ไอนาร์ เวเกเนอร์ (ลิลี่ เอลบี): สตรีข้ามเพศคนแรกผู้เป็นต้นแบบ ‘The Danish Girl’

ไอนาร์ เวเกเนอร์ (ลิลี่ เอลบี): สตรีข้ามเพศคนแรกผู้เป็นต้นแบบ ‘The Danish Girl’
หลังจากภาพยนตร์เรื่อง ‘The Danish Girl’ ออกฉายตั้งแต่ปี 2015 ชื่อของ ‘ไอนาร์ เวเกเนอร์’ (Einar Wegener) หรือ ‘ลิลี่ เอลบี’ (Lili Elbe) ก็ถูกพูดถึงทั่วโลกในฐานะผู้ที่ถูกจารึกว่าเป็นสตรีข้ามเพศคนแรกของโลก หนังสือ ‘Man Into Women’ เป็นการนำไดอารีส่วนตัวของ ลิลี่ เอลบี หรือชื่อจริงคือ ไอนาร์ เวเกเนอร์มาเรียบเรียง โดยใช้นามแฝงกับทุกคนที่มีชื่อในหนังสือ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้คนได้รู้จักกับเรื่องราวชีวิตของผู้เปลี่ยนจากชายมาเป็นหญิง  หนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1933 หลังจากการเสียชีวิตของไอนาร์ ซึ่งต่อมาถูกนำมาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่นวนิยายขายดีอย่าง ‘The Denish Girl’ (2000) เขียนโดย ‘เดวิด อีเบอร์ชอฟฟ์’ (David Ebershoff) และในปี 2015 ได้ถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อเรื่องเดียวกัน นำแสดงโดยนักแสดงมากฝีมือเจ้าของรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากภาพยนตร์สุดประทับใจ ‘The Theory of Everything’ (2014) อย่าง ‘เอ็ดดี้ เรดเมย์น’ (Eddie Redmayne)   ลิลี่ เอลบี เป็นนามปากกาของ ไอนาร์ เวเกเนอร์ จิตรกรหนุ่มชาวเดนมาร์ก เขาเกิดเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม ปี 1882 ในเมืองเล็ก ๆ ริมอ่าวไวเล (Vejle) ประเทศเดนมาร์ก ไอนาร์เป็นเด็กหนุ่มที่ฉลาดเกินวัยและชื่นชอบงานศิลปะเป็นอย่างมาก เมื่อโตเป็นวัยรุ่น เขาจึงย้ายไปที่โคเปนเฮเกน (Copenhagen) เพื่อเข้าศึกษาวิชาศิลปะที่ ‘The Royal Danish Academy of Fine Arts’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ทำให้ไอนาร์ได้พบกับรักแรกของเขา ‘เกอร์ด้า ก็อตลีบ’ (Gerda Gottlieb)  ต่อมาทั้งคู่ได้แต่งงานและใช้ชีวิตอย่างจิตรกรหนุ่มสาวผู้หลงใหลในงานศิลปะ การแต่งงานของทั้งคู่เกิดขึ้นในปี 1904 ในวัยที่ไอนาร์มีอายุเพียง 22 ปี และเกอร์ด้ามีอายุเพียง 19 ปี   งานภาพวาดของไอนาร์มักเป็นภาพวิวทิวทัศน์ ทัศนียภาพทางธรรมชาติที่สวยงาม ส่วนเกอร์ด้าภรรยาผู้เป็นที่รักเป็นนักวาดภาพประกอบให้กับหนังสือและนิตยสารแฟชั่นที่ประสบความสำเร็จในสายงานของตน เธอมักชอบขอร้องให้ผู้เป็นสามีมาเป็นแบบให้วาดภาพโดยการสวมใส่เสื้อผ้าแฟชั่นของผู้หญิง และแน่นอนว่าไอนาร์ปฏิเสธ  แต่แล้ววันหนึ่ง ‘แอนนา ลาร์สเซน’ (Anna Larssen) นางแบบขาประจำผู้เป็นนักแสดงชื่อดังและเพื่อนรักของทั้งคู่ ไม่สามารถมาเป็นแบบให้กับเกอร์ด้าได้ นั่นเองเป็นจุดเริ่มต้นของการค้นพบตัวตนของไอนาร์ เวเกเนอร์ จากไอนาร์ เวเกเนอร์ สู่ลิลี่ เอลบี วันหนึ่งในปี 1908 