ดรูว์ ไวส์แมน: บิดาวัคซีน mRNA ผู้ช่วยคนไทยพัฒนา ChulaCov19 ต่อสู้โควิด-19 ในอาเซียน

ดรูว์ ไวส์แมน: บิดาวัคซีน mRNA ผู้ช่วยคนไทยพัฒนา ChulaCov19 ต่อสู้โควิด-19 ในอาเซียน
หาก ดร.แคทาลีน คาริโค คือ ‘มารดา’ ผู้ให้กำเนิด mRNA ที่นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ของไฟเซอร์ และโมเดอร์น่า ‘บิดา’ ของเทคโนโลยีนี้คงต้องยกให้ ดร.ดรูว์ ไวส์แมน อาจารย์มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (ยูเพนน์) ของสหรัฐฯ ผู้ช่วยต่อลมหายใจในการทำงานให้ ดร.คาริโค และสู้เคียงบ่าเคียงไหล่จนได้รับการคาดหมายให้คว้ารางวัลโนเบลร่วมกัน ดร.ดรูว์ ไวส์แมน (Drew Weissman) นอกจากจะทำงานกับยูเพนน์ เขายังเป็นทีมนักวิจัยให้กับห้องทดลองของ ดร.แอนโธนี เฟาชี่ (Anthony Fauci) ที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐฯ หลายสมัย ซึ่งชาวอเมริกันและคนทั่วโลกคุ้นหน้ากันดีจากการมีบทบาทนำแดนพญาอินทรีต่อสู้วิกฤตโควิด-19 นอกจากนี้ ดร.ไวส์แมน ยังเป็นบุคคลสำคัญสำหรับประเทศไทย เนื่องจากเป็นผู้ให้ความรู้ mRNA มาถ่ายทอดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อใช้พัฒนาวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ของไทยเป็นครั้งแรก โดยใช้ชื่อ ChulaCov19 (จุฬาคอฟ19) ตั้งเป้าผลิตใช้ในไทย และกระจายไปยังชาติอื่น ๆ ในภูมิภาค   ผู้ต่อลมหายใจให้เทคโนโลยี เรื่องเทคโนโลยี mRNA ดร.ไวส์แมน ถือเป็นคนสำคัญไม่แพ้ ดร.แคทาลีน คาริโค (Katalin Kariko) นักวิทยาศาสตร์หญิงเชื้อสายฮังการีผู้อยู่เบื้องหลังวัคซีนโควิด-19 ที่มีประสิทธิภาพสูง (อ่านเรื่องราวของเธอได้ที่ https://thepeople.co/katalin-kariko-covid-19-mrna-vaccine/) เนื่องจากหากไม่มี ดร.ไวส์แมนในวันนั้น อาจไม่มี ดร.คาริโคในวันนี้ และโลกก็จะไม่มีวัคซีน mRNA ใช้ในปัจจุบัน “ทุกคืนฉันเฝ้าแต่ทำงานเพื่อหาทุน ทุน และทุน แต่สิ่งที่ได้กลับมาเสมอคือคำว่าไม่ ไม่ และไม่” ดร.คาริโค เล่าความหลังในปี 1995 หลังทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยให้คณะแพทยศาสตร์ของยูเพนน์มา 6 ปี และมีความฝันจะได้บรรจุเป็นอาจารย์ประจำ แต่กลับถูกลดขั้น เพราะงานวิจัย mRNA ของเธอไม่มีใครให้ทุน แถมยังไม่มีผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ และไม่มีห้องทดลองในสังกัด เนื่องจากอาจารย์ที่เคยทำงานด้วยต่างพากันลาออกจากมหาวิทยาลัย นอกจากมรสุมในวิชาชีพแล้ว ชีวิตส่วนตัวก็เจอปัญหาใหญ่ เพราะในช่วงเดียวกันเธอตรวจพบเป็นโรคมะเร็ง ส่วนสามีก็มีปัญหาวีซ่า ทำให้ติดอยู่ในฮังการี ไม่สามารถเดินทางมาให้กำลังใจภรรยาที่อเมริกาได้ เธอยอมรับว่า ณ จุดนั้นเคยคิดยอมแพ้ และหันหลังให้งานวิจัย แต่เมื่อตั้งสติได้จึงตัดสินใจสู้ต่อ และพยายามคุยกับอาจารย์ทุกคนที่พบเพื่อหาผู้สนใจใช้ความรู้ที่เธอมีไปช่วยงาน “มันเกิดขึ้นในปี 1998 ตอนฉันทำงานด้าน mRNA มาเกือบครบ 10 ปี และมีความก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ” ดร.คาริโค กล่าวถึงการเจอกับ ดร.ไวส์แมน ครั้งแรกที่เครื่องถ่ายเอกสารในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเธอไม่รู้จักด้วยซ้ำว่า ดร.