สำรวจภูมิภาคใต้ลึก ผ่านนิทรรศการศิลปะ Deep South: ลึกลงไป ใต้ชายแดน

สำรวจภูมิภาคใต้ลึก ผ่านนิทรรศการศิลปะ Deep South: ลึกลงไป ใต้ชายแดน
Deep South หรือใต้ลึก เป็นคำที่ถูกใช้เรียกภูมิภาคใต้สุดของประเทศไทย จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนในจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย การได้รับการขนานนามว่าใต้ลึก เป็นเพราะพื้นที่ดังกล่าวห่างไกลจากเมืองหลวงของประเทศกว่าพันกิโลเมตร ผู้คนในประเทศจำนวนไม่น้อย ไม่เคย และไม่กล้าที่จะเดินทางลงมายังพื้นที่ต้องคำสาปแห่งนี้ เพราะนอกจากอยู่ห่างไกลแล้ว ยังเป็นที่โจษจันในเรื่องเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบ ที่คุกรุ่นมาเกือบยี่สิบปี และไม่มีทีท่าว่าจะดับมอด ประกอบกับวัฒนธรรมและศาสนาที่แตกต่างจากศาสนาหลักประจำประเทศ พื้นที่แห่งนี้จึงยิ่งถูกผลิตซ้ำความเป็นชายขอบ สร้างความบอบช้ำซ้ำเติมให้ผู้คนในพื้นที่เสมอมา แต่ขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะเยียวยารักษาตนเองด้วยความแข็งแกร่งทางอัตลักษณ์ของวัฒนธรรม ที่โต้กลับการถูกผลักไสออกไปให้เป็นพื้นที่ใต้ลึกนี้ นิทรรศการ Deep South: ลึกลงไป ใต้ชายแดน จะพาผู้ชมเข้าไปสำรวจภูมิภาคใต้ลึกนี้ ว่าภายใต้ความลึกที่อยู่ใต้สุดของประเทศ มีสิ่งใดซ่อนเร้นอยู่ ด้วยการเผยให้เห็นผ่านผลงานของศิลปิน 7 คนจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ พิเชษฐ์ เปียร์กลิ่น, เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ, มูฮัมหมัดซูรียี มะซู, มูฮัมหมัดตอฮา หะยียูโซ๊ะ, กรกฎ สังข์น้อย, อิซูวัน ชาลี และ วันมุฮัยมีน อีแตลา ที่ต่างสะท้อนประสบการณ์ของศิลปิน วิถีชีวิต สังคม การเมืองและการต่อสู้ ในเบื้องลึกลงไปภายใต้พื้นที่ชายแดน จนเราอาจพบว่าจิตใจของมนุษย์ต่างหาก ที่ลึกกว่าดินแดนที่อยู่ลึกและห่างไกลทั้งหมดทั้งปวง... สำรวจภูมิภาคใต้ลึก ผ่านนิทรรศการศิลปะ Deep South: ลึกลงไป ใต้ชายแดน Korakot Sangnoy ชื่องาน Under 2021 200x150 cm (1 piece) หมึกจีน,สีอะคริลิค,ทองคำเปลว บนผ้าใบ 42x29.5 cm (26 piece) หมึกจีน,สีอะคริลิค,ทองคำเปลว บนกระดาษ Concept: “หลายคนสยบยอมอยู่ภายใต้อำนาจของบางสิ่ง ที่ครอบงำชีวิต ครอบงำความคิดและความเชื่อ ด้วยการจัดการ ควบคุม ขจัดผู้คนอีกจำนวนมากที่ลุกขึ้นตั้งคำถาม ให้ยากต่อการเข้าถึงความจริง ด้วยการบังคับใช้กฎเกณฑ์ กลอุบายภายใต้อำนาจ กระทำการต่อชีวิต และจิตใจผู้คนที่คิดเห็นต่าง เพื่อรักษาอำนาจนั้นไว้ให้ดำรงอยู่เป็นรูปธรรมขึ้นมาจากความเป็นมายาคติ”   Muhammadtoha hajiyusof ชื่อผลงานมลายู...ไม่นิยม ขนาด.      90 x 190 cm. เทคนิค.     