ประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 เข็มที่สี่ ในกลุ่มผู้สูงอายุของสถานพยาบาลดูแลระยะยาว เมืองออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา
งานวิจัยที่เผยแพร่ใน MedRXiv เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2565 แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของวัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA ในกลุ่มผู้สูงอายุของสถานพยาบาลดูแลระยะยาว เมืองออนแทริโอ ประเทศแคนาดา ผลการวิจัยประกอบไปด้วย ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีน mRNA เข็มที่สี่ และประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนประเภท mRNA ชนิดที่ต่างกัน จำนวน 3 เข็ม ที่มีต่อการป้องกันการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจากโควิด-19 จากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอไมครอน
เนื่องจากผลงานวิจัยที่ออกมาก่อนหน้านี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการกระตุ้นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าของวัคซีนโมเดอร์น่า รวมถึงประสิทธิผลที่สูงกว่าในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีต่อสายพันธุ์ที่น่ากังวลที่มีการระบาดมาก่อนหน้านี้ ทำให้ทางสาธารณสุขเมืองออนแทริโอ ออกแนวทางปฏิบัติที่แนะนำ วัคซีนโมเดอร์น่า ขนาด 100 ไมโครกรัม เป็นตัวเลือกแรกในการใช้เป็นวัคซีนเข็มที่สี่ โดยให้ฉีดหลังจากได้รับวัคซีนเข็มสามไปแล้วอย่างน้อย 84 วัน (3 เดือน) ดังนั้น ในกลุ่มประชากรที่เข้าร่วมการศึกษาประสิทธิผลของวัคซีนเข็มที่สี่ครั้งนี้ เกือบทั้งหมด (97%) จึงได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สี่ เป็นวัคซีนโมเดอร์น่า ขนาด 100 ไมโครกรัม เพื่อรับมือกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
จากผลการวิจัย โดยใช้ฐานข้อมูลที่เก็บระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2564 ถึง 2 มีนาคม 2565 ในกลุ่มผู้ที่อาศัยในสถานพยาบาลดูแลระยะยาว ที่มีอายุ ≥ 60 ปี และได้รับวัคซีนประภท mRNA จำนวน 2, 3, หรือ 4 เข็ม พบว่า ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อและการป้องกันความรุนแรง เช่น การต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิตนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนเลย ระดับการป้องกันจะเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนของวัคซีนที่ได้รับ โดยการได้รับวัคซีน mRNA จำนวนสี่เข็มจะให้ประสิทธิผลในการป้องกันโอไมครอนในระดับที่สูงสุด (ประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการอยู่ที่ 87% และ การติดเชื้อแบบรุนแรงอยู่ที่ 92%)
นอกจากนี้ ในการวิเคราะห์เพื่อเปรียบเทียบ ประสิทธิผลของการฉีดวัคซีนประเภท mRNA จำนวน 3 เข็ม ด้วยสูตรที่แตกต่างกัน พบว่า การได้รับวัคซีนโมเดอร์น่า จำนวนสามเข็ม หรือ วัคซีนไฟเซอร์ สองเข็มแรกและเข็มกระตุ้นที่สามเป็นวัคซีนโมเดอร์น่า จะให้ระดับการป้องกันสูงสุดในช่วงที่มีการระบาดของ เชื้อโอไมครอน ทั้งในแง่ของการติดเชื้อและการเกิดอาการรุนแรงหากมีการติดเชื้อ ส่วนกลุ่มผู้ที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ จำนวนสามเข็ม จะมีระดับการป้องกันต่ำสุดเมื่อเทียบกับสองสูตรข้างต้นที่มีการได้รับวัคซีนกระตุ้นที่สามเป็นวัคซีนโมเดอร์น่า
โดยสรุปแล้ว ผลงานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า เมื่อเทียบกับการได้รับวัคซีนประเภท mRNA 3 เข็มผ่านมาแล้ว 3 เดือน การได้รับวัคซีน mRNA เป็นวัคซีนกระตุ้นเข็มที่สี่จะช่วยเพิ่มระดับการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 และลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยรวมถึงโอกาสการเสียชีวิตในกลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่ในสถานพยาบาลดูแลระยะยาวที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้น ซึ่งถือเป็นกระชากรกลุ่มเสี่ยงได้
แหล่งอ้างอิง
Grewal R, Kitchen SA, Nguyen L, Buchan SA, Wilson SE, Costa AP et al. Effectiveness of a Fourth Dose of COVID-19 Vaccine among Long-Term Care Residents in Ontario, Canada. medRxiv. 2022:2022.04.15.22273846. doi: 10.1101/2022.04.15.22273846.
https://www.publichealthontario.ca/-/media/documents/ncov/vaccines/2022/01/covid-19-oiac-4th-dose-recommendations-older-adults-ltc.pdf?sc_lang=en: Recommendations of Fourth COVID-19 Vaccine Dose for Long-Term Care Home Residents and Older Adults in Other Congregate Settings of Ontario, Canada