11 มี.ค. 2566 | 19:30 น.
แทบทุกประเทศในโลกจึงเร่งปฏิรูประบบการศึกษา เพื่อให้กลายเป็นเครื่องมืออันทรงพลังในการพัฒนา ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จโดดเด่นอย่างเห็นได้ชัดจนได้รับการยกย่องในระดับโลก คือ ฟินแลนด์ และเกาหลีใต้
โดยบทความของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ สสวท. ได้กล่าวไว้ว่าเมื่อห้าสิบกว่าปีก่อน ด้วยสถานะทางเศรษฐกิจของฟินแลนด์สุ่มเสี่ยงที่จะย่ำแย่กว่าประเทศอื่นในยุโรป ส่วนเกาหลีใต้ได้รับผลกระทบจากสงครามกลางเมือง ทำให้ทั้งสองประเทศมีระบบการศึกษาที่อาจเรียกได้ว่า “ไร้ประสิทธิภาพ” แต่ปัจจุบันสามารถปฏิรูปจนระบบการศึกษาของฟินแลนด์ได้รับการยกย่องว่าดีที่สุดในโลก และเกาหลีใต้ก็ได้รับความเชื่อถือในเรื่องคุณภาพการศึกษา
ฟินแลนด์ เป็นระบบการศึกษาที่เริ่มเข้าโรงเรียนเมื่ออายุเหมาะสม ไม่มีการสอบมาตรฐาน มีเพียงการสอบโดยสมัครใจเมื่อเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย บรรยากาศการเรียนผ่อนคลาย ไม่เครียด ใช้เวลาเรียนไม่นานในแต่ละวัน ไม่มีการแข่งขันแต่เน้นความร่วมมือ มีการสร้างสิ่งแวดล้อมของการเรียนรู้ โดยครูจะเป็นที่ไว้วางใจและตรวจสอบได้
ตรงกันข้ามกับเกาหลีใต้ ที่ความสำเร็จทางการศึกษาจะช่วยยกระดับหน้าตาและสถานะทางสังคม พวกเขาจึงเชื่อในผลของความพยายาม การทำงานหนัก หนัก และหนักขึ้นไปอีก เมื่อประสบความล้มเหลว โดยไม่มีข้อแก้ตัวใดๆ ให้ความล้มเหลวนั้น ทำให้นักเรียนจะต้องเรียนหนักทั้งในโรงเรียนและโรงเรียนกวดวิชา เพื่อให้สามารถคว้าคะแนนสูงๆ ในการสอบที่จัดขึ้นบ่อยครั้ง หรือแม้กระทั่งในเด็กเล็กก็ยังมีการสอบคัดเลือกเพื่อเข้าเรียน
เมื่อดูระบบการศึกษาฟินแลนด์ที่เน้นความเป็นธรรมชาติ สร้างบรรยากาศการเรียนรู้จนสามารถส่งออกระบบการศึกษาไปเป็นต้นแบบให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก และระบบการศึกษาที่เชื่อในผลของ ความพยายามอย่างหนักแบบเกาหลีใต้ ผู้จุดกระแส K-Wave จนเกิดแรงกระเพื่อมในระดับนานาชาติ ทำให้มองย้อนกลับมาที่ระบบการศึกษาของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมามีการปฏิรูปกันอย่างหนักหน่วง ยาวนาน
แต่ดูเหมือนว่าผลลัพธ์จะไม่เป็นไปตามอย่างที่คาดหวังไว้
และหากเอ่ยถามถึงสาเหตุ รวมถึงวิธีหาทางออก เชื่อว่า “นักการศึกษา” น่าจะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีที่สุด
“ถ้าเกิดพูดถึงเรื่องปัญหาในแวดวงการศึกษาไทย วันนึงก็พูดไม่หมดครับ” ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นักการศึกษามืออาชีพ เกริ่นกับ “The People” ถึงคำตอบของปัญหา
“ปัญหาเนี่ย มั่นใจว่าทุกคนรู้เหมือนกัน เพราะเราปฏิรูปกันมานานเป็นสิบๆ ปี แต่ไม่ได้ลงมือทำ คำถามที่ว่าจะลงมือทำ จะลงมือทำตรงไหนก่อนเพราะปัญหามันเยอะไปหมดใช่ไหม ต้องคิดว่าเด็กคนหนึ่งจะผ่านออกมาเป็นพลเมืองไทยที่มีศักยภาพสูงเนี่ย เราจะต้องวางแผนยังไง”
“สำคัญที่สุดเลยก็คือ เราต้องรู้แล้วว่าเด็กตั้งแต่อยู่ในท้องมารดาจนไปจบปริญญาตรีขั้นต่ำ เราควรจะลงทุนที่ตรงไหนบ้าง ถ้าเกิดถามผม ทุกขั้นตอนสำคัญหมดนะครับ”
