07 ต.ค. 2566 | 22:52 น.
ความยั่งยืนมีความคล้ายกับการออกกำลังกายตรงที่คนส่วนใหญ่ต่างก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่สุดท้ายก็มีเพียงน้อยคนเท่านั้นที่จะใส่ใจทำอย่างจริงจัง
อีกอย่างหนึ่งที่เหมือนกันก็คือความสม่ำเสมอที่มีไม่กี่คนที่จะทำอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งเรื่องที่คิดว่ายากที่สุดของทั้งความยั่งยืนและการออกกำลังกายน่าจะเป็นการตัดสินใจเริ่มต้นลงมือทำในครั้งแรก
แต่เชื่อหรือไม่ว่า เรื่องที่ดูแล้วไม่ง่ายอย่างการเชิญชวนให้คนทั่วไปก้าวเข้ามาบนเส้นทางของความยั่งยืนบางครั้งก็อาจไม่ยากอย่างที่คิด ถ้าเริ่มต้นจากสิ่งของธรรมดา ๆ ใกล้ตัว ที่พวกเราทุกคนคุ้นเคยอย่างเสื้อผ้าเก่าที่หลายคนไม่ได้ใช้กันแล้ว
เสื้อผ้าเก่า ๆ หลากสีหลายขนาดที่กำลังถูกนำเอาไปทิ้งถังขยะ หรือเตรียมปลดให้รับหน้าที่เป็นผ้าขี้ริ้วประจำบ้าน ทำไมถึงเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการทำให้ความยั่งยืนหยั่งรากลึกลงในใจคนได้ วันนี้ The People อยากชวนไปเรียนรู้กับโครงการดี ๆ ที่มาเปลี่ยนสิ่งของธรรมดาใกล้ตัวของพวกเราอย่างเสื้อผ้าเก่าที่กำลังถูกทิ้ง ให้กลายเป็นกระดุมเม็ดแรกของความยั่งยืน
Thaivivat Greenovation นวัตกรรมสู่ความยั่งยืน
“ตลอด 70 ปี ประกันภัยไทยวิวัฒน์ไม่ได้โฟกัสแค่เรื่องธุรกิจอย่างเดียว แต่เรายังให้ความสําคัญเรื่องความยั่งยืนมาโดยตลอด เพราะธุรกิจประกันภัยขายความเชื่อมั่นให้กับผู้คน การที่เราใส่ใจเรื่องความยั่งยืนนี่แหละที่ทําให้พวกเราสามารถดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงทุกวันนี้”
จีรพันธ์ อัศวะธนกุล หรือ คุณไก่ ที่คนในวงการธุรกิจประกันภัยคุ้นเคย เริ่มต้นด้วยการคลายข้อสงสัยของเราว่า ทำไมธุรกิจประกันภัยที่ไม่ได้อยู่ในภาคการผลิตที่มีโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ถึงยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน ด้วยตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) ที่มีประสบการณ์ในธุรกิจประกันภัยมานานกว่า 70 ปี ทำให้ไม่แปลกเลยที่คำตอบสั้น ๆ นี้จะช่วยให้เราได้เข้าใจธุรกิจประกันภัยมากยิ่งขึ้น
คุณไก่เล่าให้ฟังต่อไปอีกว่า การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับธุรกิจประกันภัยอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่ระบบหลังบ้านที่ทันสมัย ไปจนถึง big data และปัญญาประดิษฐ์ ทางหนึ่งนอกจากช่วยให้การออกกรมธรรม์ทำได้อย่างรวดเร็วขึ้นอีกหลายเท่าแล้ว ยังช่วยลดการใช้พลังงานไปในตัวอีกมหาศาล ที่ไม่เพียงจะช่วยลดต้นทุนให้กับทางบริษัทเท่านั้น แต่หมายถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติโดยรวมอีกด้วย
