เอลิซา ลูคัส พิงค์นีย์: หญิงสาวที่ปลูกพืชเขตร้อนในหน้าหนาว ผู้สร้างขุมทรัพย์สีครามแห่งยุคปฏิวัติอเมริกา

เอลิซา ลูคัส พิงค์นีย์: หญิงสาวที่ปลูกพืชเขตร้อนในหน้าหนาว ผู้สร้างขุมทรัพย์สีครามแห่งยุคปฏิวัติอเมริกา
“ฉันไม่สงสัยเลยว่าวันหนึ่ง ต้นครามจะกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่ามหาศาล” ‘เอลิซา ลูคัส พิงค์นีย์’ กล่าวเช่นนั้นในวันที่เกษตรกรคนอื่น ๆ ต่างพากันหัวเราะที่เธอปลูก ‘ต้นคราม’ ซึ่งเป็นพืชเขตร้อนในช่วงฤดูหนาวที่กำลังมีน้ำค้างแข็ง เอลิซาผู้ชื่นชอบด้านพฤกษศาสตร์มาตั้งแต่เด็กต้องใช้ความพยายามกว่า 5 ปี (1739-1744) เพื่อหาวิธีเพาะพันธุ์ครามให้มากพอจะนำเข้าสู่กระบวนการย้อมสี เธอต้องเผชิญกับน้ำค้างแข็ง และอากาศหนาวที่ทำให้ต้นครามเติบโตไม่ได้มาตรฐาน กระทั่งปี 1744 ความสำเร็จก็มาเยี่ยมเยือนไร่ของเอลิซา เธอปลูกต้นครามได้มากพอจะเข้าสู่กระบวนการย้อมสีคุณภาพสูง ก่อเกิดเป็นอุตสาหกรรมย้อมครามที่เพิ่มมูลค่าให้แก่พืชต่างถิ่นได้มากถึง 16,803 ปอนด์สเตอร์ลิง (สีย้อมคราม 138,300 ปอนด์) และพุ่งสูงสุดในปี 1775 จำนวน 242,295 ปอนด์สเตอร์ลิง (สีย้อมคราม 1,122,200 ปอนด์) กลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในยุคปฏิวัติอเมริกา แต่ความสำคัญของครามที่เอลิซาทุ่มเทชีวิตให้ไม่ได้หมดเพียงเท่านั้น ครามยังได้กลายเป็นสีพื้นของธงประจำรัฐเซาท์ แคโรไลนา ซึ่งเป็นที่่ตั้งของบ้านและไร่ของเอลิซา นอกจากนี้ในปี 1989 หลังจากที่เธอเสียชีวิตไปแล้ว 196 ปี ชื่อของ เอลิซา ลูคัส พิงค์นีย์ ยังได้ถูกนำเข้าสู่หอเกียรติยศของนักธุรกิจแห่งเซาท์ แคโรไลนา ในฐานะสตรีคนแรก และผู้แบ่งปันความรู้ให้แก่เกษตรกร จนเกิดเป็นอุตสาหกรรมขุมทรัพย์สีครามนับตั้งแต่นั้น เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=rjmPDZeEe3A  อ้างอิง หนังสือ Entrepreneurs Who Changed History สำนักพิมพ์ DK https://www.nps.gov/chpi/learn/historyculture/eliza-lucas-pinckney.htm https://www.encyclopedia.com/people/history/historians-miscellaneous-biographies/eliza-lucas-pinckney