08 ส.ค. 2567 | 17:30 น.
ปกติแล้วบนเกาะมีวิธีการจัดการขยะยังไง?
นี่คือโจทย์ที่ได้รับมา ก่อนจะตัดสินใจเก็บกระเป๋าออกเดินทางค้นหาเส้นทางการจัดการขยะบนเกาะในอีกสองวันถัดมา เรียกได้ว่าเป็นทริปที่กระทันหันเสียจนใครที่ผ่านมาพูดคุยเป็นต้องร้อง เอ๊ะ! แล้วหัวเราะให้กับความใจร้อนของเราไม่หยุดหย่อน
อันที่จริง เราไม่ได้ร้อนใจหาคำตอบขนาดนั้น เพราะความโชคดีแรก คือ เราได้รู้จักกับ ‘OGGA’ บริษัทรับออกแบบของขวัญสุดพรีเมี่ยมใช้วัสดุที่ได้รับ Certification เพื่อความยั่งยืน รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม องค์กรที่มีแนวคิดที่จะปฏิวัติอุตสาหกรรมของขวัญให้ก้าวเข้าสู่ความยั่งยืนมากที่สุด โดยรับประกันอย่างหนักแน่นว่าไม่ฟอกเขียวอย่างแน่นอน วัสดุทุกชิ้นล้วนผ่านการคัดสรรมาอย่างดีว่า สิ่งไหนจะดีต่อโลก สิ่งไหนจะช่วยให้สังคม ชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จนเกิดมาเป็นของขวัญที่ใครรับเป็นต้องสุขใจ
และนี่คือบันทึกการเดินทางฉบับด่วนจี๋ ณ เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อดูกับตาว่าเกาะที่คราคร่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวแห่งนี้ มีวิธีการจัดการขยะอย่างไร พร้อมเรียนรู้วิธีการจัดการขยะบนเกาะเต่าผ่าน OGGA Circular : Recycling with Koh in Thailand โครงการสนับสนุนกระบวนการแปรรูปสินค้าจากขยะรีไซเคิลในท้องถิ่นแบบครบวงจร
จากข้อมูลบนเว็บไซต์ OGGA Circular ระบุว่า บนเกาะ พบขยะ PET 45% ของขยะพลาสติกทั้งหมด หากจะบอกว่าเป็นตัวเลขที่สูงจนน่าตกใจก็พูดได้เต็มปาก แต่เมื่อคิดอีกแง่หนึ่ง อาจไม่ได้เซอร์ไพร์สมากนัก เพราะสถานที่ที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว มักมาพร้อมปัญหาขยะพลาสติกตามมาอย่างเลี่ยงไม่ได้
แม้จะมาถึงงานแถลงข่าวโครงการ OGGA Circular: Recycling with Koh Tao ช้าไปราว 2 ชั่วโมง เพราะสภาพลมฟ้าอากาศไม่เป็นใจ แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดี เมื่อเรามาถึงช่วงสำคัญที่สุดอย่างการกล่าวถึงที่มาที่ไปของโครงการ และ OGGA ช่วยเปลี่ยนวิถีชีวิตคนบนเกาะเต่าได้อย่างไร
เริ่มจาก OGGA เห็นว่าขยะพลาสติกในแต่ละหมู่เกาะนั้น มีปริมาณมหาศาล แต่กลับไม่ได้รับการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีเท่าที่ควร จึงเข้ามาสนับสนุนกระบนการแปรรูปสินค้าจากขยะรีไซเคิลในท้องถิ่น โดยมีของขวัญพรีเมี่ยมจาก Ogga Idea เป็นตัวกลางในการผสานบาดแผลของโลก ที่เกิดจากการกระทำของน้ำมือมนุษย์ให้ไม่แหลกสลายไปมากกว่านี้
โดยได้รับความร่วมมือจาก เทศบาลเกาะเต่า, สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวเกาะเต่า, โรงเรียนบ้านเกาะเต่า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายภาคส่วน
แถมยังได้ ‘ป็อปปี้ - บุญยิสา จันทราราชัย’ MISS OGGA GIFT CARE 2024 และ รองอันดับ 3 Miss Universe Thailand 2024 มาคอยมอบความสดใสตลอดทั้งงาน แอบกระซิบว่า ป๊อปปี้น่ารักสุด ๆ ลุยทุกกิจกรรมเต็มที่จนอดคิดไม่ได้ว่าเธอไปเอาพลังมาจากไหนกันนะ
นอกจากดูแลโลกแล้ว OGGA ยังคอยผลักดันให้เกิดวัฏจักรการจัดการขยะรีไซเคิลภายในชุมชน และไม่ลืมที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ส่วนเหตุผลที่ทำไมต้องหันมาให้ความสำคัญกับขยะบนเกาะ เป็นเพราะเกาะแก่งในประเทศไทยนั้นอยู่ห่างไกล การจะดูแลขยะไม่ให้ร่วงหล่นกลางทาง ก็ดูเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะจัดการ
“คนไทยเองยังมองขยะเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ทั้ง ๆ ที่ตัวเองก็เป็นคนทิ้ง แต่เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิด เมื่อเปลี่ยนวิธีคิดเราจะเห็นถึงโอกาส”
“โครงการนี้จะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติอุตสาหกรรมสินค้าของขวัญของไทย ซึ่งเรื่องของสิ่งแวดล้อมก็เป็นสิ่งสำคัญมากขึ้น ภัยพิบัติต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นมา มันทำให้คนหันกลับมามองเรื่องนี้ ดังนั้นเราต้องกลับมาคิดว่าจะทำอะไรเพื่อช่วยโลก และก็ช่วยตัวเราด้วย ฉะนั้นความรับผิดชอบคือสิ่งที่สำคัญที่สุด ความรับผิดชอบ คือ เรื่องของคนทุกคน ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง”