เกอร์ด้าได้รับสายโทรศัพท์จากแอนนาว่าเธอไม่สามารถมาเป็นแบบให้ได้ในครั้งนี้ แอนนาเสนอว่าให้ชายหนุ่มร่างผอมบางอย่างไอนาร์เป็นแบบแทนเธอ เมื่อได้ยินเช่นนั้น สามีผู้ต่อต้านคำขอร้องของภรรยาไม่ไหว จึงยอมจำนนใส่ถุงน่องและส้นสูงที่ถูกเตรียมไว้แต่โดยดี  “มันอาจจะฟังดูแปลก แต่ฉันชอบตัวเองในการได้แต่งกายเช่นนี้ ฉันชอบความรู้สึกของเสื้อผ้าผู้หญิงที่อ่อนนุ่มตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ใส่มัน ฉันรับรู้ได้ถึงความรู้สึกเหมือนดังบ้านที่คุ้นเคย” เนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือเรื่อง Man Into Women ความรู้สึกแสนประหลาดก่อตัวขึ้นทันทีภายในตัวของไอนาร์ ดังสิ่งที่ถูกซุกซ่อนอยู่ภายในก้นบึ้งได้ถูกค้นเจอ ขณะนั้นเอง แอนนาได้ปรากฏตัวที่สตูดิโออย่างกะทันหัน เมื่อได้พบกับไอนาร์ในร่างชุดหญิงสาว เธอจึงได้เรียกเขาในชื่อใหม่ว่า ลิลี่ นับแต่นั้นไอนาร์ได้เริ่มบทบาทของการเป็นนางแบบให้ภรรยาของตนอย่างเป็นกิจวัตร ภาพวาดของเกอร์ด้าได้เปลี่ยนให้เขาเป็นหญิงงามอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ตัวตนของลิลี่ชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ เธอเริ่มเป็นมากกว่าตัวแบบที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่องานศิลปะของเกอร์ด้า ไม่กี่ปีต่อมา ไอนาร์เริ่มแต่งตัวเป็นผู้หญิงในที่สาธารณะอย่างเปิดเผยในฐานะของลิลี่   ต่อมาในปี 1912 ทั้งคู่ตัดสินใจย้ายจากโคเปนเฮเกนไปยังเมืองปารีส ฝรั่งเศส เนื่องจากข่าวภาพวาดผู้หญิงของเกอร์ด้าที่ใช้สามีของตนเองเป็นแบบถูกแพร่ออกไปสู่สาธารณะ นับเป็นเรื่องอื้อฉาวที่คนในวงสังคมยากจะเปิดรับ การย้ายมายังปารีส เมืองที่ไม่มีผู้ใดรับรู้ถึงตัวตนและเรื่องราวก่อนหน้าจึงเป็นทางเลือกที่ดีของทั้งคู่   ไอนาร์ตัดสินใจละทิ้งตัวตนเดิมและเริ่มต้นการเป็นลิลี่นับแต่นั้นมา เธอใช้ชีวิตในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งอย่างเปิดเผยตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีร่วมกับเกอร์ด้า โดยเธอถูกแนะนำต่อผู้อื่นในฐานะพี่สาวของไอนาร์ กำเนิดสตรีข้ามเพศคนแรกของโลก ในปี 1920 ลิลี่ได้พบกับ ‘ดร.แม็กนัส เฮิร์ชเฟลด์’ (Dr. Magnus Hirschfeld) ผู้จุดประกายความหวังที่จะทำให้เธอสามารถกลายเป็นผู้หญิงได้อย่างสมบูรณ์ เขาเป็นผู้ก่อตั้ง ‘German Institute for Sexual Science’ แห่งเมืองเบอร์ลิน และเป็นคนแรกที่ได้บัญญัติคำว่า ‘การแปลงเพศ’ (Transexualism) ขึ้นมา ต่อมาในปี 1930 ลิลี่เข้ารับการผ่าตัด 4 - 5 ครั้งในระยะเวลา 2 ปี โดยการผ่าตัดครั้งแรกเกิดขึ้นที่ German Institute for Sexual Science ภายใต้การดูแลของ ดร.แม็กนัส เฮิร์ชเฟลด์ โดยเป็นขั้นตอนของการนำลูกอัณฑะออกจากร่างกาย ต่อมาในการผ่าตัดครั้งที่เหลือเปลี่ยนมาที่สถาบัน ‘Dresden Municipal Women’s Clinic’ ดำเนินการโดยนายแพทย์สูติฯ ชาวเยอรมันอย่าง ‘ดร.