ชมประวัติศาสตร์ศิลป์ทรงคุณค่าของไทยมาบรรจบกับผลงานศิลปินร่วมสมัย 200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY

ชมประวัติศาสตร์ศิลป์ทรงคุณค่าของไทยมาบรรจบกับผลงานศิลปินร่วมสมัย 200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY

เปิดคอลเล็กชันสุดหวงของนักสะสม ที่สุดของนิทรรศการแห่งปี “200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY” ร้อยเรียงเรื่องราวประวัติศาสตร์ศิลป์ จากขรัวอินโข่ง ถึง Crybaby ด้วยแนวคิด พิพิธภัณฑ์ศิลปะเพื่อสาธารณะ

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า) และ The Art Auction Center ชวนเสพความงามแห่งห้วงเวลาจากเรื่องเล่าในตำราและคำเล่าขานที่สืบต่อกันมาในนิทรรศการ 200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY ร้อยเรียงเรื่องราวกว่า 2 ศตวรรษของประวัติศาสตร์ศิลป์จากขรัวอินโข่ง (ราวรัชกาลที่ 4) ถึงปัจจุบัน คัดสรรงานศิลปะระดับประเทศที่หาชมยากกว่า 100 ชิ้นจากคอลเล็กชันของ คุณกรกมล และ คุณพิริยะ วัชจิตพันธ์ นักสะลมงานศิลปะ และผู้ก่อตั้ง The Art Auction Center บริษัทประมูลศิลปะอันดับ 1 ของประเทศไทย ที่รวบรวมผลงานศิลปะอันทรงคุณค่ามานับสิบปี ด้วยแนวคิด “พิพิธภัณฑ์ศิลปะเพื่อสาธารณะ” ก่อนจะเปิดโอกาสให้คนรักงานศิลป์ได้ชื่นชมผลงานศิลปะของศิลปินชั้นครูจนถึงศิลปินรุ่นใหม่ ที่ต่างก็สร้างชื่อเสียงให้ศิลปะไทยโด่งดังไกลในต่างแดน

ชมประวัติศาสตร์ศิลป์ทรงคุณค่าของไทยมาบรรจบกับผลงานศิลปินร่วมสมัย 200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY

ร่วมออกเดินทางผ่านประวัติศาสตร์ศิลป์สมัยใหม่ของไทย ผ่านศิลปะสยามในยุคล่าอาณานิ  คม (Colonial Era) เคลื่อนสู่ปฐมบทของศิลปะสมัยใหม่ในประเทศไทย (Modern Art) จากผลงานจิตรกรรมล้ำค่าของ “ขรัวอินโข่ง” ฝีแปรงและลายเส้นอันเปี่ยมพลังของ “ถวัลย์ ดัชนี” สู่งานศิลป์ของศิลปินยุคใหม่อย่าง “มอลลี่-นิสา ศรีคำดี” (Crybaby) ตลอดจนงานจิตรกรรมและประติมากรรมอันประณีตงดงามของศิลปินที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทยแทบทุกท่านอย่างครบครัน ท่ามกลางงานศิลปะนับร้อยที่คุณจะได้รื่นรมย์อย่างใกล้ชิด เราได้คัดสรร 8 ผลงานศิลปะหาชมยากที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้มาฝาก

  • จิตรกรรมของขรัวอินโข่ง

ชมประวัติศาสตร์ศิลป์ทรงคุณค่าของไทยมาบรรจบกับผลงานศิลปินร่วมสมัย 200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY

พระสงฆ์แห่งวัดราษฎร์บูรณะหรือ “วัดเลียบ” ที่เกิดในสมัยรัชกาลที่ 3 บวชเณรตั้งแต่เด็กจนอายุมากก็ยังไม่ยอมบวชพระจึงถูกเรียกว่า “เณรโค่ง” (เณรตัวใหญ่) ต่อมาคำว่า ‘โค่ง’ เพี้ยนเป็น ‘โข่ง’ ซึ่งมีความหมายเดียวกัน เมื่อบวชเป็นพระจึงถูกเรียกขานว่า “ขรัวอินโข่ง” (ขรัว หมายถึง พระที่มีพรรษาและความรู้มาก) ด้วยใกล้ชิดกับวัดมาตั้งแต่เด็กจึงสนใจงานศิลปะ ช่วงแรกขรัวอินโข่งฝึกฝนงานศิลปะไทยแบบประเพณีนิยม ที่ส่วนใหญ่ยึดแบบแผนดั้งเดิมที่มีมาตั้งแต่อาณาจักรสุโขทัย อยุธยา สืบเนื่องมาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ ไม่เน้นความสมจริงตามธรรมชาติ ภาพจะดูแบนๆ ระบายด้วยสีเรียบๆ ไม่ใส่แสงเงา 

