11 พ.ย. 2563 | 16:12 น.
สภาวะโลกร้อนในปัจจุบันทำให้หลายๆประเทศตระหนักถึงความสำคัญของพื้นที่สีเขียวแม้แต่ในเมืองใหญ่เองก็หันมาใส่ใจเรื่องการเพิ่มสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในการวางผังเมืองเพื่อให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนวันนี้ทาง The People มีโอกาสพูดคุยกับบุคคล 2 ท่านจากหน่วยงานสำคัญของประเทศสิงคโปร์ ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในการผลักดันและส่งเสริมประเทศขนาดเล็กแห่งนี้ จนปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียวต่อประชากรสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก เป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันระหว่างธรรมชาติและมนุษย์ได้อย่างลงตัว
นั่นคือ คุณชิน ชิน โกห์ ผู้อำนวยการกลุ่ม องค์กรพัฒนาเมืองสิงคโปร์ (Urban Redevelopment Authority - URA) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของการวางแนวทางและอนุมัติโครงการพัฒนาต่างๆ ที่จะมาบอกเล่าถึงที่มาของโครงการ LUSH 3.0 โดยใช้ศาสตร์และศิลป์นำแนวคิดพื้นที่สีเขียวมาออกแบบผังเมืองได้อย่างน่าสนใจ และคุณโจ ชู ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ประจำประเทศไทย (Singapore Tourism Board - STB) ผู้คร่ำหวอดในแวดวงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและมีส่วนสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์ผลักดันให้สิงคโปร์กลายเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางของนักเดินทางทั่วโลกที่จะมาแนะนำไฮไลต์แหล่งท่องเที่ยวสีเขียวที่ทุกคนไม่ควรพลาด
คุณโจ ชู
ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ประจำประเทศไทย (Singapore Tourism Board - STB)
คำถาม: จุดเริ่มต้นที่ทำให้สิงคโปร์กลายเป็น “เมืองในสวน” หรือ “City in a Garden” ในวันนี้ คืออะไร
โจ: “City in a Garden” เป็นวิสัยทัศน์ที่ริเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 โดยอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู ซึ่งต้องการพัฒนาประเทศสิงคโปร์ให้มีสภาพแวดล้อมที่ดี สะอาดสะอ้าน และเต็มไปด้วยความเขียวขจีของต้นไม้ใบหญ้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน นับแต่นั้นมา รัฐบาลสิงคโปร์จึงได้วางกลยุทธ์การออกแบบผังเมืองให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น ผ่านการให้ความรู้กับประชาชนเกี่ยวกับวิถีชีวิตที่ยั่งยืน การอาศัยอยู่ร่วมกับธรรมชาติ และการเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียวได้
เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ รัฐบาลได้จัดตั้งกรมอุทยานและนันทนาการ (Parks and Recreation Department) ขึ้นในปี ค.ศ. 1975 ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงการพัฒนาแห่งชาติ (Ministry of National Development) เพื่อทำหน้าที่ดูแลพื้นที่สีเขียวในเมืองในทุกแง่มุม โดยเริ่มตั้งแต่การปลูกต้นไม้ริมถนน ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าต้นไม้ประเภทใดบ้างที่เหมาะกับการนำมาปลูก โดยดูจากสภาพแวดล้อม ไปจนถึงลักษณะดินในแต่ละสถานที่ และเรายังมีการบัญญัติกฎหมายให้ที่อยู่อาศัยอย่างน้อย 85% ของประชากรทั้งหมด ตั้งอยู่ห่างจากสวนไม่เกิน 400 เมตร เราจึงเห็นว่าจะมีสวนสาธารณะชุมชนตั้งอยู่ทั่วทั้งเกาะสิงคโปร์ ให้ผู้คนสามารถเดินมาพักผ่อนได้จากบ้าน ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990s กรมอุทยานและนันทนาการได้เปลี่ยนชื่อเป็น “คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ (National Parks Board)” หรือ NParks และได้สร้างเครือข่ายเชื่อมต่อสวนในเมือง (Park Connector Network) เป็นระยะทางกว่า 330 กิโลเมตรรอบเกาะสิงคโปร์
