#dek64กำลังถูกทิ้ง : ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทยที่ถูกทอดทิ้ง และทอดทิ้งเด็กไทย

#dek64กำลังถูกทิ้ง : ภาพสะท้อนปัญหาการศึกษาไทยที่ถูกทอดทิ้ง และทอดทิ้งเด็กไทย
Hashtag #dek64กำลังถูกทิ้ง กลายเป็นเทรนด์อันดับต้น ๆ บน Twitter (ข้อมูลวันที่ 7 มีนาคม 2564) หลังที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ประกาศยืนยันวันจัดสอบ GATPAT โดยไม่ได้ทำตามข้อเรียกร้องของผู้เข้าสอบจำนวนมากซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ขอให้เลื่อนตารางการสอบออกไป การยืนยันตารางสอบตามเดิมนั้นหมายถึงภาระด้านการเรียนและการสอบของเด็ก ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว จากการเปิดภาคเรียนล่าช้าจากสถานการณ์โควิด-19 การจัดสอบของโรงเรียนที่ต่อเนื่องกับการจัดสอบเข้ามหาวิทยาลัย รวมถึงการเดินทางไปยังสนามสอบบางพื้นที่ที่ยังคงอยู่ในช่วงเฝ้าระวังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้นักเรียนจำนวนมากเกิดความเครียดจากตารางสอบที่อัดแน่นติดกันเป็นเวลานานร่วมเดือน ข้อถกเถียง ปัญหา ตลอดจนความผิดพลาดในการบริหารจัดการระบบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยนี้ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นหรือเป็นปัญหาใหม่ หากลองย้อนดูระบบการคัดเลือกในแต่ละปีที่ผ่านมาก็จะพบว่าเกิดปัญหารูปแบบต่าง ๆ ในรูปแบบคล้าย ๆ กันทุกปี   ในปีที่ผ่านมาการประกาศผลสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาในระบบ TCAS รอบที่ 3 ประจำปี 2563 ที่ผ่านมาในช่วงวันที่ 7-8 พฤษภาคม สร้างความสับสนให้กับนักเรียนไทยจำนวนเกือบ 3 แสนคน (https://www.admissionpremium.com/content/5535) ที่เข้าสมัครเพื่อคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัยในรอบดังกล่าว ผู้สมัครบางคนมีคะแนนไม่ถึงเกณฑ์ แต่กลับมีสิทธิสอบสัมภาษณ์ บางคนสอบติดสองสามคณะพร้อม ๆ กัน ผู้สมัครจำนวนหนึ่งที่มีคะแนนสูงกว่าเพื่อนกลับพลาดโอกาสเรียนต่อในคณะที่หวังไว้อย่างน่าเสียดาย จากปัญหาดังกล่าวทำให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย เจ้าภาพใหญ่ในการจัดการระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยต้องประกาศปิดระบบในช่วงเที่ยงของวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 โดยให้เหตุผลต่อความผิดพลาดครั้งนี้ว่าเป็นการทดลองระบบ ไม่ได้เปิดให้ใช้งานจริงแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่กี่ชั่วโมงทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง อาทิ คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องออกแถลงการณ์กรณีการดึงข้อมูลผิดพลาดทำให้การประกาศผลผิดและมีการเยียวยาผู้สมัครโดยการให้ผู้มีคะแนนสูงกว่าผู้สมัครคนสุดท้ายในรอบดังกล่าวมีสิทธิเข้าเรียนทั้งหมด (https://www.facebook.com/ThammasatAcademic/photos/a.792833724151060/2461900317244384/?type=3&theater) การสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2515 เป็นต้นมาเกิดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ในประเทศไทยรวมตัวกันเพื่อสร้างระบบการคัดเลือกกลางโดยใช้ชื่อว่า ‘ระบบเอนทรานซ์’ ซึ่งเป็นระบบที่ถูกใช้งานยาวนานที่สุดในประเทศไทย คือกว่า 26 ปี  หลังจากนั้นในช่วงปี 2542 ถึงปัจจุบัน ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยถูกเปลี่ยนแปลงไปกว่า 6 รูปแบบในชื่อต่าง ๆ เช่น ระบบ O-NET, A-NET ระบบ Admission หรือระบบ TCAS โดยยังไม่นับรวมการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ปลีกย่อยอื่นที่เกิดขึ้นแทบทุกปี เช่น องค์ประกอบคะแนน สัดส่วนคะแนน รอบการเข้ารับการทดสอบ ตลอดจนเนื้อหารายวิชาต่าง ๆ   ประเด็นการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ถูกเปลี่ยนไปมามีผู้ได้รับผลกระทบในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก ส่งผลกระทบทางตรงต่อนักเรียนที่สมัครเข้ารับคัดเลือกปีละกว่าแสนคน สถาบันอุดมศึกษามากกว่า 300 แห่งในประเทศไทย รวมไปถึงโรงเรียนมัธยมฯ ครู อาจารย์ อีกทั้งยังส่งผลกระทบทางอ้อมต่อบรรดาผู้ปกครองที่รอคอยผลสอบของลูกหลานอย่างมีความหวังในอีกหลายครอบครัว  ในมุมมองของผู้เขียน ปัญหาของระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของไทยสามารถแบ่งออกเป็นสองรูปแบบใหญ่ ๆ ด้วยกัน ได้แก่ ปัญหาทางเทคนิคอันเกิดจากการบริหารจัดการ กับ ปัญหาผลกระทบอันเกิดจากระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ซึ่งนำมาสู่ปัญหาใหญ่คือ ‘ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ปัญหาทางเทคนิคอันเกิดจากการบริหารจัดการเป็นเรื่องเกี่ยวกับประสิทธิภาพการจัดการของหน่วยงานที่รับผิดชอบในขั้นตอนต่าง ๆ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมักเกิดใน 4 รูปแบบด้วยกัน ดังนี้ รูปแบบแรกได้แก่ความผิดพลาดที่ตัวแบบทดสอบ อย่างกรณีข้อสอบวิชา PAT2 ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ ในการจัดสอบครั้งที่ 2/2559 มีความผิดพลาดโดยไม่มีคำตอบที่ถูกต้องอยู่ในตัวเลือก ทำให้ผู้เข้าสอบออกมาทักท้วงจำนวนมาก สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. จึงออกแถลงการณ์ยกประโยชน์ให้ผู้เข้าสอบคิดเป็นคะแนนสอบถึง 6 คะแนน    รูปแบบที่สอง นอกจากความผิดพลาดของแบบทดสอบแล้วยังมีประเด็นเรื่องความคลุมเครือและคุณภาพของข้อสอบ ซึ่งเป็นปัญหารูปแบบที่สี่ เช่น ข้อสอบ ONET วิชาสุขศึกษา ปี พ.ศ. 2555 ถามว่า หากมีอารมณ์ทางเพศจะต้องทำอย่างไร โดยคำตอบที่ถูกต้องคือการไปเตะบอล ซึ่งข้อสอบดังกล่าวกลายเป็นข้อถกเถียงในวงกว้างถึงความสามารถในการวัดความรู้ของแบบทดสอบระดับชาติ      รูปแบบที่สาม ความผิดพลาดเรื่องการประกาศคะแนนคลาดเคลื่อน ในการประกาศผลคะแนน GAT / PAT รอบที่ 2/2555 เกิดปัญหาความคลาดเคลื่อนของคะแนนสอบ ทำให้ต้องมีการประมวลผลซ้ำและประกาศคะแนนใหม่ เช่นเดียวกับการประกาศผลสอบ GAT / PAT รอบปี พ.ศ. 2563 ที่มีคนออกมาท้วงติงว่าจำนวนผู้สอบในวิชา GAT1 และ GAT2 ที่ใช้ข้อสอบชุดเดียวกัน แต่กลับมีจำนวนไม่เท่ากัน ซึ่งเป็นไปไม่ได้ ทำให้ สทศ. ต้องปิดระบบการประกาศ คะแนนในรอบดังกล่าวเพื่อตรวจเช็กความถูกต้องใหม่อีกครั้ง      รูปแบบสุดท้ายเป็นปัญหากวนใจผู้คนจำนวนมาก คือปัญหาการขัดข้องทางเทคนิคในช่วงเวลาสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นระบบล่มในขณะเปิดรับสมัคร ระบบล่มในการประกาศคะแนน ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนหลายคนสงสัยว่าเหตุใดหน่วยงานที่รับผิดชอบจึงไม่ปรับปรุงระบบให้มีประสิทธิภาพเสียที   ปัญหาเชิงเทคนิคและการบริหารจัดการระบบดังกล่าวนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเกิดการตั้งคำถามว่า การจัดการทดสอบระดับชาติเป็นหน้าที่หลักเพียงหน้าที่เดียวของสำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติหรือ สทศ. เหตุใดหน่วยงานที่ตั้งมาเพื่อปฏิบัติภารกิจนี้โดยเฉพาะถึงได้ล้มเหลวในการปฏิบัติหน้าที่เพียงอย่างเดียวของตัวเอง?     