20 มี.ค. 2566 | 22:11 น.
- ชไนเดอร์ อิเล็คทริค แชร์ 6 กลยุทธ์ที่ทำให้ประสบความสำเร็จและช่วยให้เกิดความยั่งยืนในประเทศไทย
- มุมความคิดเห็นจากบริษัทต่าง ๆ ในไทยทั้งเห็นด้วย และแชร์ปัญหาเรื่องราคาเพื่อไปสู่เป้าหมาย Net Zero
กระแสความยั่งยืนได้เกิดขึ้นทั่วโลกมานานกว่า 10 ปี ขณะที่ในปัจจุบันประเทศในเอเชียรวมทั้งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญมากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งในงาน ‘Exclusive Insight Sustainability Talk’ จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ X Schneider Electric ที่ โรงแรมสินธร เคมปินสกี กรุงเทพ ได้ย้ำความสำคัญของเทรนด์ความยั่งยืน และจุดประกายร่วมกันอีกครั้ง
‘ชไนเดอร์ อิเล็คทริค’ (Schneider Electric) คือ ผู้ให้บริการด้านโซลูชั่นไอที การจัดการพลังงาน และบริการด้านข้อมูลระดับโลก ซึ่ง สเตฟาน นูสส์ (Stephane NUSS) ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย ลาว และเมียนมา ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้พูดประโยคหนึ่งที่น่าสนใจว่า “กระแสของความยั่งยืนกำลังเข้ามามากขึ้นเรื่อย ๆ ดูจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทั้งภาวะโลกร้อนและอื่น ๆ”
“สิ่งที่ผมมักจะพูดเสมอไม่ใช่ ‘ถ้า’ (ถ้าเราเปลี่ยนไปสู่โลกของความยั่งยืน) แต่มันคือคำว่า ‘เมื่อไหร่’ ซึ่งข้อมูลอินไซต์จากชไนเดอร์ อิเล็คทริค อาจจะช่วยให้ฝ่ายต่าง ๆ ทั้งรัฐบาล บริษัท NGOs ร่วมมือกันง่ายขึ้นเพื่อไปสู่เป้าหมาย”
ทั้งนี้ ชไนเดอร์ อิเล็คทริค เป็นบริษัทที่ได้รับการยกย่องให้เป็นองค์กรที่ยั่งยืนที่สุดในโลก 12 ปีติดต่อกัน และยังคว้าอันดับ 1 ในกลุ่มธุรกิจเดียวกันจากทั่วโลกใน Global 100 Most Sustainable Corporations โดย Corporate Knights สะท้อนถึงโซลูชั่นและกลยุทธ์ต่าง ๆ ของชไนเดอร์ฯ ที่น่าสนใจ และที่ผ่านมาบริษัทสามารถช่วยลูกค้าลดคาร์บอนได้กว่า 90 ล้านตันในปี 2022 ถือว่าเป็นจุดเด่นที่บริษัทในไทยและหน่วยงานอื่นสามารถเรียนรู้ได้
ในส่วนของ กเว็นนาเอล อาวิส เอว็ท (Gwenaelle Avice-Huet) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านกลยุทธ์และความความยั่งยืน ชไนเดอร์ อิเล็คทริค ได้พูดถึงเรื่องความยั่งยืนว่าจริง ๆ แล้วชไนเดอร์ ได้เริ่มศึกษามานานกว่า 15 ปี ทั้งยังมีภารกิจเรื่อง go green มาก่อนหน้านี้ จนนำมาสู่การออกแบบกลยุทธ์และโซลูชั่นเพื่อความยั่งยืนที่เป็นเป้าหมายหลักของบริษัท
“พวกเราคือ social impact ที่ออกแบบบริการและผลิตภัณฑ์ที่เพื่อการอยู่อาศัยแบบใหม่ และไม่ใช่แค่เพื่อสิ่งแวดล้อมแต่เพื่อทุกคน เราต้องการออกแบบโปรดักส์ที่สามารถปรับใช้กับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ ทั้งการสื่อสาร, ระบบการคมนาคมด้วยพลังงานไฟฟ้า ฯลฯ ไม่ใช่เพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง”
นอกจากนี้ อไวซ์-อูเอต์ ยังพูดด้วยว่า footprint ที่ชไนเดอร์ฯ สำหรับเอเชียเป็นของแต่ละพื้นที่ ไม่ใช่ footprint เดียวกันทั้งหมดทั้งภูมิภาค หมายความว่า การออกแบบเพื่อความยั่งยืนนั้นจะปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศนั้น ๆ
