Drive My Car ออกเดินทางสำรวจหัวใจ เพื่อเข้าใจความปวดร้าวของชีวิต

Drive My Car ออกเดินทางสำรวจหัวใจ เพื่อเข้าใจความปวดร้าวของชีวิต
‘รถยนต์’ คือพาหนะที่พาเราเดินทางไปจนถึงจุดหมาย แต่สำหรับเรื่อง ‘Drive My Car’ รถ SAAB 900 สีแดงคันนี้กลับพาชายคนหนึ่งออกเดินทางไปสำรวจอดีต ปัจจุบัน และหนทางการใช้ชีวิตที่เหลือในอนาคตอย่างเข้าใจความเจ็บปวดมากยิ่งขึ้น... ‘Drive My Car’ เขียนบทและกำกับโดย ‘ริวสุเกะ ฮามากุจิ’ (Ryusuke Hamaguchi) โดยอิงมาจากผลงานเรื่องสั้นในหนังสือ ‘ชายที่คนรักจากไป’ (Men Without Women) จากปลายปากกาของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) นักเขียนแถวหน้าของญี่ปุ่น  ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) และคว้า 3 รางวัลในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ปี 2021 หนึ่งในนั้นคือรางวัลการเขียนบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งนับว่ายอดเยี่ยมสมชื่อ เพราะทุกประโยคของตัวละครสามารถตรึงใจผู้ชมได้ตลอด 3 ชั่วโมง ส่วนรถ SAAB 900 สีแดงคันเก๋าในเรื่องนั้น ราวกับพาไปสำรวจความคิดและชีวิตของตัวละครได้อย่างลึกซึ้ง **บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาในภาพยนตร์เรื่อง Drive My Car**   แผลเป็นจากความเงียบงัน Drive My Car บอกเล่าเรื่องราวของ ‘ยูสุเกะ ฮาฟูกุ’ ผู้เป็นทั้งนักแสดงและผู้กำกับละครเวทีที่สูญเสียภรรยาไปเมื่อ 2 ปีก่อน ทิ้งไว้เพียงแผลเป็นจากการรับรู้ว่าภรรยาเคยมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับชายอื่นหลายคน แต่ยูสุเกะกลับแสร้งเหมือนว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาตลอด เพราะเขากลัวว่าความสัมพันธ์ระหว่างเขากับภรรยาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แม้วันที่ภรรยาคล้ายว่าจะเอ่ยสารภาพเรื่องนี้กับเขาอย่างจริงจัง ยูสุเกะกลับหลบเลี่ยง ประวิงเวลาจนที่สุดแล้ว เขาก็สูญเสียภรรยาไปตลอดกาล… การผูกปมด้วยปัญหาการไม่พูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาและไม่กล้าเผชิญหน้ากับความขัดแย้งตรง ๆ มักปรากฏอยู่ในหนังสือของมูราคามิอยู่บ่อยครั้งเช่นเดียวกับภาพยนตร์เรื่อง Drive My Car โดยปมปัญหาดังกล่าวที่นับเป็นการสะท้อนจุดอ่อนของวัฒนธรรมการสื่อสารแบบอิงบริบทสูง (high-context culture) ตามแนวคิด Edward T. Hall นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ต้องตีความมากกว่า ‘คำพูด’ แต่ยังรวมถึงบริบทอื่น ๆ เช่น น้ำเสียง สายตา ท่าทางต่าง ๆ หรือเรียกง่าย ๆ ว่ามักจะพูด ‘อ้อม ๆ’ มากกว่าพูดตรง ๆ เพราะกลัวความขัดแย้งและกระทบต่อความสัมพันธ์ ทำให้การปรับความเข้าใจอย่างตรงไปตรงมาไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แม้วิธีการสื่อสารดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิด ทั้งยังมีความงดงามที่นึกถึงใจของอีกฝ่ายเสมอ แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อความสัมพันธ์มาถึงจุดที่ต้อง ‘ปรับความเข้าใจกัน’ การเลี่ยงที่จะไม่พูดเลยแบบยูสุเกะ หรือการบอกอ้อม ๆ ผ่านเรื่องเล่าที่ภรรยาแต่งขึ้นมา กลับกลายเป็นการซุกปัญหาไว้ใต้พรม จนสายเกินจะแก้ไข  หลังภรรยาจากไป ยูสุเกะกอดเก็บความเสียใจและคำถามมากมายเอาไว้แต่เพียงผู้เดียว กระทั่งสองปีถัดมา เมื่อต้องเดินทางไปกำกับละครเวทียังเมืองแห่งหนึ่ง เขาจำเป็นต้องมีคนขับรถอย่างเลี่ยงไม่ได้ และนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ความเสียใจและความปวดร้าวต่าง ๆ ค่อย ๆ พรั่งพรูออกมา พร้อมกับการมองเห็นตัวตนและความต้องการที่แท้จริงของตนเอง  Drive My Car ออกเดินทางสำรวจหัวใจ เพื่อเข้าใจความปวดร้าวของชีวิต ออกเดินทางสำรวจตัวตน หากอิงจากทฤษฎี ‘หน้าต่างสี่บานของโจฮารี’ (The Johari Window) ที่กล่าวว่ามนุษย์มีทั้งด้านที่ตนเองและคนอื่นรับรู้ (open area) ด้านที่คนอื่นรับรู้ แต่เรามองไม่เห็น (blind area) ด้านที่ตนเองรับรู้ แต่ซ่อนไม่ให้คนอื่นรู้ (hidden area) และตัวตนที่ไม่มีใครรับรู้แม้แต่ตัวเราเอง (unknown area) โดยการจะมีความสัมพันธ์ที่ดีได้ ย่อมต้องรู้จักตัวเองและเปิดพื้นที่ให้คนอื่น ๆ เข้าใจตัวตนของเราเช่นเดียวกัน  เมื่อมองผ่านกรอบความคิดนี้ จะพบว่ายูสุเกะอยู่กับภรรยาเขานั้นเต็มไปด้วย hidden area ที่ปกปิดเรื่องราวและความเจ็บปวดของตนเองเอาไว้ไม่ให้ใครรับรู้ จนทั้งคู่เริ่มกลายเป็นเหมือน ‘คนแปลกหน้า’ ต่อกันมากขึ้นเรื่อย ๆ แม้ภรรยาจะเสียไป แต่ความ ‘ไม่เข้าใจ’ ภรรยายังคงเป็นตะกอนที่เกาะกุมหัวใจของเขาไว้อย่างหนักอึ้ง  นอกจากนี้ ยูสุเกะยังหวงรถสีแดงของเขาและไม่ยอมให้ใครขับเด็ดขาด โดยอ้างว่าเป็นเพราะเขามักจะซ้อมบทละครระหว่างขับรถเพียงคนเดียว แม้แต่ตอนที่เขาตรวจพบต้อที่ตาซ้าย ยูสุเกะกลับยอมให้ภรรยาช่วยขับรถเพียงไม่กี่ครั้ง ทั้งยังบอกว่าสิ่งที่เขาไม่ชอบที่สุด คือการที่มีใครมาขับรถแทนเขาเอง