หากแต่ขรัวอินโข่งกลับเลือกใช้โทนสีทึมๆ ครึ้มๆ สร้างเป็นบรรยากาศ บรรจงวาดตัวละคร ตึกรามบ้านช่องเป็นแบบตะวันตกทั้งหมด ยกเว้นเพียงธงประจำชาติสยามรูปช้างสีขาวบนพื้นแดงที่โบกปลิวดูเด่นเป็นสง่าอยู่บนเรือกลไฟที่แล่นสู้คลื่น ส่วนประกอบอื่นๆ ในภาพแทบจะไม่มีอะไรที่บ่งบอกความเป็นไทยเลย แล้วขรัวอินโข่งผู้ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศนำแรงบันดาลใจมาจากไหน? งานจิตรกรรมชิ้นนี้จึงไม่ได้เป็นแค่ภาพวิวสไตล์ตะวันตกดาดๆ หากแต่เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานอันบ่งชี้ว่า ณ ช่วงเวลานั้นศิลปินสยามได้ก้าวข้ามผ่านกรอบปฏิบัติอันเข้มงวดของศิลปะแบบไทย ประเพณีที่สืบ


ทอดต่อกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีก่อนหน้า ศิลปะไทยจึงไม่ย่ำอยู่กับที่เพราะมีศิลปินนามอุโฆษที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “ขรัวอินโข่ง”

 

  •  นารายณ์บรรทมสินธุ์

ผลงานจิตรกรรมของพระเทวาภินิมมิต (ฉายเทียมศิลปไชย) หนึ่งในช่างศิลป์คนสำคัญที่ได้ถวายงานแก่ราชสำนักตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทั้งยังเป็นพระอาจารย์ทางด้านศิลปะของในหลวงรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2477 เป็นภาพพระนารายณ์ขณะบรรทมมีพระพรหมผุดขึ้นมากลางพระนาภี (สะดือ) ด้านข้างปรากฎภาพพระแม่ลักษมี (พระชายา) ทั้งหมดประทับอยู่บนหลังอนันตนาคราชท่ามกลางเกษียรสมุทร สะท้อนถึงการพัฒนารูปทรงของตัวละครในภาพที่แสดงถึงการเปิดรับหลักการศิลปะตามหลักวิชาของตะวันตก ทั้งในด้านหลักกายวิภาค การสร้างมิติตามหลักทัศนียวิทยา ผสานกับการสร้างบรรยากาศในภาพตามแบบศิลปะตะวันตก ภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์จึงเป็นเสมือนหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งของการผสมผสานอิทธิพลจากศิลปะตะวันตกเข้ากับรูปแบบของศิลปะไทยอย่างประณีต

 

  • Siamese Cupid

ชมประวัติศาสตร์ศิลป์ทรงคุณค่าของไทยมาบรรจบกับผลงานศิลปินร่วมสมัย 200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY

ผลงานจิตรกรรมอันทรงคุณค่าและหาชมยากของกาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ศิลปินที่มีชื่อเสียงของอิตาลี ซึ่งผลงานเป็นที่พอพระทัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 จนรัฐบาลไทยเชิญมาทำงานให้ราชสำนักและได้เดินทางข้ามทะเลเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ศิลปินผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านจิตรกรรม เครื่องเคลือบดินเผา ภาพวาดบนกระจกสี รวมถึงงานออกแบบศิลปกรรมเพื่อการตกแต่งสถาปัตยกรรม ผลงานชิ้นนี้สะท้อนการสร้างสัญลักษณ์เป็นภาพตัวแทนตัวละครเทวดาของฝรั่งและเทวดาของไทยมาผสมผสานอยู่ในภาพเดียวกัน สันนิษฐานว่าคินีสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการประดับอาคาร อาจเป็นบริเวณเหนือซุ้มหน้าต่างหรือซุ้มประตู โดยในช่วงเวลาที่เขาพักนักอยู่ในสยาม นอกจากงานจิตรกรรมประดับโดมพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้วคินียังสร้างงานจิตรกรรมส่วนตัวเป็นภาพสีน้ำมันอีกหลายชิ้น

