Post on 30/11/2018
บทบรรณาธิการ #4 เป็นดารามันเหนื่อย ใน “บันเทิงเชิงร้าย”

พูดถึงดาราเขียนหนังสือ ถ้าถามว่าตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา คนที่เราตามอ่านเพราะผลิตผลงานอย่างสม่ำเสมอ นั่นก็คือ ทราย-อินทิรา เจริญปุระ
ในสมัยที่การอ่านมติชน สุดสัปดาห์ ถือเป็นความ Hype ของเด็กรัฐศาสตร์ ที่ธรรมศาสตร์ ในช่วงวันศุกร์ ต้องมีเพื่อนฝูงสักคนเดินถือนิตยสารหัวนี้เดินเข้ามาที่คณะซึ่งอยู่ทางฝั่งท่าพระอาทิตย์ แล้วแบ่งปันกันอ่านบ้าง สัปดาห์ไหนมีตังค์ก็ซื้ออ่านเองบ้าง สัปดาห์ไหนไม่มีใครซื้อ ก็ขึ้นไปอ่านที่ห้องสมุดคณะบ้าง จะมีหรือไม่มีในมือ ต้องหามาอ่านให้จงได้-ติดกันเบอร์นั้น
ท่ามกลางคอลัมนิสต์คนโปรดมากมายในนิตยสาร (ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเลือกทำงานสื่อที่แรกกับค่ายมติชน เพราะอยากใกล้ชิดกับนักคิดนักเขียนที่เราชอบ) ที่แม้จะเน้นหนักไปทางวิเคราะห์การเมือง แต่คอลัมน์ “รักคนอ่าน” ของทราย เจริญปุระ ที่เธอแนะนำหนังสือที่เธออ่านโดยเล่าประกอบเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของเธอ ถือเป็นของที่ขาดไม่ได้
ถ้าเป็นอาหาร ก็คงเป็นของหวานนุ่มๆ ที่เอามาทานล้างปากให้สบายใจหลังจากที่ผ่านเมนคอร์สอันหนักหน่วงของคอลัมน์การเมือง และเศรษฐกิจในเล่ม ให้รู้สึกว่า ชีวิตยังมีมุมงดงามอื่นให้ติดตาม
จากสื่อกระดาษ ความ Hype มันย้ายมาอยู่ออนไลน์ คนอ่านก็ตามมาอ่านงานบนโลกออนไลน์ ไม่ได้หนีหายไปไหน แต่โตมาด้วยกัน
เราเลยได้ตามอ่าน คอลัมน์ “บันเทิงเชิงร้าย” ของเธอในเว็บไซต์ thematter.co เพิ่มขึ้นอีกทาง
…
ยอมรับอย่างหนึ่งว่า นอกจากเรื่องความเจนจัดในการใช้ภาษาที่ดู “พลิ้ว” มากขึ้นแบบคนเขียน คนอ่านโตไปด้วยกัน ทราย เจริญปุระ เธอเก่งมากในเรื่องสร้อยภาษาที่เขียนประโยคสักอย่างให้เรา (ผมคนหนึ่งล่ะ) จดจำติดหัวมา
อย่าง ตอนปรากฏการณ์ BNK48 ในหนัง Girls Don’t Cry สิ่งหนึ่งที่ผมจำได้ติดหูติดปากจากปรากฏการณ์นี้ก็คือ ประโยคที่ทรายเขียนถึงหนังประมาณว่า “อยากจะเดินไปหวีผม แล้วบอกอะไรสักอย่างกับพวกเธอ” แค่ประโยคนี้มันก็ทำให้เราเก๊ตถึงความรู้สึกแล้วว่า น้องๆ พวกเอ็งเหนื่อย พวกเอ็งท้อกับวงการบันเทิงใช่ไหม มานี่-ในฐานะที่พี่อยู่วงการบันเทิงมาก่อน โตมากับการกินข้าวกองถ่ายมาก่อน พี่จะเล่าให้เอ็งฟัง
น่าเสียดายว่า ตอนนี้ผมไว้ทรงสกินเฮด พออ่าน “บันเทิงเชิงร้าย” จบแล้ว อยากให้แกมาหวีผม แล้วบอกอะไรสักอย่างให้ฟังบ้าง แต่มันคงจะออกแนวหัวล้านได้หวีแน่นอน (ฮา)
…
“บันเทิงเชิงร้าย” (สำนักพิมพ์ Bunbooks) เป็นหนังสือที่อ่านเพลิน ผมชอบมาก อ่านรวดเดียวจบ (ถึงตรงนี้ที่เขียนไปยังไม่ได้เงินโฆษณาอะไรนะครับ เขียนเพราะชอบจริงๆ) ตอนลงบทความใน The Matter ผมอ่านบ้างไม่อ่านบ้าง แต่พอมาอ่านรวมเล่ม แล้วเห็นภาพรวมของวงการบันเทิงและตัวตนของความเป็น “คนกอง” ที่อยู่กับกองถ่ายหนังในแง่มุม “คนใน” มากๆ
