เอริค หยวน: ความรักที่ถูกคั่นด้วยระยะทางไกล กลายเป็น Zoom ที่ย่อให้โลกทั้งใบเล็กลง

เอริค หยวน: ความรักที่ถูกคั่นด้วยระยะทางไกล กลายเป็น Zoom ที่ย่อให้โลกทั้งใบเล็กลง

เมื่อทั้งโลกกำลังเผชิญหน้ากับโรคระบาดอันเลวร้ายตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 พนักงานไปทำงานที่ออฟฟิศไม่ได้ เด็ก ๆ  ไม่สามารถเข้าเรียนได้อย่างปกติ ครอบครัว คนรักที่อยู่ห่างไกลกันไม่สามารถเดินทางหากันได้อย่างเมื่อก่อน ในระหว่างที่ทุกอย่างกำลังหยุดชะงักและทั้งโลกกำลังอยู่ในความสับสนอลหม่าน ในมุมเล็ก ๆ ของบริษัท Zoom ผู้ผลิตซอฟแวร์สำหรับการประชุมออนไลน์ (Video Conference) ที่แม้จะอยู่มานานแล้วเกือบสิบปี แต่น้อยคนจะรู้จักชายวัยปลายสี่สิบปีชื่อ ‘เอริค หยวน’ (Eric Yuan) และทีมวิศวกรของเขากำลังพยายามทำทุกอย่างให้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขานั้นสามารถรองรับความต้องการใช้งานที่กำลังเติบโตหลายสิบเท่าแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน นับเป็นโอกาสในวิกฤติที่เขาไม่เคยคาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น จากผู้ใช้งานวันละ 10 ล้านคนช่วงปลายเดือนธันวาคม 2019 กลายเป็น 300 ล้านคนภายในเดือนเมษายนปีถัดมา และทำให้ Zoom กลายเป็นบริษัทมูลค่ากว่า 130,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทันที

Zoom กลายเป็นชื่อที่ทุกคนใช้เรียกการประชุมออนไลน์ เหมือนอย่างที่เราใช้ Google เวลาค้นหาข้อมูล หรืออย่าง Photoshop เวลาพูดถึงการแต่งรูป แม้จะมีแอปพลิเคชันคู่แข่งในตลาดจากบริษัทใหญ่ ๆ มากมาย ทั้ง Cisco, Microsoft และ Google  แต่ด้วยคุณภาพของวีดีโอและเสียงที่มีเสถียรภาพ และไม่ว่าปลายทางจะใช้อุปกรณ์แบบไหน คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แลปท็อป สมาร์ทโฟน หรือ แทปเล็ต จะเป็น iOS, Android, MacOS หรือ Windows ทุกคนสามารถคุยกันได้หมดแบบฟรี ๆ ไม่ต้องมีบัญชี แค่คลิกลิงก์ก็สามารถเข้าเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาได้เลย ทำให้ Zoom กลายเป็นทางเลือกแรก ๆ สำหรับแอปพลิเคชันการประชุมออนไลน์ที่คนทั้งโลกเลือกใช้   American Dream ถ้าเราลองค้นหาข้อมูลของ Zoom นั้นจะเห็นว่าที่จริงแล้วบริษัทนี้ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2013 โดยชาวจีนอพยพชื่อว่า ‘เอริค หยวน’ ที่ย้ายมาอยู่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ยุค 80’s ด้วยความเชื่อว่า วันหนึ่งเทคโนโลยีสำหรับการพูดคุยกันออนไลน์นั้นจะช่วยทำให้ความสัมพันธ์คนที่อยู่ไกลกันนั้นแน่นแฟ้นและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น เอริคเกิดในครอบครัวชนชั้นกลางทั่วไปในเมืองไท่อันในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1970 พ่อแม่ของเขาเป็นวิศวกรเหมืองแร่ ส่วนตัวเขาเองสนใจการทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก ในช่วงประถมสี่ เขาเริ่มต้นทำธุรกิจแรกของตัวเองด้วยการไปเก็บขยะเหลือทิ้งจากการก่อสร้าง เพื่อไปขายให้กับร้านรีไซเคิล ภายหลังเขาพบว่าวัสดุเหล่านี้ไม่สามารถขายได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่มีราคาก็คือพวกเศษเหล็ก เขาจึงหาวิธีแยกเศษเหล็กเหล่านี้ออกมาจากขยะด้วยการจุดไฟเผา แต่ครั้งหนึ่ง ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไฟที่เผาเกิดลุกลามใหญ่โตจนไหม้เล้าไก่ของเพื่อนบ้านและต้องมีคนเรียกรถดับเพลิงให้มาควบคุมสถานการณ์  “พ่อกับแม่ผมโกรธมากเลย” เขาระลึกถึงเหตุการณ์ในวันนั้น แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความสงสัยหรืออยากรู้อยากเห็นของเขาลดลงแม้แต่น้อย เขายังคงมุ่งมั่นตั้งใจเรียนจนจบมัธยมปลายแล้วย้ายไปเมืองชิงเต่า (Qingdao) เพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอย่าง Shandong Univerysity of Sciencer and Technology ในสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ ซึ่งช่วงนี้เองที่ชีวิตของเขาเริ่มเผชิญหน้ากับความลำบาก ด้วยการเรียนที่หนักขึ้น ความสัมพันธ์กับแฟนที่อยู่ต่างเมืองก็เต็มไปด้วยอุปสรรคด้านการสื่อสาร เพราะระยะทางที่ห่างไกลและวิธีเดียวที่เขาจะไปเจอเธอได้คือการไปเบียดกับผู้คนบนรถไฟกว่า 10 ชั่วโมง เปลี่ยนรถไฟหลายต่อหลายเที่ยวทำให้เขาแทบจะไม่ได้นอนพัก แถมยังเต็มไปด้วยกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ด้วยความลำบากยุ่งยากนี้เองทำให้เขาสามารถไปเจอคนที่เขารักได้เพียงปีละสองครั้ง ซึ่งจุดประกายให้เขาเริ่มคิดว่า “ผมคิดว่าคงเยี่ยมมากเลย ถ้าในอนาคตมันจะมีเครื่องมือที่ผมแค่คลิ๊ก แล้วก็เห็นหน้าและคุยกับเธอได้เลย” เอริค หยวน: ความรักที่ถูกคั่นด้วยระยะทางไกล กลายเป็น Zoom ที่ย่อให้โลกทั้งใบเล็กลง หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เขาตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย China University of Mining and Technology ที่เมืองซูโจว (Xuzhou) หลังจากจบออกมาก็ไปหางานทำต่อที่ปักกิ่ง ตอนนั้นเองที่บริษัทส่งเขาไปฝึกงานที่โตเกียวเป็นระยะเวลากว่า 4 เดือน และมีโอกาสได้เข้าไปฟังการบรรยาของ บิล เกตส์ (Bill Gates) เกี่ยวกับเรื่องของเทคโนโลยีที่เรียกว่า ‘อินเทอร์เน็ต’ ซึ่งในเวลานั้นคนส่วนใหญ่ในประเทศจีนยังไม่เคยได้ยินคำนี้เสียด้วยซ้ำ เขารู้ดีว่านี่คือเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ข้อมูลทุกอย่างอยู่แค่ปลายนิ้ว แต่ถ้าจะรอให้เทคโนโลยีนี้เข้ามาประเทศจีน อย่างน้อยก็ต้องรออีก 5-10 ปี เขาจึงตัดสินใจว่าหลังจากฝึกงานที่โตเกียวแล้วกลับมาประเทศจีน เขาจะไปหาโอกาสทำงานที่สหรัฐอเมริกา  ซึ่งขั้นตอนของการสมัครวีซ่าทำงานนั้นค่อนข้างยุ่งยาก แต่สำหรับเอริคแล้วมันเหมือนมีความโชคร้ายเข้ามาเพิ่มเติมอีกชั้น ด้วยความผิดพลาดในการกรอกข้อมูลของเจ้าหน้าที่ (ใบสมัครที่เขาเขียนบอกว่าเป็น “Consultant” แต่เจ้าหน้าที่กรอกว่า “Contractor”) กลายเป็นว่าใบสมัครของเอริคนั้นถูกปฏิเสธเพราะข้อมูลไม่ตรงกัน   Overcoming Rejection ความผิดหวังจากการสมัครในครั้งแรกนั้นไม่ได้ทำให้เขาย่อท้อเพราะสองปีต่อมา เขายังคงพยายามสมัครวีซ่าทำงานของสหรัฐอเมริกาอีกเรื่อย