Emily in Paris: ชีวิตเหมือนฝันกับคุณภาพชีวิตดีเยี่ยมแบบปารีเซียง

Emily in Paris: ชีวิตเหมือนฝันกับคุณภาพชีวิตดีเยี่ยมแบบปารีเซียง
‘ปารีสกลางสายฝน’ ‘คืนบ่มรักที่ปารีส’ ‘ฤกษ์งามยามปารีส’ หลายครั้งหลายหนที่ชื่อเมืองหลวงของฝรั่งเศสถูกหยิบยกมาอยู่ในสื่อกระแสหลักทั้งชื่อเพลง ชื่อภาพยนตร์ ชื่อหนังสือนิยาย กลายเป็นสัญลักษณ์ของมหานครแห่งความโรแมนติกที่เชื้อเชิญคู่รักและคนโสดให้เดินทางมายังที่แห่งนี้ เหมือนกับ ‘เอมิลี่’ หญิงสาวจากชิคาโกที่ตกหลุมรักหลายสิ่งในปารีสโดยไม่ได้ตั้งใจ เอมิลี่ในปารีส (Emily in Paris) คือชื่อบัญชีอินสตาแกรมของ ‘เอมิลี่’ (Emily) สาวมะกันดีกรีปริญญาโทการตลาด ที่จับพลัดจับผลูต้องย้ายไปทำงานที่ปารีสแทนหัวหน้า เธอไม่ได้เตรียมตัวเจอกับสิ่งใหม่ ๆ ทั้ง ภาษา วัฒนธรรม การใช้ชีวิตต่างแดน แถมคนในที่ทำงานใหม่ก็ไม่ค่อยจะต้อนรับเธอเท่าไหร่นัก แต่กลายเป็นว่าเรื่องเล่าผ่านแคปชันสั้น ๆ กับรูปถ่ายชีวิตประจำวันของผู้หญิงคนหนึ่งในแดนน้ำหอม กลับกลายเป็นประสบการณ์ชวนอิจฉาที่กระตุ้นให้เราอยากไปเยือนปารีสได้อย่างไม่ยากเย็น Emily in Paris: ชีวิตเหมือนฝันกับคุณภาพชีวิตดีเยี่ยมแบบปารีเซียง ความสะดุดตาของซีรีส์ Emily in Paris อย่างแรกเลยคงหนีไม่พ้นแฟชันของเอมิลี่ที่แต่ละวันไม่มีซ้ำกัน เราจะได้เพลิดเพลินไปกับหน้าสวย ๆ ของ ลิลี คอลลินส์ (Lily Collins) กับการแต่งตัวหลากสไตล์ที่แต่ละชุดคิดมาแล้วอย่างดี บางวันเธอเดินเข้าไปทำงานด้วยรองเท้าบูตสีม่วงกับเซตสูทสีบานเย็น อีกวันหนึ่งไปนั่งเรียนภาษาฝรั่งเศสด้วยสูทลายตารางกับหมวกเบเรต์สีแดงเก๋ ๆ หรือบางวันเป็นเดรสสายเดี่ยวสีเหลืองสดใส เอาเป็นว่าถ้าสาวคอแฟชันดูซีรีส์เรื่องนี้คงจะเพลิดเพลินไปกับการแต่งตัวของเอมิลี่จนจบซีซันแน่นอน อย่างไรก็ตาม สิ่งน่าสนใจไม่ได้มีเพียงแฟชันสวย ๆ ที่จัดเต็มทุกฉากทุกตอน แต่เป็นความต่างทางวัฒนธรรมระหว่างชาวอเมริกันกับชาวฝรั่งเศส ลองคิดในมุมของชาวฝรั่งเศสที่เห็นพนักงานใหม่จากอเมริกามาทำงานในบ้านตัวเอง ทว่าเธอกลับพูดฝรั่งเศสได้แค่คำว่า ‘สวัสดี’ กับ ‘ใช่’ เป็นใครก็คงไม่อยากต้อนรับ ส่วนในมุมของชาวอเมริกันไม่เข้าใจว่าทำไมคนฝรั่งเศสบางคนที่เข้าใจภาษาอังกฤษถึงไม่ยอมพูดภาษาอังกฤษกับเธอ ถือเป็นการเจอกันของความคิดชาตินิยมของชาวฝรั่งเศสบางคนที่ยังคิดถึง ‘ยุคสมัยแห่งความรุ่งโรจน์’ ในวันเก่าก่อน ส่วนชาวอเมริกันมองว่าภาษาของพวกเขาคือภาษาสากล คนที่ใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษาอังกฤษควรต้องเรียนรู้ที่จะสื่อสารในภาษาสากลให้ได้มากกว่า แต่สุดท้ายเอมิลี่ต้องไปนั่งเรียนภาษาฝรั่งเศส เพราะเธอมาทำมาหากินในปารีสแต่พูดฝรั่งเศสไม่ได้ก็กระไรอยู่ Emily in Paris: ชีวิตเหมือนฝันกับคุณภาพชีวิตดีเยี่ยมแบบปารีเซียง นอกจากประเด็นความต่างทางภาษา