Eve KK : เมื่อแม่ไม่เข้าใจ เธอจึงสร้างชุมชนหนัง LGBTQ+ เป็นของตัวเอง

Eve KK : เมื่อแม่ไม่เข้าใจ เธอจึงสร้างชุมชนหนัง LGBTQ+ เป็นของตัวเอง
เพราะการทำให้แม่ยอมรับในสิ่งที่ตนเองเป็นไม่ใช่เรื่องง่าย ‘อีฟ’ เจ้าของช่องยูทูบ ‘Eve KK’ ช่องแนะนำภาพยนตร์เลสเบียนซึ่งเป็นที่รู้จักของชาว LGBTQ+ จึงตัดสินใจสร้างชุมชนออนไลน์เป็นของตัวเอง เพื่อพา ‘เพื่อน’ ที่จะสามารถพูดคุย แลกเปลี่ยน และแชร์ความชอบที่เหมือนกันมาพบกัน ณ ที่แห่งนี้ “สวัสดีเพื่อน ๆ ตอนนี้ก็อยู่กับเรา อีฟนะ” ประโยคทักทายสุดเรียบง่ายนี้คือเอกลักษณ์ในการเปิดคลิปของหญิงสาวผมสั้นประบ่าที่นั่งอยู่ตรงหน้า อีฟใช้น้ำเสียงที่ผู้ติดตามคุ้นหูเล่าให้ฟังถึงชีวิตของเธอก่อนที่จะผันตัวมาเป็นยูทูบเบอร์ ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นจากการที่ ‘ครอบครัวไม่ใช่สถานที่ที่สามารถสนทนาได้ทุกเรื่อง’ และแม่ผู้ให้กำเนิดไม่ยอมรับความรักระหว่าง ‘ผู้หญิงและผู้หญิง’ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องผิดแปลก และน่าอับอาย “แม่ของเรานับถือศาสนาอิสลาม และเป็นครูเกษียณ เมื่อประมาณ 4 ปีก่อนเราทะเลาะกัน เพราะเขาแอบหลอกถามเราว่า เรากับพี่อีกคนหนึ่งเป็นอะไรกัน ซึ่งเขาคือแฟนของเราที่เป็นผู้หญิง เราก็บอกไปโดยไม่ได้คิดอะไรว่า ‘เป็นแฟน’ แต่แม่กลับไม่ยอมรับ และต่อว่าเราด้วยถ้อยคำรุนแรงอย่าง ลักเพศ ขยะแขยง แม่อายเขานะ” อีฟเล่าด้วยน้ำเสียงที่เริ่มสั่น หลังจากนั้นอีฟจึงหลีกเลี่ยงการพูดคุยถึงประเด็นนี้กับแม่ของตนเอง และนั่นก็กลายเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้อีฟไม่อยากกลับบ้าน จนกระทั่งปี 2020 ที่ผ่านมา ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด การทะเลาะกันอีกครั้งระหว่างทั้งสองคนจึงเริ่มขึ้นในช่วงก่อนกักตัวรอบแรก ขณะที่อีฟกำลังขับรถไปส่งหลานที่โรงเรียน แม่ที่นั่งมาด้วยก็ยกเรื่องที่อีฟไม่ยอมอยู่บ้าน เนื่องจากเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ บ่อย ๆ มาเป็นประเด็น ก่อนจะเริ่มใช้ถ้อยคำรุนแรงสาดใส่ลูกสาวจนหลานที่นั่งมาด้วยเริ่มร้องไห้ “วันนั้นแม่ดรามา ตีอกชกตัว ไม่อยากให้เรามากรุงเทพฯ เขาร้องไห้ แต่สุดท้ายเราก็บอกว่าขอไปทำงานก่อน และตัดใจจากเขา เราก็คิดว่า เขาไม่เปลี่ยนหรอก เวลาผ่านมา 3-4 ปี เขาก็ไม่ได้ดีขึ้น แค่มันเหมือนถูกเก็บไว้รอวันปะทุอีก เราไม่เคยไปอะไรกับเขาเลย เราใช้วิธีออกมาทำอะไรสักอย่างของตัวเอง เพื่อพิสูจน์ว่าเราทำอะไรเองได้ แม่ไม่ต้องห่วง ถึงเราเป็นยังไง เราก็ไม่เคยทำให้เขาเครียด อย่างเรื่องเรียนก็เรียนให้ดีที่สุดตลอด เขาน่าจะภูมิใจได้แล้ว แต่เขาก็ยัง” Eve KK : เมื่อแม่ไม่เข้าใจ เธอจึงสร้างชุมชนหนัง LGBTQ+ เป็นของตัวเอง เมื่อถึงช่วงกักตัวรอบแรก อีฟไม่ได้กลับบ้านถึง 3 เดือน เธอใช้เวลาไปกับการสานต่อช่องยูทูบที่เธอเคยลงวิดีโอเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2019 