“BNK48: One Take” ก้าวแรกของสารคดีฝีมือคนไทย บน Netfix
“มันยากมากที่จะเอาเด็กผู้หญิง 51 คน ที่มีแฟนคลับไม่เท่ากัน มีอะไรไม่เหมือนกัน มาอยู่ร่วมกัน มันยากที่จะทำให้เขาเปิดใจกับเราในช่วงเวลาที่มันน้อยมาก ทำไมหนังเรื่องนี้ถึงชื่อว่า One Take ก็เพราะในทุกคำถาม น้อง ๆ แต่ละคนจะมีโอกาสตอบแค่หนึ่งเทค ไม่มีใครมีโอกาสครั้งที่สอง”
เราจะเห็นภาพยนตร์หรือผลงานซีรีส์ไทยได้มีโอกาสไปโลดแล่นบนแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลกอย่าง Netflix มาบ้างแล้ว แต่สำหรับผลงานที่ขึ้นชื่อว่าเป็นงานสารคดีหรือ Documentary ก่อนหน้านี้เรียกได้ว่าน้อยมาก ยิ่งถ้าพูดถึงการเป็น Original Content ที่ผลิตขึ้นเพื่อฉายบนสตรีมมิงยิ่งไม่เคยมีใครเห็นมาก่อน แต่ตอนนี้คงเรียกได้ว่าก้าวแรกมาถึงแล้ว
เนื่องจากผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 ส่งผลให้โรงภาพยนตร์ทุกแห่งต้องปิดให้บริการ เหล่าคนที่ทำงานในแวดวงภาพยนตร์จึงได้รับผลกระทบกันยกใหญ่ “One Take” ภาพยนตร์สารคดีที่เคยมีกำหนดฉายเดิมในวันที่ 1 เมษายน ก็ต้องเลื่อนกำหนดการไปก่อน โชคดีที่ในวิกฤติกลับยังมีโอกาส เพราะแทนที่จะต้องเลื่อนตารางฉายไปอีกไกล ในที่สุดคนไทยรวมถึงคนทั่วโลก ก็จะได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ในวันที่ 18 มิถุนายน บนแพลตฟอร์มออนไลน์ระดับโลกอย่าง Netflix แถมยังถือเป็นสารคดีไทยออริจินอลเรื่องแรก ที่ได้ฉายบน Netflix อีกด้วย
“One Take” ถ่ายทอดเรื่องราวการแข่งขัน ความกดดัน และความฝันของเหล่าเด็กสาวจากวงไอดอล BNK48 ที่ต่างก็กำลังต่อสู้เพื่อปีนขึ้นไปอยู่บนจุดสูงสุด โดยก่อนหน้าที่ในปี 2561 ประเทศไทยเคยมีผลงานสารคดีที่เล่าเรื่องราวของไอดอลกลุ่มเดียวกันอย่าง Girls Don’t Cry ของผู้กำกับ ‘เต๋อ’ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ออกฉายมาก่อน แต่สำหรับคราวนี้ ผลงานสารคดีเป็นฝีมือการกำกับของ ‘โดนัท’ มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล นักแสดงสาวที่ผันตัวมาเป็นผู้กำกับ โดยผลงานการกำกับภาพยนตร์สั้นและสารคดีคุณภาพอย่าง Lovesucks (2558) และ The Journey บันทึกทางไกล..ถึงพ่อ (2560) ของเธอที่ผ่านมา ก็พอจะการันตีความคาดหวังให้แก่ผู้ชมได้ไม่น้อย
“คนจะชอบคิดว่าการทำสารคดีมันเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องวิชาการ เป็นการรวบรวมฟุตเทจ ระหว่างที่โดนัททำ The Journey มันเป็นแบบนั้นเลย กว่าเราจะไปตามหาภาพถ่าย หรือคลิปวิดิโอมาได้ มันยากมาก บางทีเราต้องไปตามถึงต่างประเทศเลย แต่พอเราทำได้ มันก็ทำให้หนังเรื่องนี้มีความพิเศษ แต่สำหรับ One Take ความยากมันอยู่ที่ ฟุตเทจหาไม่ยาก แต่ฟุตเทจที่คนไม่เคยเห็น หาไม่ได้” มนัสนันท์ กล่าว
ด้วยรูปแบบของวงที่สมาชิกต้องพบปะกับแฟนคลับในพื้นที่สาธารณะอย่างโซเชียลมีเดีย หรือตามงานอีเว้นท์ตลอดเวลา การจะได้มาซึ่งฟุตเทจที่ไม่มีใครเคยเห็นจึงแทบเป็นไปไม่ได้ ยิ่งในช่วงเวลานั้นประเทศไทยเคยมีสารคดีเกี่ยวกับ BNK48 ฉายไปก่อนหน้านั้น ความกดดันในฐานะผู้กำกับที่จำเป็นต้องมาเล่าเรื่องคนกลุ่มเดิมจึงยิ่งเพิ่มสูงเข้าไปอีก
