แฝดสยาม อิน-จัน: การเดินทางแสนยาวไกลของชาวสยามคู่แรกที่ได้รับสัญชาติอเมริกัน

แฝดสยาม อิน-จัน: การเดินทางแสนยาวไกลของชาวสยามคู่แรกที่ได้รับสัญชาติอเมริกัน
วันที่ 30 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เป็นวันแรกของการเปิดตัวในไทยของช่อง Disney+Hotstar ช่องสตรีมมิ่งสัญชาติอเมริกัน วันเดียวกันนี้เองได้มีซีรีส์ออริจินัลสัญชาติไทยเรื่องแรกที่เปิดตัวฉายเป็นตอนแรกในช่องนี้คือ ‘อิน จัน’ (Eng and Chang: Till Death Tear Us Apart) ผลิตโดย ‘กันตนา’ ในวาระครบรอบ 70 ปีของบริษัท  
‘อิน จัน’ เป็นเรื่องราวของแฝดสยามผู้ที่ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาฟ้ากำหนด แฝดคู่แรกที่โด่งดังไปไกลถึงอเมริกา อันเป็นที่มาของเรื่องเล่า หนังสือ จวบจนซีรีส์เรื่องนี้ ซึ่งหากย้อนรอยไปตามประวัติศาสตร์แล้ว อิน-จัน ถือเป็นบุคคลที่มีปูมหลังการผจญภัยและการใช้ชีวิตที่ไม่ธรรมดา นี่คือเรื่องราวของ อิน-จัน แฝดสยามที่โลกตะวันตกต้องจารึก แฝดสยาม อิน-จัน: การเดินทางแสนยาวไกลของชาวสยามคู่แรกที่ได้รับสัญชาติอเมริกัน กำเนิดจันเสมือนเป็นไฟส่วนอินเป็นน้ำ ณ บ้านแหลมใหญ่ เมืองแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ทารกเพศชายสองคนได้ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางเรือกสวนไร่นาบนแผ่นดินสยาม  ฟังดูเผิน ๆ แค่นี้คงดูไม่แปลกอะไร เพียงแต่เมื่อยามที่ผู้เป็นแม่ของทารกทั้งสองคลอดเด็กออกมานั้น ทารกแฝดคลอดออกมาในลักษณะกลับหัวกัน ตัวเล็ก และมีสายสะดือเดียว ทารกแฝดมีท่อนเนื้ออยู่ตรงบริเวณระหว่างสะดือกับหน้าอกเชื่อมระหว่างร่างกายของแฝดทั้งสองเข้าด้วยกัน ในสมัยนั้น (รัชกาลที่ 2) หากทารกแฝดเกิดลักษณะเช่นนี้ มีจำนวนน้อยมากนักที่จะรอดชีวิต แต่ฝาแฝดที่มารดา (อำแดงนาก) ตั้งชื่อให้ว่า ‘อิน-จัน’ (ในภาษาอังกฤษสะกด Eng-Chang ฝรั่งบางคนออกเสียงว่า เอ็ง-แซ็ง) กลับรอดชีวิตมาได้ราวกับปาฏิหาริย์ และได้เป็นจุดเริ่มต้นถือกำเนิดตำนาน ‘ฝาแฝดสยาม อิน-จัน’ เมื่อคราวยังเด็ก อิน-จันก็เหมือนเด็กทั่วไปเที่ยววิ่งเล่นกับเพื่อนสนุกสนาน แต่เมื่อช่วงวัยเยาว์ทั้งสองต้องหันหน้าเข้าหากันตลอดเวลา อำแดงนากผู้เป็นแม่จึงพยายามยืดท่อนเนื้อที่เชื่อมติดกันจนสำเร็จ ทำให้ทั้งสองสามารถยืนขนาบข้างกันได้  แม้จะเป็นฝาแฝดกัน แต่นิสัยของทั้งสองกลับต่างกันสุดขั้ว จันเสมือนเป็นไฟ ส่วนอินนั้นเป็นน้ำ ศาสตราจารย์จอห์นคอลลินส์ วอร์เรน ได้บันทึกไว้ว่า แฝดสยามมีสุขภาพแข็งแรง แม้จะตัวเล็กกว่าเด็กในวัยเดียวกันเล็กน้อย หน้าตาผิวพรรณคล้ายชาวจีน หน้าตาของทั้งสองคล้ายกัน แต่ไม่มากนัก พอจะสามารถแยกออกได้ ความสูงที่ชัดเจนของอินโดยประมาณคือ 161 ซม. ส่วนจัน 159 ซม. ชีวิตความเป็นอยู่ด้านฐานะครอบครัวของอิน-จันยังไม่ชัดเจนนัก บ้างก็ว่ายากจน บ้างก็ว่าได้รับการศึกษาอ่านออกเขียนได้ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น ก็คงจะถือได้ว่าคงจะไม่ได้ยากจนข้นแค้นนัก  แต่เมื่อหลังจากบิดาเสียชีวิต อิน-จันได้เริ่มประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวตั้งแต่อายุ 12-13 ปี บ้างก็ทำประมง ทำสวนมะพร้าว แต่อาชีพหลักที่สร้างรายได้คือ เลี้ยงเป็ดทำไข่เป็ด (ไข่เค็ม) อิน-จันได้ถึงจุดพลิกผันในชีวิตครั้งใหญ่ หลังจากได้พบกับโรเบิร์ต ฮันเตอร์และกัปตันคอฟฟิน (น่าจะรู้จักกับฮันเตอร์เริ่มแรกก่อน) ทั้งสองได้ผลักดันจนอำแดงนากและรัฐบาลสยามยอมให้อิน-จันออกเดินทางไปสู่สหรัฐอเมริกา สู่ตะวันตก โอกาสของชีวิตกับการแสดงโชว์ ในช่วงวัยแตกเนื้อหนุ่มประมาณ 16-17 ปี อิน-จันได้เริ่มต้นความท้าทายครั้งใหญ่ในชีวิตด้วยการขึ้นเรือมุ่งหน้าไปสู่ดินแดนแห่งเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างสหรัฐอเมริกา พร้อมกับฮันเตอร์และกัปตันคอฟฟิน ในระยะเวลากว่า 138 วัน แฝดสยามได้เหยียบแผ่นดินต่างแดนเป็นครั้งแรกที่เมืองบอสตัน ที่ซึ่งมีชาวตะวันตกกว่า 61,000 ชีวิตรออยู่ ชีวิตในตะวันตก อิน-จันต้องเผชิญสิ่งที่น่าเบื่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า คือการตรวจร่างกายที่ไม่รู้จบ เมื่อเขาไปที่ไหน นายแพทย์ที่นั่นจะห้อมล้อมเพื่อเข้าตรวจร่างกายแฝดสยามนี้ โดยเฉพาะท่อนเนื้อหรือท่อนเอ็นที่เชื่อมต่อเข้าหากัน  งานแสดงครั้งแรกของอิน-จันเกิดขึ้นที่บอสตันในชื่อโชว์ว่า ดรุณคู่ชาวสยาม จากนั้นจึงเริ่มตระเวนไปแต่ละเมืองแต่ละรัฐ ในตอนแรกอิน-จันยืนอวดโฉม (ทั้งสองค่อนข้างหน้าตาและผิวพรรณดี) ให้กับผู้ชมดู แต่ภายหลังแฝดสยามคงจะเริ่มเบื่อ จึงเริ่มขยับร่างกายไปเล่นหมากรุก ตีลังกา เล่นกับผู้ชมบ้าง ทั้งสองเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วและสง่างาม ไม่มีติดขัดไปคนละทางแต่อย่างใด ขณะเดียวกันอิน-จันก็แสดงให้เห็นถึงจิตใจเอื้ออารี