Rising Stars Concert การแสดงดนตรีดาวรุ่งรุ่นเยาว์อายุ 10-13
สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หอแสดงดนตรีของโรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่อบอุ่นด้วยผู้ฟังแม้ว่าจะไม่เนืองแน่นเต็มหอแสดง เนื่องจากผู้จัดพยายามรักษาระยะห่างเพื่อความปลอดภัยในช่วงเวลาที่สังคมไทยเริ่มผ่อนคลายและปรับให้ โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น แต่ยังทำให้รู้สึกได้ถึงบรรยากาศของการแสดงสดที่ทั้งนักดนตรีและผู้ฟังรอคอยกันมาเป็นเวลากว่าสองปีเริ่มที่จะทยอยกลับมาให้ได้พบปะมีปฏิสัมพันธ์กันพร้อมหน้าพร้อมตาให้ได้อิ่มเอมใจกับเสียงดนตรีและการแสดงสด ปลาบปลื้มชื่นชมยินดีกับความสามารถของนักดนตรี
โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Rising Stars Concert ครั้งนี้ “ดาว “ ดวงน้อย สามดวงได้พกความสามารถเฉพาะตัวที่ไม่ธรรมดาขึ้นเวทีมอบเสียงเพลงให้กับผู้ฟังในหอประชุมด้วยความมั่นใจและน่ารัก นุ่มนวล
ผู้แสดงรุ่นเยาว์ทั้งสามคนอายุระหว่าง 10-13 ปี สองคนเป็นลูกศิษย์เรียนเปียโนจากสำนักเรียนเปียโนที่มีชื่อเสียงของ ผู้ช่วย ศาสตราจารย์ ดร.นภนันท์ จันทร์อรทัยกุล หนูน้อยนักเปียโนความสามารถเกินอายุคือ ด.ญ.ธีญา อุทัยสาง อายุ 10 ปี และ ด.ช. หยวนเชี่ย ริชาร์ด ซู อายุ 13 ปี
ส่วนนักไวโอลินรุ่นเยาว์ฝีมือยอดเยี่ยมโดดเด่นคือ ด.ญ. เอมี่ โอโนะ อายุ 13 ปี ลูกศิษย์ อาจารย์ศิริพงษ์ ทิพย์ธัญ นักไวโอลิน ครูไวโอลินและอดีตหัวหน้าวง The Royal Bangkok Symphony Orchestra
คอนเสิร์ตครั้งนี้จัดในนาม Cornerstone Music โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นภนันท์ ครูเปียโนคนสำคัญของประเทศ ผู้อุทิศ แรงกายแรงใจติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานเกือบสามทศวรรษ สร้างประชากรที่มีคุณภาพและมีทักษะฝีมือทางดนตรีที่ฉกาจแข็งแรงในระดับนานาชาติให้กับประเทศ
นอกจากอาจารย์นภนันท์จะเป็นผู้จัดคอนเสิร์ต เป็นครูของผู้แสดงแล้ว ยังดำเนินรายการทั้งหมดด้วยตัวเอง อาจารย์เล่าให้ฟังถึงความตั้งใจที่จัดคอนเสิร์ตในครั้งนี้ให้นักดนตรีรุ่นเยาว์ได้แสดงผล งานที่เรียนและฝึกซ้อมอย่างเข้มข้นมาเป็นปี บางเพลงหัดและฝึกซ้อมกันในเวลาไม่กี่เดือนก่อนคอนเสิร์ต ในช่วง สถานการณ์โควิดระบาด เช่นเดียวกับกิจกรรมในมิติอื่น ๆ ของสังคม
แต่เพื่อให้การเรียนรู้ของนักเรียนดำเนินต่อไปได้ การเรียนการสอนเปียโนจึงต้องปรับตัวแทบจะเรียกได้ว่าตีลังกากลับตัวกันสิบตลบอย่างไม่เคยคิดว่าจะเกิดขึ้นและได้สัมผัสมาก่อนเลยทีเดียว
การเรียนเปียโนผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์นั้นจึงมีความท้าทายมากกว่าการเรียนในลักษณะตัวต่อตัว ทั้งสำหรับครูผู้สอนและตัวนักเรียนเอง คอนเสิร์ตครั้งนี้ยังเป็นคอนเสิร์ตอำลาก่อนที่เอมี่จะเดินทางไปเรียนไวโอลินต่อที่ ประเทศญี่ปุ่นโดยจะเข้าศึกษาต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่ Toho Girls Junior High School และศึกษาต่อที่ Toho Gakuen Music High School เมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โดยโรงเรียนทั้งสองอยู่ในเครือ Toho Gakuen College Music ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยดนตรีชั้นแนวหน้าของประเทศญี่ปุ่นที่มีมาตรฐานการเรียนการสอนสูงมากระดับแนวหน้าของ โลก โดยจะเรียนกับอาจารย์ Kamiya Michiko
รายการแสดงเป็นการผสมผสานระหว่างบทเพลงเดี่ยวและบรรเลงร่วมกันสำหรับเปียโนและไวโอลิน คอนเสิร์ตครั้งนี้แสดง ให้เห็นชัดว่านักดนตรีทั้งสามคนได้รับการปลูกฝัง ฝึกฝนดนตรีเชมเบอร์ตั้งแต่อายุน้อย ทำให้มีประสบการณ์สะสมต่อยอด ให้เติบโตเป็นนักดนตรีที่มีความรอบรู้และความสามารถรอบด้านเป็นอย่างดีในอนาคต
ลำดับของรายการแสดงได้รับการร้อยเรียงและวางแผนเป็นอย่างดี เปิดและปิดการแสดงด้วยเพลงเดี่ยว ช่วงกลางของการแสดงเป็นการเล่นคู่กันของเปียโน และไวโอลิน นักดนตรีเองรู้สึกสนุกตื่นเต้นที่ได้ผลัดสลับกันออกมาแสดง บรรยากาศของผู้ฟังมีความตื่นตัว สัมผัสได้ถึง อารมณ์ร่วมสนใจกับการแสดงตลอดเวลา บทเพลงมีความหลากหลายของเสียงดนตรี สีสันจากต่างยุคต่างสมัย การสลับ การเล่นเดี่ยวและเล่นคู่กันของนักดนตรี ทำให้เข้าถึงได้ง่ายสำหรับผู้ฟัง
การแสดงเริ่มต้นด้วยนักเปียโนสุภาพบุรุษหนุ่มน้อยวัย 13 ปี ริชาร์ดเล่นเปียโนเปิดรายการด้วย Nocturne in C-Sharp Minor, Op. Posthumous บทยอดนิยมของ Frédéric Chopin คีตกวีชาวโปแลนด์ ด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลไพเราะ ในท่อนกลาง ซึ่งมีลีลาคล้ายจังหวะเต้นรำ Mazurka ที่ชัดเจน
เอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่พบในผลงานของ Chopin คือ Fioritura ซึ่งเป็นโน้ตประดับตัวเล็ก ๆ จำนวนมากที่ต้องเล่นให้เสียงสะอาดปลิวใส มีทิศทางน่าสนใจชวนให้ติดตามนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง แต่ริชาร์ดถ่ายทอดได้เรียบร้อยสวยงาม
ตามด้วยบทเพลงยอดนิยมของคีตกวีชาวรัสเซียคนสำคัญในศตวรรษที่ 20 Dmitri Kabalevsky คือ Sonatina, Op. 13 No. 1 ท่อนที่ 3 ในลีลาเร็วมาก Presto ซึ่งบทเพลงนี้ติดอันดับต้น ๆ อีกเช่นกัน
สำหรับนักเรียนเปียโนในระดับกลาง ริชาร์ดถ่ายทอดด้วยพลังนิ้วที่มีความแม่นยำ ชัดเจน มีสีสัน น้ำเสียงและสไตล์การเล่น ที่แตกต่างกันของทั้งสองบทเพลง ทั้งริชาร์ด ธีญาและเอมิ แสดงให้ผู้ชมเห็นถึงพื้นฐานการได้รับการฝึกฝนทั้งเทคนิคมา อย่างดี มีทักษะที่แข็งแรงมีเครื่องมือที่พร้อมที่จะใช้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกและมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นนักดนตรีที่ดีต่อไปได้ไกล
ช่วงกลางของรายการแสดงเป็นบทเพลงที่เล่นคู่กันระหว่างเปียโนและไวโอลิน เริ่มด้วยธีญาและเอมี่อายุที่ห่างกันประมาณ 3 ปี สำหรับหนูน้อยธีญานั้นเรียกได้ว่าเล็กพริกขี้หนูเลยทีเดียว ทั้งสองเดินออกมายังเวทีด้วยความมั่นใจ บทเพลง Violin Sonata in G Major, K. 301 ของ Wolfgang Amadeus Mozart เป็นบทเพลงที่ได้รับความนิยมในการเล่นดนตรีเชมเบอร์ Mozart ได้รับอิทธิพลโดยตรงจาก Johann Christian Bach และเสียงของวงออร์เคสตราในเมือง Mannheim ซึ่งนับเป็น
ศูนย์กลางของเสียงและแนวคิดใหม่ทางดนตรีในยุคคลาสสิก สำหรับโน้ตนั้นอาจไม่ยากนักในการหยิบจับมาเล่นด้วยกันทันทีเพื่อความเพลิดเพลินของนักดนตรี แต่เมื่อนำออกแสดงอย่างเข้มข้นจริงจังทั้งนักเปียโนและนักไวโอลินจะทราบกันดีว่า เสน่ห์ของความไพเราะที่เรียบง่ายโปร่งบางนั้นเต็มไปด้วย scales, broken chords and arpeggios ที่ท้าทายความสามารถของผู้เล่นเป็นอย่างยิ่ง
เนื้อดนตรีที่บางและเสียงที่เกลี้ยงสะอาดในผลงานของ Mozart นั้นจึงแฝงไปด้วยความเฉียบ เนี้ยบเรียบร้อยที่ต้องจัดการให้พอดีนั้นไม่ง่ายเลย เอมี่และธีญาจัดการกับการสื่อสารในทำงานร่วมกันเป็นทีมได้ดีทีเดียว ทราบว่าทั้งสองเคยเล่นดนตรีเชมเบอร์ร่วมกันมาก่อน จังหวะแม่นยำรู้รับและส่งบทบาทของตนได้อย่างลื่นไหล เสียงแนวเบสสนับสนุนจากเปียโนของธีญาพุ่งชัดและหนาเป็นพิเศษ เป็นกรอบเสียงแนวล่างอุ้มแนวทำนองจากไวโอลินของเอมี่ได้เป็นอย่างดี
ลีลาที่ผลัดกันรับส่งแนวทำนองของทั้งสองสนุก น่าฟังและชัดเจน ประโยคเพลงและทิศทางของดนตรีดำเนิน อย่างสอดคล้องตามลมหายใจไปด้วยกันในอัตราความเร็วที่หัวใจเต้นค่อนข้างเร็ว ทั้งสองฟังซึ่งกันและกันตลอดเวลา
รายละเอียดยิบย่อยของเสียงสั้นยาวที่ไปพร้อมพอดีกันแสดงให้เห็นถึงการดูแลฝึกฝนที่เข้มข้นจากอาจารย์ทั้งสองท่าน ทั้งเอมี่ และธีญามีความเป็นนักดนตรีที่ธรรมชาติ มีความรู้สึกคล้อยตามกับบทเพลงสอดคล้องไปด้วยกัน เสียงไวโอลินของเอมี่อุ่น ทุ้มและหนา น่าฟังโดยเฉพาะในบทเพลง Valse-Scherzo, Op. 34 ของ Peter Ilyich Tchaikovsky ฉบับเรียบเรียงสำหรับไวโอลินและเปียโนโดย Tchaikovsky เอง
ในบทเพลงนี้มีอาจารย์บัณจิดา เหล่าไทย ร่วมบรรเลงเปียโนเพิ่มสีสันและ ลวดลายในเนื้อดนตรีให้อิ่มและไพเราะไปพร้อม ๆ กับจังหวะเต้นรำในแบบฉบับดนตรียุคโรแมนติก เอมี่ตีความบทเพลงได้มีศิลปะ งดงามและชวนติดตาม ช่วง Cadenza เปิดโอกาสให้เอมี่แสดงทักษะทางไวโอลินและสื่อสารอารมณ์กับบทเพลงได้อิสระและเต็มที่มีความละเอียดและปราณีตแต่ไม่ออมฝีมือ เอมี่แสดงความเข้มข้นลึกซึ้งและหลากหลายของเสียงในบทเพลงได้ดีจากการใช้คันชักที่ดูง่าย สบายและเป็นธรรมชาติ โน้ตประดับฟังสนุกมีเสียงร่วนคม แต่ไม่ขัดเขินรบกวน