ถึงแม้การทำยูทูบในช่วงนั้นจะไม่มีผลตอบแทน แต่อีฟก็ตั้งใจอัดวิดีโอ เพราะเธอต้องการสร้างสถานที่ที่ผู้ชื่นชอบภาพยนตร์เลสเบียนและ LGBTQ+ สามารถมาใช้เวลาแลกเปลี่ยนความชอบกันได้อย่างเปิดเผย “ลึก ๆ เราต้องการที่จะปลดปล่อย อยากมีสังคมที่เขาคุยเรื่องเดียวกับเรา เราต้องการการยอมรับ โหยหาความรักจากคนที่เข้าใจ เราแค่หาช่องทางระบาย และสนองสิ่งที่สนใจ แต่ถูกปิดไว้” นั่นจึงเป็นที่มาของการดูภาพยนตร์ LGBTQ+ กว่า 60 เรื่องในระยะเวลา 1 ปี เพื่อนำมาบอกต่อเพื่อน ๆ และใช้ภาพยนตร์เป็นสื่อในการทำให้คนรอบกายเข้าใจ LGBTQ+ มากขึ้น   โลกคือละคร ภาพยนตร์สะท้อนชีวิต ดวงตาที่โหยหา สีหน้าที่ปนเศร้า โทนสีเทาที่ขับสีฟ้าให้โดดเด่น เหมือนเรื่องราวของหญิงสาวสองคนที่พานพบ และเติมเต็มชีวิตของกันและกันให้มีสีสัน ก่อนการจากกันจะทำให้โลกใบหนึ่งแทบล่มสลาย นั่นคือภาพที่ปรากฏอยู่บนกล่องดีวีดีเรื่อง ‘Blue is the Warmest Color’ ภาพยนตร์เลสเบียนเจ้าของรางวัล ‘ปาล์มทองคำ’ ในงานเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปี 2013  ภาพยนตร์สัญชาติฝรั่งเศสเรื่องนี้มีเนื้อหาว่าด้วยเรื่องความรักของสาวมัธยมฯ และนักศึกษาเอกจิตรกรรม ซึ่งเนื้อเรื่องแฝงไปด้วยปรัชญา การค้นหาตัวเอง และสะท้อนชีวิตที่ทั้งสุขและเศร้าปะปนกันไป แต่เหนือสิ่งอื่นใดคือ ภาพยนตร์เรื่องนี้มีฉากร่วมรักที่ร้อนแรงทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มากมาย และนั่นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่อีฟแอบสั่งซื้อดีวีดีนี้ อีฟเล่าว่านี่เป็นดีวีดีเรื่องแรกที่เธอสั่งซื้อให้มาส่งที่บ้าน โดยที่ความใจหายอยู่ที่ผู้รับพัสดุคือแม่ “โชคดีที่แม่ไม่ได้แกะดู” อีฟเล่าอย่างโล่งใจ แต่ถึงแม้ภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายตั้งแต่ปี 2013 กว่าอีฟจะมีโอกาสดูจนจบเรื่องก็เข้าปี 2020 แล้ว นอกจากนี้ในปีเดียวกัน เธอยังต้องดูภาพยนตร์อีกมากมาย เพื่อนำมาแนะนำในช่องยูทูบของตัวเอง เมื่อถามว่าเหตุใดจึงชอบดูภาพยนตร์ อีฟให้คำตอบว่า ภาพยนตร์สามารถสื่อสารได้มากกว่าการพูดคุย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่ไม่เข้าใจเรื่องรสนิยมทางเพศ และอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่ม LGBTQ+ เนื่องจากพวกเขาไม่เข้าใจเรื่องราว ความรู้สึก และความอึดอัดต่อความไม่เท่าเทียมที่ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศต้องพบเจอ การจับเข่าคุยบางครั้งจึงไม่ตอบโจทย์ แต่ภาพยนตร์สามารถสะท้อนความเข้าใจ และแทรกซึมอารมณ์บางอย่างเข้าไปได้อย่างลึกซึ้ง ทำให้แม้เสียงดนตรีที่เปิดคลอในฉากก็มีความรู้สึกและความเป็นมนุษย์แอบแฝง นอกจากธรรมชาติของสื่อภาพยนตร์ที่เอื้อให้คนใช้เวลาทำความเข้าใจเรื่องราวที่อยู่ตรงหน้าแล้ว ภาพยนตร์ยังเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่ทำให้เราเข้าถึงเหตุการณ์ในอดีตได้เหมือนมีชีวิตอยู่ในยุคนั้น