นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย ผู้จุดประกายความหวังของผู้บกพร่องทางการสื่อสาร

นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย ผู้จุดประกายความหวังของผู้บกพร่องทางการสื่อสาร

ทำความรู้จัก “นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย” ผู้จุดประกายความหวังของผู้บกพร่องทางการสื่อสาร

การสื่อสารมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของคนมาก หากไม่สามารถสื่อสารได้คงยากที่จะดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม จากสถิติของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พบว่าในปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการทางการได้ยินและสื่อความหมายประมาณ 382,615 คน หรือร้อยละ 18.87[1] แต่รู้หรือไม่ว่า...ในประเทศไทยมีโรงเรียนแพทย์เพียงแห่งเดียวที่เปิดสอนภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมายนี้มากว่า 45 ปีแล้ว คือคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สาขาวิชานี้มุ่งเน้นการผลิตนักเวชศาสตร์สื่อความหมาย หรือนักแก้ไขการพูดและการได้ยิน ผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญของการฟื้นฟูผู้บกพร่องทางการสื่อสารให้สามารถสื่อสารได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ซึ่งปัจจุบันทั้งประเทศมีนักเวชศาสตร์สื่อความหมายเพียง 400 คน

ที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมีคนไข้เข้ามารักษาด้านนี้จำนวนกว่า 28,000 ครั้งต่อปี เนื่องจากคนไข้ที่มีปัญหาด้านการสื่อสารจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน สัดส่วนของกลุ่มผู้ป่วย แบ่งเป็น ร้อยละ 56.90  คือผู้ที่มีพัฒนาการทางภาษาและการพูดล่าช้าทุกประเภท เช่น กลุ่มอาการออทิสติก ประสาทหูพิการ กลุ่มเรียนรู้บกพร่องเป็นต้น ซึ่งพบได้ในวัยตั้งแต่ 1 ปี 6 เดือน จนถึงอายุ 30 ปี ที่เหลือเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่เสียความสามารถด้านการสื่อความเนื่องจากภาวะผิดปกติของระบบในสมอง ซึ่งพบได้ตั้งแต่อายุ 40 – 80 ปี

วันนี้จึงพาทุกคนมาเจาะลึกถึงการทำงานของนักเวชศาสตร์สื่อความหมาย และประสบการณ์จริงจากครอบครัวหนึ่งที่พาลูกสาวผู้สูญเสียการได้ยินตั้งแต่กำเนิด มารับการรักษาที่รามาธิบดี ตั้งแต่ 2 ขวบ ผ่านไป 8 ปี ตอนนี้เด็กหญิงคนนี้มีความฝันที่อยากจะเป็นหมอเพื่อรักษาช่วยผู้อื่น

  นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย ผู้จุดประกายความหวังของผู้บกพร่องทางการสื่อสาร

 

“ซ่อม” และ “สร้าง” กลไกการสื่อสาร

อาจารย์ ดร. นิตยา เกษมโกสินทร์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์สื่อความหมายและความผิดปกติของการสื่อความหมาย คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าให้ฟังว่า “หน้าที่ของนักแก้ไขการพูดจะครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่การตรวจเพื่อประเมินการให้คำแนะนำ การวางแผนการบำบัดรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาด้านภาษา และการพูด ซึ่งมีอยู่หลากหลายกลุ่มพัฒนาการภาษาและการพูดล่าช้า ได้แก่ กลุ่มที่เป็นออทิสติก กลุ่มที่สูญเสียการได้ยินเสียงผิดปกติ  รวมถึงกลุ่มผู้ที่มีปัญหาด้านการกลืนผิดปกติ ในส่วนของนักแก้ไขการได้ยินก็จะทำหน้าที่หลักๆ ในการดูแลเรื่องของการใส่เครื่องช่วยฟังการฟื้นฟูการฟัง โดยทั้งหมดนี้ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

  นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย ผู้จุดประกายความหวังของผู้บกพร่องทางการสื่อสาร

เมื่อไม่ได้ยิน...ก็พูดไม่ได้ "น้องดี” เด็กหญิงปุณิกา  ผู้ป่วยเด็กของแผนกแก้ไขการสื่อสาร ปัจจุบันอายุ 10 ขวบ

คุณแม่ฝน พูนสิน ได้เล่าถึงสิ่งครอบครัวได้เผชิญว่า “รับรู้ถึงความผิดปกติของลูกสาวตั้งแต่ 2 เดือน ที่เวลาเรียกจะไม่หันตามเสียง ไม่มีการตอบสนองกลับ  ทางครอบครัวจึงไม่ได้นิ่งนอนใจ พาไปตรวจที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในตอนนั้นคุณหมอแจ้งว่าลูกสาวเธอปกติดีทุกอย่าง จึงได้แต่เก็บความสงสัยนั้นไว้จนเวลาล่วงเลยมาเมื่อน้องดีอายุ 2 ขวบ อาการผิดปกติเริ่มชัดเจนขึ้น  จากที่ไม่ได้ยิน  ยังไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้  ทางครอบครัวจึงตัดสินใจพาน้องมาตรวจอีกครั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี จึงได้รู้ว่าน้องดีสูญเสียการได้ยินมาตั้งแต่กำเนิด พอได้ฟังปุ๊บ คำถามแรกคือ ทำไมต้องเกิดขึ้นกับลูกสาวของเธอด้วย  ช่วงนั้นยอมรับว่าท้อและเสียใจมาก จึงได้รวบรวมสติ กำลังใจจากคนรอบข้างดูแลน้องดียอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น