มองเผินๆ หนังสือเล่มนี้มันดูเหมือนรวมบทความเมาธ์มอยหยิกกัดแกมเอ็นดูวงการบันเทิง ตั้งแต่เรื่อง บรรยากาศกองถ่าย ช่างแต่งหน้า ข้าวกองถ่าย ไปจนถึงที่ฉี่ที่เยี่ยว ด้วยภาษาแบบทราย เจริญปุระ ที่คนคุ้นเคยเธอผ่านหน้าจอ จะนึกภาพออกเลยว่าเธอจะพูดอะไรออกมาด้วยน้ำเสียงยังไง
ซึ่งผมชอบความ bitch ที่ดูจริงใจของเธอตรงนี้มาก ๆ อย่างเช่นตอนพูดถึงรายการเยี่ยมบ้านดารา
“…พอใกล้ถึงเวลานัดก็ใส่ชุดอยู่บ้านเดินมาจากห้องนอน คำว่าชุดอยู่บ้านของฉันหมายถึงชุดอยู่บ้านจริงๆ ใส่เสื้อนุ่มกับกางเกงเน่า แม่เห็นแล้วถึงกับขอให้ขึ้นไปเปลี่ยน เพื่อลดความ ‘จริง’ ลงบ้าง
พอเปลี่ยนเสร็จเดินลงมา ก็โดนทีมงานขอให้ไปเปลี่ยนอีกรอบ เพราะสีผิดไปจากสีหลักของสปอนเซอร์
ไม่บอกก่อน คราวหน้ากูจะใส่สีรุ้งให้รู้แล้วรู้รอด”
…
ที่บอกว่าเผิน ๆ เหมือนกับเป็นเรื่องเมาธ์มอยวงการบันเทิง เพราะพออ่านภาพรวมของเล่ม มีความเป็นอัตชีวประวัติของพี่ทรายกับงานที่แกทำมาทั้งชีวิตชัดเจนมาก ตั้งแต่เป็นเด็กที่โตในกองถ่าย เริ่มเล่นละครเรื่อง “ล่า” จนมาสู้การเป็น “เลอขิ่น” ในหนังตำนานพระนเรศวรอยู่หลายปี
แม้ว่าสำนวนการเล่าเรื่องตัวเองจะมีทั้งวีนแตก รื่นรมย์กับเรื่องริมทาง (เช่นเรื่องช่างไฟกับตำมะยมที่หาได้ข้างทาง) ไปจนถึงเรื่องชวนเศร้าที่เล่าอย่างธรรมดาที่สุดอย่างเรื่องคุณพ่อกับความจริงจังในการทำงานในกองถ่าย
แต่ทั้งหมดทั้งมวล ทำให้เราได้เห็นชีวิตคนทำงานคนหนึ่งที่งดงามมาก มันไม่ได้งดงามเพราะทำงานที่รัก แต่งดงามเพราะการเล่าเรื่องเพื่อที่จะบอกว่า ทั้งชีวิตอยู่กับมัน โลกความจริงมันไม่ใช่ฮันนีมูนพีเรียด มันมีความดีความร้าย แต่เธอดีลและคิดว่าอยู่กับมันได้
มันก็เหมือนกับชีวิตคนทั่วไป เราอาจจะไม่ได้รักงานมากขนาดนั้น เจอส่วนไม่ดีเราก็บ่น เจอความสำเร็จเราก็เก็บไว้ขิงกันบ้าง บางวันอารมณ์เสีย ก็มีออกอารมณ์กับเพื่อนร่วมทีม พอได้สติก็ขอโทษขอโพยแล้วทำงานด้วยกันต่อไป รวมๆ คือเราต้องอยู่กับมันให้ได้ เพราะมันคือชีวิตของเรา
นี่สิ…มืออาชีพ
…
บทที่พูดถึงเรื่องนี้ได้ดีที่สุดก็คงเป็นตอนที่ทรายแสดงเป็น “เลอขิ่น” กับเรื่องการเตรียมตัวเป็นปีๆ เพื่อฝึกคิวบู๊ และความสัมพันธ์กับซีซี ม้าที่แสดงร่วมกับเธอ
น้ำเสียงเธอเล่านี่หลายอารมณ์มาก โดยเฉพาะฉากขี่ม้าผ่านเอฟเฟกต์ในหนัง คือมันมีทั้งอารมณ์หวาดหวั่น ไปจนถึงอารมณ์แบบมันจะได้ดั่งใจไหมวะ แต่ก็ต้องทำ จนผ่านไปด้วยกันได้ในที่สุด
ตอนท้ายเธอบอกว่า…
“ฉันตะกายลงจากหลังซีซี
ซีซีมองฉันอย่างอ่อนโยน
แล้วเราก็ถอนหายใจพรืดยาวออกมาพร้อมกัน”
ชีวิตของเราแต่ละคน คงมี “ม้า” ที่เราควบตะบึงไปข้างหน้าที่แตกต่างกันนั่นล่ะ แม้บางอารมณ์เราจะเซ็งม้าในใจของเราเองบ้าง
แต่ถึงเวลาควบม้าผ่านอะไรเสร็จเรียบร้อยแล้ว…
เราว่าเราคิดแบบทรายนี่ล่ะ