ความแตกต่างทางวัฒนธรรมคือสิ่งที่ทำให้ปวดหัวไม่แพ้กัน Emily in Paris จัดเต็มเรื่องการเสียดสีตัวตนของชาวฝรั่งเศสและชาวอเมริกันไปพร้อมกัน อาทิ คนฝรั่งเศสจะมองอเมริกันว่าเป็นพวกเสียงดังโหวกเหวก บ้างาน ไม่รักษาสุขภาพ กินอาหารขยะจนตัวอ้วนจนสุดท้ายต้องมาจ่ายค่ายาราคาแพงนั่งรักษาตัวตอนเป็นโรค ไม่เข้าใจคำแก่นของคำว่า ‘ลักชัวรี’ และสนใจแต่โซเชียลมากเกินไป ทางด้านคนอเมริกันมองว่าชาวฝรั่งเศสไม่ปรับตัวให้ทันยุคสมัย หัวโบราณ คร่ำครึ ไม่เป็นมิตร บางทีก็เปิดกว้างทางเพศแต่บางครั้งพวกเขาก็แอบเหยียดเพศโดยไม่รู้ตัว เวลาจีบก็จีบกันแบบโต้ง ๆ จนแอบน่ากลัว ซ้ำยังสโลว์ไลฟ์เกินไป ไม่ได้มองว่าลูกค้าคือพระเจ้าเหมือนทางฝั่งอเมริกา เมื่อกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมแตกต่างมาเจอกัน พวกเขาต้องต่างปรับตัวเพื่อหาตรงกลางให้ได้ Emily in Paris: ชีวิตเหมือนฝันกับคุณภาพชีวิตดีเยี่ยมแบบปารีเซียง ในแง่ของคุณภาพชีวิตของเอมิลี่ในปารีสนั้นช่างน่าอิจฉา เธอสามารถตื่นมาวิ่งออกกำลังกายได้ทุกเช้า ไม่ต้องกลัวตกท่อ ไม่ต้องกลัวโดนรถเฉี่ยวชน กลางวันเบื่อ ๆ ออกมานั่งทอดน่องในสวนสาธารณะขนาดใหญ่ที่รองรับผู้คนหลากหลาย ในแง่การเดินทางก็ไม่ใช่เรื่องลำบากยากเย็น เพื่อนร่วมงานบางคนของเอมิลี่ขี่จักรยานมาทำงาน อีกคนขี่สกูตเตอร์ ส่วนตัวเองใส่ส้นสูงเดินบนทางเท้าที่ได้อย่างสบายใจ ไร้กังวลว่าจะมีธรณีสูบตรงไหนรึเปล่า หรือว่ามีของวางเกะกะจนต้องลงไปเดินบนถนน ซึ่งสิ่งเดียวที่ต้องกังวลคือการระวังขี้หมาเท่านั้น ไม่เพียงเท่านี้ Emily in Paris ยังแอบสอดแทรกถึงสวัสดิการดีเยี่ยมผ่านเพื่อนร่วมงานชาวฝรั่งเศสที่ไม่ได้ทุ่มทุกอย่างไปกับงาน เขามองว่าเอมิลี่บ้างานเกินไป ทุ่มกับงานเกินไป จนหลงลืมว่างานไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต เธอสามารถหาเวลาให้ตัวเองพักผ่อนได้เสมอ แต่แนวคิดแบบเพื่อนร่วมงานของเอมิลี่คงใช้ได้กับประเทศที่เจริญแล้วและมีสวัสดิการหลังเกษียณที่ได้คุณภาพเท่านั้นกระมัง Emily in Paris: ชีวิตเหมือนฝันกับคุณภาพชีวิตดีเยี่ยมแบบปารีเซียง แม้ Emily in Paris จะเล่าถึงการเจอกันทางวัฒนธรรมอเมริกันกับฝรั่งเศส แต่ไม่ลืมสอดแทรกเรื่องราวชีวิตของชาวเอเชียผ่าน ‘มินดี้’ เพื่อนสาวคนแรกในปารีสของเอมิลี่ ซึ่งก็ยังไม่วายจิกกัดเรื่องชีวิตสุดน่าเบื่อของชาวเอเชีย ถ้าหากพ่อคุณโคตรรวยและมีธุรกิจขนาดใหญ่ คุณจะไม่มีสิทธิเลือกเส้นทางที่ตัวเองต้องการ ครอบครัวเอเชียจะไม่ถามความต้องการของลูก กำหนดทิศทางชีวิตของพวกเขาตั้งแต่วันที่ลืมตาดูโลก ถ้าเด็ก ๆ ไม่อยากทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่เห็นว่าสมควรจะโดนตัดหางปล่อยวัด ที่เผยให้เห็นมุมมองของชาวตะวันตกที่มองมาทางฝั่งเอเชีย เพราะตัวละครชาวเอเชียเรื่อง Emily in Paris นี่มันช่างเอเชียเสียจริง ๆ