ไทยวิวัฒน์จึงได้นำนวัตกรรมประกันภัยเข้ามาใช้อย่างจริงจัง รวมไปถึงการตั้งทีมนวัตกรรมภายในบริษัท และบริษัทลูกที่มีการพัฒนาด้าน AI โดยเฉพาะอย่างบริษัท ‘MARS’ (Motor AI Recognition Solution) ซึ่งเป็น Deep Tech Startup ที่มี ‘MARS Inspect’ เทคโนโลยีการใช้ปัญญาประดิษฐ์มาตรวจสภาพรถยนต์แบบเรียลไทม์ รวมถึง MARS Garage แอปพลิเคชันแจ้งเคลมงานซ่อมระหว่างอู่กับบริษัทประกันภัย เพื่อประเมินราคา ค่าซ่อม ค่าแรง ค่าอะไหล่ ให้ได้ผลลัพธ์ที่มีทั้งความรวดเร็วและแม่นยำเป็นโซลูชันเพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า
“เราเป็นผู้นำนวัตกรรมด้าน InsurTech เพราะเราเชื่อว่าการพัฒนานวัตกรรมสู่ความยั่งยืนเป็นอีกเป้าหมายที่สำคัญ การพัฒนานวัตกรรม คือการเปลี่ยนแปลงในผลิตภัณฑ์ บริการ รวมถึงกระบวนการดำเนินธุรกิจ ให้สามารถสร้างผลกระทบที่ดีในระยะยาวต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ จึงได้มีการพัฒนานวัตกรรมด้านประกันภัยอย่างต่อเนื่อง ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกและตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนในสังคม”
ผู้บริหารรุ่นใหม่อย่าง เทพพันธ์ อัศวะธนกุล รองกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) เข้ามาให้ข้อมูลเสริมว่านวัตกรรมจะมีส่วนช่วยในเรื่องความยั่งยืนได้อย่างไร
“ตอนนี้เรานำนวัตกรรมด้าน InsurTech มาใช้ในหลายผลิตภัณฑ์ ทั้ง ประกันรถเปิด-ปิด ประกันรถยนต์รูปแบบใหม่ที่คิดค่าเบี้ยตามที่ใช้งานจริงที่ทำงานร่วมกับอุปกรณ์ IoT สามารถเปิดได้อัตโนมัติเพียงแค่สตาร์ทรถหรือดับเครื่องยนต์ ช่วยให้ประหยัดค่าเบี้ยได้สูงสุดถึง 80%, ประกันสุขภาพแอคทีฟเฮลท์ ที่นำ wearable technology มาใช้เพื่อ tracking การออกกำลังกายเพื่อเป็นส่วนลดค่าเบี้ยในแต่ละเดือนสูงสุดถึง 40% และ ประกันภัยการเดินทางต่างประเทศ พลัส เปิด-ปิด ที่จัดการทริปการเดินทางได้ด้วยตัวเอง รวมถึงเพิ่มลดวันเดินทางได้ด้วยตัวเอง วันเหลือสามารถเก็บไว้ใช้ทริปถัดไปได้ ผ่านแอปพลิเคชัน Thaivivat”
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของประกันภัยไทยวิวัฒน์ หันมาย้ำว่าบริษัทของพวกเขาไม่ได้แค่นำนวัตกรรมมาเปลี่ยนโลกให้ยั่งยืนเท่านั้น แต่ยังใส่ใจกับเรื่องง่าย ๆ ที่บางคนอาจมองข้ามไป เช่น การปรับรูปแบบการออกกรมธรรม์มาเป็นแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ต้องใช้กระดาษและซองพลาสติก ไปจนถึงการเปลี่ยนระบบปรับอากาศทั้งบริษัทให้เป็นระบบ VRV ที่ช่วยประหยัดพลังงานได้ในระยะยาวและมีประสิทธิภาพ
“การลดการใช้กระดาษและพลาสติกช่วยเราลดต้นทุน ซึ่งต้นทุนที่ลดลงนี้หมายถึงผู้ซื้อกรมธรรม์จะได้เบี้ยประกันที่ถูกลงยิ่งขึ้น”
การที่ผู้ซื้อกรมธรรม์อย่างพวกเราเองที่ได้ประโยชน์จากเบี้ยประกันที่ลดลงนี่แหละที่ช่วยให้เราพอจะเชื่อมโยงได้บ้างแล้วว่า ความยั่งยืนกับการประกันภัยมาเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร
เมื่อความยั่งยืนเป็นสิ่งที่ดีกับทุกคน ทำให้เราอดที่จะไปตั้งคำถามต่อไปไม่ได้ว่า ทำอย่างไรเพื่อให้คนหันมาใส่ใจในเรื่องความยั่งยืนไปด้วยกัน
เปลี่ยนเสื้อเก่าให้เป็นเสื้อใหม่