แต่สำหรับวาระเร่งด่วนที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไปรอดในระยะ 5-10 ปี เขาว่าจะต้องมุ่งเป้าหมายไปที่การศึกษาในระดับปริญญาตรี เนื่องจากประเทศไทยขาดพลังการผลิตจากผู้ที่มีทักษะสูงจึงควรผลักดันให้เด็กที่เรียนจบมัธยมปลายได้เข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีให้มากที่สุด ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องสนับสนุนสวัสดิการเรียนฟรี ไม่มีค่าหน่วยกิต
ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยการเพิ่มจำนวนประชากรเด็กไทย หรือหากเป็นเรื่องยากเกินกว่าจะบังคับได้ก็จะต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด นั่นคือ ทำให้เด็กทุกคนที่เกิดมามีคุณภาพเต็ม 100% ด้วยการมุ่งสร้างทักษะในช่วงวัยสำคัญอย่างอนุบาลถึงประถมศึกษาตอนต้น
“ตรงนี้หมายถึงว่า เป็นช่วงวัยที่ลงทุนเท่าไหร่ได้ผลโคตรคุ้มค่าเลย พูดกันแบบนี้” ดร.สุชัชวีร์กล่าวอย่างออกรส
“เพราะฉะนั้นตรงนี้รัฐต้องลงทุนให้ได้ครูดีที่สุด หรือการสนับสนุนที่ดีที่สุด แล้วจากนั้นพอเขาขึ้นประถมฯ ก็ค่อยๆ ดูแลเขา ถึงมัธยมฯ ดูแลเขามากขึ้น ขณะที่มหาวิทยาลัย เราเตรียมพร้อมดูแลไปอยู่แล้ว พูดง่ายๆ เริ่มสองทาง”
“ถ้าเริ่มตรงปลายทางมหาวิทยาลัย จัดเต็มให้คนเรียนมหาวิทยาลัยให้มีทักษะสูงมากที่สุด ออกไปสร้างผลผลิต ส่วนเด็กตั้งแต่ในท้องแม่ค่อยๆ ดูแลตามมา แล้วสุดท้ายมาบรรจบกันตรงนี้ แบบนี้ใช้เวลาประมาณ 10 ปี ประเทศไทยเปลี่ยน การศึกษาเป็นอะไรที่ต้องพัฒนาต่อเนื่อง”
“ประเทศไทยลงทุนสร้างทาง 120,000 ล้าน แต่จะลงทุนสร้างคน 20,000 – 30,000 ล้าน เนี่ยที่จริงแล้วมันควรจะทำได้ เพราะงั้นอุดมคติมี 2 อย่างก็คือ คุณภาพอุดมศึกษาใกล้เคียงกัน กับการเรียนต้องเป็นสวัสดิการ ต้องเรียนฟรีทุกสาขาในอนาคตให้ได้”
ดร.สุชัชวีร์ เน้นย้ำถึงความสำคัญของรัฐในการลงทุนด้านการศึกษา ซึ่งจะทำให้คนไทยมีศักยภาพ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และเป็นพลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ
“แรงบันดาลใจที่มีพลังสูงอยู่ที่ความกลัว เราใส่หน้ากากกันทุกคนเพราะว่าเรากลัวตาย กลัวโควิด แต่วันนี้ประเทศไทยไม่กลัวเลยว่าประเทศไทยไม่มีพลังคนแล้ว เพราะการกระตุกแรกก็คือต้องชี้ให้เห็นว่าประชากรมันไม่มีแล้วอ่ะ มันตายจริง” เขาให้ความเห็น
“วันนี้เราต้องช่วยกันพูด ชี้ให้เห็นความจริงว่า T-WAVE จะไม่เกิดขึ้นเลยถ้าเกิดเราไม่กลัว เราต้องกลัวประเทศนี้จะแย่แล้วนะ ไม่มีคนเข้ามาสร้างพลังให้กับประเทศ”
“เราต้องสร้างฐานใหม่ ทุกคนมากระตุกร่วมกัน มากระตุกเชือกพร้อมกัน เพราะรัฐกระตุกได้เยอะก็จริง แต่เอกชนไม่กระตุก มันก็ไม่ไป ผู้ปกครองไม่กระตุก ก็ไม่ไป หรือผู้เรียน เด็กรุ่นใหม่ไม่ช่วยกระตุกขึ้นมาก็ไม่ไป ตรงนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้พร้อมๆ กัน”
THAI คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก เป็นการเน้นย้ำถึงศักยภาพคนไทยที่ไม่ด้อยไปกว่าชนชาติอื่น ด้วยการชวนคนไทยเก่งๆ ระดับมืออาชีพมาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ และ
สร้างคำนิยมที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่แค่ความภาคภูมิใจที่เกิดเป็นคนไทย แต่มั่นใจในศักยภาพของตัวเอง
