เอิร์ล สเวนเซ่น อดีตกะลาสีเรือผู้หลงใหลไอศกรีม จุดเริ่มต้นของ Swensen’s ที่ตอนนี้มีไทยเป็นตลาดหลัก

เอิร์ล สเวนเซ่น อดีตกะลาสีเรือผู้หลงใหลไอศกรีม จุดเริ่มต้นของ Swensen’s ที่ตอนนี้มีไทยเป็นตลาดหลัก
“ไอศกรีม คือชีวิตของผม” เป็นคำกล่าวของ เอิร์ล สเวนเซ่น (Earle Swensen) ที่สะท้อนให้เห็นความหลงใหลของเขาต่อขนมหวานชนิดนี้ และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ Swensen’s แบรนด์ไอศกรีมดังสัญชาติอเมริกัน อายุยาวนาน 74 ปี ซึ่งตอนนี้มีไทยเป็นฐานที่มั่นหลักในการสร้างการเติบโต ย้อนไปในปี 1942 เอิร์ล สเวนเซ่น กะลาสีชาวอเมริกันได้พบเครื่องทำไอศกรีมขนาดใหญ่บนเรือที่ประจำการ เขาจึงใช้เวลาว่างในการทำและคิดค้นไอศกรีมรสชาติต่าง ๆ สำหรับแจกจ่ายให้เพื่อนฝูงได้ชิม กระทั่งในปี 1948 เมื่อปลดประจำการ เขาได้เปิดร้านไอศกรีมของตัวเอง ใช้ชื่อว่า ‘Swensen’s Ice Cream’ ภายใต้สโลแกน Good as Father Used to Make แปลตรงตัวก็คือ อร่อยเหมือนคุณพ่อทำเอง โดยร้านแรกตั้งอยู่ ณ มุมถนนยูเนียนและไฮด์ เมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สร้างสรรค์ตั้งแต่รสชาติไปถึงชื่อเมนู เอิร์ลให้ความสำคัญมากในการคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณภาพ และจากความเชื่อที่ว่า ลูกค้าควรมีส่วนร่วมในการทำไอศกรีมด้วย ในระยะแรกของการเปิดร้าน เอิร์ลจึงมักจะแจกตัวอย่างไอศกรีมให้ลูกค้าได้ลองชิมพร้อมเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงหรือพัฒนารสชาติไอศกรีมของตัวเอง แม้วานิลลาจะเป็นรสชาติดั้งเดิมที่ขายดีที่สุด ด้วยการเป็นคนช่างคิดชอบสร้างสรรค์ เขาได้พยายามคิดค้นรสชาติใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกถึง 150 รสชาติ รสชาติที่ได้มีหลายรสชาติมาจากความไม่ตั้งใจ ยกตัวอย่างเช่น Sticky Chewy เป็นไอศกรีมรสที่เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญจากการผสมสูตรผิดพลาด แต่เมื่อเอิร์ลชิมแล้วกลับพบว่าอร่อยมาก จึงนำมาบรรจุไว้เป็นหนึ่งในเมนูของ Swensen’s ช่วงเริ่มต้น Swensen’s จะขายเฉพาะไอศกรีม อาทิ ซันเดย์, บานาน่าสปิท ฯลฯ โดยการตั้งชื่อไอศกรีมซันเดย์ เอิร์ลได้แรงบันดาลใจจากจุดเด่นสำคัญ ๆ ในเมืองซานฟรานซิสโก เช่น Earth Quake, Coit Tower และ Ther Fire House ซึ่งอีก 60 ปีให้หลัง Earth Quake ได้กลายเป็นเมนูที่โด่งดังและเป็นซิกเนเจอร์ของร้าน ด้วยความพิถีพิถันในเรื่องวัตถุดิบที่มีคุณภาพ บวกกับการเอาใจใส่ในการดูแลเรื่องบริการ ทำให้ Swensen’s Ice Cream ประสบความสำเร็จ สามารถขยายสาขาได้เรื่อยมา และในปี 1963 ได้ขยายร้านในรูปแบบแฟรนไชส์ เปิดให้สามารถนั่งกินในร้าน รวมถึงมีเมนูอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมา เช่น แฮมเบอร์เกอร์ และแซนด์วิช เป็นต้น สาขาในประเทศสะดุดแต่ไปโตนอกประเทศ ต่อมาในปี 1970 ด้วยอายุมากขึ้น