ผมจึงมีความภูมิใจอย่างยิ่งที่สามารถพูดได้ว่า ด้วยความมุ่งมั่นและการดำเนินงานอย่างยาวนานนี่เอง ทำให้ปัจจุบันประเทศสิงคโปร์ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่ “เขียว” ที่สุดในโลก โดยมีอัตราความหนาแน่นของต้นไม้ 29.3% จากพื้นที่ทั้งหมด
คุณชิน ชิน โกห์
ผู้อำนวยการกลุ่ม องค์กรพัฒนาเมืองสิงคโปร์ (Urban Redevelopment Authority - URA)
คำถาม: คอนเซ็ปต์ของโครงการ LUSH และแนวคิดพื้นที่สีเขียวแนวตั้งคืออะไร มีที่มาอย่างไร
ชิน ชิน: เนื่องจากสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีอาณาเขตน้อย พื้นที่ส่วนใหญ่จึงต้องปลูกเป็นอาคารสูงตั้งเบียดเสียดกัน แต่เรายังต้องการให้ประชาชนมีโอกาสสัมผัสใกล้ชิดและสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ เราจึงมีเป้าหมายที่จะยกระดับจาก เมืองในสวน สู่การเป็น “เมืองท่ามกลางธรรมชาติ (City in Nature)” ในอีก 10 ปีข้างหน้า นั่นจึงเป็นที่มาของโครงการ LUSH ภายใต้องค์กรพัฒนาเมืองสิงคโปร์ (Urban Redevelopment Authority: URA)
LUSH ย่อมาจาก Landscaping for Urban Spaces and High-Rises คือโครงการพัฒนาภูมิทัศน์สำหรับเมืองใหญ่และอาคารสูง ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้นักพัฒนาที่ดินและเจ้าของอาคารนำแนวคิดพื้นที่สีเขียวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบก่อสร้าง และกำหนดให้นักพัฒนาจำเป็นต้องสร้างพื้นที่สีเขียวทดแทนธรรมชาติที่อาจถูกทำลายไปจากการก่อสร้าง เพื่อตอบโจทย์และข้อจำกัดต่าง ๆ นี้จึงนำมาสู่การพัฒนาพื้นที่สีเขียวแบบแนวตั้ง
คำถาม: โครงการ LUSH และ LUSH 2.0 มีความแตกต่างกันอย่างไร และมีอิทธิพลต่อการพัฒนาเมือง รวมถึงคุณภาพชีวิตของคนในสิงคโปร์อย่างไรบ้าง
ชิน ชิน: LUSH เปิดตัวครั้งแรกในปี ค.ศ. 2009 โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาพื้นที่สีเขียวทั้งในแนวราบและแนวตั้งเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่สวยงามและเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจสำหรับผู้พักอาศัย เช่น การสร้างสวนลอยฟ้า การปลูกไม้ในกระถาง และการทำระเบียงลอยฟ้า โดยหนึ่งในผู้บุกเบิกที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงคือ โรงแรม Oasia Hotel Downtown ซึ่งเป็นโรงแรมในกลางเมืองที่โอบล้อมไปด้วยไม้ดอกไม้ประดับนานาพรรณ อีกทั้งยังมีระเบียงลอยฟ้าช่วยสร้างความผ่อนคลายให้กับทั้งพนักงานและแขกที่มาเข้าพัก
Oasia Hotel Downtown (Credit: Urban Redevelopment Authority)
ต่อมาในปี 2014 เราได้เปิดตัว LUSH 2.0 ซึ่งได้ขยายขอบเขตให้เกิดการบูรณาการพื้นที่สีเขียวเข้ากับสิ่งปลูกสร้าง และขยายอาณาเขตการทำงานจากเฉพาะบริเวณใจกลางเมืองให้ครอบคลุมไปถึงย่านศูนย์กลางธุรกิจใหม่ (CBD) โดยโครงการที่โดดเด่นในช่วงนี้คือ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ หลี่ กง เจียน (Lee Kong Chian Natural History Museum) ซึ่งออกแบบให้มีต้นไม้รายล้อมอยู่ในส่วนหน้าของอาคาร