“เราก็ไปเปิด Girl Don’t Cry ดูเลยว่าเขาเล่าแบบไหน เราพบว่าคุณเต๋อเล่าเรื่องบีเอ็นเคด้วยสายตาของคนที่ชื่นชอบ แฟนคลับ ที่อยากให้กำลังใจ แต่โดนัทเล่าในฐานะคนที่ไม่รู้จักและอยากทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักในวงกว้าง เราก็เลยมีโจทย์ที่แตกต่างกัน”
ผู้ชมสามารถคาดหวังเรื่องราวที่แปลกใหม่ แต่ยังเป็นความจริงได้จากภาพยนตร์เรื่องนี้ ด้วยการออกแบบเนื้อหาและมุมมองภาพที่เล่าผ่านสายตาของผู้กำกับหญิง ช่างภาพและทีมตัดต่อก็เป็นผู้หญิงทั้งหมด มนัสนันท์เชื่อว่า สารคดีเรื่องนี้จะทำให้แฟน ๆ จะได้รู้จักไอดอลที่พวกเขาชื่นชอบ ในมุมที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน “เราได้เห็นเขาในมุมของเด็กผู้หญิง มันมีวันที่เขาไม่น่ารัก มันมีวันที่เขาเบื่อ เราพยายามถ่ายโดยไม่ให้เขารู้ว่าเรากำลังทำหนังอยู่ เพื่อให้ได้สิ่งที่จริงที่สุดจากน้อง ๆ ”
สำหรับโอกาสที่ได้รับเลือกให้เป็นสารคดีออริจินัลของ Netflix แม้จะเกินฝันมาก แต่มนัสนันท์ก็บอกว่า เธอมองเห็นอนาคตของวงการสารคดีไทย การที่ Netflix ตัดสินใจหยิบ One Take ซึ่งเป็นคอนเทนต์ที่เล็กมากสำหรับเธอไปฉาย หมายความว่าสำหรับผลงานของคนอื่น ๆ ก็ย่อมมีโอกาส คนไทยจึงอาจจะได้เห็นผลงานของคนไทยอีกมาก บนแพลตฟอร์มออนไลน์อย่าง Netflix ในอนาคต
“ผมเชื่อว่าภาพยนตร์สารคดี มีโอกาสที่จะได้รับความนิยมมากกว่านี้ได้ และผมก็มีเป้าหมายเช่นนั้น เราได้เห็นภาพยนตร์สารคดีบางเรื่องที่ได้รับความนิยมมากใน Netflix ซึ่งจำนวนผู้เข้าชมมีมากพอ ๆ กับภาพยนตร์ Feature Film เลย” อดัม เดล เดโอ (Adam Del Deo) รองประธานฝ่ายสารคดีออริจินัลของ Netflix กล่าว
เขาให้ความเห็นว่า ว่าเหตุผลที่สารคดีไม่ได้รับความนิยมเท่าไหร่เพราะไม่ค่อยมีทรัพยากรสนับสนุนไม่ว่าจะเป็นเรื่องเงินทุนหรือกำลังคนที่มีฝีมือ แต่ตอนนี้ไม่เป็นเช่นนั้นแล้ว ผู้คนอาจเข้าใจว่าสารคดีเป็นงานของนักวิชาการ เป็นงานยากเกินกว่าที่คนธรรมดาจะเข้าใจได้ หลายปีที่ผ่านมาทีมของเขามีการพัฒนาทั้งเนื้อหาและกระบวนการออกแบบให้มีความบันเทิงมากขึ้น ทีมงานคุณภาพได้ช่วยการทำให้สารคดีกลายเป็นภาพยนตร์ที่ดูสนุก บันเทิง และเข้าใจง่าย
ผลสุดท้ายเมื่อดูจากสถิติก็พบว่ามีภาพยนตร์สารคดีที่มีจำนวนผู้เข้าชมมากพอ ๆ กับภาพยนตร์ยอดนิยมหมวดอื่น ๆ ในระยะเวลาเพียง 1 ปี (22 เม.ย. 2019 - 21 เม.ย. 2020) มีผู้ชมในกว่า 165 ล้านครัวเรือนทั่วโลกที่เลือกชมสารคดีบน Netflix แล้วอย่างน้อย 1 เรื่อง ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง The Last Dance ก็มียอดผู้ชมนอกสหรัฐอเมริกากว่า 23.8 ล้านครัวเรือนใน 4 สัปดาห์แรก ส่วนในประเทศไทย ไม่น่าแปลกใจสำหรับประเทศแห่งอาหารการกิน เพราะ Street Food: Asia: Season 1 ครองอันดับหนึ่งสารคดียอดนิยมของเราไปได้
ในอนาคต เราคงได้มีโอกาสเห็นผลงานสารคดีที่มีคุณภาพเส้นเรื่อง และการถ่ายทำเจ๋ง ๆ ออกมาให้ชมมากขึ้น เพราะช่องทางการเผยแพร่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ในโรงฉาย หรือทางโทรทัศน์อีกต่อไป เส้นทางของ ‘สารคดี’ สู่การเป็นสื่อบันเทิงกระแสหลัก ใกล้เข้ามาอีกก้าวแล้ว