พรรคประชาธิปัตย์ พระเจ้าตากโมเดล รอระบอบเก่าล่ม แล้วยกทัพหนี? 

พรรคประชาธิปัตย์ พระเจ้าตากโมเดล รอระบอบเก่าล่ม แล้วยกทัพหนี? 
หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งปี 2562 แบบเละเทะ พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้มีการปรับทัพใหญ่ และได้เลือก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค พร้อมประกาศยก “พระเจ้าตากโมเดล” เป็นแนวทางในการนำพรรคกลับมาสู่ความสำเร็จอีกครั้ง ขณะเดียวกันก็ชี้ว่า การร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐที่ชู พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร เป็นนายกฯ อีกสมัยถือเป็นความจำเป็น พูดอย่างนี้หรือ จุรินทร์ จะเปรียบรัฐบาลประยุทธ์ชุดใหม่เป็นเหมือนรัฐบาลของพระเจ้าเอกทัศแห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ที่อ่อนแอ ง่อนแง่นจากการแย่งชิงอำนาจ จนนำไปสู่การล่มสลายของราชอาณาจักรอยุธยา? หากเป็นเช่นนั้น ส่วนที่เปรียบแล้วตรงกันก็มีหลายเรื่อง และที่ไม่ตรงก็หลายส่วนซึ่งน่าชวนให้คิด อย่างเช่น เรื่องของ “ขนาด” พรรคประชาธิปัตย์แม้จะแพ้เลือกตั้งหนัก คะแนนเสียงหายไปกว่าครึ่ง แต่ในสมัยอยุธยา พระยาตากถือเป็นเจ้าเมืองระดับเล็กมาก ขนาดที่จะหาชื่อเมืองในเอกสารราชการปลายอยุธยายังหาได้ลำบาก ถ้าจะพูดถึงเรื่องขุมกำลังและผู้ให้การสนับสนุนแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ยังถือว่า “เป็นต่อ” พระยาตากอยู่หลายช่วงตัวนัก ขณะเดียวกัน ด้วยความที่พระยาตากมีความ “underdog” (หรือมีสถานะเป็นรอง) เป็นอย่างมากนี่เองจึงยิ่งทำให้วีรกรรมถูกขับให้โดดเด่น ความมุ่งมั่นของท่าน (ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดเสียมิได้เลยในเวลานั้น) ถูกยกเป็นแบบอย่างครั้งแล้วครั้งเล่า แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกันที่ทำให้พระยาตากประสบความสำเร็จก็คือสถานการณ์เฉพาะ ที่เกิดขึ้น ณ เวลานั้น ซึ่งเป็นภาวะที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ เรียกว่า “ช่วงว่างขนบ” (interregnum) หรือระยะเวลาที่บ้านเมืองเกิดจลาจล จนเรียกได้ว่าว่างแผ่นดิน ว่างระเบียบ และขาดจากความสืบเนื่องที่มีมาก่อน (ว่างแผ่นดิน ประวัติศาสตร์เปรียบเทียบ “กรุงแตก” ในสามราชอาณาจักร) ตามคำอธิบายของ นิธิ ช่วงว่างระเบียบในยุคกรุงแตกได้เกิดขึ้นบนแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศตั้งแต่ก่อนที่กำแพงเมืองกรุงศรีฯ จะถูกกองทัพพม่าตีแตกเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปี ซึ่งเป็นระยะที่รัฐบาลกลางไม่สามารถระดมไพร่เข้ากองทัพให้มากพอที่จะต่อสู้กับพม่า ข้าวปลาอาหารที่สะสมไว้ในอยุธยาร่อยหรอจนเกิดความอดอยาก และปล้นสดมกัน ทัพหัวเมืองที่เรียกเกณฑ์มาได้ก็ทยอยยกกลับ (ขอลาไปงานศพแม่ก็มี) อำนาจปกครองของอยุธยาจึงเหลืออยู่แค่ภายในเขตกำแพงเมือง ประชาชนนอกเขตบ้างก็ตั้งตนเป็น “ซ่อง” (โจร) ออกปล้นสะดมหาอาหาร ขณะที่บางส่วนก็รวมตัวกันเพื่อป้องกันตนเองจากกลุ่มอื่น และเมื่อกรุงแตก ชนชั้นนำในอยุธยาก็ถูกกวาดต้อนไปเกือบหมด เจ้านายหรือขุนนางที่เหลืออยู่ก็มีเพียงน้อย ทำให้เครือข่ายของชนชั้นนำของอยุธยาล่มสลายลง  ฝ่ายพระยาตากนั้น เมืองตากถือเป็นด่านแรกที่ทัพของเนเมียวสีหบดียกเข้าตี เมื่อตากแตก กำแพงเพชร นครสวรรค์ก็ยอมแพ้แก่กองทัพพม่าแต่โดยดี ตัวพระยาตากเองก็ได้เข้ามาประจำการอยู่ในกรุงช่วยรักษาอำนาจรัฐบาลของพระเจ้าเอกทัศเอาไว้ แต่พระยาตากก็คงเห็นแล้วว่า รัฐบาลของพระเจ้าเอกทัศคงอยู่ได้อีกไม่นาน จึงสงวนกำลังของตนเอง ดังหลักฐานปรากฏในพระราชพงศาวดารที่กล่าวว่า เมื่อเดือน 12 ปีจออัฐศก (พ.