Lee Kong Chian Natural History Museum (Credit: Finbarr Fallon)
การทำงานของเราทำให้เหล่านักพัฒนาที่ดินมองเห็นคุณค่าของการผสมผสานพื้นที่สีเขียวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในโครงการพัฒนาสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีหลายสถานที่ก้าวไปไกลเกินแนวทางที่ LUSH กำหนดไว้เสียด้วยซ้ำ
คำถาม: โครงการ LUSH 3.0 มีอะไรเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นบ้าง และมีแผนการพัฒนาในอนาคตอย่างไร
ชิน ชิน: LUSH 3.0 เปิดตัวไปในปี 2017 ได้เปิดโอกาสให้มีความยืดหยุ่นพลิกแพลงมากขึ้นอีก โดยนักพัฒนาสามารถสร้างกำแพงสีเขียว ฟาร์มบนดาดฟ้า สวนลอยฟ้า หรือหลังคาสีเขียว มาทดแทนพื้นที่สีเขียวที่สูญเสียไปจากการพัฒนาที่ดินได้ ซึ่งแนวคิดนี้ไม่เพียงสร้างความสวยงามน่ามองให้กับตัวอาคารเท่านั้น แต่ยังช่วยลดอุณหภูมิความร้อนได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น ศูนย์การค้า Funan ซึ่งมีฟาร์มในเมืองบนชั้นดาดฟ้าให้คนสามารถแวะมาเยี่ยมชมได้
Funan (Credit: Urban Redevelopment Authority)
โครงการ LUSH 3.0 ยังได้กำหนดอัตราส่วนพื้นที่สีเขียว (Green Plot Ratio) ขึ้นใหม่ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความหนาแน่นของต้นไม้ในแต่ละพื้นที่ ดังนั้น ในพื้นที่ที่มีอาคารกระจุกตัวอยู่เบียดเสียดรวมกัน ก็จะยิ่งต้องมีพื้นที่สีเขียวลอยฟ้ามากขึ้นตามลำดับไปด้วย
นอกจากนี้ เรายังคงคอยติดตามเทรนด์และแนวคิดใหม่ ๆ เกี่ยวกับพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ เพื่อที่เราจะได้นำมาปรับปรุงนโยบาย LUSH อย่างเหมาะสมเพื่อความยั่งยืนของโครงการ เพื่อที่เราจะสามารถมอบคุณภาพชีวิตที่ดี และสภาพแวดล้อมที่งดงามให้กับทุกคน และไม่ว่าคุณจะเดินไปที่ไหน จะหันหน้าไปทิศทางใด ก็จะได้พบความเขียวขจีรายล้อมอยู่ตลอดเวลา
คำถาม: อะไรคือสิ่งที่ทำให้โครงการ LUSH ประสบความสำเร็จ
ชิน ชิน: นับตั้งแต่ที่ LUSH ได้เปิดตัวขึ้นในปี 2009 จนถึงปัจจุบัน เราได้ทำให้เกิดสวนลอยฟ้าขึ้นใหม่ทั่วประเทศ นับเป็นพื้นที่สีเขียวที่เพิ่มขึ้นถึง 176 เฮคเตอร์ หรือเทียบเท่าสนามฟุตบอล 246 สนาม ซึ่งตัวเลขนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 15% ต่อปี
โครงการนี้จะประสบความสำเร็จไม่ได้เลยหากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาที่ดิน ภูมิสถาปนิก หรือเจ้าของที่ดินเอง ดังนั้นเราจึงพยายามให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งการรับฟังข้อเสนอแนะจากคนในอุตสาหกรรมและการอัปเดตเทรนด์ต่าง ๆ ในการพัฒนาที่ดิน เพื่อให้เราสามารถทำงานร่วมกันเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวสำหรับชุมชนเมืองอย่างยั่งยืน
คำถาม: หลังจากเกิดวิกฤติการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 คุณคิดว่ามันจะส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อกลยุทธ์การวางผังเมืองหรือการใช้ชีวิตในสิงคโปร์อย่างไรบ้าง และ LUSH จะเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาหรือการวางแผนนี้อย่างไร
