ดาวิด ผู้พิทักษ์เสรีภาพแห่งฟลอเรนซ์

ดาวิด ผู้พิทักษ์เสรีภาพแห่งฟลอเรนซ์
"ดาวิด" คือประติมากรรมแกะสลักจากฝีมือของ "มีเกลันเจโล" หรือ ไมเคิลแองเจโล (Michelangelo) ศิลปินเอกชาวอิตาเลียนในยุคเรเนซองส์ เป็นรูปแกะสลักจากก้อนหินอ่อนขนาดยักษ์ที่ถูกศิลปินรายอื่นเมินและทิ้งขว้างไว้หลายสิบปีเนื่องจากเนื้อหินที่ไม่สมบูรณ์แบบ แต่มีเกลันเจโลในวัย 26 ปี (ซึ่งสร้างชื่อและมีผลงานเป็นที่ประจักษ์แล้ว) เห็นเป็นงานที่ท้าทายจึงสร้างสรรค์รูปสลักดาวิดสำเร็จและกลายเป็นหนึ่งในงานชิ้นเอกที่สร้างชื่อให้กับเขา สำหรับคนไทยหลายคนอาจไม่ได้คุ้นเคยกับศาสนาในกลุ่มความเชื่ออับราฮัม (ยูดาย คริสต์ และอิสลาม) เลยไม่ทราบถึงความเป็นมาและความสำคัญของดาวิด จึงควรกล่าวถึงตำนาน "ดาวิดผู้ฆ่ายักษ์โกลิอัท” สักเล็กน้อยเพื่อเข้าใจเบื้องหลังที่มาของรูปแกะสลักชิ้นนี้ ดาวิด คือวีรบุรุษของชาวอิสราเอล และเป็นกษัตริย์องค์ที่ 2 แห่งราชอาณาจักรอิสราเอลโบราณ เขาเริ่มต้นจากการเป็นเด็กเลี้ยงแกะ ก่อนก่อวีรกรรมสร้างชื่อด้วยการสังหาร "ยักษ์โกลิอัท" นักรบร่างใหญ่ของกองทัพฟีลิสเตียที่เข้ามารุกรานดินแดนอิสราเอล ตามบันทึกของคัมภีร์ไบเบิลฉบับพันธสัญญาเดิม (1 ซามูเอล 17) บรรยายถึงโกลิอัทไว้ว่า เขาเป็นนักรบสูงหกศอกคืบ สวมหมวก เสื้อเกราะ และสนับแข้งที่ทำด้วยทองสัมฤทธิ์ มีหอกสัมฤทธิ์เป็นอาวุธ สื่อถึงความแข็งแกร่งของร่างกาย และเทคโนโลยีที่เป็นต่อยิ่งกว่า เมื่อเทียบกับ "ดาวิด" เด็กหนุ่มผู้เป็นตัวแทนของกองทัพอิสราเอล   เมื่อกองทัพฟีลิสเตียยกทัพรุกรานมาถึงเขตยูดาห์ โกลิอัทก็ตะโกนท้าชาวอิสราเอลให้ส่งผู้กล้ามาดวลกับเขาตัวต่อตัว ฝ่ายกษัตริย์ซาอูลกษัตริย์องค์แรกของอิสราเอล (ที่ไม่ได้มีสัมพันธ์ทางสายเลือดกับดาวิด) กับเหล่าราษฎรของพระองค์ได้ยินเสียงท้าทายก็อกสั่นขวัญหาย แต่ดาวิดเด็กหนุ่มร่างเล็กกลับหาญกล้าอาสาเป็นตัวแทนชาวอิสราเอล กษัตริย์ซาอูลเห็นดาวิดเสนอตัวจึงบอกว่า "เจ้าไม่สามารถที่จะไปสู้รบกับชายฟีลิสเตียคนนั้นดอก เพราะเจ้าเป็นแต่เด็กหนุ่ม และเขาเป็นทหารชำนาญศึกมาตั้งแต่หนุ่ม ๆ แล้ว" ฝ่ายดาวิดได้ฟังแล้วก็ตอบกลับไปว่า ตัวเขานั้นก็ไม่ธรรมดา เวลาเลี้ยงแกะเลี้ยงแพะให้พ่อ เจอสิงโตเจอหมีมารังควานเขาก็ไล่ฆ่ามาหมดแล้ว "คนฟีลิสเตียผู้มิได้เข้าสุหนัตก็เป็นเหมือนสัตว์เหล่านั้นตัวหนึ่ง" ดาวิดประกาศ ด้วยเชื่อว่า พระผู้เป็นเจ้าที่เคยอยู่ข้างเขามาตลอดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับสัตว์ร้าย เมื่อเขาต้องต่อกรกับผู้รุกรานชาวฟีลิสเตียนอกรีต พระองค์ก็จะต้องช่วยเขาไว้ด้วยเป็นแน่ กษัตริย์ซาอูลฟังแล้วก็ใจชื้นยื่นเสื้อเกราะและหมวกทองสัมฤทธิ์ให้ดาวิดสวมใส่ ดาวิดสวมแล้วบอกว่าไม่ถนัดจะขอสู้ด้วยตัวเปล่ากับอาวุธติดตัวเป็นหินแม่น้ำห้าก้อนกับสายสลิงอาวุธโบราณสำหรับเขวี้ยงก้อนหิน (และแน่นอนว่ายังมีพระเยโฮวาห์ที่อยู่ข้างเขามาตลอดด้วย) เมื่อตัวแทนของสองฝ่ายลงสู่สังเวียน โกลิอัทก็ลุกขึ้นวิ่งเข้าใส่ ฝ่ายดาวิดจึงล้วงเอาก้อนหินในย่ามออกมาก้อนหนึ่งแล้วเหวี่ยงด้วยสายสลิงเข้ากลางหน้าผากจมลึกอยู่ในกะโหลก ทำให้โกลิอัทถึงแก่ความตายในทันทีด้วยก้อนหินเพียงก้อนเดียว ก่อนที่ดาวิดจะทำการข่มขวัญกองทัพศัตรูด้วยการตัดคอโกลิอัท จนทำให้กองทัพฟีลิสเตียขวัญเสียวิ่งหนีไปแบบไม่เป็นขบวน ดาวิดจึงเป็นสัญลักษณ์ของนักสู้ที่ด้อยกว่าในเชิงกายภาพ (หากประเมินด้วยตาเปล่าอย่างเดียว) แต่สามารถพลิกเอาชนะฝ่ายที่มีกำลังอำนาจเหนือกว่าได้อย่างเหนือความคาดหมาย ซึ่งจริง ๆ นี่เป็นเรื่องที่พอจะเป็นไปได้ เพราะสลิงแม้จะเป็นอาวุธโบราณสร้างขึ้นง่าย ๆ ด้วยเชือก แต่มันก็สามารถเหวี่ยงก้อนหินด้วยความเร็วสูง หากโดนเป้าหมายก็จะสร้างความเสียหายรุนแรงได้ แต่ปัญหาของมันอยู่ที่การควบคุมที่ไม่ใช่เรื่องง่าย ผู้ใช้จึงต้องมีทักษะสูง หรือไม่ก็ต้องได้รับพรจากพระผู้เป็นเจ้าเหมือนเช่นดาวิด เมื่อกลับมาย้อนดูดาวิดของมีเกลันเจโล เขาเลือกที่จะเล่าถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นต่างไปจากศิลปินคนอื่น ๆ ที่เคยทำมาก่อน คือก่อนนั้นศิลปินส่วนใหญ่เลือกที่จะเล่าถึงเหตุการณ์หลังจากที่ดาวิดได้ชัยชนะเหนือโกลิอัทแล้ว ขณะที่มีเกลันเจโลเลือกที่จะแสดงภาพของดาวิดในตอนที่เขายังไม่ได้ประมือกับโกลิอัท แต่ก็ตั้งท่าเตรียมพร้อม มือซ้ายคว้าสายสลิงพาดบ่า มีย่ามใส่ก้อนหินแม่น้ำวางอยู่ข้างขาขวา และสายตาที่จ้องเขม็งด้วยความมาดมั่น รูปแกะสลักนี้เดิมทีเดียวมีแผนที่จะนำไปประดับเครื่องค้ำหลังคาของวิหารแห่งฟลอเรนซ์แต่เมื่องานของมีเกลันเจโลเสร็จสิ้น ทางรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งฟลอเรนซ์ก็เกิดเปลี่ยนใจเอาไปประดับไว้ที่หน้าศาลาว่าการรัฐบาล (Piazza della Signoria) แทน และกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพของฟลอเรนซ์ท่ามกลางภัยคุกคามจากอาณาจักรใหญ่ข้างเคียง ทั้งนี้ มีเกลันเจโลเติบโตในยุคที่ตระกูลเมดีซีครองอำนาจ ก่อนตระกูลเมดิซีจะถูกขับออกไปในปี 1494 เมื่อกองทัพฝรั่งเศสเข้ารุกรานโดยได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้าน และรื้อฟื้นระบอบสาธารณรัฐขึ้นมา ฝ่ายมีเกลันเจโลที่ออกจากฟลอเรนซ์ไปตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤตการเมืองก็ได้เดินทางกลับมายังเมืองศูนย์กลางศิลปะแห่งนี้อีกครั้งเมื่อเหตุการณ์สงบลง และรับการว่าจ้างจากรัฐบาลสาธารณรัฐในปี 1501 ให้ช่วยสร้างรูปแกะสลักดาวิดขึ้นมาเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าแม้พวกเขาจะดู "เล็ก" แต่ก็มีพิษสงเหมือนดาวิด (เขาแกะสลักแล้วเสร็จในปี 1504) อย่างไรก็ดี รัฐบาลสาธารณรัฐคงอยู่ได้ไม่นานตระกูลเมดีซีก็กลับมาพร้อมการสนับสนุนจากกองทัพสเปนและยึดอำนาจคืนได้สำเร็จในปี 1512 พร้อมใช้อำนาจหนักมือขึ้นกว่าเดิมและพยายามบั่นทอนระบอบสาธารณรัฐ ก่อนที่ฝ่ายนิยมสาธารณรัฐสามารถพลิกกลับมามีอำนาจได้ระยะสั้น ๆ ในปี 1527 หลังจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ซึ่งเป็นเจ้าแห่งสเปนด้วย) ยกทัพเข้ารุกรานโรม แต่เมื่อพระสันตะปาปาแห่งตระกูลเมดีซีคืนดีกับจักรพรรดิคาร์ลที่ 5 แล้ว จักรพรรดิก็ใช้กำลังกำจัดฝ่ายนิยมสาธารณรัฐในฟลอเรนซ์คืนอำนาจให้กับตระกูลเมดีซีในปี 1530 ก่อนที่ตระกูลเมดีซีก็ยกตัวเองขึ้นเป็น "เจ้า" เพื่อปิดฉากระบอบสาธารณรัฐโดยสมบูรณ์ (Britannica) (ส่วนรูปปั้นดาวิดของมีเกลันเจโลก็ยังถูกตั้งไว้หน้าศาลาว่าการแห่งฟลอเรนซ์เรื่อยมา จนกระทั่งปี 1873 จึงถูกย้ายเข้าไปตั้งใน Accademia Gallery เพื่อง่ายต่อการดูแลรักษา และดาวิดจำลองก็ถูกนำไปติดตั้งแทนที่ที่หน้าทางเข้าศาลาว่าการของฟลอเรนซ์ในปี 1910)