จนกระทั่งวันที่ยูสุเกะเดินทางมาอีกเมืองหนึ่งเพื่อทำละครเวที (ซึ่งมีกฎว่าห้ามผู้กำกับขับรถด้วยตัวเอง เพราะเคยเกิดอุบัติเหตุมาก่อน) ยูสุเกะปฏิเสธคนขับรถหลายครั้ง แต่ท้ายที่สุด เขาก็ยอมให้สาวรุ่นราวคราวเดียวกับลูกสาวที่ตายไปมาขับรถคันนี้ให้กับเขาแทน Drive My Car ออกเดินทางสำรวจหัวใจ เพื่อเข้าใจความปวดร้าวของชีวิต หลังจากนั้นยูสุเกะค่อย ๆ เผยตัวตนและเรื่องราวที่เคยกอดกุมเอาไว้ออกมาทีละน้อย เขาปล่อยให้เด็กสาวคนนั้นเข้ามา ‘รับรู้’ ตัวตน บาดแผลและความต้องการที่เคยเก็บซ่อนไว้แต่เพียงผู้เดียว ราวกับเบาะคนขับที่เขาหวงแหนนั้นคือ Hidden Area หรือพื้นที่ที่เขาไม่ยอมเปิดเผยให้ใครล่วงรู้มาก่อน ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่ยูสุเกะค่อย ๆ เปิดใจ อาจเป็นเพราะหญิงสาวคนนี้ไม่ได้ก้าวล้ำเข้ามาในพื้นที่ของเขาทันทีทันใด แต่ให้เวลาและเคารพ (respect) พื้นที่ของยูสุเกะ อย่างประโยคแรก ๆ ที่หญิงสาวคนนี้พูดกับยูสุเกะว่า “หากตอนไหนคุณรู้สึกอันตราย จะมาขับแทนฉันก็ได้” ราวกับการมีเพื่อนคนหนึ่งที่กำลังบอกว่า “ถ้าไม่พร้อมที่จะเล่า ก็ไม่เป็นไรที่ยังไม่เอ่ยมันออกมา” จนยูสุเกะค่อย ๆ เปิดใจให้หญิงสาวคนนี้มา ‘ขับรถ’ พร้อม ๆ กับ ‘รับรู้’ เรื่องราวของเขาทีละน้อย ยิ่งหญิงสาวคนนี้เล่าเรื่องราวชีวิตที่มีบาดแผลใกล้เคียงกันให้ฟัง ยิ่งเหมือนว่าเขาได้เห็นภาพสะท้อนของตัวเองผ่านเรื่องราวของเธอ และรับรู้ว่าไม่ใช่เขาเพียงคนเดียวที่ต้องเผชิญกับความเจ็บปวดรูปแบบนี้ การค่อย ๆ ปล่อยให้หญิงสาวคนนั้นเข้ามาหลบในรถยามหนาว แม้แต่การยอมให้สูบบุหรี่ในรถ คล้ายกับพัฒนาการของตัวละครที่กำลังปลดล็อกและทลายกำแพงในใจ เพื่อโอบรับตัวตนและความรู้สึกที่แท้จริงของตนเอง พร้อม ๆ กับเผยให้คนอื่นได้รับรู้  และจิ๊กซอว์อีกชิ้นที่ทำให้ยูสุเกะเริ่มเข้าใจทั้งตัวเองและภรรยา คือชายหนุ่มผู้เคยมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับภรรยาของเขา โดยชายคนนี้มาเล่าตอนจบของ ‘เรื่องเล่า’ ที่ภรรยาเขาเคยแต่งขึ้นมา จนทำให้ยูสุเกะได้เข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว ภรรยาก็พยายามสารภาพกับเขาผ่านเรื่องเล่านี้ และเธอเองก็เต็มไปด้วยคำถามว่าเหตุใดเขาจึงไม่เอ่ยออกไปว่าเจ็บปวดที่เธอมีคนอื่น  ในที่สุดยูสุเกะก็เริ่ม ‘ยอมรับ’ ได้ว่าเขาเองก็ไม่ได้สบายใจกับการที่ภรรยามีคนอื่น และที่ผ่านมาทุกอย่างไม่ได้ราบรื่น แต่เขา ‘พยายาม’ แสร้งว่าทุกอย่างราบรื่นดี