เคิร์ต วาร์เนโครส’ (Dr. Kurt Warnekros) ที่ปรากฏตัวให้เห็นในภาพยนตร์เรื่อง The Danish Girl ในช่วงหลัง  ขั้นตอนในการผ่าตัดเริ่มจากการผ่าเอาอวัยวะเพศออก สร้างช่องคลอด ปลูกถ่ายรังไข่ และการผ่าตัดครั้งสุดท้ายคือการปลูกถ่ายมดลูกเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของเธอในภายหลัง ลิลี่มีความปรารถนาที่จะเป็นผู้หญิงโดยสมบูรณ์ เธอมีความต้องการจะฝังรังไข่และมดลูกอย่างแรงกล้า ด้วยอุดมคติที่ว่าหากต้องการเป็นผู้หญิงที่แท้จริง เธอจะต้องสามารถตั้งครรภ์ได้  ต้องยอมรับว่าการปลูกถ่ายมดลูกในยุคที่การแพทย์ยังไม่มีองค์ความรู้เทียบเท่าในปัจจุบัน เป็นสิ่งใหม่ที่มีความเสี่ยงและยังไม่เคยมีผู้ใดเคยทำมาก่อน หลังจากการผ่าตัดได้ 3 เดือน ลิลี่เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 13 กันยายน ปี 1931 ด้วยภาวะหัวใจวายจากการที่ร่างกายปฏิเสธมดลูกที่ปลูกถ่ายในวัย 49 ปี การดับสูญไปพร้อมกับความปรารถนาที่เป็นจริง หลังจากการผ่าตัด ลิลี่ เอลบีได้รับการยอมรับว่าเธอเป็นผู้หญิงอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การแต่งงานระหว่างเธอกับเกอร์ด้าจึงถือเป็นโมฆะ โดยนามสกุลเอลบี มาจากชื่อของแม่น้ำสายที่ไหลผ่านสถานที่ที่เป็นการผ่าตัดครั้งสุดท้ายของเธอ “ฉันรู้แล้วว่าความตายได้ใกล้เข้ามา เมื่อคืนฉันฝันถึงแม่ เธออุ้มฉันไว้ในอ้อมแขน และเรียกฉันว่า ลิลี่… และพ่อก็อยู่ตรงนั้นด้วย” นั่นคือข้อความจากจดหมายของลิลี่สู่น้องสาว ก่อนที่เธอจะจากโลกนี้ไปอย่างไม่หวนกลับ  ถึงแม้เธอจะมีโอกาสได้ใช้ชีวิตในฐานะของคนที่มีร่างกายดั่งผู้หญิงเพียงไม่นาน แต่นั่นไม่สามารถตัดสินความเป็นผู้หญิงของเธอได้แม้แต่น้อย เพราะท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าร่างกายของเธอโดยกำเนิดจะเป็นอย่างไร แต่จิตวิญญาณและตัวตนของเธอเป็นสิ่งแท้จริง เธอรักในความเป็นผู้หญิงจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ลิลี่ไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยบังเอิญจากความไม่ตั้งใจ แต่เธอคือตัวตนที่อยู่ภายใน และในที่สุดก็ถูกค้นเจอ   เรื่อง : ดวงนฤมล วงศ์ใหญ่  ภาพ: Photo by ullstein bild/ullstein bild via Getty Images https://www.youtube.com/watch?v=d88APYIGkjk  ที่มา : https://www.historyvshollywood.com/reelfaces/danish-girl/ https://www.biography.com/artist/lili-elbe https://www.britannica.com/biography/Lili-Elbe https://www.theguardian.com/science/blog/2016/jan/13/magnus-hirschfeld-groundbreaking-sexologist-the-danish-girl-lili-elbe https://people.com/movies/the-real-life-danish-girl-the-story-of-1920s-transgender-artist-lili-elbe/ https://www.vogue.com/article/danish-girl-paintings