ๆ รวมแล้วกว่า 8 ครั้ง แต่ก็ถูกปฏิเสธกลับมาทุกครั้ง  “ผมจะทำทุกอย่างที่ทำได้ จนกว่าพวกเขาจะบอกผมว่าผมกลับมาทำ (วีซ่า) ไม่ได้แล้ว จนกว่าจะถึงตอนนั้น ผมไม่มีทางหยุดอย่างแน่นอน” ด้วยความไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคและความฝันที่แรงกล้า ในการสมัครครั้งที่ 9 เมื่อปี 1996 เขาก็ได้วีซ่าทำงานที่สหรัฐอเมริกาจนได้ แม้เขาจะยังพูดภาษาอังกฤษได้ไม่คล่องเท่าไร แต่ด้วยความเชี่ยวชาญด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ทำให้เขาได้งานเป็นโปรแกรมเมอร์ใน WebEx บริษัทสตาร์ทอัพแห่งหนึ่งในซิลิคอนวัลเล่ย์ซึ่งทำเกี่ยวกับซอฟแวร์สำหรับการประชุมออนไลน์​ (Video Conference) โดยคู่แข่งคนสำคัญที่อยู่ในตลาดตอนนั้นคือซอฟแวร์ที่ชื่อ NetMeeting จาก Microsoft ของ บิล เกตส์ ชายที่เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเดินทางมาที่อเมริกานั่นเอง ถึงแม้ว่า NetMeeting จะฟรี แต่ผู้ใช้งานกลับรู้สึกว่าใช้งานค่อนข้างยาก แถมยังใช้ได้แค่บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มี ​Windows เท่านั้น NetMeeting จึงยังไม่เป็นที่นิยมของตลาดสักเท่าไร บริษัทของเอริคเลยใช้ช่องว่างนี้เพื่อสร้างความได้เปรียบผ่าน WebEx Meeting Center ที่ใช้งานง่าย ไม่ว่าจะใช้ Mac, Windows, Solaris ก็สามารถใช้งานได้ แถมยังมีการเชื่อมต่อที่เสถียรกว่า แต่ WebEx Meeting ต้องเสียค่าใช้จ่าย จึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการหาทุนเพิ่มจากบริษัทลงทุน เพราะคู่แข่งอย่าง Microsoft นั้นมีซอฟแวร์ที่คล้ายกันแถมยังให้ใช้ฟรีด้วย (แม้จะไม่ดีเท่าก็ตาม) ตอนนั้น WebEx จึงต้องปล่อยพนักงานบางส่วนทำงานโปรเจกต์สั้น ๆ จากบริษัทอื่น (คล้าย Contractor) เพื่อสร้างรายได้และพยุงให้บริษัทอยู่รอดไปได้ก่อน เอริคเป็นหนึ่งในโปรแกรมเมอร์ที่ร่วมสร้าง WebEx Meeting Center เขาทำงานอย่างหนักพร้อมกับเรียนรู้การพูดภาษาอังกฤษไปในตัว หากความทุ่มเทพยายามของเขามักถูกมองข้ามอยู่เสมอ เดวิด ไนท์ (David Knight) หนึ่งในวิศวกรที่ทำงานร่วมกันกับเอริคที่ WebEx เล่าว่า “ผมเห็นความเอนเอียงเกิดขึ้นกับเอริคอย่างมาก เพราะเขาดูไม่เหมือนคนอื่น พูดไม่เหมือนคนอื่น” เอริครู้ดีว่าเขาไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงมุมมองของคนอื่นเกี่ยวกับตัวเขาได้ สิ่งเดียวที่เขาจะโฟกัสได้ก็คืองานของเขา ซึ่งเอริคกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “ผมเรียนรู้สองอย่างจากพ่อของผม นั่นก็คือทำงานหนักและถ่อมตน แล้ววันหนึ่งทุกอย่างจะโอเค” แนวคิดนี้เองที่ทำให้เขาได้รับการยกย่องจากเพื่อนร่วมงาน เขาทำงานหนัก ไม่เคยเอาเปรียบคนอื่น ไม่เคยพยายามทำงานเอาหน้า ตำแหน่งงานของเขาเริ่มก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ จากวิศวกรซอฟแวร์ มาเป็นหัวหน้าวิศวกร หัวหน้าวิศวกรอาวุโส ผู้อำนวยการ จนสุดท้ายก็ได้เป็นผู้อำนวยการอาวุโส ในปี 1999 บริษัท WebEx ปล่อย WebEx Meeting Center ออกมาสองเวอร์ชัน ทั้งแบบฟรีและแบบเสียค่าใช้จ่าย