‘ดอน แม็กลีน’ ผู้เล่าประวัติศาสตร์ดนตรีผ่านเพลง ‘American Pie’ ที่กลายเป็นผลงานขึ้นหิ้ง

‘ดอน แม็กลีน’ ผู้เล่าประวัติศาสตร์ดนตรีผ่านเพลง ‘American Pie’ ที่กลายเป็นผลงานขึ้นหิ้ง

‘ดอน แม็กลีน’ กับเรื่องราวของความหมายในบทเพลงขึ้นหิ้ง เพลง ‘American Pie’ ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์ดนตรีผ่านเนื้อร้องที่ให้ผู้ฟังตีความกัน

“Bye bye Miss American Pie.

Drove my Chevy to levee but the levee was dry.

And then good ole boys were drinking whiskey and rye.

Singin' this'll be the day that I die. This'll be the day that I die.”

ไม่บอกก็คงรู้ (มั้ย?) ว่านี่คือท่อนฮุกติดหูจากเพลง American Pie ของ ดอน แม็กลีน (Don McLean) ที่ทางสมาคมอุตสาหกรรมสื่อบันทึกเสียงแห่งอเมริกา (RIAA) ยกให้เป็นหนึ่งในเพลงแห่งศตวรรษ

เพลงนี้เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1971 และขึ้นเป็นอันดับ 1 บนชาร์ตเพลงยอดนิยมของสหรัฐฯ นาน 4 สัปดาห์ และเป็นที่นิยมในอีกหลายประเทศทั่วโลก แต่เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่ถูกเข้ารหัสให้คนฟังต้องตีความกันเอาเอง หากไม่รู้ประวัติศาสตร์ดนตรีอเมริกันแล้ว ก็ยากจะเดาว่าแม็กลีนพยายามจะสื่อถึงเรื่องอะไรบ้าง?

แม็กลีนเองไม่เคยมาอธิบายความหมายที่แทรกอยู่ในเนื้อร้องของเขา เว้นแต่ในท่อนแรกที่เขาเล่าถึงอดีตของตัวเองในฐานะอดีตเด็กส่งหนังสือพิมพ์ มันเป็นวันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์หลายปีก่อน เขาต้องส่งข่าวร้ายให้กับชาวบ้าน และมันก็เป็นข่าวที่กระทบกระเทือนกับจิตใจของเขาอย่างมากเช่นกัน มันเป็นวันที่ถูกขนานนามว่า The day the music died

นั่นเป็นเหตุการณ์ในปลายยุค 50s ที่สร้างความตกตะลึงให้กับคนในวงการเพลงอเมริกันและแฟนเพลงร็อคแอนด์โรล เมื่อสามนักดนตรีชื่อดัง บัดดี้ ฮอลลี (Buddy Holly) ริตชี่ เวเลนส์ (Ritchie Valens) และ เดอะบิ๊กบ็อปเปอร์ (The Big Bopper) เสียชีวิตลงพร้อมกัน ขณะเครื่องบินที่พวกเขานั่งมาด้วยกันประสบอุบัติเหตุเครื่องตกเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 1959

“บัดดีคือศิลปินคนโปรดของผมตอนอายุได้สิบสองสิบสามสิบสี่ หัวใจของผมแตกสลายเมื่อรู้ว่าเขาเสียชีวิต” แม็กลีนกล่าว

ขณะที่ท่อนฮุกของแม็กลีน คือการย้อนถึงความทรงจำอันหวานชื่นของสังคมอเมริกันในยุค 50s ก่อนวันที่ฮอลลีจะเสียชีวิต มีการกล่าวถึงสัญลักษณ์ของอเมริกันในยุคนั้นไม่ว่าจะเป็นรถยนต์เชฟโรเลต วิสกี้จากข้าวไรย์  และ “มิสอเมริกันพาย”

จิม แฟนน์ (Jim Fann) ผู้เขียน Understanding American Pie อธิบายความหมายของคำนี้ว่า “มิสอเมริกันพายก็คือ ความเป็นอเมริกัน เช่นเดียวกับ แอปเปิ้ลพาย” มิสอเมริกันพายจึงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอเมริกัน และก็อาจหมายรวมถึงนางงามอเมริกาด้วย

