เอ็นโซ เฟอร์รารี ผู้สร้าง Ferrari พระเสาร์ผู้กลืนกินบุตรของตนเอง

เอ็นโซ เฟอร์รารี ผู้สร้าง Ferrari พระเสาร์ผู้กลืนกินบุตรของตนเอง
"ผู้ที่จะมารับช่วงต่อจากผม จะต้องรับมรดกที่เป็นเรื่องพื้น ๆ ที่สุดอันหนึ่งไป นั่นคือรักษาไว้ซึ่งความมุ่งมั่นที่จะก้าวไปข้างหน้า อย่างที่เคยเป็นมาในอดีต แม้ว่านั่นจะต้องแลกมาด้วยการเสียสละชีวิตของมนุษย์ผู้ทรงเกียรติไปบ้าง"  เอ็นโซ เฟอร์รารี (Enzo Ferrari) ผู้ก่อตั้ง Ferrari ผู้ผลิตรถยนต์สปอร์ตชื่อดังจากอิตาลีกล่าว (The New York Times) ก่อนเสริมว่า "หลายคนสงสัยว่าทำไมผมถึงไม่คิดที่จะเปลี่ยนโรงงานให้กลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ ผมก็ไม่รู้ ผมไม่เคยมองตัวเองในฐานะนักอุตสาหกรรม ผมคิดเสมอว่าตัวเองเป็นวิศวกร เป็นผู้สร้าง เพราะภาคอุตสาหกรรมต้องการในสิ่งที่ผมไม่อาจให้ได้ โดยเฉพาะการที่พวกเขาต่อต้านตัวตนของผมในฐานะผู้ส่งเสริมการวิจัย" เฟอร์รารี เป็นชาวเมืองโมเดนา ประเทศอิตาลี เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1898 ซึ่งเวลานั้น คาร์ล เบนซ์ วิศวกรชาวเยอรมันผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้ผลิตรถยนต์ที่สามารถใช้งานได้จริงเป็นคนแรก ก็เริ่มผลิตรถยนต์สำหรับการแข่งขันความเร็วแล้ว และเมื่อเฟอร์รารีอายุได้ 10 ขวบ เฮนรี ฟอร์ด นักอุตสาหกรรมอเมริกันก็ได้ให้กำเนิด Model T รถยนต์ที่สามัญชนเข้าถึงได้ ด้วยระบบอุตสาหกรรมที่ให้กำลังการผลิตสูง  ส่วน เอ็นโซ เฟอร์รารี นั้น เดวิด อี. เดวิส (David E. Davis) บรรณาธิการผู้ล่วงลับของนิตยสาร Automobile ได้ให้คำนิยามถึงตำนานแห่งวงการรถยนต์ชาวอิตาเลียนรายนี้เอาไว้ว่า "เขาไม่ใช่วิศวกรหรือนักอุตสาหกรรม แต่เป็นนักอุปถัมภ์ เฟอร์รารีมักจะแวดล้อมไปด้วยนักออกแบบและช่างฝีมือผู้ยิ่งใหญ่ แต่ที่สำคัญคือ ความคลั่งไคล้ของตัวเขาที่สร้างรถยนต์ในแบบของเขาขึ้นมา"  เฟอร์รารีจบการศึกษาในโรงเรียนเพียงแค่ชั้นมัธยม เขามาเสียพ่อไปตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ไล่เลี่ยกันก็เกิดมหาสงคราม (สงครามโลกครั้งที่ 1, 1914-1918) เฟอร์รารีถูกเกณฑ์ไปเป็นช่างตอกเกือกให้ลาในกองทัพปืนใหญ่ภูเขา (ที่ต้องใช้ลาแบกปืน) ซึ่งเขาเองก็เกือบตาย เพราะไปติดเชื้อในปอดจากแนวหน้าแต่รอดมาได้  เมื่อสงครามจบลงเขาได้งานเป็นนักทดสอบรถยนต์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายย่อย ก่อนไปได้งานใหญ่ที่ Alfa Romeo ในฐานะนักแข่งรถ และสามารถคว้าชัยชนะสนามแรกได้ในปี 1924  แต่เฟอร์รารีไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นนักแข่งที่ดี เพราะเขาไม่กล้าพอที่จะขับเครื่องยนต์ไปจนเกินขีดจำกัดเพื่อชัยชนะ และในปี 1932 เมื่อเขามีลูกชายอัลเฟรโด "ดิโน" เฟอร์รารีก็ตัดสินใจเลิกลงแข่งในสนามแล้วหันมาเป็นผู้จัดการทีมเท่านั้น ก่อนที่จะตัดสัมพันธ์กับ Alfa Romeo ในปี 1939 แต่แผนการสร้างรถยนต์แข่งคันแรกของตัวเองต้องยืดระยะเวลาออกไปเนื่องจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้ามาขัดจังหวะเสียก่อน ระหว่างสงคราม โรงงานของเขาที่มาราเนลโลไม่ได้ผลิตรถยนต์แต่ช่วยสร้างเครื่องยนต์ให้กับเครื่องบินฝึกหัดของกองทัพ ก่อนที่โรงงานจะถูกทิ้งระเบิดโดยกองทัพสัมพันธมิตรในช่วงปลายสงคราม และเฟอร์รารีก็ยังเคยได้รับการอวยยศจากเบนิโต มุสโสลินี ผู้นำฟาสซิสต์ให้เป็นอัศวินแห่งราชอาณาจักร (Commendatore