 

  • Girl With the Red Book

ชมประวัติศาสตร์ศิลป์ทรงคุณค่าของไทยมาบรรจบกับผลงานศิลปินร่วมสมัย 200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY

มีเซียม ยิบอินซอย ศิลปินชั้นเยี่ยมคนแรกของประเทศไทย ได้สร้างสรรค์ภาพสีน้ำมันชื่อ “วัยรุ่น” ขึ้นมาราวทศวรรษ 2500 แสดงถึงภาพของหญิงสาววัยรุ่นในชุดสีขาวบริสุทธิ์สะอาดตา นอนอ่านหนังสือล้อไปกับแนวนอนของผืนผ้าใบ โลกของหญิงสาวเปิดออกอย่างสดใสร่าเริงเฉกเช่นหนังสือปกแดงในมือของเธอที่ถูกเปิดอ่าน ท่ามกลางดอกไม้และพืชพันธุ์ที่เบ่งบานรายล้อม มีเซียมเขียนภาพแบบทิ้งฝีแปรง พู่กันที่เขียนขยุกขยิกแสดงถึงกลีบของดอกไม้และใบไม้ ปรากฎกระจายไปทั่วภาพราวกับเส้นสกำลังเต้นระบำรายล้อมตัวหญิงสาวอย่างมีชีวิตชีวา การใช้สีที่กลมกลืนทำให้เรือนร่างของหญิงสาวและแมกไม้แทบจะกลายเป็นหนึ่งเดียวกัน มีเพียงดวงตา เส้นผมที่ดำขลับ และหนังสือปกแดงเท่านั้นที่โดดเด่นเห็นชัดอย่างมีนัยสำคัญ ลักษณะการวาดภาพที่งามเกินจริงในจิตรกรรมชิ้นนี้จะมีความคล้ายคลึงกับเอกลักษณ์เฉพาะตัวในงานประติมากรรมของมีเซียม

 

 

  • Despair Eclipse of Intellect

ผลงานไฮไลท์ขนาดใหญ่โตมโหฬารที่สุดจากยุคบุกเบิกที่หาชมยากที่สุดชิ้นนี้ ถวัลย์ ดัชนี ใช้สีดำระบายบนผืนผ้าใบขนาดท่วมหัวจนทั่วเพื่อรองพื้น จากนั้นจึงใช้เกรียงปาดสีน้ำมันเป็นปื้นหนาๆ ทับลงไปให้เกิดเป็นรูปทรงและแสง ภาพบรรยากาศอันวังเวงภายใต้ดวงอาทิตย์ที่ถูกบดบังแสงจนมืดดำ มีไก่ยักษ์สองหัว หัวหนึ่งดวงตาเบิกโพลง ชูคอโก่งขันจนสุดเสียงแสดงถึงความตื่นรู้ ขณะที่อีกหัวกำลังจิกกัดผู้คนที่นอนปิดหูปิดตาเอาแขนก่ายหน้าผากอย่างหมดอาลัยตายอยาก สไตล์และสีสันที่ดูสากลมาก ทำให้ผลงานชิ้นนี้ถูกซื้อไปโดยมิสเตอร์เอเวอร์ผู้จัดการใหญ่ของสายการบิน KLM ประจำประเทศไทย ผู้บังคับบัญชาของ มากาเร็ต ฟันเดอร์ฮุค ซึ่งขณะนั้นทำหน้าที่เป็นแอร์โฮสเตส ในเวลาต่อมาอีกไม่นาน เธอผู้นี้เองที่กลายมาเป็นคู่ชีวิตของถวัลย์ ดัชนี

 