บทเพลงไพเราะอันดับต้น ๆ สำหรับไวลินและเปียโนอีกสองบทของ Fritz Kreisler คือ Liebesleid และ Liebesfreud เอมี่ แสดงไวโอลินร่วมกับริชาร์ดที่เล่นเปียโนสนับสนุน แม้ว่าการเติบโตทางดนตรีของนักดนตรีรุ่นเยาว์ทั้งสองคนยังแตกต่างกันอย่างชัดเจนนั้น ทั้งเอมี่และริชาร์ดได้อะลุ่มอล่วยยืดหยุ่นไปด้วยกันได้ดีพอสมควร แม้ว่าเสียงของเปียโนอาจยังหนักเกินไปบ้างเพื่ออุ้มแนวทำนอง ประกอบกับบทสนทนากับเสียงไวโอลินยังสอดคล้องโน้มน้าวไม่เพียงพอ
ปิดท้ายรายการแสดงด้วยการแสดงเพลงเดี่ยวที่น่าตื่นเต้นและน่าชื่นชมในฝีมือการบรรเลงจากธีญาและเอมี่ ธีญาสร้างความประทับใจให้กับผู้ฟังด้วยการเล่นเพลง 3 บทรวดเดียวจากต่างยุคต่างสมัย คือ Piano Sonata in F Minor, Op. 2 No. 1 ของ Ludwig van Beethoven เพลง Toccata ของ Aram Khachaturian และ Impromptu No. 1 in A-Flat Major, Op. 29
ธีญาถ่ายทอดได้อย่างคล่องแคล่ว แม่นยำ มีพลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าและมีเสน่ห์ดึงดูดชวนให้น่าติดตามตลอด เวลา ทั้งธีญาและเอมี่เล่นได้น้ำเสียงใหญ่เกินขนาดตัว ประโยคเพลงพิถีพิถันสวยงาม ในขณะเดียวกันมีเสียงใสและเก็บรายละเอียดได้ครบถ้วน
ทั้งสองคนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวน่าสนใจ ทราบว่าเอมี่และธีญามีความตั้งใจแน่วแน่ตั้งแต่อายุยัง น้อยที่อยากจะเติบโตในเส้นทางของนักดนตรีอย่างจริงจัง รายการแสดงปิดท้ายด้วยเอมี่เล่นบทเพลงท้าทายความสามารถ สำหรับนักไวโอลิน Caprice No.20 from 24 Caprices, Op. 1 ได้อย่างยอดเยี่ยม เสียงของการเล่นเทคนิคในไวโอลินพร้อมกันสองสาย (double stop) เพื่อเลียนเสียงโดรน (drone) ในเพลงนี้นั้นไม่ง่ายเลยที่จะจัดการให้ได้เรียบเนียนและต่อเนื่องไป พร้อม ๆ กับแนวทำนอง เอมี่แสดงได้อย่างน่าภูมิใจและชื่นใจแทนผู้ปกครองและครูอาจารย์ผู้สอน
การแสดงจบลงด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ ชื่นชมยินดีจากผู้ฟัง ศาสตราจารย์ ดร.ธงสรวง อิศรางกูร ณ อยุธยา กรุณามอบ ดอกไม้แสดงความยินดีแก่นักดนตรีทั้งสามคน อาจารย์นภนันท์กล่าวขอบคุณผู้สนับสนุน ผู้ปกครองและผู้ฟัง นักดนตรีมอบ พวงมาลัยขอบคุณผู้ปกครองและครู สร้างความรู้สึกประทับใจที่อบอุ่นและงดงามแบบไทยให้กับผู้ฟัง
เชื่อว่าขณะนั้น อาจารย์นภนันท์กำลังคิดย้อนระลึกนึกถึงสิ่งที่ได้รับแบบเดียวกันในวัยเยาว์จากครูผู้สอนคือ ท่านอาจารย์ธงสรวง ในขณะเดียวกับที่กำลังส่งต่อความรักและความรู้ทางดนตรีให้กับนักเรียนรุ่นแล้วรุ่นเล่า
เรื่อง: ตรีทิพ กมลศิริ