of the Kingdom) แต่ก็ถูกเพิกถอนไปหลังสงคราม เมื่อสันติภาพกลับมา เฟอร์รารีก็กลับมาพัฒนารถยนต์อีกครั้ง เมื่อการแข่งขันทดสอบความอึดอย่าง "24 ชั่วโมง เลอม็อง" กลับมาจัดการแข่งขันเป็นครั้งแรกในปี 1949 รถของเฟอร์รารีก็สร้างชื่อด้วยการคว้าแชมป์ในทันที เมื่อได้ ลุยจิ คิเน็ตติ (Luigi Chinetti) อดีตนักแข่งของ Alfa Romeo ที่เคยคว้าแชมป์ในรายการเดียวกันมาก่อนมาช่วยขับให้  จากนั้นไม่นาน Ferrari ก็เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ผลิตรถยนต์ที่เป็นเลิศทั้งในด้านความเร็วและความงาม ทำให้ทีมของเขาสามารถดึงตัวนักแข่งชื่อดังแห่งยุคมาร่วมทีมได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น อัลแบร์โต อัสการี (Alberto Ascari) ฟิล ฮิลล์ (Phil Hill) นิกิ เลาดา (Niki Lauda) หรือ มิชาเอล ชูมักเกอร์ (Michael Schumacher) แต่ระหว่างเส้นทางแห่งความสำเร็จ Ferrari ได้สูญเสียนักแข่งมือดีไปถึง 6 ราย ในระยะเวลาเพียงสั้น ๆ ระหว่างปี 1955-1961 (The Guardian) ทั้ง อัลแบร์โต อัสการี แชมป์โลกคนแรกของ Ferrari ที่เสียชีวิตระหว่างทดสอบรถในวัย 36 ปี ตามมาด้วย ยูเจนิโอ คาสเตลลอตติ (Eugenio Castellotti) นักแข่งอนาคตไกลที่เสียชีวิตในวัย 26 ปีระหว่างทดสอบรถยนต์รุ่นใหม่ของ Ferrari เช่นกัน  และหนึ่งในอุบัติเหตุที่ร้ายแรงที่สุดคือกรณีของ อัลฟองโซ เดอ ปอร์ตาโก (Alfonso de Portago) นักแข่งเชื้อสายผู้ดีสเปนในการแข่งขันรายการ Mille Miglia การแข่งรถยนต์ระยะทาง 1,000 ไมล์ บนถนนเปิด เมื่อปี 1957 เมื่อรถเกิดเสียหลักออกนอกเส้นทาง ทำให้ทั้งนักแข่ง คนนำทาง และคนดูอีก 9 คน ต้องเสียชีวิตลงจากอุบัติเหตุครั้งนั้น  เอ็นโซ เฟอร์รารี ถูกฟ้องคดีให้รับผิดต่อความตายที่เกิดขึ้น ก่อนที่ศาลจะยกฟ้อง แต่การที่ทีม Ferrari ต้องเสียนักแข่งเป็นจำนวนมากในระยะเวลาสั้น ๆ ประกอบกับข่าวลือเรื่องที่เขาชื่นชมนักแข่งคนหนึ่งมากกว่าอีกคนหนึ่ง การใช้จิตวิทยากระตุ้นให้นักแข่งแข่งขันกันเองอย่างรุนแรง ยอมเสี่ยงชีวิตอย่างเอาเป็นเอาตาย ทำให้สื่ออิตาเลียนตอนนั้นอดไม่ได้ที่จะตั้งฉายาให้กับเฟอร์รารีว่า "พระเสาร์" หรือ Saturn เทพแห่งดาวเสาร์ในปกรณัมโรมันที่กลืนกินลูกของตัวเอง (ตามตำนานที่รับอิทธิพลมาจากเรื่องเล่าของ โครนัส ไททันของปกรณัมกรีกอีกที ตามท้องเรื่องให้เหตุผลที่พระเสาร์ต้องกินลูกตัวเองเพราะป้องกันลูกขึ้นมาแย่งอำนาจ แต่สุดท้ายก็ถูกซุส หรือจูปิเตอร์ยึดอำนาจอยู่ดี) แต่นอกจากเรื่องนั้น ชีวิตของเฟอร์รารีก็ไม่เหมือนพระเสาร์ เมื่อเขาเสียลูกชายคนเดียวที่เกิดกับลอราภรรยาตามกฎหมายไปในปี 1956 ขณะที่ ปิเอโร ลูกชายอีกคนที่เกิดจาก ลินา ลาร์ดี อนุภรรยาก็เป็นคนที่ค่อนข้างอ่อนน้อมไม่ได้หวังจะเป็นใหญ่เหนือพ่อ    การทำทีมแข่งรถยนต์เป็นงานที่ต้องใช้เงินทุนสูง แม้มันจะเป็นการโฆษณาแบรนด์ไปในตัว แต่ก็ไม่ใช่งานง่าย เฟอร์รารีต้องขายหุ้นจำนวน 50% ให้กับ Fiat โดยเขายังคงดำรงตำแหน่งประธานบริษัทและดูแลทีมแข่ง ส่วน Fiat รับหน้าที่ดูแลจัดการเรื่องการผลิตและจำหน่าย ก่อนที่เขาจะลาออกจากตำแหน่งประธานบริษัทในปี 1977 แต่ก็ยังคงดูแลทีมแข่งสืบมาจนวาระสุดท้ายเมื่อเขาเสียชีวิตลงในปี 1988  ทั้งชีวิต เฟอร์รารีสามารถนำทีมของเขาคว้าชัยชนะได้มากกว่า 4,000 ครั้ง และคว้าแชมป์โลกมากครองได้ 13 รางวัล โดยเป็นแชมป์โลกสูตร 1 จำนวน 9 สมัย นับตั้งแต่ปี 1952 (The New York Times)