“คนจีนจะร้ายลับหลัง แต่คนฝรั่งเศสร้ายกันซึ่ง ๆ หน้าเลย”

Emily in Paris ซีรีส์โรแมนติกคอเมดี 10 ตอน เล่าเรื่องแบบย่อยง่าย เดินตามสูตรสำเร็จของซีรีส์โรแมนติกคอเมดี โดยทีมผู้สร้างซีรีส์ในตำนานเรื่อง Sex and the City บางช่วงบางตอนอาจรู้สึกว่าทำไมชีวิตของเอมิลี่ถึงช่างโชคดีเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบทุกย่างก้าวขนาดนี้ ไหนจะเรื่องงานที่ถึงติดขัดแต่สุดท้ายก็สามารถจัดการได้อยู่หมัด ยังไม่รวมถึงหนุ่ม ๆ ปารีเซียงรูปหล่อจำนวนมาก (ย้ำว่าจำนวนมาก) ที่เข้ามาในชีวิตของเอมิลี่ ทำให้เธอหัวใจของเธอต้องปั่นป่วน แต่ถึงจะมีช่องโหว่พอประมาณ แต่ Emily in Paris ก็สร้างเสียงหัวเราะและพาเราตะลอนไปทั่วฝรั่งเศสได้แบบไม่เบื่อเลย Emily in Paris: ชีวิตเหมือนฝันกับคุณภาพชีวิตดีเยี่ยมแบบปารีเซียง

“ฉันรักปารีส อาหารอร่อยมาก แฟชันก็ชิค แสงสีที่นี่ก็สวยตราตรึง แต่คนน่ะร้ายชะมัด”

  ที่มา https://www.netflix.com/th/title/81037371   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์