ซึ่งแบบฟรีนั้นจะมาพร้อมกับโฆษณาและประชุมสูงสุดครั้งละ 6 คน ซึ่งสามารถส่งข้อความหากัน และแชร์หน้าจอได้อีกด้วย ส่วนคนอื่นที่ไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ก็สามารถโทรสายเข้ามาในการประชุมได้ แต่ต้องเสียเงินค่าโทรศัพท์แยกต่างหาก ส่วนแบบที่เสียค่าใช้จ่ายจะมีฟีเจอร์เหมือนกัน แต่ไม่มีโฆษณา โดยผู้ใช้งานจะเสียค่าบริการเดือนละ 99 เหรียญ แต่จุดขายที่ใหญ่ที่สุดของ WebEx Meeting Center คือเรื่องของสัญญาณและความเสถียรที่ออกแบบมาเพื่อทำให้การเชื่อมต่อนั้นมีเสถียรภาพทั้งภาพ เสียง และข้อความ ซึ่งเสียงตอบรับกลับมาเป็นที่น่าพอใจ เพราะเมื่อนำ WebEx Meeting Center ไปเปรียบเทียบกับเจ้าอื่น ๆ ในตลาด พวกเขาชนะขาดเรื่องคุณภาพ แม้ราคาจะสูงกว่าใครก็ตาม ทำให้รายได้ของ WebEx เพิ่มขึ้นจาก 2.5 ล้านเหรียญไปเป็น 25 ล้านเหรียญภายในหนึ่งปี หลังจากฟองสบู่ดอทคอมแตกในช่วงต้นปี 2000, วินาศกรรม 9/11, การระบาดของโรค SARS และสงครามที่ปะทุขึ้นในอิรัค ทำให้บริษัทระดับนานาชาติเริ่มหันมาให้ความสนใจซอฟท์แวร์การประชุมออนไลน์กันมากขึ้น เพื่อลดการเดินทางของพนักงานที่ไม่จำเป็น ซึ่ง WebEx เข้าตลาดหุ้นได้ถูกจังหวะแล้วราคาหุ้นก็กระโดดจาก 14 เหรียญ ไปเป็น 58 เหรียญภายในหนึ่งเดือน หากความสำเร็จของ WebEx กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เอริคหาหนทางที่จะออกไปก่อตั้งบริษัทของตัวเอง เพราะถูกมองข้ามครั้งแล้วครั้งเล่า  

ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

หลังจากเข้าตลาดหุ้น สัดส่วนของ WebEx ในตลาดซอฟท์แวร์สำหรับประชุมออนไลน์เติบโตอย่างรวดเร็ว มีผู้ใช้งานอยู่ราว ๆ 65% ส่วน Microsoft มีแค่ 19% เท่านั้น บริษัท IBM เข้ามาเสนอซื้อบริษัท แต่ถูกปฏิเสธกลับไป ต่อมาในปี 2007 WebEx ตอบรับข้อเสนอที่ดีกว่าของ Cisco ที่เข้าซื้อกิจการด้วยเงินสด 3,200 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป้าหมายของ Cisco คือการขยายฐานลูกค้าที่มีอยู่ให้กว้างขึ้น (ธุรกิจหลักของ Cisco ในตอนนั้นคือการผลิตสวิตช์และเราท์เตอร์) เพราะพวกเขาอยากได้ลูกค้าที่เป็นองค์กรขนาดเล็กจนถึงกลาง ซึ่งเป็นลูกค้าส่วนใหญ่ของ WebEx ที่มีอยู่แล้ว หลังจากการควบรวมกิจการเสร็จสิ้น พนักงานหลายคนตัดสินใจขายหุ้นของบริษัทและออกไปหาโอกาสทำงานที่อื่น แต่เอริคที่อยู่ในตำแหน่งรองประธานฝ่ายวิศวกรตัดสินใจที่จะอยู่ต่อ เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้รายได้ของบริษัทเติบโตมาถึงปีละ 380 ล้านเหรียญ ทั้งยังพร้อมจะทุ่มเททำงานให้กับบริษัทเสมอ แต่สิ่งที่เขาทำใน Cisco กลับถูกมองข้ามอีกครั้ง เพราะไอเดียจากพนักงานเก่าของ WebEx มักถูกปัดทิ้งเสมอ แมทท์ เซปเพิร์ด (Matt Sheppard) พนักงานเก่าของ WebEx ให้สัมภาษณ์ว่า “Cisco เริ่มไม่สนใจสิ่งที่เราทำ ไม่สนใจเอริคและผู้นำคนอื่น ๆ ของบริษัท WebEx เลย พวกเราถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสองทันที” หากเอริคยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำงานต่อไป