ดะไซ โอซามุ: เรื่องเล่าของชายหนุ่มที่ ‘สูญสิ้นความเป็นคน’

ดะไซ โอซามุ: เรื่องเล่าของชายหนุ่มที่ ‘สูญสิ้นความเป็นคน’

ในช่วงวัยหนุ่มสาว เราต่างเคยคิดแบบดะไซ โอซามุ ด้วยกันทั้งนั้น

หลายครั้งหลายหนมีคนตั้งคำถามว่าทำไมผลงานของดะไซ โอซามุ (Dazai Osamu) ถึงกลายเป็นวรรณกรรมคลาสสิกที่โด่งดัง คำตอบที่ได้ล้วนไม่เหมือนกันเท่าไหร่นัก แต่หนึ่งสิ่งที่คนอ่านสัมผัสได้ตรงกันคือ ดะไซเล่นกับจิตใจดำมืดและความรู้สึกของมนุษย์ได้แยบคาย พร้อมกับเล่าชีวิตตัวเองผ่านนิยายแสนสะเทือนใจได้อย่างลึกซึ้ง   เรื่องราวชีวิตของดะไซไม่สามารถยืนยันแน่ชัด ชื่อจริงของเขาคือ ชูจิ ทสึชิมะ (Shuju Tsushima) เกิดเมื่อปี 1909 เติบโตในครอบครัวชนชั้นกลางค่อนไปทางสูง ณ เมืองคานางิ จังหวัดอาโอโมริ พ่อเป็นสมาชิกสภาขุนนางญี่ปุ่น ส่วนแม่ร่างกายอ่อนแอหนักหลังจากคลอดลูกคนที่ 11 ดะไซจึงถูกเลี้ยงดูโดยคนรับใช้ของครอบครัว ไม่ค่อยได้ใช้เวลาร่วมกับพ่อแม่เท่าไหร่นัก งานวรรณกรรมเลื่องชื่อเรื่อง ‘นิงเง็งชิคากุ’ (人間失格) หรือ ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ ถูกเรียกว่าเป็นมรดกของดะไซ เขาสอดแทรกชีวิตของตัวเองไว้ในตัวละครหลักนามว่า ‘โยโซ’ เด็กชายขี้โรคที่เกลียดการเข้าสังคม และถูกคนใช้ทำอะไรบางอย่างที่น่าอัปยศ ด้วยการเขียนอธิบายการกระทำนั้นไว้ในหนังสือว่า “กระทำชำเราด้วยการสอนให้ลิ้มรสเรื่องน่าเศร้า” ด้วยวัยเด็กไม่ประสีประสาจึงไม่รู้ว่าการกระทำเหล่านั้นคืออาชญากรรม อย่างไรก็ตาม การล่วงละเมิดที่ว่าไม่ได้รับการยืนยันจนถึงปัจจุบันว่าเป็นแค่เรื่องแต่งเพื่อเพิ่มอรรถรส หรือคือเรื่องจริงที่เขาจะไม่มีวันบอกใคร ดะไซไม่ค่อยสุงสิงกับผู้คน อมทุกข์แต่ก็มีเสน่ห์ ร่าเริงแต่หวาดกลัวสังคม เขาชอบหมกตัวอ่านหนังสือ สนใจวัฒนธรรมยุคเอโดะอันรุ่งโรจน์และศิลปะดั้งเดิม แถมยังเป็นแฟนหนังสือตัวยงของ อะคุตะงาวะ ริวโนะสุเกะ (Akutagawa Ryunosuke) ราชาเรื่องสั้นผู้เขียนราโชมอน [caption id="attachment_24610" align="aligncenter" width="1771"] ดะไซ โอซามุ: เรื่องเล่าของชายหนุ่มที่ ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ No Longer Human (2019)[/caption] ดะไซตัดสินใจศึกษาด้านวรรณคดีในมหาวิทยาลัยฮิโรซากิ เริ่มจับปากกาหันมาเอาดีด้านงานเขียนหลังจากเป็นนักอ่านมานาน เขามีความสุขเมื่อได้เล่าเรื่องผ่านตัวอักษร หลายคนมองว่าเขามีพรสวรรค์ด้านงานวรรณกรรม อย่างไรก็ตาม ความชอบเกี่ยวกับการเขียนนิยายต้องหยุดชะงัก เมื่อริวโนะสุเกะตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรม จากไปอย่างไม่มีวันกลับ เหลือเพียงชื่อกับผลงานอันน่าอัศจรรย์ไว้ให้คนรุ่นหลัง ดะไซเสียศูนย์เมื่อนักเขียนที่ตัวเองยกย่องชื่นชมจากไป คำบอกเล่าของเพื่อน ๆ ในชั้นเรียน รวมถึงเรื่องราวที่สอดแทรกอยู่ใน ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ มีใจความสำคัญตรงกัน ดะไซเริ่มเหลวไหล ออกเที่ยวกลางคืน ละทิ้งงานเขียนที่เคยหลงรักไปอยู่กับโสเภณี ใช้เงินส่วนใหญ่หมดไปกับการซื้อเสื้อผ้าและสุรา คบค้าสมาคมกับสมาชิกกลุ่มลัทธิมาร์กซ์ที่ถูกรัฐบาลญี่ปุ่นหมายหัว ใช้ชีวิตไปวัน ๆ โดยไม่วาดฝันกับอนาคตจนถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัย กระทั่งปี 1929 เขาพยายามฆ่าตัวตายครั้งแรกด้วยยานอนหลับแต่ไม่สำเร็จ เด็กหนุ่มกลับเข้าเรียนอีกครั้งในปี 1930 ในสาขาวรรณกรรมฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยโตเกียว แต่เรียนได้ไม่นานก็หนีไปกับเกอิชาที่เขาติดพันด้วยคือ โอะยามะ ฮัตสึโยะ (Oyama Hatsuyo) การเป็นเด็กเกเรส่งให้ครอบครัวตัดสินใจตัดขาดความสัมพันธ์กับเขา ดะไซผู้หลงทางมีความสัมพันธ์กับหญิงสาวมากหน้าหลายตา  วันหนึ่งดะไซได้ตกลงกับ ทานาเบะ ชิเมะโกะ (Tanabe Shimeko) ชู้รักอีกคน (ใน ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ เธอชื่อว่า ซึเนะโกะ) ว่าจะจบชีวิตพร้อมกันริมทะเล น่าเศร้าที่ชิเมะโกะเสียชีวิต แต่เขากลับรอดอีกครั้งเพราะชาวประมงช่วยไว้   ดะไซถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการตายของชิเมะโกะ แม้ครอบครัวจะเลือกตัดขาดไปก่อนหน้านี้ แต่สุดท้ายพี่ชายทิ้งเขาไม่ลง ยื่นมือเข้าช่วยจนหลุดคดี ต่อมาไม่นานดะไซก็ก่อเรื่องอีกครั้ง คราวนี้โดนจับด้วยข้อหามีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์ ทางบ้านจึงยื่นคำขาดว่าจะไม่ส่งเงินให้อีกถ้ายังยุ่งเกี่ยวกับมาร์กซิสต์หรือคอมมิวนิสต์ ดะไซตกลงทำตามที่บ้านสั่ง และแต่งงานกับฮัตสึโยะ สาวเกอิชาที่เคยอยู่กินด้วยกัน หลังจากใช้ชีวิตแบบถูลู่ถูกัง ดะไซหันกลับมาจับงานเขียนอีกครั้ง ออกเรื่องสั้นหลายเรื่องที่โดดเด่นด้วยการเล่าเรื่องแบบมุมมองบุคคลที่หนึ่ง เหมือนว่าทุกอย่างเริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทาง แต่พอดะไซเริ่มทำงานสร้างอาชีพจริงจังกลับคิดว่าตัวเองคงไม่มีวันประสบความสำเร็จ ไม่สามารถเรียนจบหรือเป็นนักเขียนมีชื่อที่ได้ทำงานกับหนังสือพิมพ์โตเกียว ประกอบกับอาการพิษสุราเรื้อรังส่งให้เศร้าหนักกว่าเดิม ในปี 1935 ดะไซตัดสินใจแขวนคอตัวเองแต่ก็ล้มเหลวอีกครั้ง [caption id="attachment_24612" align="aligncenter" width="1758"] ดะไซ โอซามุ: เรื่องเล่าของชายหนุ่มที่ ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ No Longer Human (2019)[/caption] ไม่มีใครสามารถล่วงรู้ถึงความคิดแท้จริงของชายผู้พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้ง แต่เดาได้ไม่ยากว่าจิตใจของเขาบอบช้ำหนักจากความล้มเหลวที่พยายามฆ่าตัวตายหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ ซ้ำร้ายความเจ็บปวดด้านร่างกายยิ่งถาโถม เขามีอาการไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน เริ่มติดสารมอร์ฟีนใช้ลดอาการเจ็บปวด นักเขียนหนุ่มติดเหล้า ติดยา เริ่มผอมแห้งหน้าซูบตอบ หมกมุ่นอยู่กับความคิดของตัวเอง ทำให้ในปี 1936 เขาถูกส่งตัวไปสถานบำบัดจิตเพื่อรักษาอาการติดมอร์ฟีนและสุรา เมื่อออกจากสถานบำบัด เขาได้รู้ว่าฮัตสึโยะถูกเพื่อนสนิทล่วงละเมิดทางเพศ (บางคนเชื่อว่าไม่ได้เกิดจากการบังคับแต่พวกเขาเป็นชู้กัน) ดะไซจึงชวนภรรยาฆ่าตัวตายพร้อมกันด้วยการกินยานอนหลับ ผลเหมือนครั้งก่อน ๆ เขากับฮัตสึโยะไม่ตาย แต่สิ่งที่ตายคือความสัมพันธ์ที่เดินทางมาถึงจุดจบ ทั้งสองตัดสินใจแยกทางกัน ดะไซแต่งงานใหม่อีกครั้งกับอิชิฮาระ มิจิโกะ (Ishihara Michiko) และมีลูกด้วยกันสามคน ดะไซใช้เวลาว่างอยู่กับตัวเองมากขึ้น เขียนเรื่องสั้นเนื้อหาแตกต่างกันไป แต่ส่วนใหญ่วนอยู่กับการฆ่าตัวตาย ชะตากรรม และความสวยงามของธรรมชาติ ช่วงที่เขาเขียนงานได้หลายเรื่องใกล้กับตอนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 กับสงครามมหาเอเชียบูรพา ชายชาวญี่ปุ่นต้องถูกเกณฑ์ไปรบ แต่ดะไซไม่ผ่านการคัดเลือกเพราะเป็นวัณโรค เขามีโอกาสสร้างผลงานหลายเรื่อง และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นหลังจากญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงคราม ในปี 1947 ดะไซ โอซามุ โด่งดังจากผลงานเรื่อง ‘ฉะโย’ (อาทิตย์สิ้นแสง) เล่าเรื่องผ่าน ‘คาสุโกะ’ เมื่อขุนนางชั้นสูงกลายเป็นผู้ดีตกยากเพราะญี่ปุ่นแพ้สงคราม เด็กสาวจากตระกูลขุนนางใหญ่ต้องขายคฤหาสน์และทรัพย์สินเพื่อประทังชีพ โดยได้แรงบันดาลใจจากบันทึกของ โอตะ ชิซึโกะ (Ota Shizuko) ผู้หญิงที่เขามักแนะนำเทคนิคการเขียนนิยายให้จนพัฒนาความสัมพันธ์เป็นชู้รักและมีลูกหนึ่งคน ดะไซวัยสามสิบกว่าไม่ได้เติบโตจากตอนเป็นเด็กเท่าไหร่นัก เขาเพลิดเพลินกับการดื่มสุราแม้เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง สร้างสรรค์งานเขียนเฉียบคม ใช้ชีวิตรักกับผู้หญิงมากหน้าหลายตา ติดพันกับแม่ม่ายนามว่า ยามาซากิ โทมิเอะ (Yamazaki