14 เม.ย. 2566 | 10:40 น.
ความแพร่หลายของความคราฟต์ที่เป็นกระแสเกาะเกี่ยวกันไปในทุกวงการ ไม่เว้นแม้กระทั่งในกลุ่มของผู้ที่แสวงหาสุนทรียะในการดื่มอย่าง คราฟต์เบียร์ และสุรากลั่นพื้นบ้านไทย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า วันนี้ ไม่ว่าจะรูปลักษณ์ของบรรจุภัณฑ์ รสชาติของวัตถุดิบ รวมทั้งกระบวนการผลิตหลากหลาย จากความรู้เฉพาะตัวที่มี ทำให้เครื่องดื่มคราฟต์แอลกอฮอลล์เหล่านี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะกลายเป็น Soft Power ของไทยได้อย่างไม่ยากเย็น
“ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ หรือ เหล้า เรายังสามารถไปได้ไกลมากกว่านี้” นี่เป็นคำยืนยันจากปากของ วิชิต ซ้ายเกล้า ผู้ก่อตั้ง Chitbeer หนึ่งในคราฟต์เบียร์ไทยเจ้าแรกๆ ที่ประสบความสำเร็จ และได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในต่างประเทศ
แต่ไม่ว่าเบียร์ไทยจะมีความปัง และมีเสน่ห์น่าสนใจสำหรับผู้บริโภคมากเท่าไร ก็ยังติดปัญหาที่ว่า เบียร์ทางเลือกเหล่านี้ กลับเป็นสินค้าที่มีราคาแพง
“ตอนอยู่ต่างประเทศ มันทำให้เรารู้ว่า คนธรรมดาๆ ก็ต้มเบียร์กินเองได้”
ส่วนหนึ่ง เป็นเพราะกระบวนการทางกฎหมายที่ยังไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ ภาษีสรรพสามิตก็เรียกเก็บในอัตราสูง จนกลายเป็นกำแพงหนา และเป็นภาระไม่ต่างจากการแบกหินหนักๆ ไว้บนบ่า ขณะกำลังปีนสู่จุดหมายในฝันบนยอดเขา
ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์วันนี้ ถึงแม้ไทยจะมีนายทุนใหญ่หลายเจ้าแต่สำหรับ ผู้ประกอบการรายย่อย หรือคนตัวเล็กอย่างเขา กลับรู้สึกว่า กลุ่มทุนเหล่านั้นไม่ใช่คู่แข่งทางการตลาด เนื่องจากผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายเป็นคนละกลุ่มกัน เพราะคราฟต์เบียร์ถือว่าเป็นเครื่องดื่มทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่ชอบความแปลกใหม่และความเป็นเอกลักษณ์
แต่ไม่ว่าคราฟต์เบียร์จะได้รับความนิยมเพียงใด สุดท้ายผู้ผลิตหลายเจ้าโดยเจ้าใหม่ๆ ยังคงสะดุดกับกำแพงภาษีที่ภาครัฐเป็นคนสร้างอยู่ดี
มิหนำซ้ำ เมื่อเทียบกับบรรดา “เหล้านอก” ที่มีปริมาณแอลกอฮอลล์ที่สูงถึง 35-40% แต่เก็บภาษีอยู่ที่ร้อยละ 20 ในกติกานี้ ก็ยิ่งทำให้เบียร์เสียเปรียบมากยิ่งขึ้นไปอีก
นี่จึงไม่ต่างจากกำแพงหน้าที่ขวางอยู่ตรงหน้าความฝันของคนตัวเล็กๆ เหล่านี้ที่อยากเห็นเครื่องดื่มคราฟต์ปีนขึ้นไปเป็นหนึ่งในหัวหอก Soft Power ของชาติอย่างที่ โซจูของเกาหลีเคยทำได้มาแล้ว
ภาพ :
jcomp on Freepik