“ไม่ว่าอย่างไร ชื่อของเธอดึงเอาความทรงจำกับชีวิตที่เรียบง่ายของชาวอเมริกันในสมัยที่สัญลักษณ์เหล่านี้มีความหมายมากกว่าที่เป็นอยู่ เธอคืออเมริกาในยุคที่ผ่านพ้นไป และเขา (แม็กลีน) ก็เอ่ยคำร่ำลาให้กับเธอ” แฟนน์กล่าว

เข้าท่อนที่ 2 แม็กลีนเอาชื่อเพลงดังในยุค 50s มาร้อยเป็นเนื้อหาได้อย่างไม่ขัดเขินในท่อน "Did you write the Book of Love? And do you have faith in God above?” (Book of Love เป็นเพลงของ Monotones) และ "I was a lonely teenage broncin' buck. With a pink carnation and a pick up truck.” (pink carnation น่าจะมาจากเพลง A White Sport Coat And A Pink Carnation) 

ส่วนความหมายของท่อนนี้ แม็กลีนกล่าวถึงกระแสความเปลี่ยนแปลงจากยุคที่ศาสนามีอิทธิพลกับการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก มาสู่ยุคที่วัยรุ่นให้ความสนใจกับดนตรีร็อคแอนด์โรลมากกว่า (And do have faith in God above? If the Bible tells you so. Do you believe in rock 'n roll? Can music save your mortal soul? - แล้วคุณมีศรัทธาในพระเจ้าหรือไม่ ถ้าพระคัมภีร์บอกไว้อย่างนั้น? คุณเชื่อในร็อคแอนด์โรลรึเปล่า? ดนตรีจะช่วยรักษาจิตวิญญาณมนุษย์ของคุณไว้ได้หรือไม่?) และเขาก็ยังพูดถึงความรักที่ไม่สมหวังในสมัยมัธยมปลาย ด้วยน้ำเสียงที่ตั้งคำถามถึงความซื่อสัตย์ในความรักในยุคที่คนลดความอนุรักษนิยมลง และเปิดเสรีในหลาย ๆ เรื่องมากขึ้น    

ท่อนถัดมา เป็นเรื่องราวของทศวรรษใหม่ ตลกหลวง (jester - นักแสดงสร้างความบันเทิงในราชสำนักหรือในตำหนักชนชั้นสูงสมัยกลาง ซึ่งไม่ได้มีแต่ทักษะการเล่นตลกเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการแต่งเพลง ร้องเพลง หรือการเล่นกล เล่นกายกรรมด้วย) ที่แม็กลีนกล่าวถึงนั้น น่าจะหมายถึง บ๊อบ ดีแลน ไอคอนคนใหม่ในยุคนี้ รู้ได้จากท่อนที่แม็กลีนร้องว่า “When the jester sang for the King and Queen. In a coat he borrowed from James Dean. And a voice that it came from you and me.” 

แปลว่า “เมื่อตลกหลวงร้องเพลงให้กับคิงและควีน เขาสวมเสื้อโค้ทที่ยืมมาจากเจมส์ ดีน ด้วยน้ำเสียงที่มาจากคุณและผม” ซึ่ง แฟนน์บอกว่า หน้าปกอัลบัม The Freewheellin' ของดีแลน นอกจากดีแลนจะสวมเสื้อโค้ทแบบเจมส์ ดีน แล้ว องค์ประกอบภาพก็ยังล้อกับภาพลักษณ์ของ เจมส์ ดีน
 
แต่ดีแลนเป็นขบถที่ต่างจากดีน ที่ “Rebel Without A Cause” (ชื่อหนังเรื่องเด่นของดีน ซึ่งมีความหมายว่า ขบถที่ต่อต้านสังคมแต่ไม่รู้ว่าต่อสู้เพื่ออะไร) ขณะที่ดีแลนเป็นนักร้องที่ใช้บทเพลงสะท้อนปัญหาสังคม และคนด้อยโอกาส เป็นบทเพลงแห่งการประท้วง ต่างจากเพลงร็อคแอนด์โรลในยุคก่อน ที่ เอลวิส เพรสลีย์ ถูกยกให้เป็น “คิง” พอถึงยุค 60s “ตลกหลวง” ก็ทำการปฏิวัติคว้ามงกุฎหนามจาก “คิง” ไป (And while the King was Looking down the jester stole his thorny crown) 

แต่ก็มีคนตีความไปอีกทางว่า “คิงและควีน” ในที่นี้จะเป็น จอห์น เอฟ. เคนเนดี อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับภรรยารึเปล่า? ส่วน ตลกหลวงที่ขโมยมงกุฎหนามไปจาก เจเอฟเค ก็คือ ลี ฮาร์วีย์ ออสวัลด์ (Lee Harvey Oswald) มือสังหารที่ฆ่าเจเอฟเคนั่นเอง และหลังเหตุการณ์นั้น ในเนื้อร้องท่อนถัดมา “The courtroom was adjourned. No verdict was returned” (ศาลสั่งเลื่อนพิจารณา โดยไม่มีคำวินิจฉัยกลับมา) ก็สะท้อนความสับสนและข้อสงสัยเกี่ยวกับเบื้องหลังการสังหารของสังคมได้ดี (แต่ถ้าคิดว่า ตลกหลวงคือ ดีแลน ท่อนนี้อาจจะตีความได้ว่า แม้แนวดนตรีแบบขบถ และเนื้อหาซับซ้อนของดีแลน จะเป็นกระแสนำของวัยรุ่นแห่งยุค แต่สังคมก็ยังไม่มีคำวินิจฉัยให้กับการปฏิวัติวัฒนธรรมในยุคสมัยนั้น)

ในตอนท้ายของท่อนนี้ แม็กลีนยังกล่าวถึง จอห์น เลนนอน และ The Beatles (And While Lennon read a book on Marx. The quartet practiced in the Park - ในขณะที่เลนนอนอ่านหนังสือว่าด้วยลัทธิมาร์กซ์ วงดนตรีสี่คนก็ฝึกซ้อมในสวนสาธารณะ) สะท้อนภาพของเลนนอนแห่ง The Beatles ที่หันไปหาอุดมการณ์ฝ่ายซ้าย ในขณะที่ The Beatles ในยุคบั้นปลายก็เริ่มทดลองทำเพลงที่มีเนื้อหาซับซ้อนมากขึ้น ต่างออกไปจากภาพลักษณ์เดิมที่เรียบง่าย และ “practiced in the park” ก็ยังสื่อถึงบทบาทการปฏิวัติในขณะที่เลนนอนอ่านหนังสือของมาร์กซ์

เนื้อร้องต่อมาเป็นเรื่องราวกลางถึงปลายยุค 60s ซึ่ง The Beatles ขึ้นมามีบทบาทหลัก ช่วงนี้เกิดกระแสเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคม การต่อต้านการเกณฑ์ทหารและสงครามเวียดนาม มีการอ้างอิงถึงเพลง Helter Skelter ที่เล่าถึงเครื่องเล่นกระดานลื่นของอังกฤษที่วนเป็นเกลียว - แต่ ชาร์ลส์ แมนสัน (Charles Manson) ผู้นำลัทธิสิ้นโลกไปตีความว่าหมายถึงนรก มันจึงสื่อถึงความวุ่นวายแห่งยุคสมัย และการขยายวงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว (I'm coming down fast) สอดคล้องกับเพลง Eight Miles High ของ The Byrds ที่เขากล่าวถึงเช่นกัน แม้ว่าเพลงนี้จะสื่อถึงการใช้ยาเสพติดแต่ก็มีท่อนที่สื่อถึงการร่วงหล่นอย่างรวดเร็วด้วยเหมือนกัน พร้อมเปรียบเปรยการเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมกับอเมริกันฟุตบอล ที่กำลังขว้างบอลรุกเข้าใส่รัฐบาล (The players tried for a forward pass)

ส่วน บ็อบ ดีแลน ที่เคยเป็นผู้มีบทบาทนำตอนนี้กลายเป็นผู้นั่งมองจากข้างสนาม (With the jester on the sidelines in a cast) เพราะช่วงนั้นดีแลนประสบอุบัติเหตุจากรถมอเตอร์ไซค์จนเกือบเอาชีวิตไม่รอด เขาจึงต้องพักรักษาร่างกายและจิตใจเนื่องจากแรงกดดันจากความสำเร็จที่ผ่านมา ในขณะที่วงดนตรีใหม่ ๆ ขึ้นมารับช่วงเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมแทนที่เขา

ในระหว่างนี้ แม็กลีนยังเล่าถึงช่วงที่มีการพักเบรกจากความวุ่นวายในช่วงฤดูร้อนของปี 1967 ที่บุปผาชนได้รื่นรมย์กับกลิ่นหวานของน้ำหอม (Now the half-time air was sweet perfume.) ซึ่งอาจสื่อถึงกัญชา แต่ก็เป็นระยะเวลาเพียงสั้น ๆ ความรุนแรงก็ก่อตัวขึ้นอีกครั้ง เมื่อฝ่ายรัฐบาลใช้กำลังกำราบขบวนการทางสังคมที่ใช้ความรุนแรงในการประท้วง (Cause the players tried to take the field. The marching band refused to yield.) 

ท่อนที่ 5 เป็นตอนจบที่น่าเศร้าของยุค 60s วัฒนธรรมเสรีชน และยาเสพติด ทำให้วัยรุ่นหลายคนเสียเวลาไปเปล่า ๆ (A generation Lost in Space. With no time left to start again.) และตอนนี้ The Rolling Stones ก็ขึ้นมาเป็นตัวละครหลัก (Jack ที่แม็กลีนกล่าวถึงก็สื่อถึง มิก แจ็กเกอร์ นักร้องนำของวงที่มีเพลงดัง Jumpin' Jack Flash) ในฐานะศูนย์กลางของเหตุวุ่นวายในฟรีคอนเสิร์ตอัลทามอนต์ (Altamont Free Concert) เมื่อปลายปี 1969 ที่หวังเลียนแบบความสำเร็จของวูดสต็อก แต่กลับเกิดความวุ่นวายจากความเมามายไร้ระเบียบของวัยรุ่นที่มาร่วมงาน มีการวิวาทใช้ความรุนแรง การใช้ยาเสพติดจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย

และในสารคดี Gimme Shelter (1970) ที่เล่าถึงเหตุการณ์คอนเสิร์ตคราวนั้น มีเรื่องราวตอนที่เด็กหนุ่มสองคนที่มาร่วมฟังขอให้แจ็กเกอร์ยุติการแสดงด้วยหวังจะยุติความวุ่นวายที่เกิดขึ้นในงาน แต่เขาปฏิเสธ ซึ่งหากเขายอมฟัง โศกนาฏกรรมที่ตามมาอาจจะไม่เกิดขึ้น (หรืออาจจะยิ่งทำให้ผู้ฟังเดือดแค้นกว่าเดิมก็ไม่แน่) และนั่นก็น่าจะเป็นเหตุทำให้แม็กลีนรู้สึกโกรธ (And as I watched him on the stage. My hands were clenched in fists of rage)

เนื่องจากหลังจากนั้น วัยรุ่นกลุ่มหนึ่งพยายามบุกขึ้นเวที สมาชิกแก๊งมอเตอร์ไซค์ Hells Angel ที่ถูกจ้างมารักษาความปลอดภัยก็เข้าไปขัดขวางแต่ก็ทำไม่สำเร็จ (แม็กลีนเรียกคนกลุ่มนี้ว่า angel born in hell และเทียบวัยรุ่นที่บ้าคลั่งด้วยเสียงเพลงว่าเหมือนต้องมนต์สะกดของซาตาน) วัยรุ่นผิวดำรายหนึ่งชักปืนออกมาขู่ แต่ถูกสมาชิกแก๊งแว้นแทงยับจนถึงแก่ความตาย กลายเป็นเครื่องสังเวยที่สร้างความพึงพอใจให้กับซาตาน (To moonlight the sacrificial rite. I saw Satan laughing with delight)

