญ่ในฐานะวายร้ายที่โลกจดจำไปตลอดกาล แม้ตัวตนของผู้แสดงจะลาลับไป แต่ความยิ่งใหญ่ของตำนาน ดาร์ธ เวเดอร์ ยังคงถูกกล่าวถึงเสมอในทุกแง่มุม ทั้งด้านดีและร้าย แต่ไม่ว่าจะในแง่ไหน ชายชุดดำภายใต้หน้ากากทมิฬจะอยู่ในใจผู้ชมไปตราบนานเท่านาน