จนกระทั่ง 4 ขวบ มรสุมลูกใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อน้องดีเป็นหวัด จึงทำให้หูทั้ง 2 ข้างดับสนิท จนต้องรับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม ที่สามารถช่วยให้ผู้ที่มีปัญหาการได้ยินในระดับรุนแรงสามารถกลับมาได้ยินได้อีกครั้ง  ปัจจุบันน้องดียังคงเข้ารับรักษาอย่างต่อเนื่องที่รามาธิบดี จนกลับมามีชีวิตที่สดใสอีกครั้งท่ามกลางความรัก กำลังใจของครอบครัว ครูอาจารย์ เพื่อนๆ  และศึกษาในระดับชั้นป. 4 กับความฝันที่อยากจะเป็นคุณหมอ ช่วยเหลือคนไข้ อย่างที่เธอได้รับโอกาสที่ดีจากทีมบุคลากรทางการแพทย์ของรามาธิบดีในขณะนี้”

นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย...บุคลากรการแพทย์ที่ขาดแคลน

“เป็นเวลากว่า 45 ปีแล้ว ที่รามาธิบดีเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมายขึ้นเป็นที่แรกและที่เดียวในประเทศไทย ย้อนกลับไปช่วงเริ่มต้นทางคณะได้จัดตั้งหลักสูตรนี้เพื่อสอนในระดับปริญญาโทก่อนเมื่อปี 2519 และต่อมาเมื่อบุคลากรที่จบเฉพาะด้านนี้เริ่มขาดแคลนทางรามาธิบดี  จึงเริ่มขยายหลักสูตรมาสอนในระดับปริญญาตรีเพิ่มเติมด้วยเมื่อปี 2548 เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้มีความบกพร่องทางการสื่อความหมายในประเทศไทยที่มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ที่มาเรียนต่อสาขานี้มีหลากหลาย ทั้งแพทย์ นักจิตวิทยา นักภาษาศาสตร์ แต่กลุ่มที่มีมากที่สุดคือกลุ่มพยาบาล ส่วนระดับปริญญาตรีทางหลักสูตรจะเปิดรับปีละ 30 คน เมื่อเรียนไปนักศึกษาก็จะสามารถเลือกสาขาที่ตนเองสนใจเพื่อเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางมากขึ้นซึ่งมี 2 สาขาคือ สาขาการแก้ไขการพูด และ สาขาการแก้ไขการได้ยิน

แม้ว่าจะมีการขยายหลักสูตรมาสอนในระดับปริญญาตรีแล้วก็ตาม แต่ในปัจจุบันอาชีพนักเวชศาสตร์สื่อความหมายยังคงเป็นที่ต้องการในระบบสาธารณสุขในทุกๆ ปี ในขณะเดียวกันแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็มีมากขึ้น ดังนั้นรามาธิบดีจึงเป็นสถานที่ผลิตบุคลากรที่จบออกไป เพื่อช่วยเหลือคนไข้ที่มีปัญหาดังกล่าว ซึ่งในขณะนี้ได้มีการกระจายอยู่ตามที่โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ” อ.นิตยากล่าวเสริม

นักเวชศาสตร์สื่อความหมาย ผู้จุดประกายความหวังของผู้บกพร่องทางการสื่อสาร

เป้าหมายคือการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ

“ช่วงโควิดที่ผ่านมาทางภาควิชาต้องปรับตัวมากทั้งนักศึกษาและอาจารย์ แต่เราพยายามถ่ายทอดความรู้และฝึกให้นักศึกษามีประสบการณ์มากที่สุดก่อนที่จะเรียนจบออกไป เพราะจุดประสงค์ของเราคือการผลิตนักเวชศาสตร์สื่อความหมายที่มีคุณภาพ เพื่อดูแลผู้ป่วยที่ยังรอโอกาสได้เข้ารับการรักษาเป็นจำนวนมากในสังคม ทุกวันนี้เวลาที่เห็นผู้ป่วยที่มารักษากับเรามีพัฒนาการที่ดีขึ้น ดูแลตัวเองได้ สามารถสื่อสารกับคนรอบข้างได้มากขึ้น ถือว่าบรรลุเป้าหมายสูงสุด เพราะเป้าหมายที่นักเวชศาสตร์สื่อความหมายมีร่วมกันคือการได้เห็นผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ”  อาจารย์ ดร.นิตยากล่าวทิ้งท้าย

ขอเชิญร่วมสนับสนุนการผลิตบุคลากรการแพทย์ผู้ที่จะเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพของคนไทยด้วยการบริจาคเงินสมทบทุนจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ โครงการสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ โรงเรียนแพทย์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี