ดักลาส โคแนนท์: อดีต CEO ซุปแคมป์เบลล์ที่เขียนจดหมายขอบคุณพนักงานกว่า 3 หมื่นฉบับ

ดักลาส โคแนนท์: อดีต CEO ซุปแคมป์เบลล์ที่เขียนจดหมายขอบคุณพนักงานกว่า 3 หมื่นฉบับ
คำขอบคุณ คือการส่งพลังบวกอย่างหนึ่งจากอีกคนสู่อีกคน   หลายคนคงคุ้นตากับภาพวาดซุปแคมป์เบลล์ (Campbell) ฝีมือแอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) เจ้าพ่อป๊อปอาร์ตชาวอเมริกัน แถมภาพวาดอันโด่งดังนี้ยังฮิตพอ ๆ กับซุปกระป๋องที่ขายดิบขายดีทั้งในอเมริกาและกว่า 120 ประเทศทั่วโลก ซึ่งเบื้องหลังซุปกระป๋องสีขาวแดงยังมีเรื่องราวของ ‘ดักลาส โคแนนท์ (Douglas Conant)’ อดีต CEO ผู้สร้างตำนานให้บริษัทซุปแคมป์เบลล์ ด้วยการเขียนจดหมายกว่า 30,000 ฉบับเพื่อขอบคุณพนักงาน 20,000 คนด้วยลายมือของตัวเอง   เดิมทีดักลาส โคแนนท์ เป็นนักการตลาดมือฉมังผู้คืนชีพให้แบรนด์ Planters nuts และ Life Savers ก่อนเข้ามารับตำแหน่ง CEO ของบริษัทซุปแคมป์เบลล์ในปีค.ศ.  2001 ซึ่งขณะนั้นบริษัทกำลังประสบปัญหาเรื่องคู่แข่งและยอดขายอย่างหนัก แต่โคแนนท์ตั้งเป้าหมายการทำงานมากกว่าการแก้ปัญหาและทำหน้าที่ CEO เพราะเขาต้องการสร้างความสำเร็จให้กับซุปแคมป์เบลล์ด้วย   โคแนนท์เริ่มจากการเขียนจดหมาย 20 ฉบับต่อวัน เพื่อกล่าวขอบคุณความพยายามและชื่นชมความสำเร็จของพนักงาน แม้ไม่ได้ช่วยเรื่องประสิทธิภาพการทำงานโดยตรง แต่วิธีนี้ช่วยสร้างวัฒนธรรมองค์กรและความเป็นส่วนหนึ่งของพนักงาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการบริหารบริษัท โดยโคแนนด์กล่าวถึงกฎ 3 ข้อก่อนสร้างคำขอบคุณพนักงานใน Harvard Business Review ว่า กฎข้อแรก คือ ‘การสร้างความสัมพันธ์’ เพื่อให้พนักงานเชื่อใจและไว้วางใจ “ผมเล่าเรื่องราวของตัวเองให้คนอื่นฟัง ไม่ว่าจะเป็นพื้นเพ ความเชื่อที่ผมยึดถือ ความคาดหวัง หรือแม้แต่คำคมที่ผมชอบ แล้วถามเรื่องราวของพวกเขากลับ เพื่อทลายกำแพงความสัมพันธ์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้”     ส่วนกฎข้อที่สอง คือ การมองหาโอกาสชื่นชม อย่างการอ่านอีเมล หรือข่าวสารในเว็บไซต์ของบริษัท เพื่อให้รู้ว่าพนักงานคนไหนที่สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือเรื่องราวดี ๆ ให้กับซุปแคมป์เบลล์ และกฎข้อสุดท้าย คือ ‘การหยิบปากกาออกมาเขียนคำขอบคุณ’ โดยโคแนนท์ให้เหตุผลว่า “พนักงานของผมมากกว่าครึ่งไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ และผมอยากให้พวกเขารับรู้ถึงความใส่ใจและความยินดีจากใจจริง แม้การเขียนด้วยลายมือจะดูเป็นเรื่องเสียเวลา แต่จากประสบการณ์ของผม มันช่วยสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ที่จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานดีขึ้นด้วย”   หลังจากนั้น ในปี 2009 โคแนนท์พาซุปแคมป์เบลล์ก้าวผ่านปัญหาเรื่องยอดขายได้สำเร็จ จนเริ่มแซงหน้าบริษัทคู่แข่งอย่าง S&P และในปีเดียวกัน โคแนนท์ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ แต่เขาได้รับข้อความให้กำลังใจอย่างล้นหลามจากเหล่าพนักงานและผู้คนที่เคยร่วมงานด้วย “ข้อความของพวกเขาย้ำเตือนผมว่า ยิ่งให้คำติชมและสนับสนุนผู้อื่นมากเท่าไร คุณยิ่งได้รับสิ่งดี ๆ ตอบแทนกลับมามากเท่านั้น”    เรื่องราวของโคแนนท์ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เหล่าผู้บริหารนำวิธีของเขาไปปรับใช้ในองค์กร รวมทั้งมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กที่ได้ลองเขียนจดหมายขอบคุณพนักงานในทุก ๆ วัน    แม้การเขียนจะใช้เวลานานและใช่ว่าผู้นำทุกคนจะสามารถทำได้แบบโคแนนท์ แต่หลักใหญ่ใจความไม่ได้อยู่ที่การจรดปากกา แต่เป็นการแสดงออกถึงความใส่ใจ และทำให้พนักงานรู้สึกว่า มีคนมองเห็นความพยายามและความทุ่มเทของพวกเขา แบบที่โคแนนท์ทำมาตลอดสิบกว่าปีของการเป็น CEO ซุปแคมป์เบลล์   เรื่อง : ธัญญารัตน์  โคตรวันทา ที่มา