เชื่อในปรัชญาการทำงานหนักและถ่อมตน ออกไปหาลูกค้าอยู่ตลอด โดยตั้งเป้าว่าจะสร้างรายได้ให้ ​WebEx Meeting Center จนถึง 1 พันล้านเหรียญให้ได้ แต่หลังจากพยายามอยู่หลายปีเขาก็เริ่มเห็นว่าลูกค้าที่ใช้งานโปรแกรมของพวกเขาอยู่มีปัญหาเรื่องการใช้งาน ไม่ใช่แค่ WebEx Meeting Center เท่านั้น แต่เป็นซอฟท์แวร์การประชุมออนไลน์ทุกอย่างเพราะตอนนี้ตลาดของสมาร์ทโฟนกำลังเริ่มเป็นที่นิยม การใช้ซอฟท์แวร์เหล่านี้ต้องมีการลงโปรแกรมแบบเดิมที่ยุ่งยากและเสียเวลา การเชื่อมต่อผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ยังไม่มีประสิทธิภาพ และการแชร์ข้อมูลจากหน้าจอมือถือก็ยังทำไม่ได้ ฉะนั้นทุกครั้งที่มีการเชื่อมต่อผ่านสมาร์ทโฟน ประสบการณ์การใช้งานก็จะแย่ตามไปด้วย เอริครับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้น เขาทราบดีว่าว่าวิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์มากที่สุดคือเริ่มทุกอย่างใหม่จากศูนย์ เพราะโค้ดหลักของ WebEx Meeting Center นั้นถูกเขียนมาเมื่อ 12 ปีก่อน จึงไม่เหมาะที่จะนำมาแก้หรือเขียนทับเข้าไปอีก เขาจึงนำเสนอไอเดียนี้เพื่อพัฒนาให้ WebEx Meeting Center เหมาะสำหรับการใช้งานตามยุคสมัยและพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป แต่หัวหน้างานของเขาในบริษัท Cisco กลับปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนและปัดไอเดียนี้ตกไป (ตอนนั้น Cisco พยายามโฟกัสไปที่ Social Media สำหรับองค์กรอยู่ด้วย) ความเสียใจและผิดหวังที่เขาไม่สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าเริ่มทำให้เกิดคำถามในหัว “ทุกวันที่ลืมตาตื่นขึ้นมาผมไม่มีความสุขเลย ไม่อยากไปทำงานที่ออฟฟิศด้วยซ้ำ” หลังจากพยายามโน้มน้าวหัวหน้าเรื่องนี้อีกหนึ่งปี แต่ก็ไม่เป็นผล วันหนึ่งในปี 2011 เขานั่งลงปรึกษาเรื่องนี้กับภรรยา (อดีตแฟนที่เคยนั่งรถไฟไปหา) ว่าคงจะถึงเวลาที่เขาต้องออกมาสร้างบางอย่างด้วยตัวเขาเองแล้ว ความฝันที่เคยอยากสร้างเทคโนโลยีที่เขาสามารถกดปุ่มแล้วเห็นหน้าเธอได้ทันที สิ่งที่เขาอยากได้ตอนอยู่มหาวิทยาลัยที่ต้องนั่งรถไฟยาวนานเป็นสิบชั่วโมง แม้ว่าตอนแรกภรรยาของเขาจะรู้สึกไม่แน่ใจกับเรื่องนี้ แต่สุดท้ายแล้วเอริคก็สามารถโน้มน้าวเธอได้สำเร็จ “ผมอายุ 41 ปีแล้ว ถ้าไม่ทำตอนนี้ ผมอาจจะไม่มีเวลาแล้ว ผมจะต้องเสียใจไปตลอดแน่นอน” เขาบอกกับภรรยา ไม่กี่เดือนต่อมาเขาตัดสินใจลาออกจาก Cisco ทิ้งงานประจำที่รายได้หลายล้านบาทต่อปีเพื่อก่อตั้งบริษัทสตาร์ทอัพที่ตอนนี้ยังไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าจะหาเงินเพื่อเริ่มต้นจากที่ไหน เอริคพยามติดต่อไปหาบริษัทลงทุนหลายต่อหลายแห่ง พิชท์ไอเดียและพยายามขายความฝันเพื่อหาเงินมาลงทุน ซึ่งแทบทุกที่จะบอกเขาว่า “มันเป็นไอเดียที่ไม่ดีเท่าไหร่” เพราะว่าตลาดของซอฟท์แวร์ประชุมออนไลน์นั้นมีผู้เล่นเยอะมากแล้ว ตั้งแต่ WebEx, FaceTime, Skype และ Google Hangout แถมบริษัทลงทุนบางแห่งที่พอจะเห็นความเป็นไปได้ในไอเดียของเขา ก็ไม่เชื่อว่าวิศวกรคนเดียวจะสามารถสร้างธุรกิจให้สำเร็จได้ แต่อ่านมาถึงตรงนี้ก็น่าจะพอรู้ว่าเอริค หยวนเป็นคนที่ไม่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ ไม่ว่าจะโดนปฏิเสธกี่ครั้ง เป้าหมายของเขาก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง เอริค หยวน: ความรักที่ถูกคั่นด้วยระยะทางไกล กลายเป็น Zoom ที่ย่อให้โลกทั้งใบเล็กลง