ไวส์แมนคือใคร แต่ด้วยความมุ่งมั่นอยากมีงานทำต่อไป เธอจึงเป็นฝ่ายเริ่มบทสนทนา “ฉันแค่แนะนำตัวว่าเป็นใคร ฉันทำงานด้าน RNA อยู่ที่นี่ ขณะที่ดรูว์บอกว่า เขามาจากห้องทดลองของแอนโธนี เฟาชี่ และแน่นอนตอนนั้นฉันยังไม่รู้เลยว่า แอนโธนี เฟาชี่ คือใคร?” ดร.เฟาชี่ เป็นผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดต่อแห่งชาติของสหรัฐฯ (NIAID) มาตั้งแต่ปี 1984 เขามีชื่อเสียงโด่งดังจากการเป็นที่ปรึกษาให้กับประธานาธิบดีอเมริกันมาถึง 7 คน โดยช่วงนั้น ดร.ไวส์แมน ช่วยงาน ดร.เฟาชี่ พัฒนาวัคซีนจากดีเอ็นเอ เพื่อป้องกันเอชไอวีที่เป็นสาเหตุของโรคเอดส์ เขาจึงตัดสินใจชวน ดร.คาริโค มาร่วมงานทันที   แรงบันดาลใจจากหลานชาย ดร.ดรูว์ ไวส์แมน เกิดที่เมืองเลกซิงตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐฯ เขาเรียนจบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยแบรนไดส์ (Brandeis University) ในรัฐบ้านเกิดเมื่อปี 1981 และสำเร็จปริญญาเอกด้านภูมิคุ้มกันวิทยาและจุลชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยบอสตัน ในปี 1987 ดร.ไวส์แมน เริ่มงานอาจารย์ประจำที่ยูเพนน์ในปี 1997 หรือ 1 ปีก่อนมาพบกับ ดร.คาริโค แม้อาจารย์หน้าใหม่ผู้นี้จะมีทั้งทุนวิจัย ตำแหน่งในมหาวิทยาลัยสูงกว่า และมีห้องทดลองเป็นของตนเอง แต่เขาก็ทำงานกับ ดร.คาริโค แบบไม่ถือตัว โดยแรงบันดาลใจที่ทำให้นักวิจัยจากแมสซาชูเซตส์สนใจพัฒนาวัคซีน มาจากความตั้งใจหาทางรักษาหลานชาย ซึ่งป่วยด้วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องชนิดปฐมภูมิ (XLA) มาแต่กำเนิด ดร.ไวส์แมน และ ดร.คาริโค เริ่มทำงานร่วมกันภายใต้แนวคิดที่ต้องการใช้ mRNA (messenger ribonucleic acid) ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่ทำหน้าที่ออกคำสั่งให้เซลล์ผลิตโปรตีน เป็นตัวนำรหัสคำสั่งที่ป้อนเข้าไปสั่งการเซลล์ให้ผลิตโปรตีนของเชื้อนั้นขึ้นมา หากทำสำเร็จจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ผลิตแอนติบอดี้ต่อสู้กับโรคต่าง ๆ ได้ตามใจ และเปลี่ยนร่างกายให้กลายเป็นโรงงานผลิตยาขนาดใหญ่ได้ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ปัญหาเบื้องต้นที่พบ คือ หนูทดลองยังคงมีอาการต่อต้าน mRNA ที่ฉีดเข้าไป ทำให้เกิดอาการแพ้ เบื่ออาหาร และขนมีสภาพเปลี่ยนไป ทั้งคู่ใช้เวลาลองผิดลองถูกและค้นหาวิธีทำให้ร่างกายไม่แสดงปฏิกิริยาต่อต้านอยู่นานหลายปีจนค้นพบคำตอบ นั่นคือการปรับแต่งโมเลกุลของ mRNA โดยเพิ่มโมเลกุลที่ชื่อ pseudouridine (ซูโดยูรีดีน) เข้าไปเพียง 1 ตัว mRNA ก็สามารถเจาะผ่านระบบภูมิคุ้มกันเข้าไปยังเซลล์ได้โดยไม่เจอการต่อต้านใด ๆ   การต่อสู้ที่ไม่สิ้นสุด “เราทั้งคู่เริ่มทำเรื่องขอทุนเพิ่ม แต่คำขอส่วนใหญ่มักถูกปฏิเสธกลับมา คนยังไม่สนใจ mRNA อยู่ดี และผู้ตรวจสอบการให้ทุนก็บอกว่า mRNA จะไม่ใช่การบำบัดรักษาที่ดี เขาจึงไม่สนใจ” ดร.ไวส์แมน กล่าวถึงอุปสรรคตามมาหลังแก้ปัญหาในห้องทดลองได้สำเร็จ วารสารทางวิชาการชั้นนำหลายฉบับยังปฏิเสธตีพิมพ์ผลงานความสำเร็จของทั้งคู่ จนสุดท้ายเมื่อวารสาร Immunity ที่คอยอัพเดตความก้าวหน้าของงานวิจัยด้านภูมิคุ้มกัน ลงบทความเผยแพร่ให้ในเดือนสิงหาคมปี 2005 ผลตอบรับกลับมาก็ยังไม่ดี แทบไม่มีใครสนใจงานวิจัย mRNA ของพวกเขาเลย “เราไปคุยกับบริษัทยาและบริษัทร่วมทุนต่าง ๆ ก็ไม่มีใครสนใจ เราออกไปป่าวประกาศกันมากมายแต่ไม่มีใครรับฟัง” ดร.