ชิน ชิน: แม้ว่าเราจะต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติ COVID-19 มานานหลายเดือนแล้ว แต่ก็ยังถือว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และคงไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้อย่างแน่นอน 100% ว่ามันจะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ในเมืองอย่างไรบ้าง แต่เท่าที่เราสังเกตเห็นนั้นพบว่า หลังจากที่ทั้งทางภาครัฐและภาคเอกชนมีข้อกำหนดต่าง ๆ ออกมามากมายเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นการทำงานจากบ้าน หรือการงดกิจกรรมนอกบ้าน อย่างเช่น การออกไปทานอาหารตามร้าน ต้นไม้กลับเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เพราะความเขียวขจีของพรรณไม้จะช่วยสร้างความอ่อนโยนให้บรรยากาศในเมือง ทำให้คนรู้สึกปลอดโปร่ง และมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น การออกแบบอาคารที่พักอาศัยเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ และเรายังเริ่มเห็นเจ้าของอาคารสถานที่หันมาให้ความสนใจกับการปรับภูมิทัศน์ภายในอาคารให้มีอากาศถ่ายเทตามธรรมชาติ ไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจจะได้เห็นโครงการที่ผสมผสานพื้นที่สาธารณะกลางแจ้งเข้ากับพื้นที่สีเขียวมากขึ้น
คำถาม: สิงคโปร์ ในฐานะต้นแบบ “เมืองสีเขียว” แห่งอาเซียน
ชิน ชิน: จากวิสัยทัศน์ของ ลี กวนยู ในวันนั้น สิงคโปร์ได้พัฒนาจาก ‘Garden City’ สู่การเป็น ‘City in a Garden’ ในปัจจุบัน และตอนนี้เรากำลังพยายามก้าวสู่การเป็นเมืองท่ามกลางธรรมชาติ หรือ ‘City in Nature’ พื้นที่สีเขียวอันอุดมสมบูรณ์ของสิงคโปร์ที่เราเห็นในวันนี้เป็นผลงานความร่วมมืออันยาวนานหลายสิบปีจากน้ำพักน้ำแรงของทั้งชุมชนรัฐบาลและพันธมิตรในอุตสาหกรรม
นอกจากโครงการ LUSH แล้ว เรายังพยายามให้พื้นที่สีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่เฉพาะสวนสาธารณะเท่านั้น แต่ยังรวมถึงตามข้างถนน บนฟุตบาท ภายในอาคารสาธารณูปโภค ไปจนถึงสถานที่ท่องเที่ยว เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นว่าธรรมชาติสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่เต็มไปด้วยอาคารสูง ทำให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงความเขียวชอุ่มของธรรมชาติ และตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาสภาพแวดล้อมในเมือง
คำถาม: มีสถานที่ใดในสิงคโปร์บ้างที่คุณอยากแนะนำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยที่รักธรรมชาติและชื่นชอบแนวคิดการวางผังเมืองสีเขียวได้มาเยี่ยมเยือนเมื่อการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศกลับมาเป็นปกติ
โจ: สิงคโปร์มีสถานที่ที่เต็มไปด้วยธรรมชาติอันสวยงามมากมาย ผมขอยกตัวอย่างแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจบางแห่ง ดังนี้
สวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติ (Singapore Botanic Gardens) สวนใหญ่ขนาด 60 เอเคอร์ ที่รับการยกย่องเป็น UNESCO World Heritage ซึ่งเต็มไปด้วยพรรณไม้สวยงามแปลกตามากมาย รวมถึงสวนกล้วยไม้แห่งชาติ ที่ใหญ่ที่สุดในโลกและมีกล้วยไม้จัดแสดงกว่า 3,000 สายพันธุ์ โดยมีมากถึง 60,000 ต้น
ศาลาแบนสแตน หนึ่งในสัญลักษณ์ของสวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติ
(Credit: https://www.nparks.gov.sg/)
การ์เด้นส์ บาย เดอะ เบย์ (Gardens by the Bay) สวนพฤกษศาสตร์ริมอ่าวมารีน่า เบย์ แหล่งท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยเอกลักษณ์น่าสนใจ และโดดเด่นด้วยโดมกระจก อย่าง The Cloud Forest ซึ่งมีน้ำตกจำลองสูง 35 เมตร (เคยเป็นน้ำตกในอาคารที่สูงที่สุดในโลก แต่ปัจจุบันน้ำตก Rain Vortex ที่ Jewel Changi ได้ทำลายสถิติไปแล้ว) และ The Flower Dome เรือนกระจกขนาดยักษ์ที่จำลองสภาพอากาศในฤดูใบไม้ผลิแบบเมดิเตอร์เรเนียนเอาไว้ และ Supertree Grove ซึ่งจะมีการแสดงแสงสีเสียง Garden Rhapsody เป็นประจำทุกคืน Supertrees เหล่านี้ก็เป็นสวนในแนวตั้ง ซึ่งมีความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เก็บไว้