ตอนจบของเพลงเป็นท่อนที่แม็กลีนลดจังหวะเพลงลง เล่าเรื่องราวอันเป็นจุดเริ่มต้นของยุค 70s เขากล่าวถึง “หญิงสาวที่ร้องเพลงบลู” ซึ่งน่าจะหมายถึง จานิส จ็อปลิน (Janis Joplin) ที่เสียชีวิตลงจากการเสพยาเกินขนาดในเดือนตุลาคม 1970 กับอุตสาหกรรมเพลงที่เปลี่ยนไป เมื่อร้านแผ่นเสียงไม่มีบูธให้ทดลองฟังอีกแล้ว (I went down to the sacred store. Where I'd heard the music years before. But the man there said the music wouldn't play)

แม็กลีนมองว่า ความเปลี่ยนแปลง ความหวัง และความฝันถึงวันที่ดีกว่าของคนยุคบุปผาชนยังไปไม่ถึงเป้า ในขณะที่สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของคนยุคก่อนอย่างศาสนาก็หมดความสำคัญลงไป (And in the streets the children screamed. The lovers cried, and the poets dreamed. But not a word was spoken. The church bells all were broken)

และสุดท้ายเขากล่าวรำลึกถึง “ชายสามคนที่ผมนับถือที่สุด พระบิดา พระบุตร และพระจิต” แม้เขาจะใช้คำอ้างถึงตรีเอกานุภาพในศาสนาคริสต์ แต่ชายสามคนผู้จากไปในที่นี้ก็อาจหมายถึง บัดดี ฮอลลี, ริตชี เวเลนส์ และ เดอะบิ๊กบ็อปเปอร์ สามนักดนตรีที่เสียชีวิตลงพร้อมกัน หรือไม่ก็อาจเป็นชายสามคนที่สร้างความหวังให้กับยุคสมัยแต่ถูกลอบสังหารไปอย่าง จอห์น เอฟ.เคนเนดี โรเบิร์ต เคนเนดี และ มาร์ติน ลูเทอร์ คิง จูเนียร์

หรือไม่ แม็กลีนก็อาจจะเห็นว่า “ศาสนา” คือหนึ่งในความหวังที่จะฟื้นคืนสังคมอเมริกันที่แตกร้าว แต่พระเจ้าก็ขึ้นรถไฟขบวนสุดท้ายไปพักร้อนที่ชายหาดเสียแล้วก็ได้ (The Father, Son, and the Holy Ghost. They caught the last train for the coast. The day the music died)

เพลงนี้แม้จะเป็นเพลงแห่งศตวรรษและได้รับการยกย่องเป็นอย่างมาก แต่ศิลปินที่ถูกอ้างถึงบางคนก็อาจจะไม่ค่อยชอบใจนัก เช่น บ็อบ ดีแลน ที่บอกว่า เขาไม่น่าจะใช่ “ตัวตลก” ที่แม็กลีนอ้างถึง และไล่ให้คนถามไปถามแม็กลีนทีว่าเขาหมายถึงใครกันแน่ (UCR) 

และก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่แม็กลีนเองเหมือนจะเป็นผู้ใกล้ชิดศาสนา แต่เขากลับเป็นคนที่อารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง และเคยทำร้ายร่างกายภรรยา ภรรยาของเขาบอกว่า แม็กลีนเป็นอย่างนี้มาตลอดสามสิบปีของการแต่งงาน ก่อนที่เธอจะทนไม่ไหวแจ้งความดำเนินคดีในปี 2016 และแม็กลีนให้การรับสารภาพเพื่อเลี่ยงโทษจำคุก ก่อนที่ทั้งคู่ก็หย่าขาดจากกัน (Rolling Stone)