ศ. 2309) รัฐบาลในพระเจ้าเอกทัศสั่งให้ พระยาตาก พระยาเพชรบุรี หลวงศรเสนี อยู่ไปตั้งค่ายอยู่วัดใหญ่ เพื่อคอยสกัดตีเรือรบพม่า เมื่อทัพพม่ายกมา พระยาเพชรบุรียกออกตีก็ถูกพม่าฆ่าตายเรียบ ขณะที่พระยาตาก และหลวงศรเสนีถอยทัพคอยสังเกตการณ์อยู่เท่านั้นหาได้ช่วยรบด้วยไม่ ทำให้พระยาตากอยู่รอดปลอดภัย ก่อนยกทัพหนีตีจากรัฐบาลของพระเจ้าเอกทัศที่ใกล้ถึงจุดจบออกมาได้ พรรคประชาธิปัตย์ของจุรินทร์ที่เข้าไปซบอกพรรคพลังประชารัฐ อาจมองว่าตนเหมือนทัพพระเจ้าตากที่มีกำลังเพียงหยิบมือ จึงต้องเข้ามาพึ่งกองกำลังที่ใหญ่กว่าอย่างพลังประชารัฐ โดยพร้อมจะให้ความร่วมมือแต่ก็อย่างจำกัด เพื่อรักษาเนื้อรักษาตัวให้รอดเอาไว้ก่อน และในขณะเดียวกันก็พร้อมจะตีจากได้เสมอหากเห็นว่ารัฐนาวาที่ตนเข้ามาพึ่งบารมีเห็นทีจะไปไม่รอด แต่ศัตรูของกรุงศรีฯ และพระยาตากแตกต่างจากศัตรู หรือภัยคุกคามที่ประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐต้องเผชิญ ในขณะที่พระยาตากต้องรบกับพม่า หรือหัวหน้าก๊กอื่น ประชาธิปัตย์ต้องต่อสู้ด้วยไอเดียว่าจะดึงเสียงประชาชนให้กลับมาเลือกตัวเองอีกครั้งได้อย่างไร?  จะก้าวหน้ามากเกินไปก็เหมือนทิ้งแม่ยกเก่า (ซึ่งหลายคนใช้โปรย้ายค่ายกันไปแล้ว) แถมจะแข่งกับพรรคอย่างอนาคตใหม่ ก็มีชนักปักหลังกับการที่เคยสนับสนุนการรัฐประหารมาก่อน และยังคงมีส่วนร่วมกับการสืบทอดอำนาจต่อไป ครั้นจะขายความอนุรักษนิยมและอำนาจนิยม ก็เห็นจะแข่งกับตัวแทนขนานแท้อย่างพลังประชารัฐยังไม่ได้  และภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน โอกาสที่จะเกิด “ช่วงว่างขนบ” เหมือนสมัยปลายอยุธยาก็คงเป็นไปได้ยาก เพราะความแตกแยกของพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง 2562 สุดท้ายอาจลงเอยด้วยการเลือกตั้งใหม่ มากกว่าการทำรัฐประหารตัวเอง (แต่ก็ไม่แน่ เหมือนจอมพลถนอม กิตติขจร แห่งพรรคสหประชาไทย ที่ชนะเลือกตั้ง แต่ได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งจึงต้องตั้งรัฐบาลผสมซึ่งขาดเสถียรภาพสุดท้ายก็ทำรัฐประหารซ้อน)  เพราะไม่ว่าอย่างไรด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ พลังประชารัฐก็เป็นต่อทุกพรรคเพราะมีสมาชิกวุฒิสภาอยู่ในมือถึง 250 เสียง ทุกพรรคที่ยัง “พอใจ” กับกติกานี้ยังไงก็ต้องฟังเงื่อนไขในการร่วมรัฐบาลจากพรรคพลังประชารัฐ หรือโอกาสที่พลังประชารัฐจะถูกยุบพรรคจนอำนาจขาดช่วงก็เกิดขึ้นได้ยาก (เพราะเขาไม่ได้มากับรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่มาพร้อมด้วยการวางรากฐานด้านบุคลากรประจำองค์กร “อิสระ” [?] ต่าง ๆ ด้วย) พระเจ้าตากโมเดลของประชาธิปัตย์จึงดูยากที่จะประสบความสำเร็จได้ เพราะขาดเงื่อนไขด้านสถานการณ์ซึ่งจะทำให้ผู้ที่อยู่ในสถานะด้อยกว่าพลิกกลับขึ้นมามีอำนาจได้อีกครั้ง เว้นแต่พรรคการเมืองส่วนใหญ่จะเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปต่อไม่ได้ ร่วมกันตีจากรัฐบาลพลังประชารัฐ (เหมือนพระยาตากทิ้งกรุงศรีฯ ?) แล้วร่วมกันสร้างกติกาใหม่ที่เป็นธรรม (ที่เสียงของคนทุกคนเท่ากัน) ประชาธิปัตย์หรือพรรคอื่น ๆ ถึงจะมีโอกาสได้แข่งขันอย่างเท่าเทียม ไม่เช่นนั้นประเทศไทยก็อาจมีนายกฯ ชื่อ “ประยุทธ์” ต่อไป ตราบนานเท่านาน