เมื่อความยั่งยืนเริ่มต้นไม่ง่าย เราต้องทำให้คนหันมาเปลี่ยนจากสิ่งที่ง่ายกว่า เป็นที่มาของโครงการ Thaivivat Greenovation ที่จะเปลี่ยนโลกด้วยนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ด้วยการ ‘เปลี่ยนเสื้อเก่าให้เป็นเสื้อใหม่’ ที่จะมาช่วยสร้างความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรให้กับพนักงานไทยวิวัฒน์ เพื่อส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ด้วยการตั้งจุดรับบริจาคเสื้อผ้าที่ใช้แล้ว แต่ยังอยู่ในสภาพดี เพื่อนำไปรีไซเคิลเป็นผ้าผืนใหม่ แล้วส่งกลับมาเป็นชุดยูนิฟอร์มให้กับพนักงานอีกครั้งหนึ่ง
“การรักษาสิ่งแวดล้อมอาจเริ่มจากการลดการทำลายสิ่งแวดล้อม แต่ไม่ใช่แค่การกระทําอย่างเดียว เราต้องสร้างจิตสํานึกให้มากที่สุดด้วย โครงการเปลี่ยนเสื้อเก่าให้เป็นเสื้อใหม่ ช่วยรณรงค์และลดขยะเศษผ้า รวมถึงเปลี่ยนผ้าเก่าให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กรเพื่อความยั่งยืนในด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรามองว่าการสร้างจิตสํานึกให้กับพนักงานทั้งหมดของเรากว่า 800 คน เป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะเมื่อคนของเราทุกคนตระหนักในเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็จะขยายผลไปยังครอบครัวพวกเขาอีกเป็นพัน ไปจนถึงเพื่อนของเขาอีกเป็นหมื่นได้”
คุณไก่ได้บอกกับเราว่าแม้ตอนนี้ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลเสื้อเก่าให้กลับมาเป็นเสื้อใหม่ยังคงสูงกว่าการผลิตแบบเดิม ๆ แต่สิ่งที่ได้กลับมาคือการลดการทำลายสิ่งแวดล้อมในตอนนี้ และปริมาณขยะที่จะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งเป็นต้นทุนของโลกที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ เพราะตอนนี้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น การผลิตสิ่งทอ 1 กิโลกรัม ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 20 กิโลกรัม มีการใช้ทรัพยากรน้ำปริมาณมหาศาล รวมไปถึงน้ำเสียจากการย้อม การใช้ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงในการปลูกฝ้าย ที่อาจถูกปล่อยสู่ธรรมชาติ ยังไม่รวมถึงพลังงานในการผลิตที่อาจให้แสงสว่างกับผู้คนได้ทั้งเมือง
โดยเสื้อผ้าเก่าเหล่านี้จะถูกเก็บรวบรวมเพื่อนำไปรีไซเคิล ให้กลายเป็นผ้าใหม่ เพื่อ closed loop ด้วยการนำเสื้อผ้าเก่ามารีไซเคิล
จากเสื้อยูนิฟอร์มที่ไทยวิวัฒน์แจกให้พนักงานทุก 6 เดือน ตอนนี้ได้ถูกเปลี่ยนเป็นเสื้อจากผ้ารีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์(%) ซึ่งเทพพันธ์ชี้ให้เราดูว่าเสื้อที่เขากำลังใส่อยู่ตัวนี้ก็เป็นเสื้อที่ทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิลเช่นเดียวกัน
“เสื้อยูนิฟอร์มที่มาจากผ้ารีไซเคิลจึงเป็นจุดเริ่มที่จะทำให้เกิดความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อทุกคนได้มีส่วนร่วมต่อไปก็ไม่มีอะไรที่ทําไม่ได้แล้ว พวกเขาจะหันมาใส่ใจกับการแยกขยะที่นำมารีไซเคิลได้มากยิ่งขึ้น”
คิดเผื่อเพื่อทุกชีวิต
ทำไมธุรกิจประกันภัยต้องหันมาให้ความสำคัญเรื่องการสร้างหลักประกันสู่ความยั่งยืน?
