ณ็อง เบเดล โบกัสซา: นายทหารที่สถาปนาตัวเป็นจักรพรรดิแห่งแอฟริกากลาง

ณ็อง เบเดล โบกัสซา: นายทหารที่สถาปนาตัวเป็นจักรพรรดิแห่งแอฟริกากลาง

อย่าถามหาเหตุผลกับคนบ้าที่ตั้งตัวเองเป็นจักรพรรดิ

ซ้อมเด็กไร้เดียงสา

และกินเนื้อคนอย่างโบกัสซาเลย

หลายสิบปีที่ผ่านมา ทุกพื้นที่บนโลกต่างต้องเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ทางการเมือง บางประเทศต้องจมอยู่กับระบบเผด็จการกว่า 20 ปี หลายประเทศเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นแบบสาธารณรัฐ บ้างก็เปลี่ยนไปเป็นคอมมิวนิสต์ ทว่าประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกาใต้กลับเดินย้อนกลับหลัง เปลี่ยนการปกครองให้กลายเป็นแบบจักรวรรดิ เพียงเพราะอยากสถาปนาตัวเองเป็นจักรพรรดิ หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ประเทศเจ้าอาณานิคมหลายแห่งต้องยอมปลดปล่อยประเทศเป็นอิสระ รวมถึง สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (Central African Republic-CAR) ถูกปลดปล่อยในปี 1960 หลังได้รับอิสรภาพจากการตกเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสได้ไม่นาน ใคร ๆ ต่างมุ่งหวังจะเห็นชนพื้นเมืองดูแลกันเอง พยายามผลักดันทำประเทศให้ทันสมัย เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของทุกคน ทว่าการมุ่งไปข้างหน้าของแอฟริกากลางกลับต้องหยุดชะงักไปนับสิบปีด้วยชายบ้าอำนาจเพียงคนเดียว ณ็อง เบเดล โบกัสซา (Jean-Bedel Bokassa) ผู้เคยเป็นนายทหารสังกัดกองทัพฝรั่งเศสช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผ่านสนามรบใหญ่ทั้งสงครามโลก สมรภูมิแอลจีเรีย และสงครามอินโดจีน จึงได้รับสัญชาติฝรั่งเศส พอฝรั่งเศสปลดปล่อยแอฟริกากลาง โบกัสซาจึงกลับมาทำงานยังบ้านเกิด ไต่เต้าขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ การก้าวสู่ความสำเร็จในอาชีพของเขาส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะประธานาธิบดี เดวิด ดัคโก (David Dacko) ที่เป็นลูกพี่ลูกน้องกับเขา ณ็อง เบเดล โบกัสซา: นายทหารที่สถาปนาตัวเป็นจักรพรรดิแห่งแอฟริกากลาง แม้จะเป็นญาติกัน แต่เดวิดกับโบกัสซามักขัดแย้งทางความคิดกันบ่อย ๆ ความเครียดทางการเมืองเริ่มก่อตัวขึ้นเรื่อย ๆ จากการปะทะคารมของนายทหารผู้คุมกองทัพกับประธานาธิบดี ถึงขึ้นมีคนยืนยันว่าประธานาธิบดีเคยพูดถึงโบกัสซาในงานเลี้ยงว่า “เขาแค่ต้องการสะสมเหรียญเกียรติยศให้เต็มเสื้อ และโง่เกินกว่าจะทำการใหญ่” แม้คำพูดของเดวิดอาจมีความจริงปนอยู่ ทว่าเขาประมาทลูกพี่ลูกน้องตัวเองเกินไป ในที่สุดโบกัสซาหาหนทางแก้ปัญหาด้วยการทำการรัฐประหารปี 1965 จับเดวิดขังคุก ยุบสภา ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับเก่า ตั้งตนขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ พร้อมสัญญากับประชาชนว่าจะเร่งจัดการเลือกตั้ง กล่าวว่าตัวเองเข้ามายึดอำนาจ เพราะต้องการป้องกันการรุกรานของลัทธิคอมมิวนิสต์ สิ่งที่แตกต่างจากนายทหารหลายประเทศทำการรัฐประหารคือ เขาไม่หยุดแค่การเป็นประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี หลังดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศอยู่สิบปี พยายามแวะเวียนสร้างสัมพันธ์การทูตกับหลายประเทศ ในปี 1977 โบกัสซาสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นประมุขของรัฐในรูปแบบสมเด็จพระจักรพรรดิ เปลี่ยนการปกครองของประเทศเป็นระบบจักรวรรดิ คล้ายกับกรณีของนายทหารนโปเลียน โบนาปาร์ต แห่งฝรั่งเศส โบกัสซานิยมชมชอบนโปเลียนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากนโปเลียนก็ไต่เต้าขึ้นเป็นใหญ่จากการเป็นนายทหารเช่นกัน เขาคงลืมไปว่า นโปเลียนถือเป็นชายที่มีความสามารถ มีชื่อเสียงและผลงานใหญ่ แถมยังสร้างความมั่นใจให้กับชาวเมืองแถบชนบทได้ ต่างจากโบกัสซาที่ไม่ได้ทำความรู้จักกับประชาชน อยู่ ๆ มาถึงอยากได้อำนาจก็ทำการปฏิวัติเลย ผลจึงออกมาไม่น่าดูเท่ากับกรณีของนโปเลียน ว่าที่จักรพรรดิตื่นเต้นกับงานสถาปนาตัวเองมากกว่าใคร จัดการดึงงบประมาณแผ่นดินรวมแล้วกว่า 20 ล้านเหรียญ (ราว 600 ล้านบาท) เพื่อพิธีราชาภิเษกยิ่งใหญ่ สั่งทำมงกุฎเพชรราคา 5 ล้านเหรียญ จ้างดีไซเนอร์ชาวฝรั่งเศสมาออกแบบผ้าคลุมกำมะหยี่ยาว 20 ฟุต สั่งให้สร้างบัลลังก์รูปนกอินทรีตัวใหญ่ทำจากทองคำ สร้างรูปปั้นขนาดใหญ่ของตัวเอง และส่งม้าไปฝึกถึงฝรั่งเศส ณ็อง เบเดล โบกัสซา: นายทหารที่สถาปนาตัวเป็นจักรพรรดิแห่งแอฟริกากลาง นอกจากนี้ เขาใช้เงินของรัฐสั่งแชมเปญ Moët & Chandon 24,000 ขวด ไวน์ราคาแพงอย่าง Chateau Mouton-Rothschild และ Chateau Lafite Rothschild อีกอย่างละ 2,000 ขวด ซึ่งเครื่องดื่มเหล่านี้ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงรถเมอร์เซเดส-เบนซ์ 6 คัน ขนส่งจากเยอรมนีไปยังแคเมอรูนก่อนจะมาถึงเมืองหลวงของแอฟริกากลาง ทุกอย่างถูกเตรียมไว้อย่างดีท่ามกลางความมึนงงของประชาชนตาดำ ๆ ที่แทบไม่มีจะกิน สิ่งสำคัญของการจัดงานพระราชพิธีคือการบอกให้ทั้งโลกรับรู้ว่า สาธารณรัฐแอฟริกากลางเปลี่ยนไปแล้ว ดินแดนแห่งนี้กำลังจะมีสมเด็จพระจักรพรรดิ ทางการจึงส่งบัตรเชิญเข้าร่วมงานให้กับผู้นำหลายประเทศ ทว่าเมื่อถึงวันงานแขกเหรื่อกลับมาน้อยกว่าที่คิด ขนาดผู้นำแอฟริกาที่มีชื่อเสียพอ ๆ กับโบกัสซาอย่าง อีดี อาร์มิน (Idi Amin) แห่งยูกันดา โมบูตู เซเซ เซโก (Mobutu Sese Seko) แห่งซีอาร์ และ โอมาร์ บองโก (Omar Bongo) แห่งกาบอง ยังปฏิเสธการร่วมงาน มีเพียงประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส วาเลรี ฌิสการ์ แดสแตง (Valery Giscard d’Estaing) ที่ดูจะยินดีกับการสถาปนาครั้งนี้ งานพระราชพิธีใช้เงินแผ่นดินจำนวนมหาศาลเกือบทำประเทศล้มละลาย แต่จักรพรรดิคนใหม่ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจอะไรนัก ถึงจะเปลี่ยนประเทศเป็นระบอบจักรวรรดิ แต่ทางพฤตินัยไม่ต่างอะไรจากเผด็จการทหาร ตำแหน่งจักรพรรดิของเขาไม่ถูกยอมรับจากการทูตนานาชาติ ไม่มีใครอยากร่วมเจรจาเพื่อสันติภาพกับเขา