ยูจีน สไตแนก ผู้เสนอ บำบัดเกย์ด้วยการปลูกถ่ายอัณฑะ

ยูจีน สไตแนก ผู้เสนอ บำบัดเกย์ด้วยการปลูกถ่ายอัณฑะ
ยูจีน สไตแนก (Eugen Steinach) คือแพทย์ชาวออสเตรียที่มีชื่อเสียงอย่างมากในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนมีชื่อชิงรางวัลโนเบลถึง 6 ครั้ง แม้สุดท้ายจะไม่ได้สักครั้งเลยก็ตาม ความดังของเขาไปไกลถึงสหรัฐฯ เห็นได้จากรายงานเก่า ๆ ของสื่ออเมริกันที่ลงผลงานค้นคว้าและทฤษฎีของเขาบ่อย ๆ โดยเฉพาะเรื่องราวที่เกี่ยวกับ "การผ่าตัดสไตแนก" ที่เชื่อว่าจะช่วยคืนวัยเยาว์ให้กับคนที่สังขารร่วงโรย แม้ตัวสไตแนกเองจะไม่เคยผ่าตัดด้วยวิธีการที่ตัวเองเสนอก็ตาม นอกจากนั้นแล้ว สไตแนกยังเคยเสนอทฤษฎีที่ฟังดูประหลาดอย่างการบำบัดการเป็นเกย์ด้วยการปลูกถ่ายอัณฑะของชายรักหญิงไปใส่ให้กับชายรักชาย  ฟังอย่างนี้แล้วอาจจะเข้าใจผิดได้ว่า สไตแนกเป็นพวกเกลียดเกย์หรือไม่? ทำไมถึงเห็นว่าเกย์เป็นอาการผิดปกติที่ต้องบำบัด?  แม้ว่าทฤษฎีของเขาและผลงานที่สร้างชื่อจะกลายเป็นองค์ความรู้ที่ตกยุคไปแล้ว แต่จริง ๆ แล้วเขาเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์และสรุปผลจากการทดลองในยุคที่คนยังไม่รู้จักการทำงานที่แน่ชัดของต่อมไร้ท่อและฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ ทั้งยังเป็นผู้ที่เชื่อว่าสิ่งมีชีวิต (รวมถึงคน) ไม่ว่าจะเกิดเป็นเพศผู้หรือเพศเมียก็สามารถมีความลื่นไหลทางเพศที่อยู่ระหว่างสองขั้วได้ และถือเป็นผู้บุกเบิกการบำบัดรักษาด้วยฮอร์โมนที่มีมาจนถึงปัจจุบันอีกด้วย ยูจีน สไตแนก เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1861 ที่โฮเฮเนมส์ (Hohenems) ของออสเตรีย ในตระกูลที่สืบทอดวิชาชีพหมอมาตั้งแต่รุ่นปู่ ขณะเดียวกัน ปู่ของเขายังเลี้ยงวัว การได้เห็นการผสมพันธุ์วัวและการทำหมันวัวมาตั้งแต่เด็ก ๆ ทำให้สไตแนกมีความสนใจเรื่องราวของพฤติกรรมทางเพศและการสืบพันธุ์ ซึ่งนำไปสู่การวิจัยของเขาในภายหลัง (The Empryo Project at Arizona State University)    สไตแนกจบด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติจากมหาวิทยาลัยเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ก่อนไปเรียนแพทย์ต่อที่มหาวิทยาลัยเวียนนา ออสเตรีย และจบการศึกษาในปี 1886 จากนั้นจึงได้ทำงานเป็นผู้ช่วยวิจัยที่ Physiological Institute ในเมืองอินส์บรูกของออสเตรีย ก่อนย้ายไปอยู่กรุงปรากของเชก เมื่อปี 1898 ทำงานเป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ที่ German University of Prague ก่อนขยับไปเป็นศาสตราจารย์ที่ Charles University ในกรุงปรากเช่นกันเมื่อปี 1907  หลังสร้างผลงานในต่างแดนอยู่หลายปี สไตแนกจึงได้ย้ายกลับออสเตรียในปี 1912 ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการแผนกสรีรวิทยา ที่ Vivarium (Institute for Experimental Biology of the Academy of Sciences) ในกรุงเวียนนา ที่ที่ทำให้เขาได้ทำงานด้านงานวิจัยอย่างเต็มที่มากกว่าการสอน  การทดลองอันเป็นที่มาของทฤษฎีสำคัญต่าง ๆ ของเขาล้วนเกี่ยวพันกับการ "ตัด" เครื่องเพศ เช่น การทำหมันหนูตัวผู้แต่แรกเกิด แล้วปลูกถ่ายเซลล์รังไข่ของตัวเมียให้ ผลที่ได้คือ ลักษณะที่บ่งบอกความเป็นเพศผู้ของหนูตัวดังกล่าวหยุดการพัฒนา ในขณะที่นมและหัวนมกลับมีขนาดใหญ่กว่าหนูตัวผู้ปกติอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ หนูที่ถูกตอนและถูกปลูกถ่ายรังไข่ยังไม่แสดงลักษณะการหาคู่อย่างเพศผู้ กล่าวคือ ไม่มีความสนใจในเพศเมีย กลับแสดงลักษณะอย่างเพศเมีย เช่นการแสดงปฏิกิริยาป้องกันตัวอย่างเพศเมีย ที่ป้องกันการเข้าหาของเพศผู้เพื่อการผสมพันธุ์ ลักษณะทางกายภาพก็ยังเป็นเหมือนตัวเมียมาก ทั้งขนาดที่เล็กกว่าปกติ มีนมขนาดใหญ่และหลั่งน้ำนมได้  ส่วนผลจากการผ่าตัดย้ายรังไข่ของหนูตัวเมียวัยแรกเกิด แล้วปลูกถ่ายอัณฑะนั้นแม้ว่าจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของหัวนม ต่อมน้ำนมและมดลูก แต่มันก็มีลักษณะที่แสดงความเป็นเพศผู้ด้านอื่น ๆ แสดงให้เห็นอย่างเด่นชัด โดยเฉพาะด้านพฤติกรรมที่มันชอบเข้าหาตัวเมีย และพร้อมจะสู้กับตัวผู้เพื่อครอบครองตัวเมีย  นอกจากนี้ เขายังลองปลูกถ่ายรังไข่และอัณฑะให้กับหนูแรกเกิดในหนูที่ถูกตอน ซึ่งส่วนใหญ่หนูทดลองลักษณะนี้น้อยนักที่จะอยู่รอดถึงวัยเจริญพันธุ์ แต่ตัวที่รอดก็ทำให้พอสรุปผลได้ว่า เมื่อโตเต็มวัยหนูเหล่านี้จะมีลักษณะทั่วไปอย่างตัวผู้ ขณะเดียวกันก็มีนมที่พัฒนาอย่างตัวเมีย เมื่อย้ายรังไข่ออก นมก็กลับเข้าสู่ลักษณะอย่างตัวผู้ พฤติกรรมก็เป็นอย่างตัวผู้ เมื่อย้ายอัณฑะออก ลักษณะความเป็นเพศเมียก็จะพัฒนาเต็มที่ ส่วนตัวที่ยังมีทั้งรังไข่และอัณฑะคู่กันก็จะแสดงลักษณะทางเพศที่หมุนเวียนเป็นวงจรสลับกันทุกรอบสองถึงสามเดือน หนูตัวเดียวกันจึงอาจถูกตัวผู้ทำร้าย อยู่ดี ๆ อีกไม่กี่เดือน หนูตัวเดียวกันนี้ก็จะมีตัวผู้มารุมจีบ (Elsevier) การทดลองเหล่านี้ทำให้สไตแนกสรุปว่า การพัฒนาร่างกายของเพศผู้หรือเพศเมียนั้นไม่ได้เป็นผลโดยการเกิดและถูกตั้งโปรแกรมไว้ก่อนตั้งแต่ต้น หากเป็นเพราะการกระตุ้นของต่อมเพศต่าง ๆ แม้เขาจะยอมรับว่า เพศอาจถูกกำหนดไว้ด้วยพันธุกรรม แต่ลักษณะทางเพศเป็นสิ่งที่สามารถดัดแปลงได้ด้วยการปรับแต่งการทำงานของต่อมเพศ ซึ่งเป็นที่มาของข้อเสนอของเขาในการรักษาพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน ด้วยการปลูกถ่ายอัณฑะของชายรักหญิงให้กับชายรักชาย การผ่าตัดนี้ก็คือการทำหมันชายดี ๆ นี่เอง เขาได้ทฤษฎีนี้มาจากการสังเกตผลการทดลองในหนู