เมื่อยืนยันจะคืนตั๋วค่าดูครึ่งหนึ่งให้กับผู้พิการที่มีตาข้างเดียว แฝดสยาม อิน-จัน: การเดินทางแสนยาวไกลของชาวสยามคู่แรกที่ได้รับสัญชาติอเมริกัน แฝดชาวสยามชื่นชอบและรักการเดินทางเป็นอย่างมาก ดังนั้นเมื่อคราวที่กัปตันคอฟฟินเชิญชวนให้ไปผจญภัยที่อังกฤษ แฝดทั้งสองจึงตอบตกลงทันที การแสดงโชว์ที่ลอนดอนของอิน-จันได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากชาวอังกฤษ มีผู้เข้าชมราวแสนกว่าคน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ดูเหมือนจะสวนทางกับเงินที่อิน-จันได้รับจากการแสดงดังกล่าว อิน-จันเพิ่มการแสดงให้หลากหลายมากขึ้น ทั้งการเล่นหมากรุก การตีแบดมินตันโต้กันโดยห่างกันเพียงแค่ 5 นิ้ว ความขี้เล่นและอารมณ์ขันของอิน-จัน คือตอนเหตุการณ์ที่พระเจ้าชาร์ลที่ 10 แห่งฝรั่งเศส พระราชทานทองให้ชิ้นหนึ่ง แฝดสยามได้พูดแบบเล่นสำนวนว่า “he had no crown” เนื่องจากกษัตริย์ชาวฝรั่งเศสพระองค์นี้ถูกให้สละราชสมบัติและอพยพไปอยู่อังกฤษ ฝีมือการแสดงโชว์บนเวทีของอิน-จัน พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ มีกลยุทธ์มาใช้เรียกคนดูมากขึ้น การแสดงอย่างมีชีวิตชีวาและสนุกสนาน ทำให้เปลี่ยนภาพแฝดสยามจาก ‘คนประหลาดตัวติดกัน’ เป็นนักแสดงที่มีฝีไม้ลายมืออันน่าประทับใจ แยกทางจากกัปตันคอฟฟิน เมื่อการเดินทางจากอังกฤษจบลง อิน-จันและกัปตันคอฟฟินได้เดินทางกลับมายังอเมริกา ในคราวนี้เองที่อิน-จันต้องตระเวนการแสดงทั่วประเทศจนแทบจะไม่มีเวลาหยุดพัก ซึ่งส่งผลต่อทั้งสุขภาพกายและใจต่อแฝดสยาม อิน-จันป่วยเป็นโรคตับต้องนอนรักษาตัวอยู่ระยะหนึ่ง แต่ที่แย่กว่านั้นคือสภาพจิตใจที่เริ่มอ่อนล้าเต็มที อิน-จันมีเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้ชมอยู่บ่อยครั้ง มีอยู่หนหนึ่งมีนายแพทย์เข้ามาขอตรวจร่างกายของพวกเขา แต่พวกเขาไม่ยอมให้ตรวจ นายแพทย์จึงตะโกนด่าทอว่าแฝดสยามเป็นพวกต้มตุ๋น เรื่องนี้สุดท้ายจบลงที่การวางมวยหมู่ระหว่างอิน-จัน นายแพทย์ และผู้ชม ขีดจำกัดของฝาแฝดสยามเริ่มถึงขีดสุดแล้ว ว่ากันว่าชีวิตคนเราเริ่มต้นใหม่ได้หลายครั้ง ไม่เว้นแม้แต่แฝดสยาม เมื่อย่างก้าวเข้าอายุ 21 ปี อิน-จันได้เริ่มต้นชีวิตใหม่โดยที่ไม่ได้มีภาระผูกพันทั้งทางสัญญาและทางใจกับครอบครัวคอฟฟินแล้ว โดยมีนายแฮริสเป็นผู้จัดการส่วนตัวให้ สาเหตุที่ยกเลิกสัญญาคือการฉ้อโกงของนาย-นางคอฟฟิน โดยกัปตันคอฟฟินไม่ได้จ่ายเงินให้แก่มารดาของอิน-จันเป็นจำนวนเงิน 500 เหรียญสหรัฐ ทั้งที่ที่ผ่านมาแฝดสยามทำเงินให้แก่คอฟฟินมากมาย มีผู้ชมแต่ละรอบนับแสนคน ทำให้เรื่องนี้เป็นฟางเส้นสุดท้ายที่จะทนได้ เรียกได้ว่าการจบความสัมพันธ์ระหว่างอิน-จัน กับกัปตันคอฟฟินคือการจบลงอย่างไม่สวยงาม กับผู้ที่ครั้งหนึ่งแฝดสยามเคยเรียกว่า ‘พ่อ’ อิน-จัน ผู้เป็นไทจากกัปตันคอฟฟิน ตระเวนแสดงโชว์ทั่วทั้งอเมริกาทั้ง 19 มลรัฐ จาก 24 มลรัฐ กวาดรายได้เป็นกอบเป็นกำและยุติธรรมมากขึ้น จัดการโดยแฮริส ผู้จัดการส่วนตัว หลังจากทัวร์ทั่วอเมริกาเป็นเวลา 4 เดือน แฝดสยามก็พบกับความท้าทายใหม่อีกครั้ง ด้วยการเดินทางโดยเรือใบยาวไปยังดินแดนแห่งซิการ์ ประเทศคิวบา หลังจากนั้นเดินทางสู่ปารีส ที่ครั้งหนึ่งเคยปฏิเสธไม่ให้พวกเขาเข้าประเทศโดยให้เหตุผลว่าพวกเขาคือ ‘อสุรกาย’ อันเป็นจุดเริ่มต้นในการทัวร์โชว์ที่ยุโรป จากปารีส เดินทางต่อไปยังเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ เมื่อจบการทัวร์ยุโรป แฝดสยามและนายแฮริสได้เดินทางกลับสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นช่วงเวลาที่พลิกผันของอิน-จันอีกครั้ง ภายหลังจากเดินทางมาแสดงโชว์ทั่วอเมริกาอีกครั้ง ชะตาชีวิตของอิน-จันได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากการที่ได้พบกับนายแพทย์แคลโลเวย์ ที่ซึ่งชักชวนพวกเขาไปที่เมืองวิลค์สบอโร เมืองแห่งนี้เองที่ทำให้แฝดสยามตกลงปลงใจที่จะตั้งรกราก ไม่ออกทัวร์โชว์อีก พร้อมกับเปลี่ยนอาชีพมาเปิดร้านโชห่วย จากนั้นเปลี่ยนมาทำไร่แทน ด้วยความที่ผูกพันกับดินแดนสหรัฐอเมริกาเป็นเวลานานหลายปี อิน-จันได้สร้างประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกอีกครั้ง ด้วยการเป็นชาวสยามคู่แรกที่ได้รับสัญชาติอเมริกันสำเร็จ พร้อมทั้งเป็นเจ้าของที่ดิน และปักหลักสร้างบ้านที่ชุมชนแทร็ปฮิลล์ ในฐานะพลเมืองอเมริกันอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยใช้ชื่อสกุลว่า ‘บังเกอร์’ ซึ่งเป็นสถานที่ที่พวกเขาได้พบกับสิ่งที่ขาดมานาน... รักแห่ง(แฝด)สยาม อิน-จัน พบกับสองพี่น้องตระกูลเยตส์ คือ แอดีเลด และแซลลี เยตส์ ในการพบกันครั้งแรก อินไม่รอช้าที่จะกล่าวประโยคที่ทั้งสองไม่มีวันหวนกลับได้ “น้องชายของผมต้องการแต่งงาน” ความรักระหว่างจันกับแอดีเลดค่อย