TECH ใช้เทคโนโลยีขับเคลื่อนความรู้ หลังจากการศึกษาถูกทลายกรอบเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด ดังนั้นเทคโนโลยีจึงเป็นสิ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และพัฒนาให้คนไทย พร้อมเผชิญการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีใหม่ๆ
และ TEEN พัฒนาเด็กไทยให้เต็มศักยภาพ การศึกษาวันนี้จะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนประเทศ ดังนั้นจึงต้องเข้าใจความต้องการของเด็กๆ และปรับให้การศึกษาตอบรับกับอนาคตของเยาวชนที่จะโตมาเป็นแรงงานของชาติต่อไป โดยร่วมกันสร้างโอกาสให้แก่เด็กไทยสู่พลเมืองชั้นหนึ่ง
“เราต้องเข้าใจด้วยนะว่า เทคโนโลยีไม่ใช่งานของวิศวะ นักวิทยาศาสตร์เท่านั้น เทคโนโลยีเป็นของทุกวิชาชีพ ไม่ใช่จะเข้ามหาวิทยาลัย เด็กตั้งแต่อนุบาลควรจะเริ่มเรียนแล้วว่าเทคโนโลยีคืออะไร ควรจะเข้าใจตรรกะของการ coding ก่อนมีคอมพิวเตอร์” ดร.สุชัชวีร์ให้ความเห็น
“เรื่องแบบนี้มันควรจะปลูกฝังแล้วก็บรรจุในหลักสูตรตั้งแต่ชั้นอนุบาล และความเข้มข้นค่อยขยายไปเรื่อยๆ อันนี้มันจะตอบโจทย์ได้มากกว่า แต่ถ้าเกิดบอกว่าเราจะสร้างนักเทคโนโลยี สร้างวิศวะเข้ามหาวิทยาลัยอย่างนี้เลยมันยากเหมือนกันนะ มันอาจจะได้ผล แต่มันไม่ได้ผลถึงลึกเลย”
“ผมก็เลยอยากจะให้เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกระดับชั้น รวมทั้งผู้ปกครองให้ความสนใจเทคโนโลยีนวัตกรรม รวมทั้งเรื่องของการ coding ซึ่งวันนี้ประเทศที่พัฒนาแล้วทุกประเทศให้ความสนใจดูแลตั้งแต่เด็กๆ”
“เรามีเด็กเก่งปี๊ดอยู่ ไอ้ปี๊ดเรากับปี๊ดฝรั่ง ปี๊ดเราสู้ได้ แต่ฐานของฝรั่งใหญ่ เกาหลีใหญ่ ญี่ปุ่นใหญ่ แต่ของเรามันลีบ หนึ่ง คุณภาพเราสู้ไม่ได้ สอง ปริมาณเราน้อย เพราะฉะนั้นก็คือ พยายามดันเด็กก้อนใหญ่ๆ ให้ขึ้นไปให้ได้มากที่สุด นี่คือการตอบโจทย์ที่แท้จริง”
ซึ่งลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมงานได้ฟรีที่ https://forms.gle/9pEbWUWSy41LuhPF8
โดยงานนี้รวบรวมนักการศึกษามืออาชีพที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนและยกระดับการศึกษาไทย รวมถึงตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่จะมาร่วมระดมความคิดเห็นในการออกแบบการศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อม ให้วัยรุ่นไทยยุคใหม่ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนอนาคต ซึ่งอาจเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของระบบการศึกษาไทย พร้อมๆ กับปลุกกระแส T-WAVE คลื่นลูกใหม่ ไทยนิยมให้กระเพื่อมไปทั่วโลก
เพราะแม้ที่ผ่านมาจะมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จบนเวทีโลก แต่เชื่อว่าหากกระแส T-WAVE ไทยนิยม ถูกจุดติดขึ้นมา จะทำให้คนไทยที่มีศักยภาพโดดเด่นได้มีโอกาสเฉิดฉายในระดับโลก อีกเป็นจำนวนมาก
และนั่นอาจจะเริ่มต้นจากการขับเคลื่อนระบบการศึกษาที่แค่ต้องหยุดปฏิรูป และลงมือปฏิบัติกันเสียที
รูปประกอบจาก
GettyImages
Freepik
pch.vector on Freepik
tulyawat01 on Freepik
wirestock on Freepik