เอ็ดดี้ เรดเมย์น ความทุ่มเทที่เปล่งประกายดั่งสีน้ำเงินที่เขาหลงใหล

เอ็ดดี้ เรดเมย์น ความทุ่มเทที่เปล่งประกายดั่งสีน้ำเงินที่เขาหลงใหล
หากมองกันอย่างผิวเผิน เอ็ดดี้ เรดเมย์น (Eddie Redmayne) เป็นหนึ่งในนักแสดงอังกฤษที่เพียบพร้อมทั้ง หน้าตา การศึกษา และฐานะ ชีวิตของเขาจัดได้ว่าอยู่ในแวดวงชนชั้นสูงระดับอีลีทของอังกฤษ จากการเป็นพระสหายร่วมชั้นเรียนปีเดียวกับเจ้าชายวิลเลียมที่วิทยาลัยอีตัน และเรียนจบปริญญาตรีด้านประวัติศาสตร์ศิลปะจากวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ต้นทุนชีวิตที่สูงอาจไม่ได้พาส่งให้ประสบความสำเร็จเสมอไป หากไม่มานะบากบั่นด้วยตนเอง และวันนี้ชีวิตของเรดเมย์นก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ความสำเร็จทั้งหมดที่กองอยู่บนหน้าตัก ล้วนมาจากความทุ่มเทแรงกายแรงใจของเขาทั้งสิ้น หาใช่จากชาติกำเนิดไม่ [caption id="attachment_26578" align="aligncenter" width="1080"] เอ็ดดี้ เรดเมย์น ความทุ่มเทที่เปล่งประกายดั่งสีน้ำเงินที่เขาหลงใหล สี IKB[/caption] ไม่ใช่แค่สี แต่เป็นวิถีในการมองโลก เอ็ดดี้ เรดเมย์น ไม่เคยปิดบังเรื่องที่เขาตาบอดสี แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนอึ้งและทึ่งคือการที่เขาเปิดเผยว่า เคยเขียนวิทยานิพนธ์เรื่องสี International Klein Blue หรือ IKB ซึ่งเกิดจากการคิดค้นของ อีฟส์ ไคลน์ (Yves Klein) ศิลปินชาวฝรั่งเศส โดยเขาแยกสีนี้ได้จากความสว่างของมัน “ผมตาบอดสี แต่ผมแยกสีน้ำเงิน IKB ได้จากทุกที่เลย ผมเคยเขียนเรียงความถึงสีนี้ถึง 30,000 คำ และผมไม่เคยเบื่อมันเลย เม็ดสีนั้นมีความเคลื่อนไหว มันน่าทึ่งมากที่สีหนึ่งสามารถสื่อถึงอารมณ์ได้ ผมได้แต่หวังว่าจะบรรลุถึงความเข้มข้นแบบนี้ในด้านการแสดง" แต่มันไม่ใช่เพียงเรื่องของสี สิ่งที่เรดเมย์นอยากจะบรรลุถึงนั้นคือความหมกมุ่นและทุ่มเทในฐานะผู้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะ การที่สี IKB กลายมาเป็นสีโปรดของเรดเมย์น ไม่ใช่แค่จากความรู้สึกชอบ แต่เป็นเรื่องราวเบื้องหลังของสี IKB ในฐานะผู้ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์ เรดเมย์นศึกษาไปยังต้นเหตุของการคิดค้นสีนี้ สีโดยทั่วไปมักสูญเสียความสว่างและความเงางามไปเมื่อแห้ง แต่สี IKB เป็นสีที่สร้างขึ้นโดยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์ มีความสว่างเรืองรองอยู่ในตัว มันทำให้เขาที่ตาบอดสีสามารถแยกแยะสีนี้จากสีอื่น ๆ ได้ และสัมผัสมันได้จากความสว่างและงดงามของมัน โดยที่ภาวะตาบอดสีไม่ได้มาเป็นข้อจำกัด ไม่แปลกใจเลยที่เรดเมย์นก็เป็นดั่งสี IKB ที่เขาหลงใหล เพราะหลังจบมหาวิทยาลัย เส้นทางการแสดงของเขาก็เริ่มสว่างไสวขึ้นจากฝีไม้ลายมือของตัวเอง เรดเมย์นรับแสดงผลงานหลากหลาย ทั้งละครเวที ภาพยนตร์และซีรีส์โทรทัศน์ จนกระทั่งถึงบทบาทหนึ่งที่ทำให้เขาต้องงัดทุกทฤษฎีมาใช้แบบหมดหน้าตักกับเรื่อง Theory of Everything [caption id="attachment_26588" align="aligncenter" width="1200"] เอ็ดดี้ เรดเมย์น ความทุ่มเทที่เปล่งประกายดั่งสีน้ำเงินที่เขาหลงใหล เรดเมย์นและฮอว์กิง[/caption] “ทฤษฎี” การแสดงอันเข้มข้น “มันเป็นขั้นตอนการวิจัยที่หนักหน่วงมากเลยครับ อย่างกับผมต้องเขียนวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเลยล่ะ” เรดเมย์นเล่าถึงขั้นตอนในการเตรียมตัวรับบทเป็น สตีเฟน ฮอว์กิง (Stephen Hawking) นักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะ ผู้ป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Amyotrophic Lateral Sclerosis - ALS) ในเรื่อง The Theory of Everything (2014) บทนี้เรียกร้องความสามารถขั้นสูงสุดจนเรียกได้ว่าเป็น “ท่ายาก” ระดับปราบเซียนของนักแสดงเลยก็ว่าได้ แต่เขาก็ยอมทุ่มเททุกอย่างเพื่อถ่ายทอดบทนี้ให้สมบูรณ์แบบที่สุด เรดเมย์นต้องใช้เวลานานกว่า 4 เดือนเพื่อศึกษาเอกสารประวัติของฮอว์กิงทุกอย่างเท่าที่หาได้  เรียนกับอาจารย์จากราชวิทยาลัยลอนดอน ซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ของสตีเฟน ฮอว์กิง ที่มาสอนให้เขารู้เรื่องฟิสิกส์ฉบับเร่งรัด เพราะเรดเมย์นไม่ได้ต้องการแค่แสดงว่าตัวเองรู้เรื่อง แต่เขาต้องรู้เรื่องในสิ่งที่พูดออกไปจริง ๆ  เรดเมย์นยังเรียนการเคลื่อนไหวร่างกายวันละ 4 ชั่วโมงให้เหมือนกับผู้ป่วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยมี อเล็กซานดรา เรย์โนล์ดส (Alexandra Reynolds) นักออกแบบท่าเต้นและการเคลื่อนไหว มาติวเข้มทุกเรื่อง ตั้งแต่การจับปากกา ดื่มน้ำ และการเดิน เรดเมย์นยังไปเยี่ยมผู้ป่วยโรค ALS ที่โรงพยาบาลทุก ๆ 2 สัปดาห์ ไปพูดคุยกับผู้ป่วยกว่า 30 คน เพื่อให้เข้าถึงสภาพจิตใจของผู้ที่เป็นโรคนี้มากที่สุด งานหนักของนักแสดงหนุ่มไม่หมดแค่ขั้นตอนการศึกษาบท ผู้กำกับ เจมส์ มาร์ช (James Marsh) เล่าว่า ทุกวันที่มากองถ่าย เรดเมย์นจะหิ้วกองเอกสารปึกหนาที่ไปค้นคว้าเอามาอ่านด้วยตลอด และแม้บางอย่างจะไม่มีอยู่ในบท แต่เรดเมย์นก็ใส่ใจเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่บ่งบอกความเป็นตัวตนของฮอว์กิงโดยไม่ปล่อยผ่าน อย่างเช่นการไว้เล็บยาวตลอดการถ่ายทำ เพราะเขาเคยอ่านเจอว่า ในช่วงอายุ 21 ปี ฮอว์กิงไว้เล็บยาวเพื่อแสดงออกเพื่อถึงการต่อต้านอะไรบางอย่าง ถึงในหนังจะมีฉากที่ถ่ายเห็นเล็บมือนี้แค่ฉากเดียว แต่เรดเมย์นก็มาตัดเล็บเอาวันสุดท้ายที่ถ่ายทำเสร็จ มาร์ชยังเผยอีกว่า เรดเมย์นทุ่มเทกับบทนี้อย่างสุดหัวใจ แม้ระหว่างการถ่ายทำเขาต้องทุกข์ทรมานมากจากการนั่งรถเข็นในท่าขาไขว้กันวันละหลายชั่วโมง อีกทั้งคอพับไปข้างหนึ่ง ซึ่งทำให้เรดเมย์นแทบจะหายใจไม่ได้ แต่ก็ไม่เคยบ่นเลยแม้แต่น้อย  และท้ายที่สุดก่อนหนังออกฉาย เรดเมย์นก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับฮอว์กิงตัวจริง โดยนักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องพูดกับเขาด้วยเสียงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ว่า จะบอกว่าชอบการแสดงของเรดเมย์นหรือไม่ก็ต่อเมื่อได้ดูแล้ว และความทุ่มเทของเรดเมย์นก็สำเร็จ เมื่อฮอว์กิงชมภาพยนตร์เรื่องนี้แล้วถึงกับหลั่งน้ำตา และเขียนอีเมลมาบอกทีมงานว่า