ๆ เบ่งบานขึ้นเรื่อย ๆ แต่ทางตรงกันข้าม อินกับแซลลีกลับเติบโตอย่างช้าๆ จนในที่สุดหลังจากคบหากันเป็นเวลานาน 4 ปี กลยุทธ์ตื๊อเท่านั้นที่ครองโลกของอินก็เป็นผลสำเร็จ ชายหนุ่มหญิงสาวสองคู่สี่หัวใจตกลงที่จะแต่งงานกินอยู่กันฉันสามีภรรยาอย่างฉีกขนบประเพณี ซึ่งเดิมทีถือเป็นเรื่องไกลเกินฝันของแฝดสยาม  อย่างไรก็ตาม ชีวิตรักของทั้งคู่ก็ไม่ได้เป็นไปตามหวังทั้งหมด สังคมชาวบ้าน รวมถึงพ่อแม่ของสองสาว ยืนกรานไม่ให้แต่งงานกับอิน-จันโดยเด็ดขาด แม้ทั้งสี่คนจะใช้ความพยายามเท่าไรก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ไม้ตายสุดท้ายของอิน-จัน คือการตัดสินใจจะผ่าแยกร่างออกจากกัน แฝดสยามเดินทางไปฟิลาเดลเฟียเพื่อทำการผ่าตัดใหญ่ เมื่อรู้ถึงสองพี่น้องเยตส์จึงตามไปห้ามไว้ได้สำเร็จ ด้วยความมุ่งมั่นของหนุ่มสาวสองคู่นี้ ทำให้นายและนางเยตส์ยอมตกลงอนุญาตให้แต่งงาน อันเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตคู่คูณสอง แฝดสยาม อิน-จัน: การเดินทางแสนยาวไกลของชาวสยามคู่แรกที่ได้รับสัญชาติอเมริกัน 11 เดือนหลังแต่งงาน พยานรักของทั้งคู่ก็ได้เกิดขึ้น ‘แคทเธอรีน มาร์เซลลัส’ ลูกสาวของอิน เป็นลูกครึ่งไทย-อเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ ตามมาด้วย ‘โจเซฟีน เวอร์จิเนีย’ ลูกสาวของจัน หลังจากนั้นในปีถัด ๆ มา ทั้งอิน-จัน แซลลี-แอดีเลด มีลูกรวมกัน 21 คน หลายหนังสือพิมพ์ยืนยันอย่างตรงกันว่าลูก ๆ ของแฝดสยาม มีลักษณะหน้าตา รูปร่าง และผิวพรรณแบบชาวยุโรปแทบทั้งสิ้น ในฐานะหัวหน้าครอบครัววัย 40 กว่าปี ที่ต้องเลี้ยงลูกและภรรยา  ลำพังการทำไร่เพียงอย่างเดียวไม่สามารถจุนเจือให้ครอบครัวอยู่ได้ อิน-จันจึงจำต้องตัดสินใจหวนคืนสู่วงการแสดงโชว์อีกครั้ง แต่ครั้งนี้อิน-จันต้องหนีบลูกสาวแคทเธอรีนและโจเซฟีนไปปรากฏตัวบนเวทีด้วย ตามเงื่อนไขของหมอเอ็ดมันด์ เอช. โดตี้ แต่การหวนคืนวงการของแฝดสยามก็ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่า เนื่องจากชาวอเมริกันหันไปสนใจ ‘ทอม บัมบ์’ ชายแคระสูง 25 นิ้วนั่นเอง พายุแห่งโชคชะตายังคงโหมกระหน่ำอิน-จัน เมื่อได้รับข่าวจากสยามว่า อำแดงนาก แม่ของพวกเขาเสียชีวิตลง สร้างความเศร้าเสียใจให้กับทั้งสองมาก เนื่องจากที่ผ่านมาพวกเขาวางแผนกลับสยามอยู่เป็นระยะ เพียงแต่มีเหตุให้คลาดไปเสมอ แม้จะประสบความล้มเหลว