Zoom Zoom Zoom

เมื่อไปทางบริษัทลงทุนไม่ได้ เขาก็ต้องหันกลับไปพึ่งพาเพื่อนและคนรู้จัก ซึ่งเป็นทางเลือกที่พยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด เพราะส่วนตัวแล้วเขาไม่อยากให้คนรู้จักผิดหวังจากการมาลงทุนกับเขา แต่ก็เหมือนเป็นโชคดีที่คนรู้จักเหล่านั้นเชื่อมั่นและพร้อมจะลงทุนกับเอริค หนึ่งในนั้นได้แนะนำให้เอริครู้จักกับ แดน ไชน์แมน (Dan Scheinman) อดีตผู้บริหารของบริษัท Cisco ที่ผันตัวมาเป็นนักลงทุนด้วยเงินของตัวเอง แดนตัดสินใจพบกับเอริค เพราะเป้าหมายการลงทุนของเขาคือบริษัทขนาดเล็กที่ยังไม่มีใครสนใจ และถึงแม้ว่าจะยังไม่แน่ใจว่าเอริคกำลังพยายามทำอะไร เขาก็พร้อมจะเปิดรับฟังไอเดีย โดยระหว่างที่ขับรถไปเจอเอริค เขาโทรหาทุกคนที่เคยทำงานกับเอริค แล้วทุกคนก็พูดเป็นเสียงเดียวว่า  “เขาเป็นคนที่ดีที่สุดที่ผมเคยทำงานด้วย เป็นคนที่มีสมองด้านธุรกิจอันชาญฉลาด ก่อนจะเจอกันผมก็รู้สึกว่าน่าจะใช่ อยากลงทุนด้วย ที่จริงผมเขียนเช็คไว้ก่อนแล้ว พอเจอกันก็ยื่นให้เลย” ด้วยความเกรงใจและนิสัยที่อ่อนน้อมถ่อมตนของเอริค เขาจึงตอบไปว่า “ยังไงก็ตาม ผมขอโชว์พรีเซนเทชันก่อนนะครับ” หลังจากที่คุยกันเสร็จเรียบร้อย เมื่อแดนเข้าใจว่าสิ่งที่เอริคต้องการสร้างคืออะไร เขาจึงติดต่อ จิม ไชน์แมน (Jim Scheiman) ที่ทำงานในบริษัทลงทุนเพื่อให้มาร่วมลงทุนด้วยกัน สุดท้ายแล้วเอริคจึงได้เงินมาทั้งหมด 3 ล้านเหรียญ พร้อมชื่อบริษัท Zoom ที่จิมก็เป็นคนช่วยคิดขึ้นมาอีกด้วย เอริคเข้าใจดีว่านี่เป็นความเสี่ยงที่ทุกคนต้องแบกรับและเขาเองก็รู้สึกกดดันมากขึ้น แม้จะได้รับเงินลงทุนและความเชื่อใจจากทุกคน เขาจึงตัดสินใจเขียนอีเมลฉบับหนึ่งส่งให้นักลงทุนทุกคน โดยบอกว่า “อย่างแรกเลย ผมจะทำทุกอย่างที่ทำได้ หนักเท่าที่จะหนักได้ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้พวกคุณสิบเท่า ถ้าบริษัทไปไม่รอด ผมจะหาเงินมาคืนให้ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะโอเค” เขาเริ่มต้นทำงานอย่างหนักในออฟฟิศที่เมือง Santa Clara รัฐแคลิฟอร์เนียกับวิศวกรอีก 40 คน ส่วนใหญ่แล้วเคยทำงานให้กับเขาที่ WebEx กับอีกบางส่วนที่อยู่ในเมืองจีน ภายในเวลาเพียงหนึ่งปี เอริคก็ปล่อยตัวแอปพลิเคชัน Zoom ออกมาให้คนได้ลองใช้เพื่อประชุมออนไลน์แบบความละเอียดสูง (High Definition) โดยมีคนเข้าร่วมได้ถึง 15 คนในแต่ละครั้ง มากกว่าทุกบริการที่มีอยู่ในท้องตลาด ณ เวลานั้น และใช้เพียงบัญชีเฟซบุ๊กหรือกูเกิลเพื่อสมัคร แล้วส่งลิ้งค์ให้เพื่อนก็สามารถเข้าร่วมประชุมได้ทันที แถมยังสามารถทำงานบนอุปกรณ์ทุกอย่างตั้งแต่คอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ แลปท็อป สมาร์ทโฟน แทปเล็ต บน