เว้นเพียงฝรั่งเศสที่พอจะคุยด้วยได้ ณ็อง เบเดล โบกัสซา: นายทหารที่สถาปนาตัวเป็นจักรพรรดิแห่งแอฟริกากลาง สื่อต่างประเทศหลายสำนักบันทึกว่า จักรพรรดิโบกัสซามีภรรยาทั้งหมด 17 คน หลากหลายสัญชาติทั้งเยอรมัน เขมร จีน แคเมอรูน ลิเบีย ซาซูรัน และคาดการณ์ว่ามีบุตรอยู่ราว 54-62 คน เขียนข่าวไปทิศทางเดียวกันว่าที่โบกัสซาสถาปนาตัวเองสำเร็จราบรื่น เพราะการหนุนหลังของฝรั่งเศส โดยต้องแลกกับเพชรพลอย งาช้าง และยูเรเนียมจำนวนมากที่ใช้ในโครงการนิวเคลียร์ รวมถึงสิทธิพิเศษให้ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้เข้ามาล่าสัตว์ในแอฟริกากลาง ส่วนสื่ออังกฤษกับอเมริกามองโบกัสซาเป็นเรื่องไร้สาระ วีรกรรมโจษจันของจักรพรรดิโบกัสซา นอกจากตั้งตนเป็นใหญ่คือคำสั่งฆ่าคนเห็นต่าง ออกคำสั่งให้ตัดหูคนขโมยของ กำจัดกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามให้สิ้นซาก เขามักใช้ให้ข้าราชบริพารจับคนโยนให้จระเข้กับสิงโตที่เลี้ยงไว้ดูเล่นกินร่างมนุษย์ทั้งเป็น ชื่นชอบดูการทรมานเช่นการใช้โซ่รัดกายหรือเอาค้อนทุบหัว มีข่าวลือแพร่สะพัดไปทั่วว่าจักรพรรดิโบกัสซานิยมกินเนื้อมนุษย์ เสิร์ฟอาหารทำจากเนื้อมนุษย์ให้กับแขกของประเทศ มีร่างเด็กถูกหั่นแช่ไว้ในตู้เย็นของครัวหลวง นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าว่าในงานเลี้ยงทางการทูตสักงาน เขาหันไปกระซิบกับรัฐมนตรีฝรั่งเศสว่า “คุณอาจไม่ได้สังเกต แต่คุณกินเนื้อมนุษย์ไปแล้ว” อย่างไรก็ตามข่าวลือนี้ไม่ได้รับการยืนยันว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ณ็อง เบเดล โบกัสซา: นายทหารที่สถาปนาตัวเป็นจักรพรรดิแห่งแอฟริกากลาง การกระทำไม่สนโลกของจักรพรรดิโบกัสซาเริ่มบานปลาย ฝรั่งเศสเริ่มเปลี่ยนท่าทีเป็นหมางเมินขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดจุดแตกหักของการเป็นพันธมิตรเกิดขึ้นเมื่อมีข่าวใหญ่จากแอฟริกาว่า จักรพรรดิออกคำสั่งทุบตีเด็ก ๆ จำนวนมากด้วยไม้เท้า และให้คนรุมขว้างก้อนหินใส่จนตาย การทำร้ายร่างกายเยาวชนเลยเถิดถึงขั้นจักรพรรดิลงมาซ้อมนักเรียนด้วยตัวเอง ทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงเพราะเด็ก ๆ ไม่ได้สวมชุดนักเรียนที่รัฐบาลภายใต้การควบคุมของจักรพรรดิออกแบบ โดยไม่ถามถึงเหตุผลว่าพวกชาวบ้านไม่มีเงินมากพอซื้อยูนิฟอร์มราคาแพง ที่ผลิตโดยบริษัทของหนึ่งในภรรยา 17 คน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีเด็กเสียชีวิตราว 100 คน นักหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสพากันเขียนบทความวิจารณ์ประธานาธิบดีตัวเอง ที่สนับสนุนคนบ้าอย่างโบกัสซาเพียงเพราะเพชรไม่กี่กะรัต ทำให้ประธานาธิบดีแดสแตงต้องออกมาปฏิเสธยกใหญ่ว่าตนไม่ได้รับเพชรมาจากจักรพรรดิ ผลของการช่วยเหลือโบกัสซาทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ทำให้เขาสูญเสียคะแนนนิยมไปจำนวนมาก รัฐบาลฝรั่งเศสมองว่าเหตุการณ์นี้เป็นเรื่องน่าอดสูเกินรับไหว ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงตอนนี้จักรพรรดิแห่งแดนไกลทำให้ฝรั่งเศสต้องขายหน้ามากเกินพอ จึงตัดสินใจตัดขาดกับโบกัสซา พร้อมกับส่งกองกำลังเข้าช่วยล้มล้างอำนาจจักรพรรดิในเดือนกันยายน ปี 1979 การแทรกแซงของชาติตะวันตกร่วมกับประชาชนรอวันที่จักรพรรดิถูกลากลงจากบัลลังก์ ส่งผลให้แอฟริกากลางเต็มไปด้วยความวุ่นวาย คนจำนวนมากแห่ไปยังรูปปั้นของจักรพรรดิโบกัสซา ระบายความเกลียดชัง ความอัดอั้นตันใจด้วยการทุบรูปปั้น เอาสีมาทาเป็นกากบาท และใช้เชือกเพื่อโค่นรูปปั้นขนาดใหญ่ถล่มลงสู่ผืนดิน ณ็อง เบเดล โบกัสซา: นายทหารที่สถาปนาตัวเป็นจักรพรรดิแห่งแอฟริกากลาง โบกัสซาเป็นประธานาธิบดี 11 ปี เป็นจักรพรรดิได้ 3 ปีกว่า วันนี้อำนาจของเขาหมดสิ้นอย่างถาวร จักรพรรดิผู้ถูกโค่นล้มต้องหนีหัวซุกหัวซุน อดีตประธานาธิบดีเดวิด ดัคโก ได้กลับมาทำงานเป็นผู้นำประเทศอีกครั้ง สุดท้ายอดีตจักรพรรดิหนีไม่พ้นถูกจับขึ้นศาล เพื่อพิจารณาคดีถึงวีรกรรมที่เคยทำไว้กับชาติ ตอนแรกโบกัสซาถูกตัดสินประหารชีวิตจากเหตุลอบสังหารคู่แข่งทางการเมือง คดีอาชญากรรม คอร์รัปชัน สังหารหมู่ ทว่าเขาพยายามฟ้องศาลว่ามีสายลับฝรั่งเศสพยายามลอบสังหารเขาด้วยการวางยาหลายต่อหลายครั้ง แต่ไม่มีใครสนใจเรื่องเล่าของเขา ระหว่างการพิจารณาคดี มีหลักฐานพยานแน่นหนาถึงการกระทำผิดของเขา เด็กนักเรียนคนหนึ่งขึ้นให้การว่าโบกัสซาจับเด็ก ๆ ราว 180 คน ขังคุก ยืนดูพวกเขาเบียดเสียดกันในกรง ตะโกนใส่หน้าหาว่าเป็นเด็กอวดดี จากนั้นเขาเอาไม้เท้าทุบหัวเด็กจนตาย รวมถึงคดีใหญ่อย่างการกินเนื้อมนุษย์ที่ถูกจัดอยู่ในหมวดอาชญากรรม ซึ่งเขาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ภายหลังแอฟริกากลางเกิดการยึดอำนาจทางการเมืองหลายต่อหลายครั้ง โบกัสซาถูกลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ต่อมาถูกนำตัวขึ้นศาลอีกครั้ง และได้ลดโทษเหลือโทษจำคุก 20 ปี ใช้ชีวิตน่าอดสูอยู่ในเรือนจำนานพอดู จนได้รับอิสรภาพอีกครั้งเมื่อปี 1993 โบกัสซาใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างเดียวดายในบ้านพักตากอากาศห่างไกลจนกระทั่งปี 1996 เขาได้จากโลกนี้ไปด้วยอาการหัวใจวายขณะอายุได้ 75 ปี ปิดตำนานจักรพรรดิคลั่งที่ถูกลือว่ากินเนื้อคน ทิ้งไว้แต่บาดแผลเหวอะแหวะเต็มแผ่นดินแอฟริกากลางที่ต้องใช้เวลาฟื้นฟูกันอีกหลายสิบปี   ที่มา   https://www.theguardian.com/world/2010/dec/03/jean-bedel-bokassa-posthumous-pardon https://www.vice.com/en_us/article/9bzg73/the-cannibal-emperor-of-bangui-and-africas-forgotten-conflict https://www.bbc.com/news/world-africa-11890278 https://face2faceafrica.com/article/jean-bokassa-the-car-leader-who-declared-himself-the-13th-apostle-of-jesus-and-frequently-met-the-pope-in-secret https://www.thelocal.fr/galleries/news/ten-great-french-political-scandals/6 https://rarehistoricalphotos.com/emperor-jean-bedel-bokassa-coronation-1977/   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์