Eminem - Lose Yourself: เพลง end credit หนังวัฒนธรรมฮิปฮอป ‘8 MILE’ เมื่อโอกาสสุดท้ายอยู่บนสังเวียนแรป

Eminem - Lose Yourself: เพลง end credit หนังวัฒนธรรมฮิปฮอป ‘8 MILE’ เมื่อโอกาสสุดท้ายอยู่บนสังเวียนแรป
บางครั้งโอกาสก็ไม่ได้วิ่งเข้ามาหาเราบ่อยและง่ายดายนัก เช่นเดียวกับ ‘บี แรบบิต’ (B Rabbit: รับบทโดย Eminem) ตัวเอกของภาพยนตร์สะท้อนฮิปฮอปคัลเจอร์เรื่อง ‘8 MILE’ ที่ถ้าจะให้เปรียบแล้วก็คงมีโอกาสทั้งชีวิตเท่า ๆ กับกระสุนไม่กี่นัดที่จ่อคิวเรียงกันในลูกโม่ปืนสั้นหนึ่งกระบอก *บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ 8 MILE ด้วยฝีมือการเขียนบทของ สก็อตต์ ซิลเวอร์ (Scott Silver) และกำกับโดย เคอร์ติส แฮนสัน (Curtis Hanson) หนังเรื่องนี้ได้พาคนดูย้อนวันวานไปในปี 1995 ในยุคตกต่ำของอุตสาหกรรมอเมริกาที่ทำให้เมือง ‘ดีทรอยต์’ ตกอยู่ใต้ภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ ที่คนจนล้นเมือง แก๊งวัยเกกมะเหรกป่วนล้นย่าน รายล้อมด้วยถนนสาย ‘8 MILE’ แบ่งแยกระหว่างคนขาวและคนดำ วัฒนธรรมฮิปฮอปและการแรปเป็นอย่างเดียวที่ทำให้ลูซเซอร์ผิวขาวฉายา ‘แรบบิต’ เดินหน้าต่อ ท่ามกลางเสียงบีตสนุกหูจากดีเจเปิดแผ่น เหล่าเอ็มซีและแรปเปอร์กำลังดวลฝีปากกันเพื่อหวังเอาชนะ - แจ้งเกิด ได้รับการยอมรับ ได้อัดแผ่นเป็นศิลปิน หลากความฝันของพวกเขาถูกวางเดิมพันบนสังเวียนไรห์มแห่งนั้น และ Eminem ก็ถ่ายทอดคืนค่ำเหล่านั้นออกมาเป็น ‘Lose Yourself’ - เพลงดังที่ผสานเรื่องราวของตัวเองเข้ากับเรื่องและภาพที่ฉายในหนังได้อย่างลงตัว   / Look, If you had one shot or one opportunity To seize everything you ever wanted in one moment Would you capture it or just let it slip? /   กระต่ายตื่นเวทีและชีวิตที่ทับซ้อน ชีวิตของ ‘บี แรบบิต’ หรือ ‘จิมมี สมิธ จูเนียร์’ กำลังตกต่ำถึงขีดสุดเมื่อช่วงต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มขึ้น เพิ่งเลิกกับแฟนที่หลอกเขาว่าเธอท้องจนแรบบิตต้องยกรถให้ จำเจอยู่กับงานประจำค่าแรงต่ำในโรงงานผลิตรถ ต้องซมซานกลับไปอาศัยบ้านแม่ต่างที่นอน แม้เท่านี้ก็ฟังดูรันทดเต็มทีแล้ว แต่จุดพีคแรกของหนังเรื่องนี้เริ่มขึ้นบนสังเวียนแรป แรบบิตเป็นคนเก่ง ไรห์มเฉียบ โฟลว์ดี นั่นคือสิ่งที่เพื่อน ๆ ของเขาในก๊วน ‘313’ บอกกับเขาเสมอ โดยเฉพาะ ‘Future’ เพื่อนที่เป็นเอ็มซีเวทีแรปในคลับ ‘The Shelter’ ที่เชื่อมั่นในตัวเขายิ่งกว่าใคร ๆ แต่แล้วคืนอับอายของแรบบิตก็มาถึง เป็นคืนหนึ่งที่แรบบิตต้องขึ้นสังเวียนปะทะฝีปากยกแรก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นบรรจุอยู่ในท่อนต้น ๆ ของเพลง Lose Yourself   / To drop bombs, but he keeps on forgettin’ What he wrote down, the whole crowd goes so loud He opens his mouth, but the words won’t come out He’s chokin’, how, everybody’s jokin’ now The clocks run out, times up, over, blaow /   แรบบิตยืนอึ้งบนเวทีเหมือนเด็กที่ไม่เคยแรปมาก่อน กลุ่มคนดูโห่ไล่ เยาะเย้ยตอนที่เขาคืนไมค์ ก้าวลงจากเวที และข่าวก็สะพัดไปทั่วในชุมชนที่ทุกคนล้วนเป็น ‘เด็กฮิป’ ว่า “บี แรบบิตเป็นไอ้กาก มันสำลักน้ำลายตัวเองบนเวที” Snap back to reality กันหน่อย อย่างที่หลาย ๆ คนรู้ว่าแม้หนังเรื่องนี้จะเป็นโลกสมมติที่ถูกเขียนบทเพื่อฉายลงจอ แต่ก็เป็นกึ่ง ๆ เรื่องราวในอดีตของตัวนักแสดงอย่าง Eminem เองด้วย Eminem อาจไม่เคยสำลักน้ำลายตัวเองบนเวที แต่สิ่งที่เขาเหมือนกับบี แรบบิต ไม่มีผิดเพี้ยน ก็คือเขาเป็นแรปเปอร์ผิวขาวที่เติบโตมาอย่างยากจนในสลัมแห่งดีทรอยต์ ภาพบรรยากาศที่เราเห็นตลอดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นโรงงานที่แรบบิตทำงานอยู่ บ้านที่ทำจากรถเทรลเลอร์คันโทรมใกล้ถูกไล่ที่ที่แม่ของแรบบิตอาศัย คลับฮิปฮอปและสังเวียนแรปยามค่ำ บ้านร้างมากมายที่กลายเป็นที่ซ่องสุมของกลุ่มแก๊งต่าง ๆ ล้วนฉายให้เราเห็นถึงความไม่น่าพิสมัยที่หล่อเลี้ยงให้แรบบิต หรือตัว Eminem ในโลกคู่ขนานค่อย ๆ เติบโตขึ้น ที่ Eminem สวมบทบาทแรบบิตได้อย่างน่าประทับใจแม้ 8 MILE จะเป็นการแสดงครั้งแรกของเขา ก็อาจเพราะความ ‘เข้าใจ’ อย่างแท้จริงในปูมหลังที่ทับซ้อนกันของตัวเขาเองและคาแรคเตอร์ที่เขาแสดงก็เป็นได้   Lose Yourself ท่ามกลางความจริงและหนังที่โลดแล่นให้เรารับชม คงน่าแปลกไม่ใช่น้อยถ้าเพลงสุดท้ายที่เราได้ยินในหนังระหว่าง end credit ขึ้น จะไม่ใช่ Lose Yourself แต่เป็น ‘Cleanin’ Out My Closet’ แทร็กจากอัลบั้ม The Eminem Show (2002) Cleanin’ Out My Closet ถูกวางไว้ในตำแหน่งนั้น จนกระทั่ง Eminem เขียน Lose Yourself ขึ้นมาในเซตฉากที่ใช้ถ่ายทำ ในช่วงสั้น ๆ ระหว่างพักกอง ในรถเทรลเลอร์ที่ครอบครัวจน ๆ ของแรบบิตอาศัยต่างบ้าน Eminem นั่งอยู่ในนั้น