Tomie) หลงรักเธอจนถึงขั้นทิ้งชู้รักคนก่อนกับภรรยาหนีไปอยู่กินกับโทโมเอะ ทั้งที่ตัวเองป่วยหนักจนไอเป็นเลือด ปี 1948 เขาใช้เวลาหลายเดือนเขียนนิยายเรื่องสุดท้าย ‘นิงเง็งชาคากุ’ (สูญสิ้นความเป็นคน) เมื่อแล้วเสร็จจึงจัดการกับเรื่องต่าง ๆ ทิ้งงานเขียนเรื่อง ‘กู๊ดบาย’ (Goodbye) ที่ยังเขียนไม่เสร็จไว้ข้างหลัง นั่งเขียนพินัยกรรม เขียนจดหมายถึงปู่ เพื่อนฝูง ภรรยาและลูก ๆ จากนั้นเดินไปริมแม่น้ำทามากาวะกับโทโมเอะ ทั้งสองคนจุดธูปไหว้บางสิ่งที่ไม่มีใครรู้ว่าคืออะไร พวกเขาเอาโอบิมัดตัวติดกันแล้วกระโดดลงแม่น้ำ นานหลายวันกว่าจะพบร่างของทั้งคู่ ในที่สุดดะไซสามารถทำอัตวินิบาตกรรมได้สำเร็จ   [caption id="attachment_24613" align="aligncenter" width="1581"] ดะไซ โอซามุ: เรื่องเล่าของชายหนุ่มที่ ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ No Longer Human (2019)[/caption] ดะไซ โอซามุ ทิ้งทรัพย์สินให้แก่มิจิโกะ มีเรื่องเล่าต่อกันว่าเมื่อเธออ่านพินัยกรรมของสามีที่ตัดสินใจจบชีวิตกับชู้รัก ได้รู้ว่าเขามีลูกกับผู้หญิงอีกหนึ่งคน เธอกลั้วหัวเราะแล้วพูดว่า กระทั่งพินัยกรรมยังไม่เลิกโกหก แต่อ่านแล้วก็สนุกดี”   การพยายามฆ่าตัวตายซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประกอบกับอาการติดสุราและสารเสพติด บุคลิกภาพที่แสดงออก รวมถึงงานเขียนซ่อนความบอบช้ำทางจิตใจ ทำให้คนรุ่นหลังถกเถียงกันหลายต่อหลายครั้งว่าชายคนนี้เจ็บปวดจากโรคซึมเศร้าหรือไม่ เนื่องจากยุคสมัยที่ดะไซมีชีวิตอยู่ โลกของเรายังไม่ได้รู้จักกับคำว่าโรคซึมเศร้าอย่างจริงจัง นอกจากนี้ ดะไซยังชอบหมกตัวอยู่คนเดียว อ่านหนังสือ ดื่มเหล้า เขียนวรรณกรรม ตกผลึกทางความคิด พูดคุยกับตัวเอง และทำแบบเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน แถมยังล้มเหลวในความสัมพันธ์ ชีวิตที่ไม่ได้ดั่งใจ หนี้สิน โรคร้ายเรื้อรัง ทุกสิ่งที่ดะไซเจอล้วนส่งผลต่อความรู้สึก จึงไม่แปลกใจว่าเกิดข้อสงสัยบ่อยครั้งว่าดะไซเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่    ปัจจุบันมีงานวิจัยเกี่ยวกับโรคทางจิตใจและระบบประสาทมากขึ้น องค์การอนามัยโลกระบุว่า ร้อยละ 10 ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เคยฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จ มักหาโอกาสฆ่าตัวตายซ้ำอีก ซึ่งการพยายามฆ่าตัวตายซ้ำ ๆ บวกกับชีวิตอัปยศของดะไซก็คล้ายกับคนเป็นโรคซึมเศร้าอยู่ไม่น้อย งานเขียนที่ดะไซทิ้งไว้นอกจากจะชวนคิดถึงจิตใจที่ยากหยั่งถึง ยังสะท้อนภาพความจริงบางอย่างของสังคมญี่ปุ่น