ทั้งนี้ เธอได้แชร์เกี่ยวกับเป้าหมาย 6 ด้านในระยะยาวที่ชไนเดอร์ได้วางไว้ ได้แก่ Climate (สภาพภูมิอากาศ), Resources (ทรัพยากร), Equal (ความเท่าเทียมทางด้านโอกาส) , Generations (ช่วงอายุ) , Trust (ความเชื่อใจ/ความซื่อสัตย์) และ Local (ความเป็นชุมชน/ความเป็นท้องถิ่น) โดยทั้งหมดนี้ได้อยู่บนหลักคิด ESG ซึ่งเปิดตัวกลยุทธ์ ESG ไปเมื่อต้นปี 2021
“สำหรับชไนเดอร์ฯ เรามีความมุ่งมั่นอย่างมากกับเป้าหมาย Net-Zero ในห่วงโซ่คุณค่าทั้งหมดภายในปี 2050 แต่น่าเสียดายที่มีแค่ 181 บริษัททั่วโลกที่ให้คำมั่นสัญญาอย่างแรงกล้าในเรื่องเดียวกับเรา”
นอกจากนี้ อไวซ์-อูเอต์ ได้ยกตัวอย่างบริษัท Henkel ในเยอรมนีที่มีเป้าหมายใหญ่ลดการปล่อยมลพิษลง 65% ในปี 2025 ซึ่งเป้าหมายเปอร์เซนต์นั้นใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นถึงความจริงจัง โดยเป้าหมายวางไว้ควบคู่กับ carbon footprint ให้ได้ภายในปี 2030
เธอมองว่า หากบริษัทหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจริงจังและมีเป้าหมายใหญ่ชัดเจน โอกาสที่เราทุกคนจะช่วยกันให้บรรลุเป้าหมายก็ง่ายขึ้น และก็เร็วขึ้นด้วย
นอกจากนี้ภายในงานยังมีช่วงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของภาคเอกชนและรัฐของไทยด้วย โดยมีความคิดเห็นที่หลากหลายเกี่ยวกับความยั่งยืน ซึ่งส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยในเรื่อง ‘ความสำคัญและความจำเป็น’ ที่ประเทศไทยจะต้องเดินไปข้างหน้าเพราะกระแสโลกเป็นแบบนั้น
ซึ่งหนึ่งในผู้ร่วมแชร์ประสบการณ์และความคิดเห็น คือ ‘ฉาย บุนนาค’ ประธานกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เนชั่น กรุ๊ป ที่พูดว่า “ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในความคิดของผมไม่ใช่แค่เรื่องเงิน เรื่องตัวเลข แต่ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จหมายถึงความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รับผิดชอบต่อสังคมด้วย เราเป็นสื่อที่มีผลกระทบในสังคมด้วย ดังนั้น สิ่งที่เราทำซึ่งผมมีสื่อในเครืออยู่ประมาณ 10 แบรนด์ เรามีแนวทางเกี่ยวกับความยั่งยืนที่ทำมาแล้ว 3 ปี โดยเริ่มจากกรุงเทพธุรกิจ และฐานเศรษฐกิจ ก็จะมีเข้ามาอีกหลังจากนี้ ซึ่งเราก็มีแผนจะจัด exclusive talk เกี่ยวกับเรื่องความยั่งยืนประมาณ 4 ครั้งต่อปีด้วย นี่ก็คือสิ่งที่เนชั่น กรุ๊ป จะทำมากขึ้น”
ด้าน ‘อมร ทรัพย์ทวีกุล’ co-founder บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ Energy absolute (EA) ได้พูดถึงเรื่องความยั่งยืนว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ในสังคมไทย ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำก็คือการให้ความรู้ที่มากขึ้นเพื่อให้ทุกคนเข้าใจและตระหนักว่าความยั่งยืนมีความสำคัญมากกว่าที่คิด และย้ำด้วยว่า ต้องทำให้คนกลับมาตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องใช้ทุกอย่างเพื่อสิ่งแวดล้อม จำเป็นอย่างไร ทำไมต้องยั่งยืน