นำเสนอเรื่องจริงจนบางครั้งเหมือนเห็นตัวเองอยู่บนจอภาพเลยทีเดียว เอ็ดดี้ เรดเมย์น ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายจากเรื่องนี้ และปัจจุบันเขาเป็นผู้อุปถัมภ์ของ The Motor Neurone Disease Association (MND Association) องค์กรการกุศลที่ช่วยเหลือผู้ป่วย ซึ่งเรดเมย์นมีส่วนร่วมในแง่การช่วยระดมทุนและไปเป็นวิทยากรในงานต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ และส่งกำลังใจให้ผู้ป่วยทุกคนมีความหวังและใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างแข็งแกร่ง [caption id="attachment_26579" align="aligncenter" width="1400"] เอ็ดดี้ เรดเมย์น ความทุ่มเทที่เปล่งประกายดั่งสีน้ำเงินที่เขาหลงใหล เรดเมย์นในบท ลิลี เอลบ์[/caption] พันธมิตรบุคคลข้ามเพศ การรับบทผู้หญิงไม่ใช่เรื่องใหม่ในชีวิตของเรดเมย์น เพราะเขาแสดงเป็นผู้หญิงมาตั้งแต่สมัยอยู่ที่วิทยาลัยอีตัน ศิษย์ร่วมโรงเรียนเดียวกันอย่าง ทอม ฮิดเดิลสตัน (Tom Hiddleston) กล่าวว่า เรดเมย์นเป็นดาวเด่นของโรงเรียนตั้งแต่ตอนนั้น แม้ว่าเขาจะเป็นรุ่นพี่ของเรดเมย์นและมีความสนใจด้านการแสดงเหมือนกัน แต่สมัยนั้นเขาทำได้แค่เป็นหนึ่งในผู้รับบทเป็นช้างให้เรดเมย์นนั่งเท่านั้น “เขาเก่งมากตั้งแต่ตอนนั้นแล้วครับ เขาเป็นดาราใหญ่เลยล่ะ เราแสดงละครเวทีด้วยกันเรื่อง A Passage to India ของ อี. เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ (E.M. Forster) โรงเรียนของเราเป็นชายล้วน และเอ็ดดี้ เรดเมย์น ผู้ยิ่งใหญ่ ที่ตอนนี้กลายเป็นนักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ไปแล้ว ได้แสดงเป็นตัวละครนำหญิง ซึ่งในเรื่องมีฉากที่ต้องเดินทางไกลไปยังสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมชื่อถ้ำมาราบาร์ด้วยช้าง และผมยินดีที่จะเปิดเผยว่า ผมแสดงเป็นขาหน้าข้างขวาของช้างที่เอ็ดดี้ เรดเมย์น นั่งอยู่เองแหละ”   จากแม่หญิงบนหลังช้าง เรดเมย์นยังได้เดบิวต์งานละครเวทีระดับมืออาชีพในปี 2002 ในละครเรื่อง Twelfth Night ในโปรดักชั่นของ Shakespeare's Globe ตอนนั้นเป็นการร่วมเฉลิมฉลองครบรอบ 400 ปีของละครเวทีเรื่อง Twelfth Night ทางผู้สร้างอยากนำเสนอการแสดงละครเวทีจากบทประพันธ์ของเชคสเปียร์ในแบบดั้งเดิมโดยใช้นักแสดงชายรับบทตัวนาง แต่ที่ท้าทายคือ เรดเมย์นรับบทเป็น ไวโอล่า หญิงสาวที่ปลอมตัวเป็นผู้ชาย ดังนั้นเขาจึงเป็นผู้ชายที่มารับบทเป็นผู้หญิงที่ปลอมตัวเป็นผู้ชายอีกที เรดเมย์นต้องใส่คอร์เซ็ตรัดทรวดทรงแบบโบราณ แต่งหน้าทำผมแปลงร่างเป็น “ผู้หญิง” ที่ปลอมตัวเป็น “ผู้ชาย” เขาแสดงบทบาทนี้ได้อย่างแนบเนียน และได้รับคำชมว่าสวยนุ่มนวลจับใจสมบทบาท จนนักวิจารณ์ พอล เทย์เลอร์ (Paul Taylor) ได้รีวิวเอาไว้ว่า “ผมคิดว่า เอ็ดดี้ เรดเมย์น (บัณฑิตจากวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ผู้แสดงได้อย่างน่าเชื่อถือเป็นที่โจษจันในบทไวโอล่า) จะสามารถดึงเอาความเป็นไบเซ็กชวลออกมาจากตัวของชายทุกคน” แม้เรดเมย์นจะแสดงบทผู้หญิงมาตั้งแต่ยังเด็ก