เรื่องเล่าของเขาทำให้ภาพของคนญี่ปุ่นชัดเจนขึ้น การกระทำของตัวละครโยโซที่พยายามทำทุกอย่างให้เหมือนคนอื่น ๆ พยายามไม่แตกแถว พยายามสร้างสีสันกับเสียงหัวเราะให้คนรอบข้าง กังวลกับความรู้สึกคนอื่นจนละเลยตัวเอง  รู้ตัวอีกทีก็ต้องทุกข์ทรมานเพราะการพยายามเข้าสังคมมากเกินพอดีทำให้เครียด ตามมาด้วยความรู้สึกหมดหวัง หดหู่ จนเกิดวัฒนธรรมการฆ่าตัวตายที่ไม่ได้ทำตามแนวคิดเซมปุกุที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักว่า ‘ฮาราคีรี’ แต่เกิดจากความเครียดและความยุ่งเหยิงในจิตใจ ดะไซ โอซามุ: เรื่องเล่าของชายหนุ่มที่ ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ เดิมที ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ ถูกวางไว้ตีตลาดนักอ่านวรรณกรรมตัวยง แต่วัยรุ่นญี่ปุ่นจำนวนมากให้ความสนใจผลงานชิ้นนี้ มีคนจำนวนมากอ่านและชื่นชอบผลงานเขาจากใจจริง ในเวลาเดียวกันก็มีหลายคนเปลี่ยนหนังสือของดะไซ โอซามุ ให้เป็นตัวแทนภาพลักษณ์เท่ ๆ  มีคนอ่าน ‘เมียชายชั่ว’ เพื่อคุยกับเพื่อน บางคนอ่าน ‘สูญสิ้นความเป็นคน’ เพื่อเข้าสังคม หรือถือหนังสือ ‘อาทิตย์สิ้นแสง’ ไว้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าตัวเองอาจดูดีขึ้น แต่ไม่ว่าคนซื้อหนังสือด้วยเหตุผลใด ทั้งหมดก็ส่งให้ผลงานกับชื่อเสียงของนักเขียนชีวิตสุดรันทดโด่งดังจนถึงปัจจุบัน ผลงานของเขาถูกชาวญี่ปุ่นเรียกว่า “วรรณกรรมที่มีความเป็นญี่ปุ่นสูง” ดะไซสอดแทรกหลายสิ่งไว้ในงานเขียนไม่ว่าจะเป็น การค้นหาตัวเอง ค่านิยม การล่วงละเมิด มุมมองการทำอัตวินิบาตกรรม อีโรติกที่เจือปนอยู่ในผลงาน ประเด็นเหล่านี้ทำเอาคนญี่ปุ่นที่เติบโตจากวัฒนธรรมเดียวกันก็ยังไม่ค่อยเข้าใจแก่นความเป็นญี่ปุ่นที่ว่านี้ด้วยซ้ำ และผลงานของเขามักชวนให้ผู้อ่านตั้งคำถาม ชวนให้ฉุกคิด น่าค้นหาจนเรายอมเดินตามตัวอักษรที่สะท้อนมุมมืดของมนุษย์ ยอมเดินตามการนำของดะไซไปจนจบเล่ม  

งานเขียนของผมไม่ได้ทำให้ชีวิตใครดีขึ้น อ่านไปก็ไม่ได้อะไร

มันไม่มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักอย่าง ผมจะไม่แนะนำให้คุณอ่านหรอก

- ดะไซ โอซามุ

  ที่มา https://www.japantimes.co.jp/culture/2016/03/26/books/black-illumination-disqualified-life-osamu-dazai/#.XtixxkUzZyw https://www.japantimes.co.jp/culture/2009/10/09/films/osamu-dazai-genius-but-no-saint/#.XthqhEUzZyw https://www.healthline.com/health/clinical-depression http://yabai.com/p/3137   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์