ถอดรหัสทวิตภพจีน: พินอิน เทคโนโลยีการพิมพ์กับการสร้างสรรค์ศัพท์ใหม่

ถอดรหัสทวิตภพจีน: พินอิน เทคโนโลยีการพิมพ์กับการสร้างสรรค์ศัพท์ใหม่
ท่ามกลางดราม่าอันร้อนระอุในทวิตเตอร์ระหว่างชาวเน็ตไทยกับชาวเน็ตจีน หลายคนสงสัยว่าคำด่าของชาวเน็ตจีน nmsl (ออกเสียงว่า หนี่มาสื่อเลอะ) ซึ่งแปลว่า Your mother dies มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมจึงไม่พิมพ์ภาษาจีน? ประเด็นนี้แยกออกมาได้เป็นสองเรื่อง คือ การนำอักษรโรมันมาใช้กำกับเสียงอ่านอักษรจีน ซึ่งในปัจจุบันเรียกกันว่า “ระบบสัทอักษรพินอิน” และเทคโนโลยีการพิมพ์และอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้ชาวจีนสร้างสรรค์คำศัพท์รูปแบบใหม่จากพินอิน   ที่มาของอักษรโรมัน (Roman Alphabet) ในภาษาจีน ก่อนที่ภาษาจีนจะกลายเป็นภาษาแบบที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ได้ผ่านช่วงเวลาแห่งการถกเถียง การตั้งคำถามมากมาย ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ภายใต้บริบทที่จีนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เกิดการปฏิรูปภาษาจีนโดยมีเงื่อนไขสำคัญคือเพื่อยกระดับอัตราการรู้หนังสือของชาวจีน ทั้งนี้ ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยเห็นว่า ภาษาจีนเป็นอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้ประเทศต้องล้าหลัง ด้วยประเทศจีนมีดินแดนกว้างใหญ่ไพศาล มีภาษาถิ่นมากมาย มีภาษาเขียนซึ่งแตกต่างไปจากภาษาพูด อีกทั้งตัวอักษรจีนเขียนยากและซับซ้อน ทำให้ความรู้ถูกจำกัดอยู่กับบางชนชั้นเท่านั้น ปัญญาชนหัวก้าวหน้าจึงเรียกร้องให้มีการปฏิรูปภาษาจีนขึ้น โดยยกระดับเป็นขบวนการสร้างบูรณาการภาษาประจำชาติ (National Language Movement 国语运动) อันเป็นการเคลื่อนไหวที่ทรงพลังอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของจีน หลังการปฏิวัติซินไห้และการสถาปนาสาธารณรัฐจีนใน ค.ศ. 1912 การสร้างภาษาแห่งชาติถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลใหม่ มีการกำหนดให้ “ภาษาแมนดาริน” จากเดิมที่เรียกกันว่าภาษาราชการ (Official Speech 官话) ให้เป็น “ภาษาแห่งชาติ” (National Language 国语) กระนั้น จุดเปลี่ยนสำคัญของการปฏิรูปภาษาจีน คือ ช่วงเวลาที่ขบวนการสี่พฤษภาได้ดำเนินมาถึงจุดสูงสุดใน ค.ศ. 1919 เกิดการปะทุขึ้นของความรู้สึกชาตินิยม อันกลายมาเป็นพลังในการแสวงหาเอกราชของชาติ เสรีภาพของปัจเจกชน และความเป็นสมัยใหม่ ปัญญาชนบางกลุ่มได้เสนอให้ใช้อักษรโรมัน (Roman Alphabet 罗马字母) กลุ่มพยัญชนะ a-z เป็นสัญลักษณ์ในระบบสัทอักษรเพื่อกำกับเสียงอ่านตัวอักษรจีน ทั้งนี้ มีการประดิษฐ์ระบบสัทอักษรหลายชุดเพื่อใช้อักษรโรมันแทนอักษรจีน แต่การรณรงค์เชิญชวนดูจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จนกระทั่งรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้พัฒนาระบบสัทอักษรที่เรียกว่า พินอิน (Pinyin 拼音) ขึ้นในทศวรรษที่ 1950 พร้อมกับผลักดันให้ใช้ตัวอักษรจีนแบบย่อ (Simplified Chinese 简体字) ทุกวันนี้ พินอินและตัวอักษรจีนแบบย่อได้กลายเป็นมาตรฐานสำหรับการเรียนการสอนภาษาจีนกระแสหลักในที่สุด   