สีอะคริลิก, ปากกาดำบนผ้าใบ แนวความคิด ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมเทคโนโลยีไปอย่างรวดเร็วฉับพลัน อิทธิพลของสื่อโซเชียลมีเดียครอบงำผู้คน ทำให้กระแสนิยม (pop culture) เผยแพร่ทั่วโลกสอดคล้องกับการใช้เทคนิควิธีการในผลงานจิตรกรรมชิ้นนี้การลากเส้นแบบ Manual กับการคำนวนเส้นโครงสร้างแบบ Digital เจาะทะลุรูปปั้นเดวิดใส่ผ้าโสร่งและวีนัสใส่ผ้าปาเต๊ะทำให้เกิดคำถามต่อออแรนายู (คนมลายู) สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ข้าพเจ้าอยู่กับการแทรกซึมของวัฒนธรรมกระแสนิยม ผ้าโสร่งและปาเต๊ะคือภาพจำของผู้คนที่นอกเหนือไปจากความรุนแรง หากใคร่ครวญที่จะรู้ มองเบื้องลึกลงไปในรากทางวัฒนธรรม ศาสนา ความเชื่อและสังคม จะพบว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นเพียงสิ่งฉาบฉวยจากสื่อในหระแสสังคมและภาพซ้ำอันเป็นเครื่องมือของอุตสาหกรรมความมั่นคงเท่านั้นเอง   Muhammadsuriyee Masu ชื่อผลงาน: ความเจ็บปวด ที่ปาตานี เทคนิค: วัสดุผสม ขนาด: ผันแปรตามพื้นที่ แนวความคิด ข้าพเจ้าสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสะท้อนถึงความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่โดยมีกฎหมายพิเศษ พรก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก กฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือสงบลง แต่กลับมีผู้คนมากมายถูกควบคุมตัวด้วยคดีความมั่นคงเพิ่มขึ้น เกิดการถูกซ้อมทรมาน เพื่อค้นหาข้อเท็จจริง ทำให้มีความรู้สึกโดนกดทับ กีดกั้น กดขี่ เกิดความหวาดกลัวในการดำเนินชีวิต  ดังนั้นสิ่งเหล่านี้เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานโดยนำเสนอเนื้อหาผ่านนกเขาและนกเขาใหญ่เป็นนกที่อพยพมาจากเกาะชวาโดยส่วนมาก นกเป็นสัญลักษณ์แทนค่าผู้คนในพื้นที่ และได้หยิบลวดลายที่ปรากฏอยู่ในสถาปัตยกรรมมลายู ลวดลายเหล่านั้นมาสร้างในตัวนกฉลุให้เกิดเป็นลวดลายบนแผ่นหนัง เย็บปัก และพิมพ์ข้อความที่พูดถึงการถูกซ้อมทรมานบนถุงใส สิ่งนี้เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นจริงในการดำเนินชีวิตของคนปาตานี   Wanmuhaimin E-taela ชื่อผลงาน TADIKA ขนาด เปลี่ยนแปลงตามพื้นที่ เทคนิค สื่อผสม “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย”คำร้องขึ้นต้นเพลงชาติไทย ซึ่งเห็นได้ชัดว่ามีที่มาจากนโยบายชาตินิยม อันมุ่งสู่ลัทธิไทยรวมไทย ที่ต้องการรวบรวมชนเชื้อชาติ “ไทย” ในดินแดนต่างๆ เพื่อรวมกันให้เป็นเอกภาพเดียวกัน นโยบายและคตินิยมเหล่านี้ถูกปลูกฝังมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน กลายเป็นชุดความคิดที่แผ่ขยายไปในทุกพื้นที่ รวมถึงสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ซึ่งเป็นดินแดนของชาติพันธุ์ที่แตกต่างหลากหลาย มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภาษาของตนเอง เช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆในประเทศไทย ที่พยายามถูกรวมไว้ให้แสดงออกเพียงแค่อัตลักษณ์เดียว โดยเฉพาะในระบบการศึกษาศาสนาของพื้นที่อย่างโรงเรียนตาดีกา(โรงเรียนสอนศาสนาระดับประถมและโรงเรียนปอเนาะ(โรงเรียนสอนศาสนาระดับมัธยม) ที่ถูกแทรกแซง และปลูกฝังคตินิยม ค่านิยมของความเป็นชาติ เพื่อต้องการผสม กลืน กลาย เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมและชาติพันธุ์อย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐเท่าที่ควร เพลงชาติไทยที่แท้จริง จึงควรขึ้นต้นด้วยคำว่า“ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อหลายเชื้อชาติ”   Jehabdulloh Jehsorhoh ชื่อผลงาน คนสามจังหวัดกับสี่อำเภอ 2022 เทคนิค วัสดุผสม สังกะสี ไม้อัด สีอะครีลิค ขนาด 195x70ซ.ม. 4ชิ้น แนวคิด ภายใต้ความอยุติธรรมย่อมมีความวิปริตของอำนาจและกฎหมาย สร้างผลกระทบมากมายนานับประการต่อผู้คนในสามจังหวัดกับสี่อำเภอของชายแดนใต้ อำนาจอยุติธรรมที่กัดกร่อนผู้คนมาอย่างยาวนานเกือบสองทศวรรษ จนเสมือนสนิมที่กัดกร่อนร่างกายและชีวิตมิให้มีเสรีภาพในการดำเนินชีวิตตามครรลองของวิถีวัฒนธรรมและความเชื่อบนหน้าแผ่นดินปาตานี   Pichet Piaklin ชื่อผลงาน : สันติภาพไม่มีจริง (Unreal Peace) เทคนิค : ไม้,ปลอกกระสุน ขนาด : สูง 300 เซนติเมตร x กว้าง (จัดวางปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ) ปี พ.ศ. : 2565 แนวความคิด เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า สันติภาพไม่มีจริง (Unreal Peace) สันติภาพ จะเกิดขึ้นได้ต้องมีสงคราม เป็นความย้อนแย้งตามความเชื่อของมนุษย์ที่คิดว่าจะสามารถบรรลุถึงสภาวะแห่งสันติภาพได้ด้วยการทำสงคราม  "สงครามเพื่อยุติสงคราม” ในความเป็นจริงมนุษยชาติไม่เคยได้พบสันติภาพที่แท้จริง  สภาพการณ์ที่ปรากฏคือการเบียดเบียน  ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ  และการทำลายล้างที่ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง  สันติภาพในจินตนาการของมนุษย์ จึงเป็นเพียงความคิดฝัน เป็นเพียงการพักรบไว้ชั่วคราวเท่านั้น สันติภาพไม่เคยเกิดขึ้นจริง และตรงกันข้าม สงครามยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ มุมโลก   Esuwan Chali ชื่อผลงาน:รองเท้าแตะ ขนาด:แปรผันตามพื้นที่ เทคนิค: แกะรองเท้า-วีดีโอ แนวความคิด: รูปทรงสัตว์เลื้อยคลาน สัญลักษณ์ของความโชคร้ายตามคติความเชื่อแบบไทย ถูกสลักลงบนรองเท้าแตะที่ผู้คนทั่วไปสวมใส่ กลับค่าของการถูกเหยียบย่ำกดขี่ ให้สัญลักษณ์แทนฝ่ายผู้มีอำนาจเป็นผู้ถูกกระทำ นี่เป็นเพียงความคิดที่คนไร้อำนาจอย่างเรา ทำได้ผ่านการใส่รองเท้าแตะเท่านั้น สำรวจภูมิภาคใต้ลึก ผ่านนิทรรศการศิลปะ Deep South: ลึกลงไป ใต้ชายแดน