คำตอบนี้คงไม่มีอะไรดีไปกว่าแนวคิดของไทยวิวัฒน์ที่ว่า ‘คิดเผื่อเพื่อทุกชีวิต’ ที่ไม่เพียงแค่คิดผลิตภัณฑ์ และบริการเพื่อมาเติมเต็มความต้องการให้กับผู้คนเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงการสร้างความยั่งยืนอันเป็นหลักประกันอนาคตของทุกชีวิตบนโลกใบนี้อีกด้วย
“การประกันภัยจริง ๆ แล้วก็คือเรื่องของการป้องกันความเสี่ยง เรามองว่าถ้าคนตระหนักถึงการประกันภัยที่จะมาช่วยเติมเต็มชีวิตเขาได้อย่างไร ก็จะหันมาเลือกบริการที่ทําให้ชีวิตเขายั่งยืนมากยิ่งขึ้น ไทยวิวัฒน์จึงให้ความสําคัญในเรื่องการทำธุรกิจที่มั่นคง สามารถดำเนินงานในระยะยาว ไม่ใช่เพียงแค่ระยะสั้น เพื่อเป็นหลักประกันภัยให้กับทุกชีวิต”
เครื่องยืนยันถึงความมุ่งมั่นตั้งใจจริงในเรื่องความยั่งยืนของไทยวิวัฒน์คือการไปคว้า 2 รางวัลเกียรติยศ จากเวที Prime Minister’s Insurance Awards 2023 คือ รางวัล ‘บริษัทประกันวินาศภัยที่มีการบริหารงานดีเด่น’ และ ‘บริษัทประกันวินาศภัยที่มีความยั่งยืนดีเด่น’ ที่ยังเป็นการตอกย้ำความเป็นผู้นำด้าน InsurTech ที่ ‘คิดเผื่อเพื่อทุกชีวิต’ ด้วยการเดินหน้าสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และมาตรฐานอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยเทียบชั้นสากล ภายใต้การบริหารงานอย่างมืออาชีพ พร้อมยึดมั่นหลักธรรมาภิบาล และรับผิดชอบต่อสังคมอีกด้วย
รางวัลที่ได้นี้เป็นผลงานที่มาจากความร่วมมือกันของคนไทยวิวัฒน์ทั้งองค์กรที่ทุ่มเทเอาจริงเอาจังในเรื่องความยั่งยืน ที่ทั้งหมดเริ่มมาจากจุดเล็ก ๆ ในการปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักในเรื่องความสำคัญของความยั่งยืน ซึ่งเป็นก้าวแรกของการทำให้ความยั่งยืนนี้ขยายผลต่อไปในวงกว้าง
ความยั่งยืนมีความคล้ายกับการออกกำลังตรงที่คนส่วนใหญ่ต่างก็รู้ว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่สุดท้ายก็มีเพียงน้อยคนเท่านั้นที่จะใส่ใจทำอย่างจริงจัง
อีกอย่างหนึ่งที่เหมือนกันก็คือความสม่ำเสมอที่มีไม่กี่คนที่จะทำอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นอีกส่วนหนึ่งของชีวิต ซึ่งเรื่องที่คิดว่ายากที่สุดของทั้งความยั่งยืนและการออกกำลังกายน่าจะเป็นการตัดสินใจเริ่มต้นลงมือทำในครั้งแรก
แต่สิ่งที่ทั้งสองเรื่องแตกต่างกันก็คือ การออกกำลังกายสามารถทำได้ด้วยคนเพียงคนเดียว ต่างกับความยั่งยืนที่เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนต้องเริ่มต้นไปด้วยกันตั้งแต่เดี๋ยวนี้ เพราะสุดท้ายแล้วความยั่งยืนเกี่ยวพันกับชีวิตในวันข้างหน้าของพวกเราทุกคน ไปจนถึงกำหนดอนาคตของโลกใบนี้