เอลวิส เพรสลีย์: ราชาเพลงร็อกผู้เปลี่ยนโลกดนตรีด้วยบทเพลงจาก ‘คนผิวดำ’

เอลวิส เพรสลีย์: ราชาเพลงร็อกผู้เปลี่ยนโลกดนตรีด้วยบทเพลงจาก ‘คนผิวดำ’
“ก่อนหน้าเอลวิส เพรสลีย์ บนโลกนี้ไม่มีอะไรเลย” จอห์น เลนนอน นักร้องนำแห่งวง The Beatles เคยกล่าวไว้เช่นนั้น และนั่นไม่ได้ผิดไปจากความจริงนัก ใบหน้าหล่อเหล่า เสียงร้องทรงเสน่ห์ ท่วงท่าเพลินตาเมื่อเขาขยับกาย วาดลวดลายบนเวที เหล่านี้ล้วนเป็นเอกลักษณ์ของ ‘เอลวิส เพรสลีย์’ (Elvis Presley) ชายที่ถูกขนานนามว่าเป็นราชาแห่งบรรดาเพลงร็อก ขณะเดียวกัน เขาคือผู้เผยแพร่และฝากฝังวัฒนธรรมหลายต่อหลายอย่างไว้บนโลก ไม่ว่าจะเป็นแฟชัน แนวดนตรี หรือท่าเต้นบนเวทีที่นักร้องรุ่นหลังมากมายต่างหยิบมาปรับใช้ในช่วงเวลาต่อมา เรียกได้ว่าเอลวิสคือดวงดาวที่สุกสกาวที่สุดดวงหนึ่งของยุค 1950s – 1970s หากเบื้องหลังชีวิตที่รุ่งโรจน์บนเส้นทางสายดนตรีของเขา เอลวิส เพรสลีย์ เป็นเพียงชายคนหนึ่งที่เกิดในมิสซิสซิปปี รักเสียงดนตรี และเกิดมาเพื่อ ‘ตายคนเดียว’   ตะวันขึ้นที่มิสซิสซิปปี เด็กชายเอลวิสลืมตาดูโลกครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 มกราคม 1935 เขาเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของครอบครัวชนชั้นแรงงานในตูเปโล มิสซิสซิปปี พ่อและแม่ของเอลวิสทำงานรับจ้างที่ได้ค่าแรงเพียงเพื่อประทังชีวิตให้ผ่านแต่ละวันไปได้เท่านั้น แต่ถึงอย่างนั้น ครอบครัวของเอลวิสก็ศรัทธาในพระเจ้า หนูน้อยวัยจิ๋วฟังและร้องเพลง gospel ในโบสถ์มาตั้งแต่ยังไม่เข้าเตรียมอนุบาลเสียด้วยซ้ำ พ่อและแม่ของเอลวิสเลี้ยงดูเขาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ คอยพร่ำสอนให้เด็กน้อยพูดจาสุภาพและเป็นเด็กดี เอลวิสเป็นเด็กขี้อาย หากก็มีความกล้าและช่างฝัน ครั้งหนึ่งที่ฐานะการเงินของครอบครัวเข้าขั้นวิกฤติ สองสามีภรรยาตระกูลเพรสลีย์ที่นั่งกุมขมับอยู่ก็มีอันต้องหลุดยิ้มเพราะคำพูดของลูกชายสุดที่รักที่เพิ่งอายุเพียงสิบขวบต้น ๆ เอลวิสบอกว่า “อย่ากังวลเลยครับแม่ ถ้าผมโตขึ้นผมจะซื้อบ้านดี ๆ ให้แม่ จะจ่ายหนี้ที่แม่ค้างกับร้านสะดวกซื้อ จะซื้อรถคาร์ดิแลกสองคัน ให้พ่อกับแม่หนึ่งคัน ให้ตัวผมเองหนึ่งคัน” วันนั้น ไม่มีใครรู้ว่าสิ่งที่เจ้าหนูเอลวิสพูดจะกลายมาเป็นความจริง ไม่มีใครคาดคิดว่าเด็กน้อยตรงหน้าพวกเขาคือดวงตะวันที่คนทั้งโลกต้องหันมอง   ตะวันฉายใต้ร่มเพลงบลูส์ เอลวิสรู้ตัวว่าเสียงของเขานั้นมีค่า แม้จะยังไม่รู้ว่ามันใช้ทำอะไรได้บ้าง ตอนเริ่มแตกเนื้อหนุ่มครอบครัวของเขาย้ายบ้านไปที่เมืองเมมฟิส ที่นั่นเขาเริ่มมีความฝันถึงอาชีพศิลปิน เขามักจะร้องเพลงอยู่เสมอ แต่เมื่อถูกถามว่าเขาร้องเพลงแนวไหนหรือมีเนื้อเสียงเหมือนใคร เอลวิสกลับตอบว่า “ผมไม่ได้เสียงเหมือนใครเลย” ในโบสถ์เขาร้องเพลง gospel นอกจากนั้นเขาก็ซึมซับวัฒนธรรมร็อกแอนด์โรลล์และดนตรีบลูส์มาจากศิลปินข้างถนนในละแวกบ้าน  เอลวิสโอบรับเอาดนตรีทั้งหมดที่เขารู้จัก