ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ: นักแสดงและพิธีกรสาวผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ‘เราต้องรอด’ เพจอาสาจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19 

ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ: นักแสดงและพิธีกรสาวผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ‘เราต้องรอด’ เพจอาสาจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19 
“เราเจอทุกวัน คนตายทุกวัน มันเริ่มชินชา เริ่มปลง เราทำเต็มที่ แต่เราต้องไม่ชิน การตายของคน...ต้องไม่ชิน” ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเธอ หลังเปิดเพจ ‘เราต้องรอด’ เพื่อช่วยจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งหลายคนน่าจะได้เห็นคลิปสุดสะเทือนใจที่ได๋กำลังพูดคุยกับหญิงชราที่กำลังรอรถฉุกเฉินไปรับ จนกระทั่งสิ้นลมหายใจจากการติดเชื้อโควิด-19 ภาพเหตุการณ์นี้บีบหัวใจทั้งผู้ชมคลิป รวมทั้งได๋-ไดอาน่าที่กลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ แต่ต้องก้าวต่อไป เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่ยังเฝ้ารอการรักษาในโรงพยาบาล และนี่คือเรื่องราวของ ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ หนึ่งในคนที่ก้าวมาเป็นกระบอกเสียงและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ในช่วงวิกฤตโควิด-19    จากทูตผู้ลี้ภัยสู่ผู้ก่อตั้งเพจ เราต้องรอด  ได๋-ไดอาน่า เข้าวงการเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2538 เริ่มจากการรับบทนางเอกมิวสิกวิดีโอเพลงของมอส-ปฏิภาณ ปฐวีกานต์ ก่อนจะฝากผลงานหลากหลาย ทั้งละคร ภาพยนตร์ พิธีกร โฆษณา ไปจนถึงนักพากย์เสียง  แต่นอกเหนือจากบทบาทเหล่านี้ เธอยังได้รับการแต่งตั้งจากสำนักงานคณะกรรมการเพื่อผู้ลี้ภัยและผู้อพยพแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ U.S. Committee for Refugees and Immigrants (USCRI) ให้เป็น ‘ทูตผู้ลี้ภัยคนแรกของประเทศไทย’ ในปี พ.ศ. 2552 เพื่อทำหน้าที่ให้ความรู้และเป็นกระบอกเสียงเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ต่อมาในช่วงที่เกิดปัญหาฝุ่น PM 2.5 เมื่อปี พ.ศ. 2562 เธอเองก็เป็นหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบด้านร่างกาย จึงตัดสินใจเปิดเพจที่ชื่อว่า ‘Weneedfreshair’ เพื่อเป็นช่องทางสำหรับอัปเดตข่าวสาร และรับบริจาคหน้ากากป้องกันฝุ่น PM2.5 หรือเครื่องกรองอากาศ สำหรับผู้ที่ต้องการแต่ไม่มีกำลังซื้อ จนกระทั่งเดือนเมษายน พ.ศ. 2564 เชื้อโควิด-19 ได้กลับมาระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้ง ในช่วงเวลานั้น มีคนส่งข้อความเข้ามาหา ‘จ๊ะ-นงผณี มหาดไทย’ เพื่อขอความช่วยเหลือเรื่องการจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19 หลังจากนั้นยังคงมีคนทยอยส่งข้อความเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ จ๊ะและได๋จึงตัดสินใจเปิดเพจ ‘เราต้องรอด’ ขึ้น เพื่อหาเตียงให้กับผู้ป่วยโควิด-19 รวมทั้งรับบริจาคเฉพาะสิ่งของจำเป็นอย่างชุด PPE และหน้ากากอนามัย เวลาผ่านไปเพียง 2 วัน มีผู้ติดต่อเข้ามาถึง 30 เคส ทำให้ทีมงานเดิมที่มีอยู่เพียง 4 คน เริ่มขยับขยายอย่างรวดเร็ว โดยมีอาสาสมัครอย่าง นิหน่า-สุฐิตา ปัญญายงค์, หมอแล็บแพนด้า, Drama-addict,  ตัน