19 พ.ค. 2566 | 10:30 น.
ศิลปินชิบาริ: Unnamedminor ไมเนอร์-เพชรดา ปาจรีย์
ศิลปินรับเชิญ: ทอม โพธิสิทธิ์, โศภิรัตน์ ม่วงคำ, ธนพล แก้วพริ้ง, พิสุทธิ์ ศรีสุวรรณ และ ณัฐพล พัฒนนิธิบูรณ์
โปรดิวเซอร์: ภคณัฐ รัตนบ้านกรวย
ภัณฑารักษ์: ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
จัดแสดงตั้งแต่วันที่: 5 – 26 มิถุนายน 2566
สถานที่: 6060 Arts Space
พิธีเปิดนิทรรศการ: 10 มิถุนายน 2566 เวลา 13:00 – 19:00 น.
ในแง่ของความหมาย คำว่า Impulse นั้นแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “แรงกระตุ้น” ในที่นี้อาจหมายความถึงแรงกระตุ้นให้ชีพจรกลับมาเต้นเป็นปกติ ในทางกลับกันก็อาจเป็นการกระตุ้นเตือนให้ความรู้สึกบางอย่างพลุ่งพล่านขึ้นกว่าปกติ การกระตุ้นเช่นนี้อาจเกิดจากสิ่งเร้าภายนอก สิ่งเร้าที่ว่านี้อาจเป็นสัมผัสของมนุษย์ หรืออาจเป็นสัมผัสของวัตถุ หนึ่งในวัตถุที่มักถูกใช้เป็นเครื่องมือกระตุ้นเร้าความรู้สึกก็คือ เส้นเชือก ที่ถูกใช้ในศาสตร์หนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของการร้อยรัด มัด และถักทอกันของเชือกอย่างมีเอกลักษณ์และความซับซ้อนเฉพาะตัวที่เรียกขานกันว่า “ชิบาริ” นั่นเอง
เมื่อพูดถึง ชิบาริ บางคนอาจนึกไปถึงกิจกรรมลงทัณฑ์ทรมานด้วยการมัด เพื่อตอบสนองรสนิยมทางเพศอันรุนแรงแบบ BDSM แบบเดียวกับที่เราเห็นกันในหนังอีโรติก หนังโป๊ หรือหนังเอวีหลายเรื่องอย่างช่วยไม่ได้ แต่ในความเป็นจริง ชิบาริ เป็นอะไรได้มากกว่านั้น สำหรับบางคน ชิบาริอาจเป็นความเพลิดเพลิน หฤหรรษ์, เป็นรสสัมผัสแห่งประสบการณ์อันแตกต่างหลากหลาย หรือในบางคน การถูกพันธนาการด้วยชิบาริอาจหมายความถึงเสรีภาพ หรือความว่างภายในจิตอันไร้การปรุงแต่งก็เป็นได้
นิทรรศการครั้งนี้ว่าด้วยแรงกระตุ้นผ่านกระบวนการแห่งศาสตร์ชิบาริอันเป็นการสร้างพันธนาการแห่งเส้นเชือกและการถักทอร้อยเรียงกันอย่างเปี่ยมเอกลักษณ์ ด้วยการร่วมงานของสองศิลปินผู้กระทำชิบาริ อย่าง เพชรดา ปาจรีย์ และ ภคณัฐ รัตนบ้านกรวย ร่วมกับห้าศิลปินรับเชิญในสายภาพถ่ายอย่าง ทอม โพธิสิทธิ์, โศภิรัตน์ ม่วงคำ, ธนพล แก้วพริ้ง, พิสุทธิ์ ศรีสุวรรณ และ ณัฐพล พัฒนนิธิบูรณ์ ที่มาร่วมกันถ่ายทอดผลงานศิลปะอันเปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคน หากมีจุดเชื่อมโยงร้อยรัดกันด้วยชิบาริ อันเป็นสัญลักษณ์ถึงพลังแห่งการกระตุ้นการรับรู้ และการตีความอันเปี่ยมเสรีภาพ ไร้กรอบ กฎเกณฑ์ และขีดจำกัดใดๆ
สนับสนุนโดย : FORFUN, สมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย. ในพระบรมราชูปถัมภ์, โก๋แก่, เบียร์ภูเก็ต และ Bangkok Art City