เอิร์ลได้ตัดสินใจขายโรงงานไอศกรีม และร้านทั้งหมดให้กับนักลงทุนคนอื่น ยกเว้นสาขาดั้งเดิมที่ซานฟรานซิสโก (ปัจจุบันร้านยังคงอยู่) โดยภายใต้การบริหารใหม่ ร้าน Swensen’s สามารถขยายสาขาเป็น 400 แห่งในอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสาขาแฟรนไชส์ ก่อนจะทยอยปิดตัวลงจนเหลือสาขาในอเมริกาเพียง 4 แห่ง ส่วนหนึ่งมาจากการแข่งขันของธุรกิจร้านไอศกรีม และคนอเมริกันหันมาใส่ใจสุขภาพกันมากขึ้น (ปัจจุบัน Swensen’s มี International Franchise Corp (IFC) จากประเทศแคนาดาเป็นเจ้าของ ซึ่งมีแบรนด์ชื่อดังหลายแบรนด์อยู่ในมือ อาทิ Yogen Früz, I Can’t Believe It’s โยเกิร์ต (ICBY), Golden Swirl, Yogurty’s, Dreamery และ Bresler’s Ice Cream) ในปี 1995 ชายผู้หลงใหลในไอศกรีม และผู้ให้กำเนิด Swensen’s ได้เสียชีวิตลงในวัย 83 ปี แต่นี่ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของแบรนด์ กลับสร้างก้าวที่ยิ่งใหญ่ในการโตนอกประเทศสหรัฐอเมริกา นั่นคือ ตลาดแถบเอเชีย ตะวันออกกลาง อเมริกาใต้ อินเดีย ไต้หวัน สิงคโปร์ กัมพูชา มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ไทย ลาว และปากีสถาน รวมสาขาแล้วประมาณ 400 แห่ง แบรนด์อเมริกัน แต่มีไทยเป็นฐานที่มั่นหลัก สำหรับการเข้ามาในไทย ทาง IFC ได้มอบสิทธิ์การบริหารให้กับ ‘ไมเนอร์ ฟู้ดส์’ เปิดสาขาแรกในปี 1986 ที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ซึ่งนอกจากในบ้านเราแล้ว ไมเนอร์ ฟู้ดส์ยังได้รับสิทธิ์บริหาร Swensen’s ในเวียดนาม กัมพูชา เมียนมา ลาว และปากีสถาน ปัจจุบัน Swensen’s ในไทยมีสาขามากกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ นั่นหมายความว่า ไทยเป็นตลาดหลักที่สร้างรายได้ให้กับแบรนด์ไอศกรีมดังแบรนด์นี้ นอกจากไทยจะมีสาขามากที่สุด (เกือบ 80 - 90% ของสาขาทั้งหมดรวมอเมริกาและประเทศอื่น ๆ) ยังเป็นประเทศที่ริเริ่มโปรดักต์และทำการตลาดแบบไม่เหมือนประเทศใด เช่น ร้านคอนเซ็ปต์ 24 ชั่วโมงที่สามย่านมิตรทาวน์ , การเปิดแฟลกชิป สโตร์ที่ดีไซน์ตามเอกลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น ๆ, การเปิดตัวโปรดักต์ใหม่ที่สร้างกระแสและได้รับการตอบรับดี อาทิ ไอศกรีมข้าวเหนียวมะม่วง บิงซูมะม่วง รวมถึงล่าสุดไอศกรีมไก่ทอด ที่เกิดไวรัลกันบนโลกโซเชียลฯ จากเริ่มต้นด้วยความหลงใหลในไอศกรีมของอดีตกะลาสีอย่างเอิร์ล วันนี้ Swensen’s ได้เดินทางบนเส้นทางสายธุรกิจมาแล้วถึง 74 ปี และเชื่อว่าจะยังคงอยู่ให้บรรดานักชิมได้ลิ้มรสต่อไป แม้การแข่งขันของตลาดไอศกรีมจะดุเดือดขึ้นมากเท่าไรก็ตาม ภาพ: minorfood อ้างอิง: https://en.wikipedia.org/wiki/Swensen%27s https://www.minorfood.com/th/our-business/swensens https://www.swensens1112.com/th/about-us file:///C:/Users/User/Downloads/15845277935e71f9b168d1e.pdf