  • พระสังข์ทองกับนางรจนา

จิตรกรรมของ จักรพันธุ์ โปษยกฤต ชิ้นนี้สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2525 ด้วยเทคนิคสีน้ำมันบนผืนผ้าใบ เป็นภาพตัวละครที่แต่งองค์ทรงเครื่องสวมบทบาทพระสังข์ทองและนางรจนา ฉากหลังเป็นกระท่อมกลางป่า โครงสีของภาพอบอุ่นด้วยบรรยากาศของแสง เครื่องแต่งกายสอดคล้องตามแบบแผนของตัวละครผสมผสานกับรายละเอียดวิจิตรตามจินตนาการส่วนตัวของศิลปิน ผลงานจิตรกรรมของจักรพันธุ์คล้ายคลึงกับแนวทางการสร้างสรรค์ของศิลปินกลุ่มอิมเพรสชันนิสม์ในยุโรปช่วงปลายศตวรรษที่ 18 รูปร่างหน้าตาของตัวละครและฉากหลังผสมผสานความจริงตามหลักกายวิภาค และทัศนีวิทยาตามแบบตะวันตกกับความงามละมุนละไมในแบบเฉพาะตัวของศิลปิน

 

  • Memory House

ชมประวัติศาสตร์ศิลป์ทรงคุณค่าของไทยมาบรรจบกับผลงานศิลปินร่วมสมัย 200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY

ผลงาน Memory House ของ อเล็กซ์ เฟส-พัชรพล แตงรื่น ศิลปินที่มีชื่อเสียงทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติจากการออกแบบคาแร็กเตอร์เด็กหญิงสามตาในชุดกระต่าย ซึ่งเขาได้รับแรงบันดาลใจจากลูกสาว “น้องมาร์ดี” ตาที่สามสะท้อนมุมของศิลปินที่เฝ้ามองสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ลูกสาวกำลังจะเติบโตไปใช้ชีวิต ผลงานขนาดยักษ์ชิ้นนี้จัดแสดงครั้งแรกในนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2020 ที่ศูนย์การเรียนรู้ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยบ้านไม้หลังเก่าที่มีประติมากรรมรูปน้องมาร์ดีขนาดใหญ่อัดแน่นอยู่ภายใน สะท้อนความทรงจำของบ้านวัยเด็กของ Alex Face ภายในบรรจุผลงานจิตรกรรมที่สะท้อนถึงผลกระทบของผู้คนที่มีต่อแม่น้ำเจ้าพระยา

 

  • Cry Me A River

ปรากฏการณ์ Crybaby ของ มอลลี่-นิสา ศรีคำดี สร้างกระแสโด่งดังเป็นพลุแตกให้กับวงการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ของ Popmart ผลักดันให้มอลลี่ก้าวสู่การเป็นศิลปิน Art Toy ที่มีชื่อเสียงได้รับการยอมรับอย่างสูงไปทั่วโลก กระทั่งนำมาซึ่งการจัดนิทรรศการครั้งแรกในประเทศไทยของมอลลี่ช่วงกลางปี พ.ศ. 2565 ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง ท่ามกลางผู้สนใจมาต่อคิวรอเข้าชมนิทรรศการยาวเหยียด ผลงานชิ้นนี้เป็นผลงานชิ้นสำคัญที่จัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ โดยโผล่พ้นน้ำ

ขึ้นมาคือส่วนศีรษะ แขนทั้งสองข้าง และขาทั้งสองข้างเท่านั้น กล่าวได้ว่าเป็นผลงานชิ้นหลักที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในประเทศไทยของศิลปิน

นอกจากนี้ ภายในนิทรรศการยังมีผลงานอันทรงคุณค่าและหาชมยากให้เลือกชมนับร้อยชิ้น ชนิดที่หากคุณพลาดโอกาสนี้ก็อาจจะน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง

นิทรรศการ 200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY

  • เปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม-31 สิงหาคม 2567
  • ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า)
  • ตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. (ปิดทุกวันจันทร์และวันอังคาร)  
  • อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 30 บาท ชาวต่างชาติ 200 บาท นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ พระภิกษุ สามเณรและนักบวชในศาสนาอื่น และผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) เข้าชมโดยไม่เสียค่าธรรมเนียม

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและติดตามความเคลื่อนไหวได้ของนิทรรศการได้ที่ โทร. 02 233 7939 และ 065 097 9909 https://www.facebook.com/TheNationalGalleryThailand และ https://www.facebook.com/theartauctioncenter