แต่อิน-จันก็ยังไม่ยอมแพ้ที่จะออกเดินทางตระเวนการแสดงอีกครั้ง ในคราวนี้พวกเขาเลือกที่จะปักหลักเริ่มต้นการแสดงที่นิวยอร์ก เพื่อสะสมเงินเป็นการเดินทางไปตระเวนแสดงในฟากตะวันตกของอเมริกา ไล่เลียงไปตั้งแต่แคลิฟอร์เนีย ซานฟรานซิสโก จบลงด้วยซาคราเมนโต อิน-จันได้รับเงินก้อนสำหรับมาเลี้ยงดูครอบครัวแล้ว แต่เมื่อกลับมาบ้าน อิน-จันก็พบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ไปพร้อมๆ กับชาวอเมริกันฝั่งมลรัฐตอนใต้ การเมืองอเมริกายุคเลิกทาสและการลาจาก เมื่อคราว อับราฮัม ลินคอร์น เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ผู้นำฝ่ายมลรัฐตอนใต้ประกาศฝั่งตนเองเป็นอิสระ นำมาซึ่งสงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือ-ใต้ ในฐานะฝ่ายใต้ ครอบครัวบังเกอร์ได้เจอมรสุมแห่งสงครามครั้งแรกในชีวิต ทั้งด้านการเงินที่ฝืดเคืองเนื่องจากสงคราม ทั้งลูกชายของอิน-จัน คริสโตเฟอร์และสตีเฟน ต้องออกไปรบ แต่กระนั้นก็ตาม อิน-จันก็แสดงน้ำใจไมตรีต่อเพื่อนบ้านด้วยการออกเงินกู้ให้หยิบยืมในคราวสงคราม แต่แม้สงครามจะไม่พรากความตายไปจากลูกชายของพวกเขา แต่โรคร้ายกลับพรากชีวิตของลูกสาวอินสองคนไป เมื่อสงครามเริ่มจบลง ฐานะการเงินครอบครัวบังเกอร์ย่ำแย่ลงอย่างมาก เหตุนี้เองจึงเป็นแรงผลักดันให้อิน-จัน ในวัย 54 ปี ต้องเริ่มต้นออกเดินทางสายการแสดง และเป็นคราวสุดท้ายของการผจญภัยแฝดสยาม อิน-จันได้เบนเป้าไปที่การตระเวนแสดงโชว์ที่สหราชอาณาจักร การหารายได้เพื่อกอบกู้ฐานะของครอบครัวก็ส่วนหนึ่ง แต่จุดมุ่งหมายสำคัญคือการพาลูกสาวของพวกเขาที่ป่วยไปรักษาที่นั่น นอกจากนี้แล้ว อิน-จันยังมีความใฝ่ฝันอันสูงสุดที่หวังจะทำให้ได้ก่อนที่จะจากโลกใบนี้ไป นั่นคือการเป็นอิสระจากกัน แฝดสยามต้องการได้รับการผ่าตัดแบ่งตัวของทั้งสองออก แต่ไม่ว่าจะตระเวนไปที่ใด แพทย์ทุกคนก็ลงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าไม่ควรผ่าตัด เนื่องจากอาจมีความเสี่ยงถึงเสียชีวิต เมื่อความเห็นแพทย์เป็นเช่นนี้ จึงเรียกได้ว่าเป็นการตอกย้ำให้แฝดสยามทำใจต้องอยู่ร่วมกันจนวาระสุดท้าย แฝดสยาม อิน-จัน: การเดินทางแสนยาวไกลของชาวสยามคู่แรกที่ได้รับสัญชาติอเมริกัน ฝันร้ายที่เป็นจริงมาเยือนอิน-จัน เมื่อคราวระหว่างเดินทางกลับจากเยอรมนีมุ่งหน้าสู่อเมริกา บนเรือเดินทาง จันเกิดอาการเป็นอัมพาตครึ่งซีก