ไวส์แมนย้อนความหลังในการดิ้นรนต่อสู้ จนกระทั่งมาเจอกับบริษัทโมเดอร์น่า ของสหรัฐฯ และไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี ที่ให้ความสนใจมอบทุนต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยี mRNA จุดพลิกผันนี้เริ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคมปี 2013 เมื่อ ดร.อูเกอร์ ซาฮิน (อ่านเรื่องราวของเขาได้ในบทความนี้ https://thepeople.co/sahin-tureci-covid19/) ผู้ก่อตั้งไบโอเอ็นเทค ได้ฟังเลคเชอร์ของ ดร.คาริโค เกิดประทับใจ และสนใจให้ทุนวิจัยกับห้องทดลองของ ดร.ไวส์แมน ขณะเดียวกัน ดร.ซาฮิน ยังชวน ดร.คาริโค ไปร่วมงานที่บริษัทในตำแหน่งรองประธานอาวุโส และต่อมาในปี 2018 ไบโอเอ็นเทคจับมือกับไฟเซอร์ พัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่จาก mRNA จนกระทั่งเกิดการระบาดของโควิด-19 ช่วงโควิด-19 เริ่มระบาด วัคซีนไข้หวัดใหญ่จาก mRNA พัฒนาไปไกลถึงขั้นทดลองใช้กับมนุษย์แล้ว ดังนั้น ไบโอเอ็นเทคจึงสามารถนำเทคโนโลยีเดียวกันมาพัฒนาวัคซีนรับมือเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้รวดเร็ว และไฟเซอร์ กับโมเดอร์น่า ก็กลายเป็นสองบริษัทแรกของโลกที่ผลิตวัคซีน mRNA ออกมาใช้กับคนทั่วไป ผลงานของ ดร.ไวส์แมน และ ดร.คาริโค ไม่ได้ช่วยชีวิตคนทั่วโลกเท่านั้น มันยังช่วยชีวิตเขาทั้งสองด้วยเช่นกัน โดยทันทีที่รัฐบาลสหรัฐฯ อนุมัติให้ใช้วัคซีน mRNA กับประชาชน ทั้งคู่เดินทางไปรับวัคซีนจากผลงานของตนเองที่ยูเพนน์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2020 ท่ามกลางกองทัพสื่อมวลชนที่มารายงานข่าวกันอย่างครึกโครม เทคโนโลยี mRNA ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถป้องกันโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้าได้มีประสิทธิภาพสูงสุด และมีขั้นตอนการผลิตที่ง่าย รวดเร็ว และใช้ทุนน้อยกว่าวัคซีนชนิดอื่น จนอาจเข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ (disrupt) ให้กับอุตสาหกรรมผลิตวัคซีน “มันกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลง มันเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้วกับโควิด-19 และจะเกิดกับวัคซีนตัวอื่น ๆ ด้วย ผู้คนในสายงานนี้ต่างตื่นเต้นกันเรื่องเอชไอวี และยังมีไข้หวัดใหญ่ กับไข้มาลาเรียด้วย” ดร.เฟาชี่ กล่าวถึงอนาคตของเทคโนโลยี mRNA   ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ไทย นอกจากทั่วโลกจะตื่นตัวกับ mRNA ประเทศไทยก็เป็นอีกชาติที่เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยีนี้ และร่วมมือกับ ดร.ไวส์แมน เพื่อขอถ่ายทอดความรู้ดังกล่าวให้กับศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์วิจัยวัคซีน จุฬาฯ ก่อตั้งโดย ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ในปี 2017 โดยมุ่งพัฒนาวัคซีนที่ทำจากดีเอ็นเอ และโปรตีนเป็นหลัก เพื่อป้องกันโรคติดต่อต่าง ๆ ทั้งไข้เลือดออก เอชไอวี โรคฉี่หนู จนมาถึงโควิด-19 “(หมอเกียรติ) กังวลว่าวัคซีนต่าง ๆ ที่ผลิตในชาติตะวันตกอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะตกมาถึงประเทศไทย และชาติรายได้น้อยที่อยู่รอบ ๆ” ดร.ไวส์แมน เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการช่วยเหลือไทยพัฒนาวัคซีน mRNA โดยระบุว่า เมื่อเขาได้ฟังแผนของหมอเกียรติ ซึ่งอยากให้ไทยเป็นแหล่งผลิตและกระจายวัคซีนในภูมิภาค เขาตอบทันทีว่า “มันฟังดูเป็นเป้าหมายที่งดงาม” หมอเกียรติรู้จักกับ ดร.ไวส์แมน มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1990s สมัยยังทำวิจัยอยู่ที่สถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐฯ ในรัฐแมริแลนด์ และต่อมาเมื่อเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวัคซีนของจุฬาฯ เขาจึงติดต่อ ‘บิดา’ แห่ง mRNA มาถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทย “เมื่อ 4 ปีก่อน (2017) เราตระหนักถึงประสิทธิภาพของเทคโนโลยี mRNA จึงเชิญศาสตราจาย์ดรูว์ ไวส์แมน หนึ่งในผู้บุกเบิกเทคโนโลยี mRNA มาร่วมงานประชุมวิชาการประจำปีกับเรา ต่อมาปี 2019 เราร่วมทีมกับศาสตราจารย์ไวส์แมน พัฒนาวัคซีน mRNA สำหรับโรคภูมิแพ้” หมอเกียรติกล่าวกับบางกอกโพสต์ “ในช่วงต้นเราตั้งใจจะพัฒนาวัคซีน mRNA สำหรับไข้เลือดออก แต่เมื่อประเทศมีการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก เราจึงเบนเข็มไปพัฒนาวัคซีนโควิด-19 แทน” วัคซีนโควิด-19 ที่จุฬาฯ กำลังพัฒนามีชื่อว่า ChulaCov19 แม้จะใช้เทคโนโลยีเดียวกับไฟเซอร์ และโมเดอร์น่า แต่จุฬาฯ ตั้งเป้าจะพัฒนาให้ทนต่ออุณหภูมิที่สูงกว่า เพื่อเข้ากับสภาพอากาศในบ้านเรา และง่ายต่อการเคลื่อนย้ายและเก็บรักษา โดยสามารถเก็บในอุณหภูมิตู้เย็นธรรมดา (2 - 8 องศาเซลเซียส) ได้นาน 3 เดือน หากผ่านการทดสอบและอนุมัติใช้กับประชาชนทั่วไป ChulaCov19 จะสามารถผลิตใช้ในประเทศไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย และปากีสถาน และอาจกลายเป็นวัคซีนหลักตัวใหม่ในการต่อสู้กับโควิด-19 ของไทยและเพื่อนบ้านในอนาคต “ผมฝันมาเสมอว่าเราได้พัฒนาบางอย่างในห้องทดลองที่สามารถช่วยผู้คน และผมก็พอใจกับความฝันนี้ของชีวิต” ดร.ดรูว์ ไวส์แมน กล่าวด้วยความภาคภูมิใจในฐานะผู้ร่วมให้กำเนิด mRNA และยังแบ่งปันความรู้จากเทคโนโลยีนี้ เพื่ออนาคตที่ดีของเพื่อนร่วมโลกทุกคน   ข้อมูลอ้างอิง: https://gulfnews.com/special-reports/drew-weissman-father-of-revolutionary-covid-19-mrna-vaccine-sets-next-target-cancer-other-viral-diseases-1.1618256602528 https://colonialtimesmagazine.com/lexington-natives-mrna-research-leads-to-coronavirus-vaccine/ https://www.nytimes.com/2021/06/10/podcasts/the-daily/mrna-vaccines-katalin-kariko.html https://www.thedp.com/article/2021/04/drew-weissman-research-covid-mrna-technology-lab https://www.forbes.com/sites/carolineseydel/2020/12/09/thai-researcher-aims-to-make-his-country-a-vaccine-powerhouse/?sh=2aa8fadc232f https://www.bangkokpost.com/life/social-and-lifestyle/2132527/leading-by-example ภาพ: https://www.pennmedicine.org/coronavirus/vaccine/qa-with-drew-weissman