เคาะปากกาลงกับกระดาษแผ่นเล็ก เขียนถ้อยคำ และทุกเวิร์สทุกบาร์ก็พร้อมสำหรับอัดเพลง - กระดาษแผ่นนั้นปรากฏในหนังในฉากที่แรบบิตกำลังนั่งรถสาธารณะด้วย และภายหลังหนังฉายมันก็ถูกประมูลที่อีเบย์ด้วยมูลค่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ “เพราะในหนังเรื่องนี้ผมไม่ใช่ Eminem แต่เป็น จิมมี สมิธ จูเนียร์ ผมสวมบทบาทเป็นเขา ผมต้องหาวิธีที่จะทำให้ไรห์มที่เขียนดูเป็นเขาที่สุด แต่เราก็มีอะไรคล้ายกันหลายอย่าง คุณจะเห็นและได้ยินการฝ่าฟันของเราทั้งคู่ที่ในเพลง”   ชัยชนะของถังขยะสีขาว การฝ่าฟันของแรบบิตเต็มไปด้วยขวากหนาม ท่ามกลางทั้งโลกที่เหมือนจะหันหลังให้เขา ภาพยนตร์ฉายภาพให้เราเห็นความฝันของเด็กหนุ่มพังลงทีละอัน จนสุดท้ายก็เละไม่เป็นท่า ในชุมชนไม่เล็กไม่ใหญ่แบบนั้น ทุกเรื่องเศร้าของคนอื่นจะกลายเป็นข่าวเมาท์กันทั่ว ความกลัวจากการ ‘สำลักเวที’ ครั้งก่อน และกลัวว่าตัวเองที่มีแผลเหวอะทั้งร่างกายและจิตใจจะกลายเป็นเป้าให้คนหัวเราะอีกระลอก ทำให้แรบบิตตัดสินใจจะไม่ร่วมแข่งแรปครั้งถัดไป 8 MILE คงจะไม่กลายเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้มหาศาล และถูกกล่าวขานในแง่ดีมาถึงทุกวันนี้หากมันจบลงแค่นั้น  (***major spoiled alert*** วรรคต่อ ๆ ไปมีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญ) รวบรวมความกล้าเฮือกสุดท้าย บี แรบบิตเปลี่ยนใจ ก้าวขาขึ้นเวที เสียงโห่ไล่ในยกแรกกลับกลายเป็นเสียงเชียร์เมื่อชายหนุ่มเริ่มแรป ฝีปากของแรบบิตพาเขาไปจนถึงไฟนอลราวนด์เพื่อต่อกรกับ ‘Papa Doc’ หัวหน้าแก๊งทีมอริจนได้ และบนนั้นนั่นเองที่ จิมมี สมิธ จูเนียร์ ไม่ใช่ไอ้ขยะสีขาวที่อุตริอยากแรปอีกต่อไป “โย่! ทุกคนในดีทรอยต์ ยกมือขึ้นมาซะแล้วโยกตามกู” เริ่มด้วยการปลุกใจผู้ชมให้คึกคัก แล้วแรปด่า Papa Doc พอหอมปากหอมคอ แต่ท่อนที่ถือเป็น punch line ของสังเวียนนั้นอยู่หลังจากนี้ เมื่อบี แรบบิตเลิกด่าฝ่ายตรงข้าม แล้วใช้ไรห์มเล่าความรันทดในชีวิตตัวเอง “เออ กูมันกุ๊ยคนขาว” แรบบิตแรป จากความอัดอั้นใจที่ในวันนั้นโลกดนตรีแรปผูกติดกับวัฒนธรรมของคนดำจนเขามักถูกเย้ยด้วยเรื่องนี้เสมอ “กูอยู่บ้านรถเทรลเลอร์เก่า ๆ กับแม่ เพื่อนกูแม่งคลั่งศาสนา อีกคนแม่งบ้ายิงขาตัวเอง เมื่อคืนไอ้สวะหกคนกระทืบกู และไอ้วิงก์ (ชื่อคน) นี่ก็อึ๊บแฟนกู แต่กูยังอยู่ตรงนี้เพื่อบอกว่าช่างแม่งทั้งแก๊งมึง อย่าเสนอหน้ามาตัดสินกู