ทั้งยังสะท้อนความเปลี่ยนแปลง และ ‘ความไม่เปลี่ยนแปลง’ ในสังคม ยกตัวอย่างภาพยนตร์เรื่องโปรดของอีฟอย่าง ‘Cloudburst’ ภาพยนตร์เลสเบียนที่ออกฉายในปี 2011 เป็นเรื่องราวของหญิงชราสองคนที่ครองรักกันมากว่า 31 ปี แต่จู่ ๆ คุณยายคนหนึ่งก็ถูกหลานพาไปยังบ้านพักคนชรา พวกเธอสองคนจึงวางแผนพากันและกันหนีออกจากบ้านพักคนชรา และเดินทางไปจดทะเบียนสมรสที่ประเทศแคนาดา เพื่อสิทธิในการดูแลคนรัก อีฟกล่าวว่า ในสมัยนั้นมีการอนุญาตให้จดทะเบียนสมรส แต่ไม่ใช่ทุกรัฐที่สามารถทำได้ นั่นจึงเป็นเหตุให้สองยายต้องเดินทางไปยังสถานที่ที่ยอมรับในความรักของพวกเขาทั้งทางความรู้สึกและทางกฎหมาย ซึ่งประเด็นในเรื่องเริ่มจากการที่ยายคนหนึ่งป่วย แต่ยายอีกคนไม่ได้รับสิทธิในการดูแล เนื่องจากทั้งสองไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน  เช่นเดียวกับภาพยนตร์ไทยเรื่อง ‘1448 รักเราของใคร’ ออกฉายเมื่อปี 2014 ก็มีเนื้อหาที่พยายามพูดถึงประเด็นกฎหมายมาตรา 1448 ว่าด้วยเรื่องของการจดทะเบียนสมรส ‘มาตรา 1448 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้’ ซึ่งหมายถึงว่าชาย-ชาย และหญิง-หญิง สามารถแต่งงานกันได้ แต่ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย นั่นจึงทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องมรดก และสิทธิในการเซ็นยินยอมทำการผ่าตัดในกรณีฉุกเฉินตามมา เมื่อย้อนมองมาที่ปัจจุบัน ปัญหาเหล่านี้ยังคงเกิดขึ้น แต่มีพัฒนาการที่ดี ซึ่งหากต้องการย้อนดูความลำบากของ LGBTQ+ ในสมัยก่อน ภาพยนตร์ก็เป็นตัวช่วยหนึ่งที่สะท้อนภาพเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้อีฟยังทิ้งท้ายถึงประเด็นภาพยนตร์ในประเทศไทยว่า เธออยากเห็นภาพยนตร์เลสเบียนในประเทศไทยเข้ามาตีตลาดบ้าง บางทีอาจเป็นภาพยนตร์แนว Feel Good ที่ไม่ได้เน้นเพียงแค่ประเด็นดรามา แต่ทำให้คนดูอิ่มเอมใจกับความรักที่ไม่จำกัดเพศแทน “เราอยากได้หนัง Feel Good ที่สื่อไปถึงคนวงกว้าง ให้เขาเห็นว่าความรักระหว่างเพศเดียวกันก็มีมุมดี ๆ เพราะมันคือจิตใจ มันคือความรู้สึกของคนสองคน เพื่อที่จะเข้าถึงคนแบบแม่เราบ้าง แต่บางทีทั้งชีวิตนี้แม่อาจจะไม่เข้าใจก็ได้ เราก็ทำใจแล้ว” อีฟกล่าวถึงเหตุผลส่วนหนึ่งที่สนับสนุนการทำภาพยนตร์เลสเบียนในประเทศไทย Eve KK : เมื่อแม่ไม่เข้าใจ เธอจึงสร้างชุมชนหนัง LGBTQ+ เป็นของตัวเอง Eve KK : เมื่อแม่ไม่เข้าใจ เธอจึงสร้างชุมชนหนัง LGBTQ+ เป็นของตัวเอง จะทำยูทูบต่อไปเพื่อสร้างความเข้าใจที่เพิ่มขึ้น เก้าอี้สีขาว โต๊ะขาสั้น เบาะนั่งพื้น และชั้นวางของที่มีตัวอักษร 5 ตัวเรียงกันเป็นคำว่า ‘EVE KK’ นั่นคือเฟอร์นิเจอร์เพียงไม่กี่ชิ้นที่อยู่ภายในห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ซึ่งถูกใช้เป็นสตูดิโอถ่ายทำคลิปวิดีโอของอีฟ เธอใช้เพียงโทรศัพท์มือถือ ไมโครโฟนตัวเล็ก และคอมพิวเตอร์ในการตัดต่อวิดีโอชิ้นเล็ก ๆ แต่แฝงด้วยอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่ในการสร้างความเข้าใจ และสร้างการยอมรับให้แก่ชาว LGBTQ+ ทุกคน อีฟเล่าถึงอุปสรรคช่วงแรกในการทำยูทูบว่า มีคอมเมนต์แสดงความรังเกียจเข้ามาบ้าง ทั้งคำว่า ขยะแขยง ขนลุก นอกจากนี้บางส่วนยังพยายามชี้ให้เห็นว่าหญิงรักหญิงนั้นเป็นเรื่องแปลก สิ่งที่ถูกที่ควรคือผู้หญิงต้องคู่กับผู้ชาย โดยอีฟยอมรับว่า ด้วยความที่ตนเองไม่เคยอยู่ในจุดที่มีคนเข้ามาสนใจ ทำให้เธอรู้สึกเจ็บปวดกับคอมเมนต์เหล่านี้มาก แต่ภายหลังกำลังใจจากเพื่อน ๆ ที่รอคลิปวิดีโอของเธออยู่ก็ทำให้เธอเอาชนะคำพูดที่บั่นทอนจิตใจได้ “มีคอมเมนต์หนึ่งเป็นคอมเมนต์ที่ทำให้เราต้องทำคลิปต่อเลย คือเขาบอกว่า ผมเป็นผู้ชายแท้ที่ไม่ดูหนังเลสเบียน แต่บังเอิญกดเข้ามา พอได้มาฟังเรื่องราว เขารู้สึกเข้าใจในความรักแล้วว่ามันไม่แบ่งแยกเพศ แค่คอมเมนต์นี้คอมเมนต์เดียวเราก็รู้สึกว่า ต้องทำต่อแล้วแหละ มันทำให้เขาเข้าใจและเปิดใจได้” โดยจำนวนผู้ติดตามที่เพิ่มขึ้นในช่องยูทูบของเธอก็ดึงดูดผู้ชมมากหน้าหลายตาเข้ามา ทำให้เนื้อหาของช่องมีการพัฒนาเพิ่มเติมนอกจากการสร้างความรู้และความเข้าใจ เพิ่มขึ้นเป็นช่วงสนทนา ปรึกษาปัญหาชีวิตและความรักผ่านการไลฟ์สดในยูทูบ ล่าสุดมีนักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น อายุประมาณ 13-14 ปี เข้ามาขอคำปรึกษาจากอีฟ ซึ่งเป็นปัญหาคล้ายกับอีฟและแม่ คือครอบครัวไม่เข้าใจความรักที่มีต่อเพศเดียวกัน และถูกต่อว่าด้วยถ้อยคำรุนแรง อีฟจึงให้คำปรึกษาว่า หากผู้ปกครองไม่เข้าใจ ก็ไม่จำเป็นจะต้องเร่งรัดให้เขาเข้าใจ ขอเพียงทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้เขานำเรื่องอื่นมาว่าเราได้ก็พอ “อย่างแม่เรา เขาเกิดมาในยุคที่เรื่องนี้มันยอมรับไม่ได้เลย ต้องตกนรก จนเวลาผ่านไป เขาอายุ 60 แล้วจู่ ๆ โลกก็บอกว่าคนที่ไม่เข้าใจเรื่องนี้มันล้าหลัง เขาก็รับไม่ได้หรอก แต่การไปบอกว่าแม่ต้องเข้าใจได้แล้วนะ มันก็ไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นเราแค่ทำหน้าที่ของเราให้ดี ทำให้เขารู้สึกว่าไม่ต้องห่วงเราก็พอ” ในช่วงท้ายของการสนทนา อีฟยังคงแสดงความตั้งใจให้เห็นว่า ช่องยูทูบของเธอจะเป็นทั้งสถานที่รวมเพื่อนและที่พักใจให้แก่ชาว LGBTQ+ รวมถึงผู้ที่สนใจเสมอ พร้อมฝากความหวังไปถึงอนาคตว่า สักวันจะได้เห็นมนุษย์เคารพกันและกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคารพในตัวตนข้างใน เคารพในความแตกต่าง และเคารพในสิ่งที่เป็น “ถ้าเราไม่เชื่อว่ามันเกิดขึ้นได้ มันก็จะไม่เกิดขึ้น เราต้องเชื่อก่อนว่ามันต้องเกิดขึ้นได้ มันถึงจะเกิดความพยายามว่าจะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้น”   เรื่อง : วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ : ดำรงค์ฤทธิ์ สถิตดำรงธรรม