Windows, MacOS และ iOS (Android ยังไม่ได้รองรับในตอนแรก) ที่สำคัญคือไม่ว่าจะใช้สายเคเบิล Wifi, 3G หรือ 4G ทุกคนก็เข้าประชุมได้อย่างไม่ติดขัดด้วย เพียงสามเดือนหลังจากที่ Zoom เปิดตัว (พฤศจิกายน  2012) เอริคก็ได้เซ็นสัญญากับลูกค้ารายใหญ่แห่งหนึ่งคือมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดที่กำลังแข่งขันเรื่องการสอนออนไลน์ให้กับผู้ใหญ่ ตอนนั้นแสตนฟอร์ดกำลังแข่งขันอย่างหนักกับบริษัทสื่อการสอนออนไลน์อย่าง Coursera และกำลังหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเสนอให้กับนักศึกษาออนไลน์ และ Zoom ก็เข้ามาช่วยไว้พอดี ระบบรายเดือนถูกสร้างขึ้นในปีถัดมา (2013) พร้อมกับการรองรับระบบปฏิบัติการ Android ด้วย หากต้องการใช้การประชุมแบบไม่มีลิมิตเวลาก็จ่ายเดือนละ 9.99 เหรียญสหรัฐ แต่ถ้าใช้ในระบบการศึกษาก็แค่เดือนละ 0.99 เหรียญสหรัฐเท่านั้น แถมยังรองรับการประชุมได้มากที่สุดถึง 100 คน ให้คนใช้อินเตอร์เน็ตโทรเข้าประชุมได้ฟรี อัดเสียงแบบ MP4 ได้ และสามารถแชร์หน้าจอจากมือถือและแทปเล็ตผ่านระบบคลาวน์ได้เป็นเจ้าแรกอีกด้วย แม้จะมีเสียงตอบรับที่ดี แต่ปัญหาคือเงินเริ่มหมดเพราะทีมวิศวกรค่อนข้างใหญ่ เอริคต้องพยายามหาเงินมาเพิ่ม โชคดีที่หนึ่งในผู้ลงทุนรอบแรกสามารถโน้มน้าวนักลงทุนและบริษัทลงทุนอื่นมาช่วยกันผลักดันต่อ เอริคได้เงินมาเพิ่มอีก 12.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และตอนนี้ธุรกิจก็เริ่มมีคนใช้งานเพิ่มขึ้นหลังจากเพิ่มฟีเจอร์ที่เป็น Freemium เข้าไป ให้คนใช้งานฟรีเลย 40 นาทีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในปี 2015 มีคนใช้งาน Zoom กว่า 10 ล้านคน และเพิ่มเป็น 40 ล้านคนในปีต่อมา โดยคนลูกค้าส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นมานั้น มาจากการบอกต่อกันมากกว่าการโฆษณา โดยรายได้ของพวกเขาในปี 2017 อยู่ที่ประมาณ 61 ล้านเหรียญ และกระโดดขึ้นไป 151 ล้านเหรียญในปีต่อมา และเงินลงทุนก้อนใหญ่ที่สุดมาจาก Sequoia ในปี 2017 กว่า 115 ล้านเหรียญ​ ซึ่งทำให้ Zoom กลายเป็นบริษัทยูนิคอร์นที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญในทันที ในปี 2019 ก่อนการระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 เอริคได้เอา Zoom เขาตลาดหุ้น กลายเป็นยูนิคอร์นหายากที่สร้างกำไรตั้งแต่วันที่เขาตลาดหุ้น โดยมีลูกค้ารายใหญ่ ๆ ในมืออย่าง Samsung, Walmart, Uber และ Capital One และเสียงตอบรับของนักลงทุนเป็นไปในทิศทางที่ดี พร้อมจบวันแรกด้วยราคาหุ้นที่กระโดดขึ้น 72% ภายในวันแรกของการเทรด แต่เมื่อเวลาผ่านไปไม่ถึงปี โรคระบาดได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ทำให้ผู้คนไม่สามารถเดินทางไปไหนได้ตามปกติ ต้องพบเจอและเชื่อมต่อกันผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่ง Zoom ได้กลายเป็นแอปพลิเคชันที่มีคนดาวน์โหลดมากที่สุดบนทั้ง iOS และ Android เพื่อใช้สำหรับทำงาน ประชุม เรียนหนังสือ นัดดื่ม ร้องเพลง คอนเสิร์ต คุยเล่น คุยกับครอบครัวและคนรัก