ส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จาก 'ผศ.ดร.จิตศักดิ์ พุฒจร' สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ รองประธานคณะกรรมที่ปรึกษามรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาย กล่าวถึงโครงการ OGGA Circular : Recycling with Koh in Thailand
เขาเน้นย้ำถึงความรับผิดชอบ และเพราะความรับผิดชอบนี้เองที่ทำให้ OGGA ยังคงยืนหยัด ดูแลจัดการปัญหาขยะบนเกาะร่วมกับชาวเกาะในแต่ละจังหวัดอย่างจริงจัง ไม่ได้เป็นการฟอกเขียว แต่ลงมือทำอย่างจริงจัง
“ปกติที่โรงเรียนบ้านเกาะเต่าจะมีโครงการธนาคารขยะอยู่แล้ว หนูว่าวิธีจะทำให้เกิดการตระหนักก็ต้องมีการประชาสัมพันธ์ ถ้าไม่มีตรงนี้ ขยะก็จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างโครงการนี้ หนูก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประเภทของขยะ ก็เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะบอกกับทุกคน บอกกับครอบครัว บอกกับที่บ้าน ว่ามันจะพัฒนาต่อยอดไปเป็นผลงานในแง่ไหนได้บ้าง”
เป๊ปซี่ ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนบ้านเกาะเต่า บอกถึงความรู้สึกที่เขาได้รับ หลังจาก ‘กฤตยณันฏ์ ขุ้ยศร’ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเกาะเต่า เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการขยะ จนนำมาสู่ความร่วมมือกับ OGGA นอกจากจะช่วยให้ชีวิตการเป็นนักเรียนสนุกขึ้นแล้ว เป๊ปซี่ยังรู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่ได้ลงมือแยกขยะ นำไปเพิ่มมูลค่า และสร้างสรรค์ผลงานออกมาเป็นค่าขนมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เขาสามารถหามาได้ผ่านขยะที่ใครหลายคนมองข้าม
นี่คือเสียงสะท้อนของเยาวชนที่ทำให้เห็นว่า การเข้ามาของบริษัทไม่ได้ทำเพื่อหวังฟอกตัวให้คนมองว่า มีจรรยาบรรณในการดูแลคนในชุมชน ใช่ว่า OGGA จะเดินตัวคนเดียวได้อย่างมั่นคง พวกเขามีพาร์ทเนอร์ที่น่ารักและจริงใจคอยสนับสนุนอยู่ไม่ห่าง หนึ่งในนั้นคือ บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเม็ดพลาสติก PP รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย จะมีส่วนช่วยเหลือในการนำพลาสติก PP ใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบรีไซเคิล สอดคล้องกับนโยบายความยั่งยืน Circularity ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า หมุนเวียนใหม่ไม่สิ้นสุด และ บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) บริษัทเคมีภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก ผู้ผลิตและรีไซเคิลเม็ดพลาสติก PET รายใหญ่ที่สุดในโลก
“บทบาทหน้าที่ของอินโดรามา เวนเจอร์ส คือ เราจะรับขวดที่เก็บจากเกาะเต่าไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เรามีโรงงานรีไซเคิล PET อยู่ที่นครปฐม มีกำลังรีไซเคิลแปดล้านขวดต่อวัน ฉะนั้นสามารถมั่นใจได้เลยว่าสิ่งที่เก็บได้จากเกาะเต่า จะถูกนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี เราเห็นด้วยกับหลาย ๆ ท่านที่พูดถึง PET ว่าสิ่งนี้ เกิดมาเพื่ออำนวยความสะดวก แต่เราในฐานะผู้ผลิต PET ซึ่งสามารถรีไซเคิลได้ 100% ไม่อยากให้มองว่าเป็นของเสีย หรือว่าถูกทิ้งไปโดยเสียเปล่า เรา เชื่อว่านี่เป็นโมเดลที่มีประสิทธิภาพ และเป็นรูปธรรม นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างแท้จริง”
‘นวีนสุดา กระบวนรัตน์’ รองประธานร่วมฝ่ายความรับผิดชอบต่อสังคม อินโดรามา เวนเจอร์ส ให้ความมั่นใจว่าวัสดุ PET ใช้งานแล้วทุกชิ้นบนเกาะเต่า จะไม่หล่นหาย หรือสร้างขยะระหว่างทางอย่างแน่นอน
ก่อนที่ตะวันจะคล้อยต่ำ ทุกภาคส่วนต่างร่วมกันลงนามทำสัญญา เพื่อประกาศให้สังคมรู้ว่า OGGA มีความแน่วแน่เพียงใดในการดูแลเกาะในประเทศไทยให้กลับมามีชีวิตชีวา ไม่ให้มีขยะพลาสติกเข้ามาบดบังทัศนียภาพอันสวยงามของเกาะ และจะส่งต่อสิ่งดี ๆ คืนสู่สังคมด้วยหัวใจที่ซื่อตรง
ภาพ : OGGA
ติดตามข่าวสารและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่:
เว็บไซต์ OGGA : https://ogga-idea.com/
เว็บไซต์ OGGA Circular : https://www.ogga-circular.com/
Facebook : https://www.facebook.com/ogga.idea/
Line : @ogga-idea - https://line.me/R/ti/p/@ogga-idea