และถ่ายทอดมันออกมาในรูปแบบของเขาเอง  เอลวิสหาลู่ทางในวงการเพลงอยู่เสมอ และความพยายามของเขาก็เริ่มมีผลตอบรับในปี 1954 เมื่อเขาหยิบเพลง ‘That's All Right’ ของ Arthur Crudup นักดนตรีบลูส์ชาวแอฟริกัน – อเมริกัน และเพลง ‘Blue Moon of Kentucky’ ของ Bill Monroe มาแสดงกลางแจ้งที่ Overton Park Shell การผสมผสานที่แปลกหูแปลกตาระหว่างเพลงบลูส์ เนื้อเสียง และท่าทางของเอลวิสได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมเป็นอย่างมาก ราวกับเอลวิสเป็นตะวันที่เพิ่งได้ฉายแสงครั้งแรก ทุกสายตาจับจ้องที่เขา และเอลวิสไม่รู้เลยว่าทำไม “พวกเขาส่งเสียงร้องตะโกน และผมไม่รู้ว่าพวกเขากำลังตะโกนอย่างคลั่งไคล้ให้กับอะไร” เอลวิสทำให้เพลงบลูส์กลายเป็นของเขา และอีกไม่นานเขาก็คว้าเอาเพลงร็อกไปด้วย   หัวขโมยคนขาว เอลวิสโด่งดังขึ้นตามลำดับ ปี 1956 เขาเซ็นสัญญากับค่ายเพลงอย่าง RCA และปล่อย ‘Heartbreak Hotel’, ‘Love Me Tender’, ‘All Shook Up’ รวมทั้งบทเพลงอื่น ๆ เอลวิสกลายเป็นศิลปินที่มียอดขายสูงที่สุดและพาให้โลกดนตรีเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคสมัยของร็อกแอนด์โรลล์ เขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นเดียวกันและรุ่นหลังอีกมากมาย ในฐานะ ‘King of Rock and Roll’ ที่ถูกเรียกสั้น ๆ จนติดปากว่า ‘The King’ โลกกู่ร้องชื่อเอลวิส ขณะเดียวกันก็แทบจะหลงลืมชื่อ Arthur Crudup เจ้าของบทเพลง ‘That's All Right’ ที่ราชาเอามาคัฟเวอร์จนโด่งดัง อีกด้านหนึ่งของโลกดนตรี เหล่านักวิจารณ์บางคนมองว่าส่งที่เอลวิสทำนั้นไม่ได้มีอะไรล้ำค่ามากไปกว่าการ ‘ขโมย’ จิตวิญญาณในดนตรีร็อกและบลูส์ซึ่งแต่เดิมถูกขับร้องเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของคนผิวดำ แล้วนำมาทำใหม่เพื่อขายให้ ‘คนขาว’ ได้รับฟัง อาร์เธอร์ ครูดัพ (Arthur Crudup) กล่าวถึงการโด่งดังของเอลวิสที่ตรงกันข้ามกับความข้นแค้นทั้งในอาชีพนักดนตรีและในชีวิตของเขาว่า “ผมทำให้ทุกคนร่ำรวย แต่ตัวผมกลับยากจน นั่นอาจจะเป็นชะตาของผม เกิดมาอย่างยากจน ใช้ชีวิตอย่างยากจน และตายจากไปอย่างยากจนเช่นกัน” เอลวิสกลายเป็นคนร่ำรวย เขาซื้อบ้านให้แม่และชำระบิลทุกบาททุกสตางค์อย่างที่เขาในวัยเด็กเคยเอ่ยสัญญาไว้ เขาซื้อรถให้ครอบครัว เขาซื้อหาทุกอย่างที่พอใจ โลกรังสรรค์ทุกความสุขมาให้เขาเพื่อขับเคลื่อนให้เขายังก้าวเท้าขึ้นไปบนเวที เสียงร้องทุ้มต่ำแบบฮัสกีวอยซ์ (ใช้เรียกเสียงร้องทุ้ม มีปลายเสียงแหบที่ฟังดูน่าดึงดูด) ร่วมกับลีลาการเต้นของเขานำมาซึ่งเสียงตะโกนเรียกชื่อ ‘เอลวิส! เอลวิส!’ อยู่ไม่ขาดสาย สาว ๆ คลั่งไคล้เขา หนุ่ม ๆ ก็เช่นกัน นักวิจารณ์บางคนกล่าวว่าสิ่งที่เอลวิสขายนอกจากเพลงก็คือ ‘แรงจูงใจทางเพศ’ จนถึงกับบอกว่าเอลวิส ‘ป็อป’ ได้เพราะสิ่งนี้ หากเจ้าตัวก็ออกมาบอกอย่างไม่ยี่หระนักว่า “ผมก็แค่เต้นบนเวที ผมขยับตัวบ่อย ๆ แต่ก็ไม่เคยทำอะไรหยาบคายนี่ ผมไม่ได้ทำท่าทางบัดสี ผมก็แค่นั่งเฉย ๆ ตอนร้องเพลงไม่ได้ มันก็เท่านั้นเอง”   เจ็บไข้และได้ตายจาก ตลอดชีวิตของเอลวิสเขาได้รับความนิยมไม่เคยสร่าง แม้แต่ตอนที่เขาเข้ารับหน้าที่ทหารในประเทศเยอรมัน เสียงร้องและใบหน้าของเขาก็ยังเป็นที่พูดถึงในอเมริกาและโลก และเมื่อเขากลับมา ผู้คนก็แห่แหนไปต้อนรับราชาของพวกเขาอีกครั้ง บทเพลงมากมายที่เอลวิสร้องโดยไม่เคยแต่ง กลายเป็นบทเพลงระดับตำนานที่ขับขานให้โลกนี้ฟังมาหลายทศวรรษ เขาก้าวขึ้นเวทีคืนแล้วคืนเล่า โหมงานหนัก และลงท้ายด้วยการเจ็บป่วยทั้งกายและใจ อย่างที่เกริ่นไว้ช่วงต้นว่าเอลวิสเคยเป็นเด็กขี้อาย หลังจากเขากลายเป็นร็อกสตาร์เอลวิสก็ยังคงขี้อายอยู่ เขาจำเป็นต้องใช้ยาเสพติดเพื่อสงบใจตัวเองก่อนที่จะเปิดม่านแล้วก้าวออกไปพบกับผู้ชม เอลวิสเสพยาทุกค่ำและเริ่มมีปัญหาน้ำหนักตัว ความเครียดทำให้เขามีพฤติกรรมการกินผิดปกติ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิตอื่น ๆ ด้วย ไม่นานนักก่อนการตายของเอลวิส ‘The King’ ได้ส่งสัญญาณความทรมานในจิตใจที่มากเกินแบกให้คนรอบตัวได้รับรู้ ราชาเพลงร็อกบอกกับสตาฟฟ์ที่ร่วมงานกับเขา ยามที่เหม่อมองออกไปนอกหน้าต่างแล้วเห็นฝูงชนมากมายคอยรอรับว่า “พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้รักที่ผมเป็นผมหรอก อันที่จริงพวกเขาแทบไม่รู้จักผมเลย” การใช้ชีวิตอย่าง ‘เอลวิส เพรสลีย์’ นั้นแสนโดดเดี่ยว จอห์น เลนนอนเคยกล่าวถึงความโดดเดี่ยวประเภทนั้นอย่างเข้าอกเข้าใจไว้ว่า “เมื่อยืนอยู่ในจุดที่รายล้อมด้วยผู้คน อาการขาดความรักนั้นจะยิ่งมากขึ้นเป็นทวีคูณ สำหรับ The Beatles พวกเรายังมีกันสี่คนและร่วมรู้สึกถึงมันไปพร้อมกัน แต่เอลวิสไม่มีใคร” เอลวิสเริ่มพูดถึงความตายบ่อยขึ้น เขากลัวการตายจากโดยที่ไม่มีใครจดจำ  ความหวาดหวั่น สับสน และป่วยไข้ของราชาดำเนินมาจนถึงวันสุดท้ายของเขา วันที่ 16 สิงหาคม 1977 เอลวิสจากโลกนี้ไปโดยไม่มีใครคาดฝัน ตลอดชีวิตของเอลวิสรายล้อมด้วยผู้คนที่รักและหลงใหลในตัวเขา ยกเว้นวันสุดท้ายที่เขาตายตัวคนเดียว - ที่ ห้องน้ำในบ้านพักของตัวเอง   สิ่งที่ฝากไว้กับโลก แม้เมื่อครั้งมีชีวิต เอลวิสจะหวาดกลัวการไม่ถูกจดจำมากสักเท่าไร แต่ชีวิตหลังความตายของเขาก็ยังรายล้อมด้วยการระลึกถึงและมอบรักจากฝูงชนอยู่ดี เอลวิสได้มอบร็อกแอนด์โรลล์ไว้กับโลก แม้ว่าเขาจะไม่ใช่ผู้สร้างมันขึ้นมา เอลวิสได้มอบความกล้าให้ศิลปินมากมายที่มีฝันอยากเติบโตและกลายเป็นเช่นเดียวกับเขา  เอลวิสฝากสิ่งต่าง ๆ ไว้บนโลกเสียมากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่จนถึงวันนี้ ผู้คนจะยังขับขานชื่อเขาพร้อมทั้งเปิดเพลง ‘Can’t Help Falling in Love’ ให้ได้ยินอยู่ทั่วไปดั่งเช่นวันวาน   เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: หนังสือ Being Elvis a Lonely Life เขียนโดย Ray Connolly https://time.com/4894995/elvis-in-the-heart-of-america/ https://www.britannica.com/biography/Elvis-Presley