ด้านมืดอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า เมื่ออำนาจ - ความโลภ - ละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้แรงงานเด็กรุนแรงมากกว่าเดิม

ด้านมืดอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า เมื่ออำนาจ - ความโลภ - ละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้แรงงานเด็กรุนแรงมากกว่าเดิม
“เราเป็นรุ่นแรกที่รู้สึกถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และคนรุ่นสุดท้ายที่สามารถทำอะไรกับมันได้ เรามีบ้านหลังเดียว เรามีโลกใบเดียว เราไม่มีแพลนบี” สุนทรพจน์ของ บารัก โอบามา (Barack Obama) ที่หลายคนคงเคยได้ยินมาแล้วจากหลายที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงและโลกร้อน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้คนและธุรกิจให้ความสนใจไม่อยากให้เลวร้ายลงไปกว่านี้ เพราะอย่างที่โอบามาบอก คือ เรามีโลกใบเดียว และไม่มีแพลนบี (แม้จะมีหลายคนพยายามบอกว่า การเดินทางไปดาวเคราะห์ดวงอื่นคือทางรอดก็ตาม ทว่าความจริงเรื่องนี้ยังเกิดขึ้นได้ยาก) จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มีการนำเสนอหลากหลายเทคโนโลยีเข้ามาเป็นทางออกของปัญหา รวมถึง ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ ที่ถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งทางออกดีที่สุด เพราะเป็นพลังงานสะอาด บวกกับสภาวะราคาน้ำมันที่แพงขึ้นทุกวัน จนได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในยุคปัจจุบัน แต่ใครจะรู้บ้างว่า ภายใต้ภาพลักษณ์สวยงามของรถไฟฟ้าที่ดีต่อโลก กลับมีเรื่องราวด้านมืดอยู่เบื้องหลัง ทั้งแบตเตอรี่เปื้อนเลือด การฉ้อโกงเพื่อผลประโยชน์ การเอารัดเอาเปรียบประชาชนไร้ทางเลือก และการใช้แรงงานเด็กที่ผิดกฎหมาย BloodyBatteries ‘แบตเตอรี่’ ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าทุกคัน และหลายคนอาจจะไม่รู้คือ แร่ลิเทียมและแร่โคบอลต์ เป็นส่วนประกอบสำคัญของแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นโลหะหายากและมีปริมาณจำกัด โดยโคบอลต์จะช่วยรักษาเสถียรภาพในแบตเตอรี่ให้ทำงานได้นานและปลอดภัยมากขึ้น ทำให้เกิดการแข่งขันในการสร้างแบตเตอรี่ที่วิ่งได้ไกลและนาน จนโคบอลต์เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น และมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้โคบอลต์จะกระจัดกระจายทั่วโลก ตั้งแต่ออสเตรเลีย แคนาดา จีน คิวบา แอฟริกาใต้ อเมริกา และฟิลิปปินส์ แต่ว่า 70% ของมันมาจากแค่ประเทศเดียวในโลกใบนี้คือสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘คองโก’ ซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่อันดับ 2 ในแอฟริกา มี GDP อยู่ราว ๆ 49,000 ล้านเหรียญฯ และเป็นแหล่งโคบอลต์ขนาดใหญ่สุดของโลก ขณะเดียวกันคองโกยังมีชื่อเสียงทางด้านลบเกี่ยวกับปัญหาภายในประเทศ ความยากจน การทุจริต และเป็นประเทศที่ถูกเอาเปรียบโดยประเทศมหาอำนาจอื่น ๆ มาโดยตลอดในประวัติศาสตร์ ประชากรถูกขายเป็นแรงงานทาส ถูกข่มเหงด้วยความรุนแรงเพื่อทำสวนยางหรือเหมืองเพชร ทรัพยากรอันมีค่ามากมายถูกปล้นเอาไปจนไม่สามารถสร้างประเทศที่มั่นคงและรายได้ให้กับประชากรของตัวเองได้ จากประชากร 92 ล้านคนในคองโก ตอนนี้มีประมาณ 2 ล้านคนทำงานในเหมืองขุดแร่โคบอลต์ (คนกลุ่มนี้มีชื่อเรียกว่า Négociants) โดยเหมืองขุดแร่โคบอลต์ในคองโกมี 