โดยหนูที่ถูกตอนก่อนวัยเจริญพันธุ์จะทำให้พัฒนาการทางเพศหยุดชะงักลง ขณะที่หนูปกติเมื่อเข้าสู่วัยชราลักษณะทางเพศก็จะคล้ายกับหนูในวัยแรกเกิด สาเหตุก็มาจากต่อมเพศเสื่อมสภาพจึงทำให้มีลักษณะไม่ต่างจากหนูที่ถูกตอน เขาจึงคิดหาวิธีที่จะปลุกการทำงานของต่อมเพศในวัยชราให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง และการผ่าตัดผูกท่อส่งสเปิร์ม ซึ่งเท่ากับเป็นการทำหมันก็เป็นที่รู้กันในขณะนั้นว่าเป็นการทำลายเซลล์ที่ใช้สร้างสเปิร์มในอัณฑะ สไตแนกเชื่อว่า ด้วยวิธีการนี้เองที่จะกระตุ้นให้เซลล์ที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศในถุงอัณฑะกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และการทดลองในหนูเขาพบว่า เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังการผ่าตัดหนูแก่เสื่อมสมรรถภาพก็กลับมามีชีวิตชีวา มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น มีขนชุดใหม่งอกขึ้นไฉไลกว่าเดิม ทั้งยังกลับมาสนใจกิจกรรมทางเพศอีกครั้ง จากที่เคยหยุดความสนใจในการผสมพันธุ์ไปแล้วบางตัวกลับมีเซ็กซ์อย่างไม่รู้จักหยุดจักหย่อน และทำการร่วมเพศอย่างต่อเนื่องสูงสุดถึง 19 ครั้งใน 15 นาที เมื่อมีการเผยแพร่ผลการผ่าตัดในมนุษย์รายแรก คนไข้เป็นชายวัย 44 ปี ซึ่งเคยอ่อนแอ ทำงานหนักไม่ไหว กินไม่ค่อยได้ กล้ามเนื้อเหี่ยว แต่กลับมามีน้ำมีนวล กินได้ สุขภาพดี ภายใน 18 เดือน ก็ทำให้การผ่าตัดของสไตแนกโด่งดังอย่างรวดเร็ว  แต่เมื่อเวลาผ่านไปราว 10 ปี การผ่าตัดสไตแนกก็เสื่อมความนิยม เพราะผลที่ได้รับไม่ได้แสดงความแตกต่างให้เห็นได้อย่างเด่นชัด ถ้าแสดงก็มิได้มีผลเป็นการถาวรอย่างที่หลายคนคาดหวัง ขณะที่สไตแนกก็ไปให้ความสนใจกับการศึกษาและพัฒนาการบำบัดรักษาด้วยฮอร์โมน โดยเฉพาะฮอร์โมนเพศหญิง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมยาในเยอรมนี ซึ่งเป็นที่มาของผลิตภัณฑ์ที่ทำตลาดในชื่อ Progynon-B เอสโตรเจนสำหรับกินและฉีดทั้งยังใช้มาจนถึงศตวรรษที่ 21 ทั้งนี้ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ของสไตแนกต้องหยุดชะงักลงเมื่อนาซีเยอรมนีบุกยึดออสเตรียในเดือนมีนาคม 1938 ห้องสมุดของเขาถูกยึด เอกสารงานวิจัยก็ถูกทำลาย ขณะนั้นเขาและภรรยาซึ่งต่างเป็นชาวยิวอยู่ระหว่างการพักผ่อนในสวิตเซอร์แลนด์  รัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์จึงมอบภูมิลำเนาถาวรให้กับทั้งคู่ แต่ปลายปีเดียวกัน ภรรยาของสไตแนกก็ฆ่าตัวตาย เขาเองวางแผนที่จะเดินทางไปสหรัฐฯ โดยมีหลายสถาบันแสดงความสนใจที่จะดึงตัวเขามาทำงานด้วย แต่เขาในวัยเกือบ 80 ปี ก็คงไม่สร้างแรงจูงใจให้สถาบันเหล่านี้เห็นคุณค่าในตัวเขามากนัก เขาจึงเสียชีวิตลงอย่างเดียวดายในเดือนพฤษภาคม 1944