เทคโนโลยีการพิมพ์และอินเทอร์เน็ต การพิมพ์เป็นวิธีการหนึ่งในการสื่อสารผ่านตัวอักษร เมื่อเทคโนโลยีการพิมพ์เจริญมากขึ้น จึงส่งผลต่อการสร้างตัวอักษร ในขณะเดียวกัน ตัวอักษรนั้นก็อาจมีการปรับเปลี่ยนเพื่อเอื้อต่อการพิมพ์ด้วยเช่นกัน  การพิมพ์มีส่วนช่วยให้ความรู้แพร่กระจายเป็นวงกว้างมากขึ้น และช่วยยกระดับความสามารถในการอ่านออกเขียนได้ของผู้คนขึ้นด้วย ในสังคมยุคดิจิทัล การสื่อสารในระบบดิจิทัลเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้อักษรโรมันมากขึ้น จะเห็นได้จากการตั้งชื่อบัญชีผู้ใช้และรหัสผ่านส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้พยัญชนะ a-z การใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์ภาษาจีนในปัจจุบัน มีรูปแบบการพิมพ์จากระบบสัทอักษรพินอิน ยิ่งโปรแกรมการพิมพ์ที่มีการพัฒนาไปมากขึ้น เพียงแค่พิมพ์พยัญชนะต้นของคำที่เราต้องการ ตัวอักษรที่ใกล้เคียงก็จะปรากฏขึ้นมาบนหน้าจอให้เราเลือก ตัวอักษรจีนที่อยู่บนหน้าจอก็ขึ้นอยู่กับการตั้งค่า (Settings) ของเราว่าจะเลือกเป็นอักษรจีนตัวเต็มหรืออักษรจีนตัวย่อ ทำให้การพิมพ์อักษรจีนตัวเต็ม/ตัวย่อใช้เวลาไม่ต่างกันเลย ผิดกับการเขียนอักษรจีนตัวเต็มที่อาจจะใช้เวลาในการเขียนมากกว่า ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งเป็นยุคโลกาภิวัตน์ เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อินเทอร์เน็ตและเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น ไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร ซึ่งมีส่วนทำให้การใช้ภาษาของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงไป และเพราะโลกอินเทอร์เน็ตกว้างขวางและรวดเร็วเกินกว่าที่รัฐจะเข้ามาจัดระเบียบทางภาษาได้ทันที ทำให้เกิดการสร้างสรรค์ภาษาในอินเทอร์เน็ต ซึ่งต่างจากที่รัฐกำหนด ในประเทศจีน รัฐบาลจีนได้เข้าควบคุมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเข้มงวด มีการจับตาการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างใกล้ชิดผ่านโปรแกรมกรองคำ ดังนั้น กลุ่มผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีนจึงต้องสร้าง “รหัส” ใหม่เพื่อใช้แทนคำที่ถูกจับตาตรวจสอบโดยรัฐ เช่น การใช้อักษรโรมัน 2 ตัว คือ zf “zhengfu” เจิ้งฝู่ (政府 แปลว่ารัฐบาล) zg “Zhong gong” (中共 พรรคคอมมิวนิสต์จีน) เมื่อต้องการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลโดยไม่ให้ถูกตรวจจับด้วยโปรแกรมกรองคำของรัฐ ขณะเดียวกัน เมื่อผู้ใช้เครือข่ายออนไลน์ไม่ต้องการพิมพ์ยาว ๆ ก็สามารถใช้อักษรย่อมาเป็นสัญลักษณ์แทนความหมายของคำนั้น ๆ เช่น gf ย่อมาจาก girlfriend แฟนสาว bf ย่อมาจาก boyfriend แฟนหนุ่ม dbq ย่อมาจาก dui bu qi ขอโทษ 对不起   จะเห็นได้ว่า การด่าทอกันในโลกออนไลน์ก็ใช้วิธีการเดียวกันในการสร้างคำเพื่อหลีกเลี่ยงโปรแกรมกรองคำหยาบ ดังนั้น nmsl จึงเป็นรหัสของคำว่า Ni Ma Si Le หนี่มาสื่อเลอะ 你妈死了แปลเอามันส์ก็คือ แม่...ตาย นั่นเอง ป.ล. ยังมีคำด่าอีกมากมายที่รอให้ชาวเน็ตไทยถอดรหัสอีกนับไม่ถ้วน เช่น sb, gck, qs   เรื่อง: มาดามศรี