ภาสกรนที รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนหลายแห่งเข้ามาเป็นจิ๊กซอว์ส่วนสำคัญในโปรเจกต์นี้ ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ: นักแสดงและพิธีกรสาวผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ‘เราต้องรอด’ เพจอาสาจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19  เมื่อโควิดสะท้อนความเหลื่อมล้ำ กระบวนการทำงานของ ‘เราต้องรอด’ เริ่มจากการรวบรวมเคสจากในอินบ็อกซ์ มาประสานงานให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบกลางโดยเร็วที่สุด เพื่อให้ได้รับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งระหว่างนั้นจะมีอาสาสมัคร คือบุคลากรทางการแพทย์เข้ามาช่วยประเมินอาการผ่านทาง Line Official ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงในระดับใด หากมีความเสี่ยงสูง จะมีทีมงานเข้าไปส่งเครื่องผลิตออกซิเจนและดูแลเบื้องต้นระหว่างรอรับการรักษา “ช่วงแรก ๆ ที่เข้ามาทำตรงนี้ สารภาพว่าไม่รู้เรื่องอะไรเลย มีแค่ใจอย่างเดียวว่าอยากช่วยคน แต่พอเราเข้ามาทำตรงนี้อย่างเต็มตัว มันทำให้เราเข้าใจว่าจริง ๆ แล้วทุกอย่างมีระบบของมัน “เราต้องตั้งสติ แล้วต้องเช็กว่าสิทธิของตัวเอง สิทธิของคนรอบตัวในครอบครัวอยู่ตรงไหน เป็นข้าราชการหรือไม่ มีประกันสังคมหรือเปล่า โรงพยาบาลที่เป็นสิทธิของเราอยู่ที่ไหน คือเช็กสิทธิของตัวเอง เพราะทุกคนที่เป็นประชาชนคนไทย มีสิทธิที่จะเข้ารับการรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับโควิด-19” (จากรายการ ต้มยำอมรินทร์ ออกอากาศวันที่ 2 กรกฎาคม 2564) ได๋เล่าว่าโดยเฉลี่ยจะมีคนส่งอินบ็อกซ์เข้ามาทางเพจนาทีละ 4 เคส มีเว้นระยะเพียงช่วงสั้น ๆ ในแต่ละวัน ส่วนผู้ป่วยที่ติดต่อเข้ามามีตั้งแต่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เป็นนักร้องกลางคืน เมื่อสถานบันเทิงถูกปิดทำให้รายได้ลดลงจนเหลือเงินเพียง 100-200 บาทติดกระเป๋า แต่ต้องดูแลลูกอายุ 8 ขวบ ซึ่งเหลือเพียงน้ำกับขนมเล็กน้อยเพื่อประทังชีวิต บางเคสผู้ป่วยเป็นคุณยายที่ถูกทิ้งไว้ในบ้านเพียงลำพัง หรืออย่างชุมชนมัสยิดมหานาค ที่ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อสะสมหลักร้อยทั้งผู้ใหญ่ไปจนถึงเด็กเล็กอายุ 3-6 เดือน ซึ่งยังมีผู้ป่วยตกค้างที่รอการรักษาอยู่จำนวนมาก  “ช่วงแรก ๆ มันจะรู้สึกหดหู่ แต่ช่วงหลัง ๆ มันจะเป็นแบบน้ำตาไหลปุ๊บ ปาดน้ำตา เคสต่อไป ๆ มันเหมือนเป็นการฝึกจิตเราอย่างหนึ่ง ให้เรารู้วิธีการปลงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น แต่อย่างหนึ่งที่ไม่ปลงคือความเหลื่อมล้ำในบ้านเราที่มันมีเยอะมากจริง ๆ” (จากรายการ ต้มยำอมรินทร์ ออกอากาศวันที่ 2 กรกฎาคม 2564) ได๋-ไดอาน่า จงจินตนาการ: นักแสดงและพิธีกรสาวผู้ร่วมก่อตั้งเพจ ‘เราต้องรอด’ เพจอาสาจัดหาเตียงให้ผู้ป่วยโควิด-19  จากปัญหา Home Isolation สู่การก่อตั้งศูนย์พักคอย แม้หนทางหนึ่งที่หลายประเทศใช้รับมือกับการมีผู้ป่วยโควิด-19 จำนวนมากคือการกักตัวรักษาอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation แต่สำหรับประเทศไทย ‘บ้าน’ ของแต่ละคนมีข้อจำกัดที่แตกต่างกันออกไป บางครอบครัวอาจมีบ้านหลังใหญ่ที่สามารถแยกห้องกักตัวได้ ขณะที่หลายครอบครัวต้องนอนรวมกันในห้องเดียว “Home Isolation ถ้าอยู่ต่างประเทศน่าจะทำได้ เนื่องจากว่าครอบครัวไม่ได้ใหญ่มาก แต่ว่าในชุมชนอย่างที่เราพูดกันอยู่ตอนนี้ว่า ในชุมชนเขาค่อนข้างจะอยู่กันหลายคนมากในหนึ่งบ้าน การทำ Home Isolation ก็ไม่ต่างจากการที่เราปล่อยให้เชื้อมันแพร่กระจาย “ณ ตอนนี้สิ่งที่เราต้องรอคือเตียง แต่ถ้าเกิดเราสามารถทำศูนย์พักคอยที่เราไปรับผู้ติดเชื้อมาอยู่ตรงนี้ พัก และ คอย เวลาที่ตัวเองได้เตียง อย่างน้อยจะได้เป็นการแยกผู้ติดเชื้อออกจากในชุมชน” ได๋เล่าในรายการโหนกระแส เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2564 ล่าสุดโปรเจกต์ศูนย์พักคอยดังกล่าวได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 กรกฎาคม 2564 จากการปรับปรุงตึก Wedding Plaza ของตัน ภาสกรนที บริเวณทางเข้า RCA โดยสามารถรองรับได้ประมาณ 146 เตียง ซึ่งโปรเจกต์นี้อยู่ภายใต้การดูแลของกรุงเทพมหานคร เเละเขตห้วยขวาง โดยมีโรงพยาบาลในเครือของ กทม. ดูแลด้านมาตรการและการให้คำปรึกษา และมีทีมงานหลักคือ ได๋-ไดอาน่า, ตัน ภาสกรนที, สรยุทธ สุทัศนะจินดา, หมอแล็บแพนด้า, Drama-addict, เพจเราต้องรอด และเอิร์ธ-พงศกร ขวัญเมือง “อยากจะบอกว่าจริง ๆ มันไม่ใช่งานของเพจเราต้องรอด แต่ว่ามันเป็น group project ของทุกคนที่มาทำร่วมกันตรงนี้ ทุกหน่วยงานช่วยกัน ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ขอบคุณทุกคนที่เป็นทีมงานหน้าบ้านหลังบ้าน เราเป็นเพียงฟันเฟืองเล็ก ๆ มาก ๆ เมื่อเทียบกับบุคลากรทางการแพทย์ที่ตอนนี้ทุกคนทำงานกันอย่างหนักมากที่สุด “บางทีเข้าใจว่าทุกคนกำลังรีบ กำลังเร่ง แต่ว่าเห็นใจทุกคนที่ทำงานนะคะ เพราะว่านี่เป็นสถานการณ์ที่คับขันจริง ๆ แล้วก็ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน ทุกคนคงจะเหนื่อยไม่แพ้กัน” (จากรายการ ต้มยำอมรินทร์ ออกอากาศวันที่ 2 กรกฎาคม 2564) นอกจากเรื่อง Home Isolation อีกปัญหาสำคัญคือสิทธิการรักษาที่ยังคงไม่ทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นคนไทยที่ไม่มีบัตรประชาชน อย่างคุณตาคุณยายที่ไม่ได้แจ้งเกิดเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว หรือแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในระบบ กลายเป็นอุปสรรคต่อการรักษา และต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้คนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยกันดูแลปัญหานี้อย่างครอบคลุมในอนาคต แม้การระบาดครั้งล่าสุดจะผ่านมาราว 3 เดือน และยังไม่มีทีท่าว่าจะทุเลาลง แต่ได๋จะยังคงมุ่งมั่นทำงานอาสานี้ต่อไป ร่วมกับผู้คนที่เข้ามาร่วมเป็นกำลังสำคัญจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ  “คือคุยกันไว้ว่าเราจะหยุดทำงานต่อเมื่อคนหยุด inbox เข้ามา เพราะถ้ามีคน inbox เข้ามาแสดงว่ายังมีคนต้องการความช่วยเหลือ แสดงว่าเราก็ยังหยุดไม่ได้” ได๋กล่าวทิ้งท้ายไว้ในรายการต้มยำอมรินทร์    ที่มา: https://www.youtube.com/watch?v=IssE4_DpNaw  https://www.youtube.com/watch?v=gEkwPF2AZAk  https://web.facebook.com/ladydna  https://web.facebook.com/tanichitan/posts/4400090776679007  https://www.zcooby.com/dai-diana-jongjintanakarn-biography/  https://m.mgronline.com/local/detail/9520000075763  https://news.mthai.com/social-news/703406.html   ที่มาภาพ  https://www.instagram.com/ladydna/?hl=th https://www.facebook.com/ladydna