23 ธ.ค. 2565 | 18:07 น.
จากนโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครทางด้านเศรษฐกิจดีและสร้างสรรค์ดี เพื่อขับเคลื่อนและยกระดับมหานครให้เป็นเมืองยั่งยืนน่าอยู่สำหรับทุกคน แล้วนำนโยบายมาพัฒนาต่อด้วยการจัดโครงการ เทศกาล หรือกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ผสมผสานศาสตร์ศิลปะและวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือผลักดันพื้นที่เทศกาลสร้างสรรค์ให้เกิดกิจกรรมทุกรูปแบบที่เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นการเปิดโอกาสการประกอบธุรกิจใหม่ ๆ ให้กับคนกรุงเทพฯ การริเริ่มจัด 12 เดือน 12 เทศกาลตลอดปีทั่วกรุงเทพมหานคร
รวมถึง Colorful Bangkok ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงงานศิลปะ เช่น การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ของเมืองผ่านการชมภาพยนตร์ในพื้นที่สาธารณะ (Public space) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสถานที่ต่าง ๆ และสร้างความบันเทิงให้กับคนกรุงเทพมหานคร เป็นต้น
'ศานนท์ หวังสร้างบุญ' รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมงานแถลงข่าวและเผยความรู้สึกถึงการจัดงานเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานครที่กำลังเกิดขึ้นในเดือนมกราคม 2566 เพื่อมีส่วนรวมในการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย และกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าในกรุงเทพมหานคร
ในงานแถลงข่าวครั้งนี้ มีแขกผู้มีเกียรติจากคณะผู้บริหารกรุงเทพมหาคร ‘สมบูรณ์ หอมนาน’ ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว, ‘เยาวลักษณ์ พิมพะนิตย์’ ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว
รวมถึงแขกรับเชิญจากวงภาพยนตร์มาร่วมงานอย่าง ‘อดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ’ ที่ปรึกษา เนชั่นกรุ๊ป, ‘ดรสะรณ โกวิทวณิชชา’ ผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพ, ‘ฐาปณี หลูสุวรรณ’ ผู้กำกับหญิงภาพยนตร์ไทยกำลังมาแรง เรื่อง Blue Again พร้อมกับโปรดิวเซอร์ Blue Again ‘ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต’ ซึ่งภาพยนตร์ไทยเรื่อง Blue Again เคยนำไปฉายและเข้าชิงในงาน Busan International Film Festival ประเทศเกาหลีใต้ และงาน World Film Festival of Bangkok กรุงเทพฯ
ทั้งนี้ในงาน ‘เทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานคร 2566’ ระหว่างวันที่ 20-22 มกราคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิด “กรุงเทพ มีดี The Creative City” รวมถึงกิจกรรมเวิร์คช็อปเทคนิคพิเศษทางด้านภาพยนตร์ เช่น เทคนิคการตัดต่อ, เทคนิคการถ่ายทำ หรือ การเขียนบทภาพยนตร์ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำกับภาพยนตร์, นักแสดง หรือ นักวิชาการที่มีความรู้ด้านภาพยนตร์
นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมประกวดภาพยนตร์สารคดีสั้นกรุงเทพมหานคร ความยาว 10-15 นาที เปิดโอกาสให้นักศึกษาและประชาชนทั่วไป อายุไม่เกิน 28 ปี ส่งผลงานในหัวข้อ Connecting Bangkok 2030 หรือ “เชื่อมโยงกรุงเทพมหานคร 2030” โดยแนวคิดของหัวข้อนี้สะท้อนให้เห็นวิสัยทัศน์ของผู้สร้างสรรค์ผลงานภาพยนตร์สารคดีสั้นว่า มีมุมมองต่อกรุงเทพมหานครในฐานะ Smart City ในอนาคตอย่างไร
การประกวดครั้งนี้เพื่อชิงเงินรางวัลรวมทั้งหมด 200,000 บาท (รางวัลชนะเลิศ มูลค่า 65,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 มูลค่า 45,000 บาท, รางวัลรองชนะเลิศรองอันดับ 2 มูลค่า 30,000 บาท, ชมเชย 4 รางวัลๆละ 15,000 บาท รวมมูลค่า 60,000 บาท) ซึ่งภาพยนตร์สารคดีสั้นกรุงเทพที่ชนะการประกวด จะนำมาฉายในเทศกาลที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20-22 มกราคม 2566 ผู้ที่สนใจสามารถส่งผลงานตั้งแต่วันนี้ ถึง 15 มกราคม 2566 ส่วนรายละเอียดการประกวดเพิ่มเติม ติดตามได้ทาง www.pr-bangkok.com และ Facebook Page: กรุงเทพมหานคร
นอกจากนี้ยังเปิดพื้นที่สาธารณะลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดฉายหนังกลางแปลง วันละ 1 เรื่อง ซึ่งภาพยนตร์ที่ฉายเกี่ยวกับเป็นภาพยนตร์ไทยร่วมสมัยที่ประสบความสำเร็จ และยังเป็นกรณีศึกษาของวงการภาพยนตร์ไทยสู่ระดับนานาชาติ รวมถึงการแสดงวงดนตรีเยาวชนอีกด้วย
สุดท้ายเปิดร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนและของดี 50 เขต ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมกรุงเทพมหานครให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจการค้าภายในเมืองกรุงเทพฯ และยังสร้างความสุข ความบันเทิงใจให้กับประชาชน ในช่วงเวลาต้อนรับปีใหม่ 2566
สามารถติดตามรายละเอียดเทศกาลภาพยนตร์กรุงเทพมหานคร ได้ที่ www.pr-bangkok.com และ Facebook Page: กรุงเทพมหานคร หรือ www.facebook.com/prbangkok