24 ก.พ. 2566 | 16:00 น.
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) โดยสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา จัดประชุมร่วมกับตัวแทนครูจากโรงเรียนกว่า 260 แห่งในเขตพื้นที่การศึกษา 16 เขต จาก 7 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน ศรีสะเกษ นครศรีธรรมราช และนราธิวาส เพื่อชี้แจงแนวทางการดำเนินงานช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มรอยต่อระดับชั้น ม.3 ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้นในระดับชั้น ม.ปลาย (ม.4) และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.1) ซึ่งเป็นความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้โครงการวิจัยต้นแบบการคัดกรองและการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น
นางสาวกนิษฐา คุณาวิศรุต รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. กล่าวถึงที่มาของการดำเนินงานในโครงการว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปี กสศ. มีการจัดสรรเงินทุนเสมอภาคให้แก่นักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ตั้งแต่ะระดับชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาตอนต้น และมีการติดตามการคงอยู่ในระบบการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เมื่อมีการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก พบว่า นักเรียนทุนเสมอภาคกลุ่มชั้นรอยต่อที่จบชั้น ม.3 มีแนวโน้มไม่เรียนต่อร้อยละ 47 จากนักเรียนทุนเสมอภาคในช่วงชั้นเดียวกัน เนื่องจากครัวเรือนมีฐานะยากจนและการย้ายสถานที่เรียนส่งผลต่อภาระค่าใช้จ่ายต้องแบกรับเป็นจำนวนมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าหากนักเรียนกลุ่มดังกล่าวไม่มีโอกาสศึกษาต่อที่สูงกว่าภาคบังคับก็จะเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีรายได้น้อย
“ด้วยสถานการณ์ปัญหาความยากจนและปัจจัยความเสี่ยงในมิติต่าง ๆ ส่งผลให้เด็กที่เรียนจบชั้น ม.3 กลายเป็นกลุ่มที่ออกจากระบบการศึกษามากที่สุดหลังจากจบการศึกษาภาคบังคับ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันโอกาสการศึกษาต่อสำหรับ น้อง ๆ จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างทันเวลา เพื่อให้ได้เรียนต่อในชั้น ม.ปลาย ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ทั้งนี้ กสศ. จะสนับสนุนทุนเสมอภาคเพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาชั้น ม.4 และปวช.1 เป็นการนำร่อง และจะมีการติดตามนักเรียนทุกคนอย่างต่อเนื่อง” นางสาวกนิษฐากล่าว
รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาหลักประกันโอกาสทางการศึกษา กสศ. ระบุว่า กสศ. ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ในการวิจัยต้นแบบการคัดกรองและการช่วยเหลือนักเรียนทุนเสมอภาคให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาที่สูงขึ้น เพื่อหาแนวทางการส่งต่อโอกาสทางการศึกษาผ่านการให้เงินอุดหนุนแบบมีเงื่อนไขสำหรับการศึกษาต่อระดับ ม.4 หรือ ปวช.1 ให้แก่นักเรียนทุนเสมอภาคที่กำลังจะจบการศึกษาระดับชั้น ม.3 เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายด้านการสมัครเรียน ค่าธรรมเนียม ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา รวมทั้งมีการติดตามผลการสมัครเรียน การคงอยู่ในระบบการศึกษา ผลการเรียน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการรับเงินอุดหนุนภาคเรียนถัดไป
“ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนนักเรียนทุนเสมอภาคชั้น ม.3 สังกัด สพฐ. ทั้งหมด 90,010 คน ในจำนวนนี้อยู่ใน 16 เขตพื้นที่การศึกษาจาก 7 จังหวัดนำร่อง 16,265 คน โดยในปีการศึกษา 2566 กสศ. ได้เตรียมจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขหรือทุนเสมอภาคจำนวน 5,000 ทุน ตามงบประมาณที่สามารถจัดสรรได้”
สำหรับแผนดำเนินงานจะเริ่มนำร่องในโรงเรียน สพฐ. 16 เขตพื้นที่การศึกษาจาก 7 จังหวัด เพื่อมอบทุนการศึกษา 6,000 บาทต่อคนต่อปี (ภาคเรียนละ 3,000 บาท) คุณสมบัติผู้สมัครขอรับทุน คือเป็นนักเรียนสัญชาติไทยที่ได้รับทุนเสมอภาคชั้น ม.3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2565 มีรายชื่อในฐานข้อมูลระบบ cct.thaieduforall.org และประสงค์ศึกษาต่อในระดับชั้น ม.4 หรือ ปวช.1 ในพื้นที่ 7 จังหวัดนำร่อง
ทั้งนี้ วันที่ 1 มีนาคม 2566 กสศ. จะประกาศรายชื่อนักเรียนทุนเสมอภาคระดับชั้น ม.3 ที่มีสิทธิ์สมัครขอรับทุนเพื่อให้คุณครูบันทึกแบบขอรับส่งเสริมการศึกษาต่อ ผ่านระบบสารสนเทศ cct.thaieduforall.org ระหว่างวันที่ 1-20 มีนาคม 2566 และมีกำหนดจัดสรรทุนเสมอภาคปีการศึกษา 1/2566 งวดที่ 1 จำนวนเงิน 3,000 บาท ภายในสิ้นเดือนมีนาคม และงวดที่ 2 ในภาคเรียนที่ 2/2566 ต่อไป