และด้วยการศึกษาบทที่ได้รับอย่างลึกซึ้งจะทำให้เขาเข้าถึงบทบาทผู้หญิงได้อย่างน่าเชื่อถือ แต่ว่าเรดเมย์นก็ได้เจออีกบทบาทที่ทำให้โลกและความคิดของเขาเปลี่ยนไป เมื่อแสดงหนังเรื่อง The Danish Girl (2015) ที่เขารับบทเป็น ลิลี เอลบ์ ผู้ได้ชื่อว่าเป็นสตรีข้ามเพศคนแรกที่ผ่าตัดแปลงเพศสำเร็จ เรดเมย์นต้องทำการศึกษาอย่างหนักในการรับบทนี้ และเผยว่ามันเป็นประสบการณ์ที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งคนที่จะเป็นครูให้กับเขาได้ดีที่สุดก็คือเหล่าผู้หญิงข้ามเพศ ที่เรดเมย์นไปใช้ชีวิตในกลุ่มบุคคลข้ามเพศและขอคำปรึกษาจากพวกเธอในการแสดง ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั้งท่าทาง การเคลื่อนไหวร่างกาย ไปจนถึงแนวคิดการใช้ชีวิต การรับบทนี้ทำให้เรดเมย์นถูกวิจารณ์ว่า เหตุใดผู้สร้างภาพยนตร์ไม่ให้โอกาสผู้หญิงข้ามเพศมาแสดงเป็นลิลี เอลบ์ แต่ผู้กำกับ ทอม ฮูเปอร์ (Tom Hooper) เผยว่า การเลือกเรดเมย์นมารับบทนี้ เพราะเห็น “เพศสภาพที่ลื่นไหล” ในตัวนักแสดงหนุ่ม และเชื่อว่าเขาจะนำเสนอบทนี้ออกมาได้อย่างดี เมื่อภาพยนตร์ออกฉาย เรดเมย์นก็ไม่ทำให้ผิดหวัง เขาได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์จากบทบาทนี้ และเหนือสิ่งอื่นใด เขากลายเป็นพันธมิตรของเหล่าบุคคลข้ามเพศอย่างเต็มตัว [caption id="attachment_26580" align="aligncenter" width="968"] เอ็ดดี้ เรดเมย์น ความทุ่มเทที่เปล่งประกายดั่งสีน้ำเงินที่เขาหลงใหล เรดเมย์นใน Fantastic Beasts[/caption] “ผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง” เอ็ดดี้ เรดเมย์น ยืนยันจุดยืนของเขาในการอยู่เคียงข้างบุคคลข้ามเพศ หลังจากเกิดประเด็นร้อนเกี่ยวกับ เจ.เค. โรว์ลิง (J.K. Rowling) เจ้าของบทประพันธ์แฟรนไชส์ Harry Potter และ Fantastic Beasts ที่มีประเด็นขัดแย้งกับกลุ่มบุคคลข้ามเพศ ในประเด็น “เพศกำเนิด” และ “เพศสภาพ” แม้ว่าเรดเมย์นยังคงเคารพโรว์ลิง แต่ก็ขอแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาเห็นต่างจากเธอ เรดเมย์นยืนยันว่า “ผู้หญิงข้ามเพศคือผู้หญิง ผู้ชายข้ามเพศคือผู้ชาย และอัตลักษณ์ของกลุ่มนอน-ไบนารี (non-binary) ก็มีอยู่จริง ผมไม่เคยอยากจะออกมาพูดแทนกลุ่มชุมชนบุคคลข้ามเพศ แต่ผมรู้ว่าเพื่อนรักและเพื่อนร่วมงานชาวบุคคลข้ามเพศของผมต่างก็เหน็ดเหนื่อยกับการถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของพวกเขา ซึ่งหลายครั้งที่ผลลัพธ์ลงเอยที่ความรุนแรงและการถูกทำร้าย พวกเขาเพียงต้องการใช้ชีวิตอย่างสงบสุข และถึงเวลาแล้วที่ต้องให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตแบบนั้น” การที่เรดเมย์นแสดงจุดยืนโดยการไม่ต้องการพูดแทน แต่ต้องการให้สังคมทำความเข้าใจกับบุคคลข้ามเพศนั้นเป็นอีกหนึ่งข้อที่ยืนยันว่า เรดเมย์นมีความจริงจัง ทุ่มเทแรงกายแรงใจ และเคารพทุกบทบาท และนั่นทำให้เขาแตกต่างจากนักแสดงคนอื่น ๆ ราวกับสี International Klein Blue ที่ไม่ว่าจะอยู่ในบทบาทไหน แฟน ๆ ก็จะสัมผัสได้จากประกายที่เปล่งออกมาจากตัวเขา   เรื่อง: เพจผู้ชายคนนั้นจากหนังเรื่องนี้