ปัญหาที่ใหญ่กว่าปัญหาเชิงเทคนิคข้างต้น คือปัญหาที่ก่อตัวขึ้นภายใต้ความพยายามในการพัฒนาระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในแต่ละปี ส่งผลกระทบต่อสังคมและกระทบต่อระบบการศึกษาไทยในภาพรวมอย่างใหญ่หลวง ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า “เหตุใดระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในไทยจึงขาดเสถียรภาพ?”  หากพิจารณาปัญหาของวิธีการรับสมัครคัดเลือกบุคคลเข้าสู่มหาวิทยาลัยไทย จากระบบเอนทรานซ์มาสู่ระบบ TCAS ใน ปัจจุบันจะพบว่าหน้าตาของปัญหาที่ถูกนำมาเป็นข้ออ้างในการเปลี่ยนแปลงระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยมีอยู่ไม่กี่ประการ โดยแต่ละปัญหาสะท้อนภาพให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นในทุกมิติ ปัญหาจำนวนครั้งการสอบที่มากเกินไป ด้วยระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยหลังปี 2542 ถูกทำให้ซับซ้อน การสอบเพื่อได้มาซึ่งคะแนนที่จำเป็นต่อการยื่นพิจารณาเข้ามหาวิทยาลัยจึงมีความซับซ้อนและมีประเภทที่หลากหลายตามไปด้วย และที่สำคัญคือ การสมัครสอบในแต่ละครั้งแต่ละวิชาหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นที่นักเรียนและผู้ปกครองจะต้องแบกรับ และเมื่อระบบสร้างมาเช่นนี้ เด็กนักเรียนจึงมีความจำเป็นที่จะต้องหาตัวช่วยให้สามารถเข้าถึงเนื้อหาการสอบได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพ นำไปสู่ปัญหาใหม่คือการเกิดขึ้นและขยายตัวอย่างรวดเร็วของโรงเรียนกวดวิชา  ระบบการสอบที่สลับซับซ้อนบีบให้ผู้สอบจำนวนมากหันหน้าไปพึ่งพาโรงเรียนดังกล่าวที่มีค่าใช้จ่ายตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสน ความจำเป็นในการกวดวิชาเพิ่มขึ้น ในบางวิชาที่จัดสอบเพื่อใช้เป็นคะแนนในการเข้ามหาวิทยาลัยนั้นไม่มีการเรียนการสอนในหลักสูตรมัธยมฯ ปลาย เช่น การสอบ GAT วิชาความสามารถในการอ่าน การเขียน การคิดเชิงวิเคราะห์ และการแก้โจทย์ปัญหาหรือที่เรียกกันในหมู่ผู้สอบว่า วิชา GAT เชื่อมโยง โดยเนื้อหาเป็นการสอบวัดความรู้ทั่วไปจากการอ่านและวิเคราะห์ แต่ในเชิงรูปแบบ การจะทำข้อสอบ GAT ให้ได้ทันเวลาและมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องเรียนรู้เทคนิคและวิธีการอย่างเป็นระบบ การเรียนพิเศษวิชา GAT เชื่อมโยงนี้จึงกลายเป็นความจำเป็นรูปแบบใหม่ของนักเรียนทั่วประเทศ  จากปัญหาที่กล่าวไปเบื้องต้น ผู้อ่านสามารถเห็นภาพความเหลื่อมล้ำอย่างคร่าว ๆ ว่าเป็นปัจจัยเบื้องต้นที่ชี้ชะตาว่าเด็กนักเรียนคนหนึ่งจะสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้หรือไม่ก็คือ ‘เงิน’ ถึงแม้เงินอาจไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่ก็เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญมากพอที่จะทำให้เด็กจากครอบครัวที่ร่ำรวยและเด็กจากครอบครัวที่ยากจน มีโอกาสที่จะเข้ามหาวิทยาลัยต่างกัน และเงินอาจไม่สามารถซื้อที่นั่งในมหาวิทยาลัยได้ในความเป็นจริง แต่ระบบนี้ทำให้เห็นว่าเงินสามารถใช้เพิ่มโอกาสในการเข้ามหาวิทยาลัยได้ อีกปัญหาหนึ่งซึ่งเป็นข้อถกเถียงมาอย่างยาวนานคือ การนำผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาเข้ามาเป็นสัดส่วนในการคำนวณคะแนนเพื่อยื่นเข้ามหาวิทยาลัย นักเรียนจากหลายโรงเรียนออกมาประท้วงกฎเกณฑ์ในข้อดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า มาตรฐานการเรียนการสอนในแต่ละโรงเรียนทั่วประเทศนั้นแตกต่างกันในรายละเอียด ตัวอย่างเช่นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพมหานคร ที่มีการแข่งขันสูง การจะได้มาซึ่งเกรดเฉลี่ยที่สูงย่อมมีความยากลำบากกว่าโรงเรียนขนาดเล็กตามต่างจังหวัด ซึ่งมีการแข่งขันต่ำ กรณีนี้จะเห็นภาพความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในอีกมิติหนึ่งคือความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ เด็กนักเรียนในเมืองเองที่ดูราวกับว่าจะได้เปรียบในทุกทาง แต่พวกเขากลับมองว่าตัวเองเป็นผู้เสียเปรียบกว่านักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็ก นอกจากนั้นยังทำให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงคุณภาพการศึกษาอีกด้วย ขณะเดียวกัน เสียงจากนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทก็สะท้อนมาว่า พวกเขามีโอกาสในการเข้าถึงสถาบันอุดมศึกษาน้อยกว่านักเรียนจากโรงเรียนใหญ่ในเมือง โดยมีเหตุผลว่า การสอบบางประเภทไม่ได้จัดสนามสอบในทุกพื้นที่ ทำให้นักเรียนในพื้นที่ห่างไกลจำเป็นต้องเดินทางมาสอบในเมือง หรือเดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้พวกเขา และยังไม่เท่าเทียมกับนักเรียนในเมืองอีกด้วย ทั้งนี้ยังมีปัญหาอื่นอีกนับไม่ถ้วน เช่นปัญหาภาระงานของครูผู้สอนในระดับมัธยมฯ ปลายที่เพิ่มขึ้น ปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียนและผู้ปกครอง ปัญหาของมหาวิทยาลัยที่ได้นักศึกษาไม่ตรงความต้องการ และไม่ตรงกับเนื้อหาของสาขานั้น ๆ สุดท้ายแล้วปัญหาทั้งหมดจากระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยนี้กลายมาเป็นปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทยทั้งระบบ ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของประเทศไทยกลายเป็นภาพสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ซ่อนอยู่ใต้พรมมายาวนาน นำไปสู่การตั้งคำถามต่อหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการออกนโยบายการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยที่ก่อให้เกิดความซับซ้อนตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า การเปลี่ยนแปลงรูปแบบและการตัดสินใจด้านนโยบายการสอบเข้ามหาวิทยาลัยแต่ละครั้งวางอยู่บนฐานคิดแบบใด? ฐานคิดเหล่านั้นได้ยึดเอาผลประโยชน์ของนักเรียนจำนวนหลายแสนคนเป็นที่ตั้งหรือไม่? หรือนักเรียนไทยเหล่านี้และรุ่นต่อไปจะต้องเป็นผู้รับผลของการกระทำของผู้ใหญ่เรื่อยไปอย่างไร้ทางเลือก?   ที่มา: Kitcharern, N. (2019). Reality and Rhetoric of Changes in Thailand’s University Admission Policy, 1999-2017. Journal of Social Sciences Naresuan University, 15(1), 15_117-138. Retrieved from https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jssnu/article/view/201352  https://www.matichon.co.th/education/news_125076   เรื่อง: ณิชภัทร์ กิจเจริญ สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช [email protected]