ทางด้าน ‘สมัชชา พรหมศิริ’ Chief of Staff ของแสนสิริ ได้พูดว่า “เรื่องภาวะโลกร้อนก็เกิดขึ้นมานานแล้ว ในฐานะที่เราทำด้านอสังหาริมทรัพย์มันสำคัญมากที่เราจะต้องเรียนรู้โซลูชั่นใหม่ ๆ หรือ เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มาช่วยให้ธุรกิจอสังหาฯ มีทางเลือกที่ดีขึ้น”
หรือจะเป็นกลุ่มธุรกิจธนาคาร ‘เสถียร เลี้ยววาริณ’ Chief Sustainability Officer จาก SCBx ที่ได้พูดว่า “ด้วยความที่เราเป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำในประเทศไทย จึงมีความกดดันเหมือนกันเกี่ยวกับเป้าหมาย Net Zero ซึ่งปีที่แล้วเราก็ประกาศกลยุทธ์ไปภายในปี 2050 ซึ่งก็มีคำถามว่า ทำไมเราต้องตั้งเป้าหมายที่มันยากและไกลเกินไปนั่นคือสิ่งที่เราได้ยินมา อีกสิ่งหนึ่งที่น่ากังวลก็คือ เราจะทำให้ลูกค้าภาคธุรกิจ SMEs เข้าใจเกี่ยวกับความยั่งยืนได้อย่างไร เพราะที่ผ่านมา SMEs มีความรู้ขั้นพื้นฐานเกี่ยวกับ Net Zero ค่อนข้างน้อย และพวกเขาไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรเพื่อให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น”
อย่างไรก็ตาม ‘กลอยตา ณ ถลาง’ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้พูดแย้งเกี่ยวกับการให้ความรู้และการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนว่า “สำหรับบางจากเรามีเป้าหมาย Net Zero 2050 เช่นเดียวกัน ในกลุ่ม CEO ที่จะต้องทำเรื่องนี้ก็เหมือนเป็น mission to the moon ในระดับความยาก ซึ่งเราต้องมีแพลนที่ดีและมีส่วนร่วมที่ชัดเจนทั้งกับพาร์ทเนอร์ และซัพพลายเชน ก็เหมือนกับ footprint ของพวกเขาก็เป็น footprint ของเราด้วย พูดง่าย ๆ การสร้าง wareness เหล่านั้นเป็นเรื่องที่ต้องค่อย ๆ ทำ ทั้งการจัดสัมมนา, การให้ไกด์ไลน์ และการเทรนนิ่งต่าง ๆ โดยเปิดกว้างให้คนเข้ามาเรียนรู้ตลอดทั้งคนทั่วไป และผู้ประกอบการ SMEs”
ภายในงานยังมีความคิดเห็นเกี่ยวกับ ‘ราคาที่สูงเกินไป’ สำหรับโซลูชั่นด้านพลังงาน เช่น Hydrogen technology ซึ่งยังมีราคาแพง ขณะที่ซัพพลายเชนของบางธุรกิจไม่ได้เข้าใจภาพของความยั่งยืน และความสำคัญ ซึ่งความสำเร็จและการบรรลุเป้าหมายได้ส่วนหนึ่งคือต้องเปลี่ยนทั้ง circle ธุรกิจ ดังนั้นนักธุรกิจบางคนยังมองว่าเป็นเรื่องน่าหนักใจในการทำความเข้าใจและลงมือทำเกี่ยวกับความยั่งยืน
โดยมีคำแนะนำจาก ‘แดน ปฐมวาณิชย์’ CEO จาก NR Instant Produce PLC. ธุรกิจที่ทำอาหารจากโปรตีนพืชรายแรก ๆ ในไทย ได้พูดว่า ถ้าอยากสร้างความตระหนักและเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เกี่ยวกับความยั่งยืน หรือ Net Zero คือ ต้องมี ‘ระบบใหม่’ และที่สำคัญคือต้องมีการสนับสนุนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
การแลกเปลี่ยนครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของประเทศไทยเกี่ยวกับความยั่งยืน เชื่อว่าในอนาคตทุกประเทศทั่วโลก ทั้งภาครัฐและเอกชนคงต้องเพิ่มสัดส่วนความสำคัญของยุทธศาสตร์ Net Zero ให้เป็นวาระที่ต้องเปลี่ยนแปลง