การ์เด้นส์ บาย เดอะ เบย์, ภาพโดย Sergio Sala บน Unsplash
Park Connector Network เส้นทางเชื่อมต่อสวนสาธารณะในตัวเมืองซึ่งตั้งอยู่ใกล้กัน ด้วยความยาวถึง 10 กม. เส้นทางนี้เชื่อม Mount Faber Park, Telok Blangah Hill Park, Kent Ridge Park และ Labrador Nature Reserves นักท่องเที่ยวสามารถเดินเล่นบนสะพานเฮนเดอร์สัน เวฟ (Henderson Waves) ซึ่งเป็นสะพานคนเดินที่สูงที่สุดในสิงคโปร์ มีความโดดเด่นอยู่ที่ดีไซน์คดโค้งและบิดไปมาตลอดเส้นทาง 274 เมตร ซึ่งสร้างเลียนแบบรูปทรงขึ้น-ลงของเกลียวคลื่น
สะพานเฮนเดอร์สัน เวฟ (Credit: https://www.nparks.gov.sg/)
สวนสาธารณะฟอร์ทแคนนิงและจูบิลี (Fort Canning and Jubilee Park) ตั้งอยู่ที่ใจกลางเมืองระหว่างถนนออร์ชาร์ทและแม่น้ำสิงคโปร์ สวนสาธารณะแห่งนี้เต็มไปด้วยจุดถ่ายภาพสำหรับคออินสตาแกรม หนึ่งในนั้นก็คือบันไดวนอันเลื่องชื่อ อีกด้านหนึ่งของสวนสาธารณะฟอร์ทแคนนิงก็คือสวนสาธารณะจูบิลี สวนสาธารณะสุดฮิตสำหรับครอบครัว มีชิงช้า กระดานหก และสไลด์เดอร์ที่ไหลลงไปตามเนินเขา ให้เด็กๆ และครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกัน
บันไดวนที่สวนสาธารณะฟอร์ทแคนนิง
สไลด์เดอร์ที่สวนสาธารณะจูบิลี
สำหรับคนที่รักการผจญภัย ผมแนะนำให้ลองไปที่เขตอนุรักษ์ธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำสุไหง บูโลห์ (Sungei Buloh Wetland Reserve) บริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของสิงคโปร์ หรือจะลองนั่งเรือสั้นๆ ไปเที่ยวที่ปูเลาอูบิน (Pulau Ubin) เกาะเล็กๆ บริเวณตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ ทั้งสองแห่งยังเป็นที่ๆ เหมาะสำหรับการสังเกตสัตว์ป่านานาชนิดในแหล่งที่อยู่ตามธรรมชาติ โดยที่ไม่รบกวนพวกมันอีกด้วย
เขตอนุรักษ์ธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำสุไหง บูโลห์ (Sungei Buloh Wetland Reserve) ฝันที่เป็นจริงสำหรับผู้ที่รักธรรมชาติและการผจญภัย เพราะที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ระดับโลก มีอาณาเขตกว้างขวางถึง 87 เฮคตาร์ นักท่องเที่ยวสามารถดูสัตว์ป่านานาชนิด ไม่ว่าจะเป็นนกที่กำลังอพยพย้ายถิ่นเพื่อหนีหนาว ปู และปลาตีน ที่อาศัยอยู่รอบอุทยาน
เขตอนุรักษ์ธรรมชาติพื้นที่ชุ่มน้ำสุไหง บูโลห์
เกาะปูเลาอูบินและพื้นที่ชุ่มน้ำเชคจาวา (Pulau Ubin and Chek Jawa) เกาะปูเลาอูบินทางชายฝั่งด้านตะวันออกเฉียงเหนือ สถานที่ที่ธรรมชาติและประวัติศาสตร์มาบรรจบกัน ใช้เวลานั่งเรือจากท่าเรือเฟอร์รี่ที่สนามบินชางงี เพียงแค่ 15 นาทีเท่านั้น เกาะที่เงียบสงบแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในใจของคนรักธรรมชาติ หรืออยากเที่ยวใกล้ๆ หลบหนีความวุ่นวายใจกลางเมือง บนเกาะปูเลาอูบินยังมีพื้นที่ชุ่มน้ำเชคจาวา ขุมทรัพย์ที่รวมเอาความหลากหลายทางชีวภาพเอาไว้ในที่เดียว คุณสามารถเดินเลาะไปตามทางเดินริมน้ำที่ออกแบบมาให้นักท่องเที่ยวได้เดินชมธรรมชาติโดยไม่รบกวนพวกมัน หรือจะปีนหอคอยชมวิวสูง 20 เมตรขึ้นไปส่องนกก็ได้ปูเลาอูอิน (ภาพโดย Edwin Koo, The New York Times)