ซึ่งการยอมรับความต้องการของตัวเองคราวนี้ย่อมเจ็บปวดไม่แพ้การกอดเก็บเอาไว้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เขาได้เข้าใจบาดแผลในอดีต ไม่ได้ตั้งคำถามกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทุก ๆ วัน และไม่ได้เป็น ‘คนแปลกหน้า’ ของตัวเอง รวมทั้งคนอื่น ๆ อีกต่อไป Drive My Car ออกเดินทางสำรวจหัวใจ เพื่อเข้าใจความปวดร้าวของชีวิต เข้าใจบาดแผล สู่ทางแยกของชีวิต อย่างไรก็ตาม กระบวนการเหล่านี้อาจช่วยบรรเทาความปวดร้าวของยูสุเกะลงไป และพอจะรู้ว่าต้นตอของปัญหามาจากไหน แต่ไม่ได้หมายความว่าบาดแผลนั้นจะหายไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเขาไม่อาจพาภรรยากลับมาแล้วปรับความเข้าใจใหม่ได้อีกครั้ง นั่นทำให้ยูสุเกะเดินมาถึงทางแยกของชีวิต ซึ่งประจวบเหมาะกับช่วงที่ละครเวทีของเขาเกิดปัญหา ฉากนี้จึงสะท้อนให้เห็นสัญญะในเรื่องที่ต้องการเปรียบเทียบ ‘ชีวิต’ ของยูสุเกะว่าเหมือนกับ ‘ละครเวที’ ของเขาเอง และตอนที่ละครเวทีเกิดปัญหา ผู้จัดมีทางเลือกให้เขาเพียง 2 ทางคือ 1. แสดงบท (ที่เขาไม่อยากแสดง) ด้วยตัวเอง 2. ยกเลิกละครเรื่องนี้ไปตลอดกาล ซึ่ง 2 ทางเลือกนี้อาจสื่อถึงทางแยกว่า เขาจะเลือกใช้ชีวิตของตัวเองต่อไปหรือไม่... ในที่สุด ยูสุเกะได้ตัดสินใจแสดงบทที่เขา ‘ไม่อยากแสดง’ ต่อไป เช่นเดียวกับการโอบกอดตัวตนแท้จริงของเขาและใช้ชีวิตท่ามกลางความเจ็บปวดนี้ต่อ โดยบทพูดในฉากสุดท้ายของละครนั้นราวกับบอกเล่าถึงบทสรุปของเส้นทางที่ยูสุเกะเลือก ทำนองว่า ‘เราแค่ต้องใช้ชีวิตต่อไป อดทนรับความเจ็บปวด ตั้งใจทำงานเพื่อคนอื่น ๆ เพราะโลกใบนี้ไม่อนุญาตให้เราหยุดพัก แล้วในที่สุด เราก็จะหมดลมหายใจไปอย่างเงียบเชียบ เพื่อร้องบอกพระเจ้าว่าชีวิตนั้นระทมทุกข์ ขอให้พระเจ้าเวทนาเรา จากนั้นเราจะพบแต่ดินแดนที่เปี่ยมสุขและรอยยิ้มอ่อนโยนบนใบหน้าอย่างไม่รู้จบ…’ ถ้อยคำเหล่านี้ แม้จะฟังดูเจ็บปวดและไร้ทางเลือก แต่อีกมุมหนึ่งอาจหมายความว่า ยูสุเกะยอมรับและโอบกอดตัวตนของเขาที่เต็มไปด้วยบาดแผลอย่างเข้าใจ และตราบใดที่ยังหายใจอยู่บนโลกใบนี้ เขาไม่อาจสลัดความทุกข์ระทมออกไปได้อย่างหมดจด เขาเพียงแต่ต้องหาวิธีอยู่กับบาดแผลนั้นต่อไปให้นานที่สุด และเดินทางต่อด้วยความหวังว่าสักวัน เมื่อเขาจากไปอย่างเงียบเชียบ ยูสุเกะจะได้หยุดพัก แล้วพบกับดินแดนอันเปี่ยมสุขตลอดกาล...   ภาพ https://www.imdb.com/title/tt14039582/   ที่มา: https://www.gartner.com/en/human-resources/glossary/johari-window