2 ประเภท ได้แก่ ‘Industrial’ หรือเหมืองขนาดใหญ่ และ ‘Artisanal’ เหมืองขนาดเล็ก สำหรับเหมืองขนาดเล็ก ไม่มีกฎหมายแรงงานหรือมาตรการด้านความปลอดภัยจากรัฐบาลคุ้มครองเลย และตามรายงานของ Transport & Environment กลุ่มรณรงค์ด้านการขนส่งแบบไม่สร้างมลภาวะของยุโรปบอกว่า มีคนงานประมาณ 200,000 คนในเหมืองเหล่านี้ ขณะที่ Wilson Centre ฟอรัมนโยบายที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดของสหรัฐฯ ระบุว่า ในเหมืองขุดแร่โคบอลต์มีแรงงานเด็กอย่างน้อยประมาณ 40,000 คน และบางคนมีอายุเพียง 4 ขวบเท่านั้น ซึ่งเด็กเหล่านี้ต้องเผชิญหน้ากับงานที่ลำบากและเสี่ยงตายทุกวัน ต้องสอดตัวเข้าไปในอุโมงค์แคบ ๆ ร้อนเหมือนเตาหลอม แทบไม่มีอุปกรณ์ช่วยเหลืออะไรเลย และได้ค่าแรงน้อยกว่า $2 หรือน้อยกว่า 70 บาทด้วยซ้ำ น่าเศร้ากว่านั้นคือ มีหลายชีวิตต้องจบชีวิตเพราะเงินเพียงแค่นี้ ในปี 2019 ครอบครัวชาวคองโกรวมตัวกันเพื่อฟ้องบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่หลายแห่งทั้ง Apple, Microsoft, Google และแน่นอน Tesla ด้วยว่ามีส่วนในเหตุการณ์เสียชีวิตและบาดเจ็บมากมายของเด็กที่ไปขุดเหมืองเพื่อหาโคบอลต์ มีการยกตัวอย่างเหตุการณ์หนึ่งที่เด็กชายอายุเพียง 9 ขวบ ต้องแบกขนโคบอลต์ทุกวันและได้เงินเพียงวันละ 0.75 เหรียญฯ เท่านั้น (ราว ๆ 26 บาท) วันหนึ่งระหว่างทำงาน เขาตกลงไปในอุโมงค์ เพื่อนร่วมงานดึงตัวเขาขึ้นมาได้อย่างปลอดภัย แต่เขาก็บาดเจ็บจนไม่สามารถลุกไปไหนได้ แต่กลับถูกปล่อยทิ้งไว้ตามลำพังจนพ่อแม่ทราบข่าวรีบมาที่เกิดเหตุ แต่ก็สายเกินไป เขาเป็นอัมพาตตั้งแต่หน้าอกลงไป และไม่มีโอกาสกลับมาเดินได้อีกแล้วในชีวิตนี้ จีนผลิตโคบอลต์แปรรูปมากที่สุดในโลก ชาวคองโกเชื่อว่านี่คือโอกาสสร้างรายได้ มันไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นความจำเป็นเพื่อความอยู่รอด แม้เด็ก ๆ ต้องทำงานแบบผิดกฎหมาย ขุดเหมืองขนาดเล็ก ก็ยังพร้อมจะมีบริษัทหลายแห่งแกล้งมองไม่เห็น แล้วรับซื้อโคบอลต์จากแรงงานเด็กผิดกฎหมายเหล่านี้อยู่ ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทจากประเทศจีนก็ถูกจับตามองเป็นพิเศษ ย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อน จีนเริ่มหันมาให้ความสนใจทวีปแอฟริกา และใช้เงินลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ อย่างโรงเรียน ถนน รางรถไฟไว้เยอะมาก (อันนี้รายละเอียดค่อนข้างเยอะ ใครสนใจลองตามอ่านกันได้) สร้างอิทธิพลและร่วมมือกับรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในพื้นที่เอาไว้อย่างแยบยล นอกจากนั้นยังใช้เงินจำนวนมหาศาลสำหรับการสร้างเหมืองขุดแร่โคบอลต์ในคองโกด้วย ข้อมูลจากเว็บไซต์ Mining.com บอกว่าตอนนี้ประเทศจีนผลิตโคบอลต์แปรรูปได้มากสุดในโลกถึง 66% ตามมาด้วยฟินแลนด์ 10% ส่วน The New York Times รายงานว่า จาก 19 เหมืองขุดแร่โคบอลต์ขนาดใหญ่ในคองโก 15 เหมืองมีส่วนเกี่ยวข้องกับจีน ไบรซ์ ครอกเกอร์ (Bryce Crocker) ซีอีโอของ Jervois Mining บริษัทขุดเหมืองประเทศออสเตรเลียกล่าวในบทความเว็บไซต์ Politico ว่า “ปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดของการนำรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นเรื่องของวัตถุดิบ ซึ่งวัตถุดิบที่มีไม่เพียงพอสำหรับแผนการพัฒนาของบริษัทผลิตรถยนต์ทุกรายในอีก 10 ถึง 15 ปีข้างหน้า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับโคบอลต์ทั้งสิ้น” เขาอธิบายต่อว่าแผนการของรัฐบาลจีนไม่ใช่การขายโคบอลต์เหล่านั้น แต่เป็นการควบคุมทุกอย่างไว้ในมือต่างหาก “จีนจะไม่แปรรูปโคบอลต์เหล่านั้นแล้วส่งออกมาให้อเมริกาเพื่อจะสนับสนุนการปฏิวัติรถยนต์ไฟฟ้า พวกเขาจะทำรถยนต์ราคาถูกด้วยตัวเอง และสิ่งที่ดีที่สุดที่จะคาดหวังได้คือ หวังว่าพวกเขาจะส่งออกรถยนต์ถูก ๆ เหล่านั้นมาให้คุณด้วย” GreenFutureVs.HumanRights . ตอนนี้เราเห็นรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนหลายยี่ห้อในราคาที่ไม่แพงมาก และคนทั่วไปสามารถเอื้อมถึงได้ โดยจีนไม่เพียงแต่จะมีทรัพยากรที่สำคัญในมือ แต่พวกเขาจะเป็นคนบังคับทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าของโลกเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม แรงงานในการขุดโคบอลต์ยังถูกใช้งานอย่างอยุติธรรม กดขี่ และบังคับให้ทำงานโดยไม่มีกฎหมายคุ้มครอง ขัดกับภาพลักษณ์ที่สะอาดของรถยนต์ไฟฟ้า จนมีการตั้งคำถามว่า มันคุ้มหรือเปล่า? บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทั่วโลก Tesla, Volvo, Renault, Mercedes-Benz, Volkswagen และอีกหลายแห่งยังรับโคบอลต์มาจากเหมืองของจีนที่คองโก แม้เหมืองเหล่านี้อ้างว่ามีกฎข้อบังคับห้ามใช้แรงงานเด็ก แต่มักมีข่าวเล็ดลอดที่บ่งบอกเรื่องราวแตกต่างออกไปเสมอ อย่างเช่น Congo Dongfang International Mining SPRL หนึ่งในโรงงานแปรรูปโคบอลต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศคองโก เป็นบริษัทในเครือของ Zhejiang Huayou Cobalt Co Ltd ซึ่งเป็นบริษัทของจีน โดย Huayou จัดหาโคบอลต์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าเช่น Volkswagen และโคบอลต์ของ Huayou กว่า 40% มาจากคองโก ในปี 2016 ภายหลังมีข่าวออกมาว่าบริษัทจีนแห่งนี้ได้หาผลประโยชน์จากการใช้แรงงานเด็ก บริษัท Huayou ออกมาสัญญาว่าจะแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้สภาพแวดล้อมและปัญหาโลกร้อน จะเป็นประเด็นเร่งด่วนและควรใส่ใจ แต่เราไม่ควรมองข้ามปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กำลังเกิดขึ้น และการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศไม่ควรสร้างความเสียหายให้กับชีวิตมนุษย์ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ซึ่งสุดท้ายแล้วกว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเรียกว่าใช้พลังงาน ‘สะอาด’ จริง ๆ คงอีกพักใหญ่เลยทีเดียว . ภาพ: Getty Image . อ้างอิง: -https://www.nytimes.com/.../20/world/china-congo-cobalt.html -https://www.youtube.com/watch?v=2_T5DgsO0jc -https://www.downtoearth.org.in/.../electric-vehicles-have... -https://www.downtoearth.org.in/.../as-cobalt-demand-booms... -https://www.dw.com/.../child-labor-still-rife.../a-39194724 -https://www.theguardian.com/.../apple-and-google-named-in... -https://www.abc.net.au/.../cobalt-mining-in-the.../100802588 -https://www.theguardian.com/.../i-saw-the-unbearable... -https://www.nytimes.com/.../congo-cobalt-mining-china.html -https://www.bbc.com/thai/international-43387057 -https://www.politico.com/.../02/china-cobalt-mining-441967 -https://www.business-humanrights.org/.../chinas-biggest.../