แม้แต่งานแต่งงานผ่าน Zoom ก็เกิดขึ้นมาแล้ว ทำให้ยอดผู้ใช้งานสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 200 ล้านคนต่อวัน หรือประมาณ 20 เท่าจากปีก่อนหน้านี้ การเติบโตอันรวดเร็วนี้ ตามมาด้วยปัญหาเช่นกัน ทั้งเรื่องข้อมูลความเป็นส่วนตัว ความปลอดภัยของของผู้ใช้งาน และบางครั้งก็เกิดระบบก็ขัดข้องจนใช้งานไม่ได้เพราะมีผู้ใช้มากเกินไป เอริคและทีมจึงทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านั้นให้เร็วที่สุดเพราะเชื่อว่าสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมานั้นมีประโยชน์กับผู้ใช้งาน และตอนนี้ Zoom ไม่ใช่แค่แอปพลิเคชันประชุมออนไลน์สำหรับผู้ใช้งานที่เป็นลูกค้าเท่านั้น แต่มันกลายเป็นแอปพลิเคชันพื้นฐานในชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก และเขาจะทำให้ทั้งโลกผิดหวังไม่ได้ “ถ้าโลกเข้าใจเราผิด ผมจะไม่โทษคนอื่นเลย มันเป็นปัญหาของเรา เราเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่น่าภาคภูมิใจ บริษัทของเราอยู่ในตลาดหุ้น Nasdaq ตั้งอยู่ที่ San Jose ผมเป็นชาวจีนอเมริกัน และผมก็เชื่ออย่างสุดใจว่าตราบใดที่เราทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เร็วก็ช้าพวกเขาจะรู้เอง เราแค่ต้องอดทนนิดหน่อย” ตอนนี้เอริคกลายเป็นหนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และ Zoom ก็ถือเป็นแอปพลิเคชันที่คนส่วนใหญ่ใช้เพื่อการประชุมหรือพูดคุยกันออนไลน์ แม้สถานการณ์ของโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายบ้างแล้วก็ตาม เอริคยอมรับว่าการออกมาจาก Cisco นั้นถือเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก เพราะเขาเองก็อายุ 41 ปีแล้วในตอนนั้น การทิ้งงานที่มีความมั่นคงสูงบางคนอาจจะบอกว่าเป็นการตัดสินใจที่งี่เง่าเสียด้วยซ้ำ “ถ้าคุณไม่เสี่ยงเลย มันก็ไม่มีรางวัลอะไรกลับมา คุณไม่มีทางได้สินค้าที่ดีขึ้น ถ้าคุณแค่คิดอยู่ในหัว ฉะนั้นคุณต้องเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่ง” ความเสี่ยงและการกล้าตัดสินใจทั้งหมดนี้นับเป็นราคาที่เขาต้องจ่ายเพื่อแลกกับการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีให้กับลูกค้าอย่าง Zoom ซึ่งนับว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้มาคือ แอปพลิเคชันที่ทำให้โลกใบนี้ใกล้กันมากขึ้น ทำให้คนรักได้เห็นหน้าและพูดคุยสื่อสารกันเพียงคลิกเดียว ไม่ว่าจะมีระยะทางไกลแค่ไหนมาคั่นกลางก็ตาม   อ้างอิง https://www.forbes.com/sites/alexkonrad/2019/04/19/zoom-zoom-zoom-the-exclusive-inside-story-of-the-new-billionaire-behind-techs-hottest-ipo https://www.forbes.com/sites/alexkonrad/2017/01/17/how-zoom-ceo-eric-yuan-turned-frustration-into-a-1-billion-valuation-in-six-years/?sh=5d9bedd17dcc https://www.cnbc.com/2020/12/24/zoom-ceo-eric-yuan-became-one-of-worlds-richest-after-covid-crush.html https://youtu.be/iaLz_b3TOmc https://youtu.be/p9YUjzmiiSk https://dispatch.m.io/eric-yuan-zoom/