เพราะมึง (คู่ต่อสู้) ไม่มีวันรู้ว่ากูผ่านอะไรมา” บรรยากาศในคลับกำลังไฮป์สุด ๆ ส่วน Papa Doc เริ่มหน้าถอดสี แต่ฝีปากพี่แรบบิตยังแสบสันได้มากกว่านั้น เพราะไรห์มถัดไปหลังจากร่ายความรันทดของชีวิตตัวเองไปแล้ว พี่แกก็วกไปร่ายเรื่องของคู่แข่งบ้าง คราวนี้ไม่รันทด เพราะ Papa Doc ไม่มีเรื่องรันทดให้เล่า แต่เราบอกได้ว่าวลีแรปเหล่านั้นโคตรจะเจ็บสำหรับคนโดน เพราะหลังจากประโยคของแรบบิตในช่วงสุดท้ายโดยไร้บีตจากดีเจว่า “กูมันถังขยะสีขาวโว้ย นี่พูดอย่างภูมิใจเลยนะ ทีนี้ตามึงละ ช่วยพูดอะไรที่คนยังไม่รู้เกี่ยวกับกูหน่อย” Papa Doc ก็ถึงกับยืนนิ่ง บื้อใบ้ ไม่สามารถแรปต่อได้จนต้องคืนไมค์ และบี แรบบิต - อดีตขี้แพ้ในสายตาผู้คนก็ชนะไปอย่างขาดลอย เป็นอันว่าแรบบิตได้คว้าโอกาสในชีวิตของเขาได้สำเร็จ เสียงเพลง Lose Yourself ดังขึ้นในซีนท้ายเรื่องที่แรบบิตหันหลังให้กลุ่มเพื่อนและเริ่มออกเดิน หนังทิ้งเราไว้กับความสำเร็จครั้งแรกของชายหนุ่ม โดยไม่ได้เล่าต่อว่าหลังจากนั้นแรบบิตจะทำตามฝันที่อยากทำเดโมเพลง และกลายเป็นศิลปินได้สำเร็จหรือไม่ แต่เพลง Lose Yourself ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของเขาก็ดูราวจะเป็นคำตอบอยู่ในตัวของมันเอง   / You better lose yourself in the music, the moment You own it, you better never let it go You only get one shot, do not miss your chance to blow This opportunity comes once in a lifetime /   BonusTrack: เรื่องวุ่น ๆ ในงานประกาศรางวัล Lose Yourself เป็นเพลงแรปเพลงแรกที่ชนะสาขาเบสต์ออริจินัลซองบนเวทีออสการ์ หลังจากจัดงานดังกล่าวมากว่า 14 ปี ในค่ำที่ประกาศ Eminem ไม่ได้อยู่ในงานแล้ว แต่เขากำลังนอนหลับปุ๋ยไปพร้อมลูกสาวอยู่ที่บ้าน ทำให้ Lose Yourself กลายเป็นเพลงแรกอีกเช่นกันที่ไม่ได้เพอร์ฟอร์มบนเวทีนี้หลังได้รับรางวัล (แม้ทางออสการ์จะพยายามถามผู้จัดการของ Eminem ว่าพอจะมีใครขึ้นแรปแทนเขาได้บ้างไหมก็ตาม) ส่วนสาเหตุที่ Eminem รีบปรี่กลับบ้านไปกอดลูกสาวนอนนั้น ก็เป็นเพราะเขาไม่คิดว่าเพลงแรป (ที่ติดชาร์ตนานและยอดขายพุ่งเป็นจรวด) ของตัวเองจะชนะในเวทีออสการ์ที่มักมอบรางวัลให้บทเพลงประเภทอื่นมากกว่านั่นเอง   ที่มา: ภาพยนตร์ 8 MILE https://www.songfacts.com/facts/eminem/lose-yourself https://happymag.tv/7-incredible-facts-about-eminems-lose-yourself/