หลังจากนั้นเป็นต้นมา อาการของจันมีแต่ทรงกับทรุด ส่วนอินนั้นร่างกายยังคงแข็งแรงดีอยู่ เพียงแต่สภาพจิตใจของทั้งสองเริ่มแย่ลงทุกที เพราะสุขภาพที่ไม่ดีของจัน ค่ำวันหนึ่ง จันปวดหน้าอกอย่างรุนแรง พยายามทั้งนอนและนั่งก็ยังไม่ดีขึ้น หลังจากนั่งผิงไฟสักพัก ทั้งสองก็เข้านอน กระทั่งราวตี 4 ของวันนั้น วิลเลียม ลูกชายของอินเข้ามาดูพ่อและอาของเขา จนพบว่า จันไม่หายใจแล้ว ส่วนอินบ่นกับลูกว่า “พ่อรู้สึกไม่สบายจังเลย” เมื่ออินรับรู้ว่าจันจากเขาไปแล้ว จึงบอกกับลูกว่า “เดี๋ยวพ่อก็จะตามไป” ครอบครัวบังเกอร์ได้รีบตามหมอมาอย่างเร็วที่สุด  แต่เวลากลับไม่เคยหยุดนิ่ง รวมไปถึงลมหายใจสุดท้ายของอินที่เดินตามเวลาจนหมดลง ก่อนที่อินจะสิ้นใจได้ดึงร่างที่ไร้วิญญาณของแฝดจันมากอดเป็นครั้งสุดท้าย อันเป็นการจบการผจญภัยของแฝดสยามในวัย 63 ปี ที่โด่งดังไปไกลถึงอีกซีกโลกตะวันตก ได้มีวีรกรรมและสร้างตำนานเรื่องเล่าขึ้นมากมาย อาจเรียกได้ว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้ยังไม่มีชาวสยามคนไหนโด่งดังมีชื่อเสียงจนชาวตะวันตกยอมรับได้เช่นเดียวกับ ‘อิน-จัน’ ศพของอินจันถูกฝังไว้ที่โบสถ์ไวท์เพลนส์ เมืองเมาต์แอรี สร้างรายได้ด้วยการดึงดูดนักท่องเที่ยวมายังเมืองแห่งนี้จวบจนปัจจุบัน ชีวิตของแฝดสยามผู้ที่ตัวติดกัน ‘อิน-จัน’ แม้จะเกิดมาด้วยความผิดปกติ แต่อิน-จันสามารถใช้ชีวิตปกติยิ่งกว่าคนทั่วไปเสียอีก ทั้งสองมีกันและกัน ร่วมออกเดินทางแสวงหาโชคและเงินตราในอีกฟากหนึ่งของโลกตั้งแต่วัยเยาว์ มีคนรัก มีครอบครัว สร้างมิตรภาพแก่ชาวตะวันตกขึ้นมากมาย ชีวิตอันน่าตื่นเต้นของอิน-จัน เต็มไปด้วยความกล้า ความเชื่อมั่นในตัวเอง (กันและกัน) ศักดิ์ศรีในฐานะมนุษย์ ที่สามารถสร้างชีวิตที่มั่นคง มีลูกหลานสืบสกุลจวบจนปัจจุบัน และความพยายามที่ไม่เคยย่อท้อและไม่ยี่หระต่อโชคชะตาที่มีมาตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จวบจนลมหายใจสุดท้ายที่ทั้งคู่อยู่ร่วมกัน ที่มา: หนังสือ - แฝดสยาม อิน-จัน ฅนคู่สู้ชีวิต - อิน-จัน แฝดสยาม https://thestandard.co/eng-and-chang-till-death-tear-us-apart/ https://www.silpa-mag.com/history/article_7408 https://readthecloud.co/scoop-siamese-twin/ เรื่อง: playmaker ภาพ: จากซีรีส์ Eng and Chang: Till Death Tear Us Apart หนังสือ “แฝดสยาม อิน-จัน ฅนคู่สู้ชีวิต”